ฮัลโหล ไปอยู่ที่ไหนเธอ ฮัลโหล ทําไมไม่รับสาย .. เมื่อหมุดคณะราษฎรอันล่าสุด ที่เพิ่งฝังลงไปเมื่อวาน หายไปทั้งที่ยังไม่ครบ 24 ชั่วโมงด้วยซ้ำ! (เร็วเกิ๊น)
พอแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้ฝังหมุดฯ ลงไปบนพื้นสนามหลวง เรื่องราวของหมุดคณะราษฎรเวอร์ชั่นออริจินัล และมรดกต่างๆ ของคณะราษฎรก็ถูกผู้คนหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้ง
เราเลยอยากถือโอกาสนี้ พาทุกคนไปดูสถานที่สำคัญต่างๆ ที่เป็นมรดกจากคณะราษฎรด้วยภาพจาก Google street view และจำลองการปักหมุดฯ ลงไป เพื่อรำลึกถึงความสำคัญของสถานที่เหล่านี้ไปด้วยกัน
ที่ทำการไปรษณีย์กลาง
[since 1946 – present]
ด้วยรูปทรงและการออกแบบของตึกแบบ art deco ที่สวยสะดุดตา จนทำให้ที่แห่งนี้หลายเป็นโลเคชั่นเด็ดในการถ่ายรูปสำหรับใครหลายคน เดิมเป็นสถานที่รับฝากและนำจ่ายไปรษณีย์ในเขตกรุงเทพมหานคร แต่ปัจจุบัน กลายเป็นที่ตั้งของสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) และสำนักงานไปรษณีย์ บางรัก
โรงแรมรัตนโกสินทร์
[since 1942 – present]
โรงแรมสีเหลืองที่โดดเด่นอยู่ริมถนนราชดำเนินกลาง ที่ถูกสร้างขึ้นโดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างความทันสมัยในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ต้องการปรับภูมิทัศน์ถนนราชดำเนินให้มีความร่วมสมัยขึ้น
วัดพระศรีมหาธาตุ
[since 1940 – present]
รู้หรือไม่ว่าตอนแรก วัดแห่งนี้มีชื่อว่า ‘วัดประชาธิปไตย’ เพราะตั้งอยู่บนถนนพหลโยธิน (แต่ก่อนชื่อถนนประชาธิปัตย์) แต่ตอนหลังถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ‘วัดพระศรีมหาธาตุ’ แทน โดยภายในเจดีย์ของวัดแห่งนี้ บรรจุอัฐิของบุคคลสำคัญอย่าง จอมพล ป. พิบูลสงคราม พระยาพหลพลพยุหเสนา และปรีดี พนมยงค์ เอาไว้ด้วย
อนุสาวรีย์ปราบกบฎ
[since 1936 – 2018]
อนุสาวรีย์แห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงการปราบกบฎบวรเดช ภายในมีการบรรจุอัฐิตำรวจและทหารที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์นั้นเอาไว้ด้วย โดยก่อนหน้านี้ อนุสาวรีย์ดังกล่าว มีชื่อว่า ‘อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ’ แต่ตอนนี้ อนุสาวรีย์แห่งนี้หายไปแล้ว ตั้งแต่ช่วงปลายปี ค.ศ.2018 อย่างที่ไม่มีใครรู้ว่า อนุสาวรีย์ปราบกบฎถูกย้ายไปไหนกันน้า
สนามศุภชลาศัย
[since 1937 – present]
สนามกีฬาที่หลายคนแวะเวียนไปอยู่บ่อยครั้ง ก็เป็นหนึ่งในมรดกที่คณะราษฎรเหลือเอาไว้อยู่เช่นกัน โดยชื่อของสนามศุภชลาศัยนั้น ตั้งตาม น.ท.หลวงศุภชลาศัย หรือ บุง ศุภชลาศัย อธิบดีกรมพลศึกษาคนแรกนั่นเอง
อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
[since 1941 – present]
อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิตั้งอยู่กึ่งกลางถนนพหลโยธิน ถนนราชวิถี และถนนพญาไท จึงถือว่าเป็นสถานที่ที่เป็นศูนย์รวมแหล่งขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ เลยก็ว่าได้ โดยอนุสาวรีย์แห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงตำรวจ ทหาร และพลเรือนที่เสียชีวิตจากกรณีพิพาทไทย-ฝรั่งเศส
ศาลาเฉลิมไทย
[since 1940 – 1989]
ศาลาเฉลิมไทย เป็นหนึ่งในมรดกคณะราษฎรที่ไม่สามารถหาดูในปัจจุบันได้แล้ว เพราะถูกรื้อไปตั้งแต่ปี ค.ศ.1989 ด้วยอ้างว่าศาลาแห่งนี้ไปบดบังทัศนียภาพของโลหะปราสาท วัดราชนัดดาราชวรวิหาร แล้วปัจจุบันก็กลายเป็น ‘ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์’ แทน
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
[since 1939 – present]
อีกหนึ่งสถานที่ที่กลายเป็นมีมล้อเลียนทางการเมือง และโดนล้อว่าเป็นที่วนรถด้วย (แง) แต่อนุสาวรีย์ก็เป็นมรดกสำคัญของคณะราษฎรเหมือนกันนะ นอกจากสวนสวยจริงๆ แล้ว เราก็ลองเพิ่มลงไปว่า ถ้าฝังหมุดคณะราษฎรเอาไว้ที่นี่ จะเป็นอย่างไรบ้างน้า? ซึ่งจริงๆ แล้ว อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็เคยเกือบถูกรื้อ เพื่อให้สร้างเป็นอนุสาวรีย์พระปกเกล้าขึ้นมาแทน แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะรัฐบาลในตอนนั้นไม่มีงบประมาณเพียงพอ