TED talk เวทีทอร์กที่เป็นแพลตฟอร์มโด่งดังไปทั่วโลก ที่มีทั้งบุคคลระดับโลก หรือตัวท็อปในวงการต่างๆ มาพูดแบ่งปันประสบการณ์ บอกเล่าเรื่องราวความรู้ ไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ ที่ไม่ว่าจะมองหาแรงบันดาลใจ พลังคิดบวก วิธีคิดใหม่ๆ หรือแม้แต่ Know how สู่ความสำเร็จต่างๆ เราก็ค้นหาเสิร์ชดูและฟังกันง่ายๆ เลือกสปีกเกอร์ที่เราสนใจกันได้ง่ายๆ จาก Youtube หรือรอชมกันผ่านไลฟ์สด
ส่วนในไทยเอง ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราก็มีการจัด TED talk ขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะทั้งในระดับมหาวิทยาลัย ไปจนถึงจังหวัดหรือท้องถิ่นอื่นๆ ซึ่ง TEDxBangkok ของกรุงเทพฯ เอง ก็กำลังจะจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ในวันเสาร์ที่ 5 สิงหาคมนี้แล้วนะ
จัดมาครั้งที่ 3 แล้ว กระแสเป็นอย่างไร ความท้าทายใหม่ๆ อะไรเพิ่มขึ้น จัด TEDx แล้วยังไง มากกว่าการนั่งฟัง และได้รับแรงบันดาลใจ งานนี้ช่วยสังคมให้มีการเปลี่ยนแปลงบ้างไหม
The MATTER จึงมาพูดคุยกับคุณโอ อรรณวุฒิ ลีไพศาลสุวรรณา ผู้จัดงาน TEDxBangkok ถึงการจัดงานในครั้งนี้ ทั้งความท้าทาย ความคาดหวัง และสิ่งที่อยากให้ผู้ฟังและสังคมได้รับจากเวทีนี้กัน
The MATTER: เสียงตอบรับและกระแสจากการทำ TED Talk 2 ครั้งที่ผ่านมา เป็นยังไงบ้าง
อรรณวุฒิ : โดยรวมต้องบอกว่า 2 ปีที่ผ่านมาเปลี่ยนไปเยอะ จากแต่ก่อนที่คนรู้จัก TED มักอยู่ในวงวิชาการ มหาวิทยาลัย ฯลฯ หรือคนดูต้องฟังภาษาอังกฤษออก เป็นคนเชิงปัญญาชนหน่อย แต่วันนี้มีคนรู้จัก TED มากขึ้น บอกว่าทำ TEDx หรือดู TEDx Talk คนร้องอ๋อทันทีก็เยอะขึ้น ในแง่สถิติ ดูจากยอดไลก์เพจ และยอดวิวใน Youtube ก็โตขึ้นแบบก้าวกระโดดเหมือนกัน
The MATTER: การจัด TEDxBangkok ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว มีความท้าทายอะไรเพิ่มมากขึ้นไหม
อรรณวุฒิ : ท้าทายครับ คือ ต้องบอกว่ามันเปลี่ยนไปจากปีที่แล้ว ปีนี้ปรากฎการณ์อีเว้นท์ TED เกิดขึ้นมากมายในกรุงเทพฯ และหลายๆ จังหวัด ซึ่งต่างจากการจัดใน 2 ปีแรก อย่างตอนนี้มีมหาลัยในไทยที่จัดงาน เช่น TEDxChulalongkornU, TEDxThammasatU, TEDxKMUTT, TEDxKMITL, รวมไปถึง TED ของจังหวัดต่างๆ เช่น ที่เชียงใหม่มี TEDxChiangMai, ที่ขอนแก่นมี TEDxBuengKaenNakorn, ที่ปัตตานีมี TEDxPattaniPhiromRoad จึงมีความท้าทายที่ว่า พอมีกระแสเป็นที่รู้จัก มีคนติดตามเยอะ มีการจัดอีเว้นท์ TED มากขึ้น ทำให้บางทีเราต้องกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราจัดงานนี้ขึ้นมาเพื่ออะไร เพื่อใครบ้าง ต่างจาก TEDx ของที่อื่นอย่างไร อะไรคือจุดเด่นจุดขายของงานเรา และจัดไปเรามีความคาดหวังอะไรให้เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งความท้าทายที่สุดสำหรับ TEDxBangkok ในปีที่ 3 และปีต่อๆไปคือ แล้วเราสามารถต่อยอดจากการฟังทอล์กไปสู่การลงมือทำได้อย่างไรบ้าง
The MATTER: ธีมปีนี้มีชื่อว่า ‘Little Things Mingle’ มีที่มาที่ไปอย่างไร ถึงมาเป็นโจทย์นี้
อรรณวุฒิ : เล่าเบื้องหลังก่อนนิดนึงว่า แต่ละปีกับการสร้างธีมจะเป็นโฟกัสของงานเราว่า เราอยากจะเน้นย้ำเรื่องอะไรในสังคม อย่างปีที่แล้วเราใช้ ‘Learn. Unlearn. Relearn.’ คือเรื่องของการที่ Unlearn เข้ามาค้นหาสิ่งใหม่ๆ เป็นการท้าทายกับความคิดและความเชื่อของตัวเอง พองานปีที่แล้วผ่านไป เรารู้สึกว่า จริงๆ แล้ว การ Unlearn ของการตั้งคำถามหรือเรียนรู้มันก็ดี แต่สุดท้ายแล้วเรารู้สึกว่าแพลตฟอร์มนี้มันไม่ควรหยุดที่การแชร์ความรู้กันเฉยๆ แต่เราอยากให้เห็นความสำคัญของการที่ไอเดียหลากหลายมาอยู่รวมกัน แล้วเกิดสิ่งใหม่ๆ ที่น่าสนใจขึ้นได้
ปีนี้เราเลยใช้ชื่อธีมว่า ‘little things mingle’ เพื่อบอกให้ทุกคนหันมาสนใจว่า จริงๆ แล้ว สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ในสังคมเรา หรือสิ่งที่เรามีอยู่ เมื่อมันได้มาผสมผสานกัน โดยเฉพาะกับไอเดียที่แตกต่างกัน มันมีโอกาสมากที่จะเกิดเป็นไอเดีย และความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ปีนี้เราก็เลยโฟกัสกับธีมนี้
เราก็เชิญคนเหล่านี้มาบนเวทีเพื่อให้คนได้เปิดโลกหรือได้เริ่มต้นบทสนทนาในเรื่องที่ควรหยิบขึ้นมาพูด แต่เรายังไม่เคยพูดถึงกัน
The MATTER: TEDxBangkok เปิดตัวสปีกเกอร์ไปแล้ว 13 คน มีเกณฑ์การเลือกสปีกเกอร์อย่างไรถึงมาเป็น 13 คนนี้
อรรณวุฒิ : TED จะมี Guideline ออกมาว่า TED มองว่าคอนเทนทต์แบบไหนที่เหมาะกับเวทีของ TED แต่อันนึงที่จะพยายามเน้นอยู่เสมอ คือเราเลือกสปีกเกอร์จากไอเดียของเขา ไม่ใช่เพียงโปรไฟล์ เราดูจากว่า เขามีไอเดียด้านไหนบ้างที่น่าสนใจตรงกับสังคมในตอนนี้ และมันเป็นประเด็นเร่งด่วนแค่ไหนที่จะต้องขึ้นพูดในปีนี้ อย่างเช่น จากธีมงานของปีนี้ เราเริ่มจากการตั้งจากโจทย์ว่ามีประเด็นอะไรที่ควรพูดถึงบ้าง ปีนี้ก็จะมีตั้งแต่เรื่อง Artificial Intelligence (ปัญญาประดิษฐ์), สังคมผู้สูงอายุ ที่สังคมเรากำลังเดินหน้าไปทางนั้น เราเตรียมพร้อมรึยัง, เรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ ว่าเรามีเคสตัวอย่างคนไทยที่สามารถเปลี่ยนงานวิจัย ให้กลายเป็นธุรกิจที่ช่วยเหลือมนุษย์ได้ หรือแม้กระทั่งเรื่องปัญหาชายแดนภาคใต้ ที่น้อยนักเราจะนำมาพูดถึงนอกเหนือจากเวทีวิชาการที่เฉพาะเจาะจง เราก็คิดจากไอเดียเหล่านี้ก่อน จากข้อสงสัยที่เรามีอยู่ในใจ แล้วไปหามาว่าสปีกเกอร์เป็นใครบ้าง
เกณฑ์ของเราหลักในการเลือกสปีกเกอร์คือ ต้องมีความหลากหลาย บนเวทีของ TED ต้องมีทั้งคนที่ทำงานด้านวิทยาศาสตร์ ศิลปศาสตร์ สังคมศาสตร์ ฯลฯ มารวมบนเวทีเดียวกัน ไอเดียนั้นต้องเป็นไอเดียใหม่ในสังคม หรือถ้าไม่ใหม่ก็ต้องเป็นไอเดียที่สังคมกำลังถกเถียงกันอยู่ สิ่งที่ขึ้นบนเวทีอาจไม่ได้เป็นสิ่งที่ถูกต้องและทุกคนเชื่อตรงกันอยู่แล้ว แต่มันอาจจะเป็นสิ่งที่ คนในสังคมก็ยังถกเถียงกันอยู่ว่ามันผิดหรือถูก หรือจริงมากน้อยแค่ไหน เราก็เชิญคนเหล่านี้มาบนเวทีเพื่อให้คนได้เปิดโลกหรือได้เริ่มต้นบทสนทนาในเรื่องที่ควรหยิบขึ้นมาพูด แต่เรายังไม่เคยพูดถึงกัน
The MATTER: สปีกเกอร์ทั้ง 13 คน มีจุดร่วมอะไรร่วมกันที่สื่อถึงธีม ‘Little Things Mingle’ ในปีนี้
อรรณวุฒิ : ถ้าสังเกตจากการเปิดตัวสปีกเกอร์ของเรา จะเห็นว่าแบบมันมี 2 หัวข้อมาคล้องกัน ซึ่งตรงกับธีมตรงนี้ว่า การทำงานของทุกคนไม่ได้ตามใจเพียงอย่างเดียว แต่มันต้องใช้ความหลากหลายทางความคิด ซึ่งบางอย่างก็อาจจะขัดแย้งกัน บางอย่างอาจจะตรงข้ามกัน บางอย่างอาจจะเข้ากันไม่ได้เลย แต่ Speaker เหล่านี้ได้หยิบ อย่างน้อย 2 อย่างตรงนี้ มาใช้ร่วมกัน และทำให้เกิดเป็นสิ่งที่น่าสนใจขึ้นมา
The MATTER: นอกจากสปีกเกอร์แล้วยังมีเพอร์ฟอร์เมอร์มาแสดงด้วย ในการเลือกเพอร์ฟอร์เมอร์ต่างจากการเลือกสปีกเกอร์ไหม
อรรณวุฒิ : จริงๆ แล้ว หลักการเลือก Speaker กับ Performer ไม่ต่างกัน ทุกคนเป็น Speaker แต่แค่เขาขึ้นมาบนเวทีเพื่อนำเสนออะไรสักอย่าง ที่มีรูปแบบต่างจากแค่การพูด เช่น มีการออกท่าทางประกอบ เพราะฉะนั้นการเลือกไม่ได้ต่างกับ Speaker เลย เราก็เลือกจากโจทย์ก่อนว่า เรามีโจทย์อะไร Topic เหล่านี้มีตรงไหนที่น่าจะสามารถนำมาเสนอในรูปแบบอื่นได้ อย่างเช่น The Charapaabs คือ มาจากโจทย์ที่เราพูดถึงสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น หรือ คุณติ๊ก ที่เชี่ยวชาญเรื่องมวยไท้เก็ก ก็เป็นส่วนหนึ่งจากที่ TEDxBangkok สองปีที่ผ่านมา มีแต่คอนเทนต์ที่เครียดๆ เราจึงอยากให้มีคอนเทนต์ที่ดูเบาแต่แฝงด้วยความลุ่มลึกของมัน
The MATTER: จากมุมมองของผู้จัดงาน และเลือก Speaker คาดว่าสิ่งที่ Speaker เหล่านี้จะพูดในงาน TED ครั้งนี้ จะสร้างอิมแพคอะไรให้กับสังคัมบ้างไหม
อรรณวุฒิ : เราเชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่ TED ทำได้ดีมาก คือการทำให้คนทั่วๆ ไปหันมาสนใจกับประเด็นที่สำคัญในสังคม ในปีที่ผ่านๆ มา ที่เห็นได้ชัดเลยคือมีหลายทอล์กที่เป็นมากกว่ากระแสที่ถูกโหมขึ้นมาแล้วก็เงียบหายไป ปีแรก ทอล์กของคุณนิศรา การุณอุทัยศิริ ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันบนโลกออนไลน์ว่าวิทยาศาสตร์มีประโยชน์อะไรกับสังคมเรา ปีที่แล้ว ทอล์กของคุณป๋อมแป๋มก็ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันในหลายโอกาสที่มีการแปะป้ายกันเกิดขึ้นในโลกออกไลน์ หรือแม้กระทั่งทอล์กของหมออัศวิน และหมอพรพิมล นาคพงศ์พันธุ์ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเมื่อสังคมถกเถียงกันเรื่องการเลี้ยงลูกให้ถูกวิธี
อันนึงที่บอกเลยว่า TEDxBangkok ทำไม่ได้ ณ ตอนนี้คือการวัดผลแอคชั่นที่เกิดขึ้นหลังจบงาน ว่ามีคนออกไปทำโปรเจคอย่างนี้กี่โปรเจค เรายังวัดผลตรงนี้ไม่ได้ แต่สิ่งที่ทีมทุกคนรวมถึงตัวผมเองเชื่อคือ อย่างน้อยมันเปิดโลกความคิดของคนไทย ของคนในสังคมเราให้เริ่มนึกถึงประเด็นต่างๆ ที่เรามักไม่พูดคุยกัน อย่างเช่น เรื่องของผู้สูงอายุ หรือเรื่อง AI เรื่อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรืออีกหลายประเด็นในสังคมที่ถึงแม้ว่า มันจะยังไม่ไปสู่แอคชั่นก็จริง แต่มันทำให้คนทั่วๆ ไปสามารถเริ่มเปิดบทสนทนา พูดถึงสิ่งที่เราควรมาพูดกัน
The MATTER: ทำไม TEDxBangkok ถึงเลือกใช้วิธีเปิดเผยชื่อ Speaker หลังจากให้คนสมัครเข้ามาฟังแล้ว
อรรณวุฒิ : สไตล์ในการเปิดตัว Speaker นี้แล้วแต่ว่า TEDx ที่ไหนจะเลือกเปิดตัวก่อนหรือหลัง เหตุผลที่ TEDxBangkok เลือกวิธีนี้เพราะว่า เราเห็นภาพน่าประทับใจที่เกิดขึ้นในงาน TED ที่อเมริกาและแคนาดา สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เรารู้สึกว่าคนที่มาร่วมงานที่นั่นเค้าไปเพราะว่าเค้าอยากจะไปหา อยากจะไปเสพอะไรใหม่ๆ จริงๆ ซึ่งคำว่าใหม่ในที่นี้คือ ใหม่โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องมีความสนใจมาก่อน เพราะถ้าเกิดว่าสนใจอยู่แล้ว ก็แสดงว่ามันไม่ใหม่สำหรับเค้าแล้ว ดังนั้นเราจึงเลือกเปิดตัว Speaker ทีหลัง เพื่ออยากให้ผู้ที่อยากมาค้นหาอะไรใหม่ๆ จริงๆ ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ตนเองชอบหรือไม่ชอบก็ได้ ไม่ใช่มาเพราะสนใจสปีกเกอร์ของเราอยู่แล้ว ได้มีโอกาสมาร่วมงาน ซึ่งภาพที่เกิดในวันงานจะเห็นได้ว่าเป็นบรรยากาศของการเปิดรับฟัง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่หลากหลายจริงๆ
The MATTER: การสมัครเข้ามาฟัง TEDxBangkok มีการคัดเลือกผู้ฟังด้วย จากที่ผ่านมาเคยมีประสบการณ์ที่คนที่ไม่ได้รับคัดเลือกเข้ามาตอบโต้อะไรบ้างไหม
อรรณวุฒิ : มีเป็นประจำและมีทุกปี แต่จำนวนก็น้อยลง เชื่อว่าเราพยายามสื่อสารมาตลอดว่า ไม่ใช่การคัดที่เลือกคนใหญ่ คนโต หรือเลือกจาก Profile ที่ต้องเป็นคนดัง ดารา นักธุรกิจ หรือนักการเมืองถึงจะเข้าได้ แต่เราดูจากความหลากหลายทางไอเดีย คนก็เข้าใจตรงนี้มากขึ้น หลายๆ ท่านที่เราอยากให้มาร่วมงานแต่ต้องปฏิเสธไปก็มี เพราะที่นั่งมีจำกัดจริงๆ
The MATTER: คิดว่าการเข้าร่วม TED Talk แบบสดแตกต่างจากการดูผ่านไลฟ์ทาง facebook ยังไง
อรรณวุฒิ : เวลาพูดถึง TED Talk เราจะนึกถึงสปีกเกอร์บนเวที แต่จริงๆ แล้ว ในงานจะมีส่วนประกอบของคอนเทนต์หลักๆ อยู่สามส่วนด้วยกัน อย่างแรกคือสปีกเกอร์บนเวที ซึ่งแน่นอนว่าคือสิ่งที่ทุกคนรอฟัง อย่างที่สองที่เกิดขึ้นในงานสดคือ ‘กิจกรรม’ โดยเรามีกิจกรรมที่ทางทีมงานคัดสรรมาเอง อย่างให้คนมาแลกเปลี่ยนไอเดียกันกับ Speaker ในปีนั้น เช่น Open Table ที่แต่ละช่วงเบรก เราจะมีให้ Speaker เก่ามาร่วมนั่งโต๊ะทานข้าวกัน แต่สิ่งที่เราทำคือ เราจะไม่บอกว่าคุณจะได้นั่งโต๊ะกับ Speaker คนไหน จะรู้ก็ต่อเมื่อเดินไปถึงโต๊ะจริงๆ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนไอเดียที่หลากหลาย เรามีกิจกรรมที่ทำร่วมกับ Speaker เก่า มีกิจกรรม Open Mic ที่เปิดให้ผู้ร่วมงานได้เข้ามามีส่วนร่วม ได้มีเวทีเล็กๆของตนเองในการพูดด้วย
นอกจากนี้เรายังมีกิจกรรมของสปอนเซอร์ ซึ่งสปอนเซอร์ของ TED จะมีกฎชัดเจนว่าไม่สามารถขายของได้โดยตรง แต่เราต้องการให้สปอนเซอร์รู้ว่า ไอเดียเป็นสิ่งที่สำคัญต่อสังคม และเราอยากให้สปอนเซอร์ร่วมแบ่งปันไอเดีย เพราะฉะนั้น กิจกรรมทุกอันของสปอนเซอร์ในงานนี้จะเกี่ยวข้องกับไอเดีย
ส่วนที่สาม เป็นส่วนที่เราให้ความสำคัญมากเลยคือ จริงๆแล้วทางทีมงานรู้สึกว่าผู้ร่วมฟังทุกคนที่มาร่วมงานน่าสนใจไม่แพ้สปีกเกอร์เลยนะ จากความความตั้งใจมางานโดยที่ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าสปีกเกอร์เป็นใครก็ได้ เค้าต้องเป็นคนประเภทไหนกันถึงสมัครเข้ามาร่วมงานแบบนี้ แล้วแต่ละคนที่สมัครมาเค้าล้วนมีไอเดียที่แข็งแรงและหลากหลาย เพราะงั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในงานสิ่งที่หาไม่ได้จากการดู วีดีโอหลังงานหรือการ live เลย มันคือการที่เราได้มานั่งร่วมฮอลล์กับคนเหล่านี้ถึงพันคน ซึ่งคนพันคนนี้มาจากคนที่แตกต่างหลากหลายสาขามาก ซึ่งทุกคนเวลาฟัง talk จบไม่มีทางที่จะชอบ talk เดียวกันหมด ทุกๆ talk จะมี talk ที่คนนึงชอบอีกคนนึงไม่ชอบ สิ่งที่มันสวยงามที่เกิดขึ้นในงานคือการที่เราได้มานั่งในงานตรงนี้ ได้มานั่งข้างๆ คนที่มาเจอในงานที่เห็นแตกต่างจากเรา เราเพียงแค่ได้คุยกับคนข้างๆ ที่มีความเห็นแตกต่าง ตรงนั้นมันก็เกิดการผสมผสานของไอเดียได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ล้ำค่าไม่แพ้สิ่งที่สปีกเกอร์พูดบนเวทีเลย
The MATTER: นอกจากการมาฟัง TED talk ได้ซึมซับ เรียนรู้ไอเดียใหม่ๆ แล้ว มันช่วยในการเปลี่ยนแปลงในเชิงปฏิบัติจริงบ้างไหม
อรรณวุฒิ: ยกตัวอย่างเป็นเคสเลยนะ จริงๆ ปีที่ผ่านๆ มา เช่น ปีที่แล้วเรามีคุณสมชัย กวางทองพานิชย์ ที่พูดถึงเรื่องประวัติศาสตร์ละแวกบ้าน คุณสมชัยเป็นสปีกเกอร์คนนึงที่มีคนติดต่อไปเยอะ มีคนติดต่อไปหาเค้าหลังงาน ตั้งใจว่าจะไปสำรวจบ้านตัวเองบ้าง ก็มีคนที่ลงไปถึงปัตตานีลงไปที่บ้านเกิดเขา ไปถามคนในหมู่บ้านถึงที่มาที่ไป ซึ่งทำให้เค้าได้รับรู้เรื่องประวัติศาสตร์ของบ้านเค้า
อีกเคสของ TEDxBangkok ปีแรก มีพี่ก้อย ชลิดา คุณาลัย เป็นนักออกแบบกลิ่น พอเขาพูด talk เสร็จ มีคนไปติดต่อพี่ก้อยว่า เขาสนใจอยากจะสร้าง museum หนึ่งขึ้นมา เป็น museum ที่เกี่ยวข้องกับกลิ่นโดยตรง ใช้กลิ่นเป็นหลักในการนำเสนอ เค้าปรึกษาพี่ก้อยควรจะทำยังไงดี กลายเป็นเคสของคนที่มี inspiration ร่วมกัน
หรือแม้กระทั้ง เคสของพี่ช้างใน talk ปีแรก คุณช้าง มหิศร ว่องผาติ พูดเกี่ยวกับเรื่องหุ่นยนต์ หลังจาก talk ก็มีการติดต่อกับบริษัทต่างๆ เพื่อมาทำงานมองดูร่วมกันว่าจะสามารถนำหุ่นยนต์ไปใช้ในบ้านคน ในคอนโดอย่างไรได้บ้าง
ส่วนเคสที่ประทับใจที่สุด คือเมื่อสังคมออนไลน์เกิดดราม่าขึ้น และมีคนพูดว่าทำไมเราถึงต้องไปแปะป้ายคนอื่น ทั้งๆ ที่เราไม่รู้จักเขาด้วยซ้ำ แล้วบทสนทนาก็เผยให้รู้ว่า เขาคิดแบบนี้เพราะเขาฟังมาจากทอล์กของพี่ป๋อมแป๋ม นิติ ชัยชิตาทร
The MATTER: ในฐานะผู้จัด TEDxBangkok ในปีนี้อยากฝากถึงคนที่รอฟัง TED talk ในครั้งนี้อยู่
อรรณวุฒิ : เราจัดงาน TEDxBangkok ตรงนี้ เป็นรูปแบบไม่แสวงหาผลกำไร ทีมงานทุกคนเป็น Volunteer ทั้งหมด เรามาทำตรงนี้ไม่ได้ทำเพื่อเงิน แต่ถ้าถามว่าถ้าไม่ใช่เงินแล้วทำไปเพื่ออะไร สำหรับผมแล้วสิ่งนั้นคือ การที่ได้เห็นสังคมนี้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่อยากฝาก อยากถามเป็นคำถามที่ทิ้งไว้กับทุกคนที่ติดตาม TEDxBangkok อยู่ ก็คือนี่เป็นปีที่ 3 แล้ว เราได้เห็นแล้วว่ามันสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้คนไปทำสิ่งต่างๆ ได้ ทำให้คนได้เปิดโลก เปิดมุมมอง แต่สิ่งหนึ่งที่เรายังขาดอยู่ก็คือการสร้าง action นี่แหละ การที่ทำให้เมื่อคนได้ไอเดียมา กลับบ้านไปแล้ว ดู talk จบแล้ว ไม่เพียงแค่กลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม
ดังนั้น ทางทีมอยากรับฟังทุกไอเดีย ทุกความเห็น คำติชม อยากรู้ว่าทุกๆ คน คิดว่า TEDxBangkok ควรจะโตขึ้นอย่างไรต่อจากนี้ อยากเริ่มมี action ให้เปลี่ยนไปในทางใด หรือทุกคนคิดว่า TEDxBangkok สามารถทำอะไรให้กับสังคมต่อยอดจากการเป็นเวทีในการเผยแพร่ไอเดีย เพื่อให้สังคมนี้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้