สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง ทุกคนต่างก็มีโอกาสทำผิดพลาดกันได้ทั้งนั้น จะดีไหม? หากผู้ทำพลาดได้รับโอกาสให้แก้ไขหรือปรับปรุงตัวเอง ยิ่งถ้าคนๆ นั้นยังไม่บรรลุนิติภาวะ มีอายุอยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายเรียกว่า ‘เยาวชน’ (ต่ำกว่า 18 ปี)
แม้ความผิดที่เยาวชนเหล่านั้นก่อจะถูกเรียกว่า ‘อาชญากรรม’ ทำให้อีกฝ่ายได้รับความสูญเสีย ทั้งทรัพย์สิน ร่างกาย ไปจนถึงชีวิตก็ตาม
ป้ามล-ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษก (ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก) มองว่า เพราะไม่มีใคร born to be อาชญากร ทุกคนอยากได้รับการยอมรับ และการกระทำผิดของพวกเขา ไม่ใช่เรื่องของปัจเจกเพียงเท่านั้น แต่ยังมาจากโครงสร้างอันบิดเบือนของสังคม ที่ผลักคนที่เปราะบางเข้าสู่มุมมืด
“เด็กที่ก่ออาญชากรรมรุนแรง เขาอยากลงจากหลังเสือ แต่เขาลงเองไม่เป็น ถ้าเราทำทางลงให้เขาอย่างสง่างาม ไม่มีใครอยากอยู่ตรงนั้น”
เราไปคุยกับทิชา ในวาระใกล้วันแม่แห่งชาติ (12 สิงหาคม) จึงเปรียบเปรยเจ้าตัวว่า มีบทบาทไม่ต่างจากผู้เป็นแม่ คือพร้อมโอบกอดและให้โอกาสเยาวชนเหล่านั้นให้กลับตัวคืนสู่สังคม – แม้เจ้าตัวจะปฏิเสธว่า ไม่ใช่แม่ของเด็กๆ เป็นเพียง ‘ป้ามล’ แห่งบ้านกาญจนาฯ ก็ตามที
The MATTER: มีคนเปรียบเปรยว่า การพยายามให้โอกาสคนได้กลับเนื้อกลับตัว ได้โอกาสอีกครั้งในชีวิต แทบไม่ต่างอะไรกับการเป็นแม่คนที่สอง คุณทิชามองบทบาทของตัวเองอย่างไร
คือจริงๆ เราต้องยอมรับว่าโลกมันเปลี่ยนไปเยอะมาก จนกระทบกับคนตัวเล็กๆ แล้วคนที่ตัวเล็กๆ เหล่านี้โดยทั่วไปก็มักจะเป็น ‘คนที่เปราะบางที่สุด’ ที่ได้รับผลกระทบ
ดังนั้นเราจะเห็นว่าเด็กๆ ที่เข้ามาอยู่ในบ้านแบบนี้จากการก่ออาชญากรรมของเขา สำหรับป้าชัดเจนเลยว่ามันไม่ใช่ปัญหาในระดับปัจเจกอย่างเดียว แน่นอนครึ่งหนึ่งเขาผิด ตรงที่ว่าเขาไปฆ่าคน ทำให้บาดเจ็บ สูญเสียชีวิต หรือแม้แต่คดีทางเพศ เขาไม่ได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง อันนั้นป้าก็ไม่ได้อนุโลมมันมาจากความผิดพลาดของเขา แต่อีกครึ่งหนึ่งมันมาจากปัจจัยร่วมหลายอย่างในสังคม จากโลกที่มันเปลี่ยนไป
เราพบว่า เด็กเหล่านี้เกือบ 70% เขาเป็นผู้แพ้ของสังคม ถูก drop out เด็กเหล่านี้จำนวนมากที่เขาไม่ได้เติบโตในอ้อมกอดของพ่อแม่ เพราะเขามาจากพ่อแม่ซึ่งต้องเป็นมนุษย์ทำงาน ไม่มีทางเลือกอื่น ไม่สามารถเลี้ยงเขาได้ด้วย ต้องส่งไปให้ปู่ย่าตายายในต่างจังหวัดเลี้ยง แล้วก็ไม่อาจจะส่งความรัก ความใส่ใจไปได้ ยกเว้นส่งเงินไป แล้วเงินก็ไม่ได้ส่งไปอย่างครบถ้วน ดังนั้น ความห่างเหินกัน สายสัมพันธ์ที่มันผุพัง มันแสดงผลอย่างชัดเจนในวันที่เด็กเป็นวัยรุ่น
ถ้าเราจัดเด็กวัยรุ่นทั้งหมด 15 ล้านคนในกลุ่มที่ต่ำกว่า 18 ปี ถามว่าใครจะเป็นคนติดคุกก่อนเราจะเห็นภาพที่ชัดขึ้น เด็กที่โตมาในครอบครัวที่อบอุ่น กินข้าวร่วมกัน พูดเล่นกัน พ่อแม่เลือกสิ่งดีๆ ให้กับเขา เด็กเหล่านี้จะรอดไปเป็นผู้ใหญ่ก่อน แต่เด็กกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในครอบครัวแบบนั้น จะไม่รอด
เมื่อเขามาอยู่กับเรา ถามว่าแล้ว เครื่องมืออะไรที่เราจะกู้เขาคืน ระเบียบวินัยอันแข็งโป๊กหรอ สำหรับป้าไม่ใช่ มันคือเรื่องของการเติมในสิ่งที่เขาขาด แล้วก็ไม่ซ้ำเติมในสิ่งที่เขาเคยถูกกระทำ เพราะงั้นสิ่งแรกที่เราทำในบ้านหลังนี้คือการกอดเด็กๆ แล้วก็เรามีเครื่องมือในการฟังเสียงเด็กในหลายช่องทาง หนึ่งในนั้นคือเขียนไดอารี่ก่อนนอน เขียนวิเคราะห์ข่าวสารพัดเรื่อง เราจึงได้ฟังเสียงของเด็กๆ เช่น “นี่เป็นกอดแรกในชีวิต” ซึ่งอันนี้มันก็ชัดแล้วว่าเขาเติบโตมาบนความกะพร่องกะแพร่ง สมมติว่าเราไปใช้กฎเหล็กวินัยที่แข็งโป๊ก เราก็เหมือนกับผลักเขาออกไปไกลแสนไกล
ในบ้านกาญจนาฯ เราพยายามชดเชยในสิ่งที่เด็กไม่มี หรือมีอยู่แล้วแต่มันยังกะพร่องกะแพร่ง เราก็ทำให้เขารู้สึกว่าเขาสามารถหาได้จากผู้คนที่เขาไม่เคยรู้จักมาก่อนในชีวิต อย่างน้อยที่สุดทัศนะของเขาหรือ mindset ของเขาที่มองกลับไปในสังคมมันจะแจ่มชัดขึ้น มันจะรู้สึกว่าตัวเองไม่ถูกทอดทิ้ง
แต่ป้าก็ยังไม่ใช่แม่อยู่ดี ป้าเป็นแค่ป้ามล เหตุผลที่ป้าใช้คำว่าป้ามลก็มีนัยยะสำคัญว่า พอเราพูดถึงสถานควบคุม พูดถึงคุก เราจะเห็นการแสดงอำนาจในแนวดิ่ง แล้วอำนาจแนวดิ่งมันก็ถูกตีความไปอีกว่า มันเป็นการสร้างความปลอดภัยให้คนทำงาน ลูกเสือลูกจระเข้เนาะ ไปเที่ยวใจดีไม่ได้ งั้นมันก็มีความชอบธรรมในตัวมันเองที่จะใช้อำนาจแนวดิ่ง แต่ป้ารู้สึกว่าเราไม่ควรจะใช้อำนาจแนวดิ่ง ไม่ควรจะใช้กฎเหล็กกับคนที่เปราะบางแบบนี้ ถึงแม้นว่าข้างหน้าของเขาก็คือคดีอาญา ก็คือการฆ่าคน แต่ป้าเชื่อว่าข้างในของเขาเปราะบาง ดังนั้นเราจึงปรับความสัมพันธ์แนวดิ่งเป็นความสัมพันธ์แนวราบ ซึ่งในนั้นทำได้หลายอย่าง ที่นี่จะไม่แต่งยูนิฟอร์ม จะไม่ใช้สัญลักษณ์ของคุก เช่น กุญแจมือ วิทยุสื่อสาร และที่นี่จะใช้สรรพนามในการแทนตัวเองเหมือนคนในครอบครัว เช่น ป้ามล หลายคนที่มาที่นี่ใหม่ๆ จะเรียก ผอ. จะเรียกแม่ ตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งป้าก็ยืนยันว่า เรียกป้ามลนะลูก
The MATTER: ส่วนตัวคุณทิชามองว่า โดยธรรมชาติแล้วเยาวชนทุกคนมีความดีอยู่ข้างใน
คือป้าไม่เชื่อว่าจะมีใคร born to be เกิดมาแล้วก็เลือกที่จะเป็นคนฆ่าคน แล้วก็ตั้งเป้าหมายในชีวิตในการเดินมาให้ถึงจุดนี้ ป้าเชื่อว่าคนเกิดมาก็อยากให้คนรัก อยากถูกชื่นชม อยากเห็นแววตาปลื้มของผู้คนที่มองมาที่ตัวเอง แต่ว่าทั้งหมดนั้นเด็กไม่สามารถขอจากใครได้ แล้วเขาก็อาจจะเติบโตมาจากผู้ใหญ่รอบๆ ตัวเขาที่อาจจะไม่สมบูรณ์อยู่ด้วย
เราก็จะเห็นเด็กเหล่านี้ทำท่าทางเหมือนกับที่ไม่ปกติ เช่น ความก้าวร้าว หรือเรียกร้องความสนใจอย่างสุดโต่ง ก็ไม่ได้แปลว่าเขาเป็นแบบนี้มาตั้งแต่เกิด เพราะงั้นหลักการที่คนไม่ได้ born to be มันเป็นหลักการที่นำมาสู่การออกแบบวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในการใช้ชีวิตร่วมกันกับเด็กที่นี่อย่างชัดเจน
ซึ่งถ้าเราตีความเป็นอื่น การออกแบบวิถีชีวิตและวัฒนธรรมมันก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นหลักคิดของเราที่ว่าคนไม่ born to be เนี่ย ป้าว่าต้องเป็นหลักคิดที่แข็งแรง แม้ว่าเด็กหลายคนจะมาด้วยคดีที่ค่อนข้างรุนแรง แต่เราต้องเชื่อ ความเชื่อนี้จะไม่ถูกสั่นคลอนด้วยคดีของเขา เพราะว่าความเชื่อนี้จะนำไปสู่ปฏิบัติการทุกรูปแบบในบ้านนี้
The MATTER: อะไรคือความหมายของการให้โอกาสพวกเขาได้กลับมาเดินบนเส้นทางที่ถูกต้องอีกครั้ง
ถ้าเรากลับไปดูชีวิตของเด็กๆ ส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อของป้า ป้าพยายามที่จะเรียนรู้ชีวิตของเขาอย่างไม่อคติเลย ถ้าเราลองให้เขาเขียน เด็กที่นี่ต้องเขียนโปรไฟล์การศึกษาของตัวเอง ให้เขากลับไปทบทวนว่าเขามาจากโรงเรียนไหนบ้าง แล้วก็เกิดอะไรขึ้นในช่วง ม.1-2 เราพบว่ามันมาจากการไม่จัดการที่ถูกต้องของระบบการศึกษาเยอะมากเลย เช่น เด็กบางคนมีปัญหากับเพื่อน ครูเลยบอกว่าให้พักการเรียนไปสัก 2 อาทิตย์ นึกออกมั้ยว่า 2 อาทิตย์ที่เด็กไม่ได้มาโรงเรียนอ่ะ เด็กไม่ได้นอนอยู่ในห้องแคบๆ คนเดียว เด็กออกไปปะทะสังสรรค์กับอะไรบางอย่าง เราเรียกสิ่งนั้นว่าปัจจัยดึงดูด เด็กมาบอกว่า ป้ารู้มั้ยว่าข้างนอกอ่ะ มีเด็กอย่างเราเยอะมาก ซึ่งภาษาของเขาก็คือ ในที่สุดเทพก็เจอเทพ ผีก็เจอผี แล้วพอ 2 อาทิตย์กลับมารายงานตัว ครูก็จะเห็นภาพที่ไม่น่ารักของเขา แล้วก็รู้สึกว่าเขาไม่เหมาะ และในที่สุดเขาก็ถูกผลักออกไปจริงๆ
มีคำพูดหนึ่งที่เหมือนกันตอนที่ให้เด็กเขียนโปรไฟล์การศึกษาของตัวเอง ครูบอกว่า “ถ้าเธอลาออก เธอจะไม่เสียประวัติ” นึกออกมั้ยว่าเด็กกับพ่อแม่ก็สมัครใจพากันเดินมาลาออก ซึ่งเด็ก ม.1-2 เป้าหมายในชีวิตไม่มี ไม่รู้จะไปทำงานที่ไหน ไปอยู่ที่ไหน แต่ถูกยื่นข้อเสนอแบบนี้ จำนวนหนึ่งคือต้องลาออก 2-3 เดือนต่อมาเราจะเจอการก่ออาชญากรรมจากเด็กกลุ่มนี้ แต่ทั้งหมดนั้นเราไม่เคยตั้งคำถามกับระบบคิดของผู้ใหญ่ แต่เราจะเกรี้ยวกราดกับความผิดพลาดของเด็กๆ เหล่านี้ ซึ่งถ้าสังคมเดินไปในทิศทางนี้ตลอด เราจะเจอว่าผู้ใหญ่ที่มีระบบความคิดที่ผิดพลาด จะลอยนวลเสมอ โครงสร้างจะไม่ถูกแก้ คนที่ดูแลในเชิงนโยบายก็จะลอยนวลเสมอ และคนที่ถูกเกรี้ยวกราดก็จะเป็นเด็กเหล่านี้ ซึ่งป้าคิดว่านี่เป็นปัจจัยร่วมที่โคตรจะสำคัญเลย
เมื่อหลายเดือนก่อนเราเคยมีข่าวของเด็ก 5 คนที่รุมโทรมเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง แล้วเราก็เห็นคนเกรี้ยวกราดใส่พวกเขาอย่างมากๆ ไม่ว่าจะขอให้มีโทษที่รุนแรง บางคนถึงขั้นเขียนว่าให้ประหารชีวิตมัน ไม่ต้องให้มันออกมา กล้าเขียนถึงขนาดนั้นเลยในเฟซบุ๊ก ป้าขออนุญาตผู้ใหญ่ของประเทศนี้เพื่อตามไปดูเด็ก 5 คนนั้นในสถานที่แห่งหนึ่งที่เขาถูกจับกุมไว้ แล้วสิ่งที่เราไปเห็นมันก็เป็นภาพเดียวกับในกล่องความทรงจำของเรา 5 คนนั้น 3 คนถูก drop out เรียบร้อย
เวลาว่างและความเป็นผู้แพ้มันฆ่าพวกเขา ไม่ใช่เขาไปฆ่าคนอื่นก่อน ทำลายคนอื่นก่อน แต่เขาถูกฆ่าด้วยเวลาว่าง ถูกฆ่าด้วยความเป็นผู้แพ้ของสังคม
วันนั้นป้าเจอเขา ป้าก็ขอกอดเขาทั้ง 5 คน เราไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ป้านี่โกรธตัวเองมากๆ เลยที่ปกป้องพวกหนูไม่ได้ เราปกป้องพวกหนูไม่ได้ จริงๆ เราต้องปกป้องเขา ความผิดพลาดของเขามันสะท้อนความอ่อนแอของผู้ใหญ่อย่างพวกเรา แต่แน่นอนสิ่งที่หนูทำกับเหยื่อมันไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง แต่พวกเขาควรจะได้เมตตามากกว่านั้น ป้าก็ต้องกอดเขานะ ซึ่งเขาก็ไม่รู้ว่าเราคือใคร
ป้าเชื่อว่าถ้าเขารู้ว่ายังมีผู้ใหญ่สักคนหนึ่ง คนสักกลุ่มหนึ่งยังเมตตาต่อเขา ป้าว่าศรัทธาที่เขามีต่อผู้คนประเทศนี้มันยังไม่ถูกทำลาย และมันอาจจะเป็นความหวังเล็กๆ ของเขาที่จะหมุนตัวเองกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ไม่ต้องให้คนทั้งประเทศมารักเขาก็ได้ แต่มีใครสักกลุ่มหนึ่งที่ยังเชื่อมั่นในตัวพวกเขา อาจจะหล่อเลี้ยงขวัญและกำลังใจให้เขา ซึ่งป้าก็ต้องเก็บเล็กเก็บน้อยแถวๆ นี้เพื่อไม่ให้ซ้ำเติมพวกเขาเกินไป
มนุษย์เราเมื่อสิ้นหวังมันจะสิ้นคิด แต่ถ้าเรารักษา หล่อเลี้ยงความหวังของพวกเขาเอาไว้มันจะพยุงไปได้อีกหลายๆ เรื่อง แล้วสักพักหนึ่งเมื่อพวกเขามีพละกำลังมากพอ มันจะทำให้เขาเดินออกมาจากตรงนั้นได้
The MATTER ตามปกติแล้ว เยาวชนที่จะมาบ้านกาญจนาฯ ต้องผ่านบ้านอื่นมาก่อนหรือไม่ อยากให้ช่วยเล่าขั้นตอน
ใช่ ในเชิงนโยบายเนี่ย รัฐกำหนดไว้แบบนั้น เพราะว่าป้าไม่ใช่ข้าราชการของกรมพินิจ เป็นคนนอกที่ถูก outsource มาทำงานที่บ้านกาญจนาฯ สถานควบคุมเด็กทั้ง 19 แห่ง บ้านกาญจนาฯ เป็น 1 ในนั้น (มี 18 แล้วบวกบ้านกาญจนาฯ ไปอีกหนึ่ง) ทั้งหมดมี 19 แห่งที่เป็นบ้านหลังคำพิพากษา แต่ว่าทุกแห่งอยู่ภายใต้กระทรวงยุติธรรม กรมพินิจ ถ้าเป็นนักโทษผู้ใหญ่อยู่ภายใต้กรมราชทัณฑ์
แต่บ้านกาญจนาฯ มีความพิเศษกว่าที่อื่นตรงที่ที่นี่ outsource คนข้างนอกมาบริหารหน่วยงานภาครัฐ แต่ว่าไม่มีกฎหมายรองรับ มีหลายเรื่องที่ป้าทำไม่ได้ในเชิงของนิติกรรม ถ้าพูดไปแล้วในจุดอ่อนนั้นก็มีจุดแข็ง ในเมื่อป้าไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ หลายเรื่องป้าปฏิเสธ เช่น ป้าจะไม่ยอมรับมรดกทางความคิดทุกประการที่รัฐปฏิบัติกับเด็กและเยาวชนตั้งแต่ปี 2495 ที่มี พ.ร.บ.ศาลเยาวชน ทำให้เรายืดหยุ่นและใช้ soft power กับเด็กๆ ได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด แต่ว่ามันก็มีหลายเรื่องที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ ต้องไปตามนโยบาย แต่นโยบายนั้นต้องไม่ขัดแย้งกับสิ่งที่ป้าเชื่อ เช่น เรายังต้องรับเด็กจากบ้านต้นทางที่แห่งที่นโยบายให้มา จริงๆ ถ้าพูดว่าการรับเด็กจากต้นทางมันมีปัญหาเยอะ แต่พอเราพูดแบบนี้ก็ไม่ได้ เด็กก็จะเสียขวัญ เด็กจะรู้สึกว่าผมไม่ไหวใช่มั้ยครับป้า ป้าก็จะบอกว่าไหวสิลูก แต่ถ้าเลือกได้ว่าให้รับเด็กที่ศาลตัดสินแล้วส่งตรงลิ่วมาที่บ้านกาญจนาภิเษกเลยกับเด็กที่ผ่านบ้านต่างๆ หลายมือจนช้ำแล้วช้ำอีก ระยะเวลาหรือพลังในการกู้เนี่ย มันไม่ได้เท่ากัน เด็กที่อัตลักษณ์ของเขามันไม่ชอกช้ำขนาดนั้น กอดของเรา กระบวนการจัดการของเราที่มันไม่จำเป็นต้องยาวนานก็อาจจะกู้เขาคืนได้แล้ว
ในขณะเดียวกันถ้าเรารับเด็กกลุ่มหนึ่งมาจากศาล อย่างเช่นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม รุ่น 90 มาละ เรารับเด็กปีละ 6-7 รุ่นเนาะ หนึ่งในรุ่นนี้เป็นคนที่เรารับจากศาลโดยตรงอย่างเป็นทางการ ก่อนหน้านี้เราทำอย่างไม่เป็นทางการก็คือเหมือนแอบรับอ่ะ เพื่อพิสูจน์อะไรบางอย่าง แล้วเราก็พบว่าเด็กที่ศาลส่งตรงมาที่นี่เลย กอดแรกมีพลังมาก ความไว้วางใจของเขายังคงมีสูง แล้วเขารู้สึกว่าความเป็นป้าของเรามันมีผลต่อความรู้สึกของเขา ความร่วมมือเขาจะสูงมาก ความสงสัยเขาจะน้อยมาก เพราะเขาเชื่อมั่นว่าเขามาถูกที่แล้ว
The MATTER: อะไรคือเหตุผลที่ทำให้แต่ละคนมีแผลลึก-ตื้นไม่เท่ากัน แล้วคุณทิชากับทีมงานใช้วิธีอะไรในการรักษาแผลใจ
จริงๆ เราอาจจะไม่ได้ทำงานแบบเฉพาะราย แล้วเราก็พบว่าการทำงานแบบกลุ่มหรือ support group กลับดีกว่า อย่างเช่น เด็กทุกคนมีร่องรอย มีบาดแผลแบบนี้เต็มไปหมด ถ้าเราจะเรียกเขามาคุยเลยมันยาก แต่จังหวะที่เขากำลังวิเคราะห์ข่าวหรือทำกิจกรรมอะไร เขาจะมีเรื่องของเขาออกมา
ตอนที่เราให้เขาวิเคราะห์หนังเรื่อง The Rock มันมีบทสนทนาของตัวละครที่มีบาดแผลจากความไม่สมบูรณ์ของครอบครัว ไม่ชอบพ่อ มันก็ปรากฏอยู่ในฉากนี้ พอดูหนังจบมาวิเคราะห์หนัง ในบทสนทนาของเราเราก็ถามเด็กๆ 1 ข้อว่า “ในพวกเรามีใครบ้างที่มีบาดแผลในวัยเด็กจนกระทั่งมันมาอยู่กับผมในตอนนี้ ถ้าเล่าให้ป้าฟังได้ช่วยเล่าด้วยนะครับ แต่ถ้าเล่าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ” ปรากฏว่าเด็กทุกคนเล่าหมดว่าพวกเขามีบาดแผลในวัยเด็ก และตอนนี้กำลังถูกเยียวยาทั้งตัวเขาและตัวพ่อแม่ผ่านการทำงานของที่นี่ เพราะที่นี่เรามีการทำ empower ครอบครัว ทุกคนต่างก็ตอบคล้ายๆ กันว่าแผลเขากำลังจะหาย แต่มีอยู่หนึ่งคนพูดชัดเจนเลยว่า “ผมเกลียดพ่อ มันจะไม่หาย และมันจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป” น้ำหนักของการเขียนของเขามันรุนแรงมาก ทำให้เราเห็นว่าในร้อยกว่าคนมีใครบางคนที่เราต้องทำงานเป็นพิเศษ เราไม่ได้อยู่ๆ เรียกเด็กมาคุย ให้เด็กมาเล่าเลย พอได้จังหวะเราค่อยถามว่า ที่คำตอบของหนูหลังดู The Rock อ่ะลูก มีอะไรที่จะแบ่งปันกับป้าได้มั้ยครับ เขาก็บอกว่าก็เป็นไปตามนั้นอ่ะป้า ผมเกลียดพ่อ เราเลยถามว่า หนูเคยรู้ชีวิตวัยเด็กของพ่อมั้ย เขาก็บอกว่าไม่ล่ะครับ เราเลยบอกไปว่า “เป็นไปได้มั้ยที่พ่ออาจจะเป็นคนหนึ่งที่มีบาดแผลในวัยเด็ก แล้วแผลนั้นมันก็ติดตัวพ่อมาแต่เรามองไม่เห็น แล้ววันนึงพ่อก็มาเป็นสามีของแม่หนู แล้วมาเป็นพ่อของหนู แล้วแผลนั้นมันก็เดินทางมาด้วย แล้วมันก็ปฏิบัติการในวันที่หนูเป็นลูกชายวัยรุ่นของเขา เป็นเด็กน้อยในครอบครัว หนูคิดว่ามันเป็นไปได้มั้ยลูก”
คือเด็กที่นี่คลังคำคลังภาษาของเขาค่อนข้างเยอะแล้ว การสนทนา การ consulting มันจะสั้น เขาก็ตอบชัดว่ามันก็อาจจะเป็นไปได้ “แล้วถ้าสมมติมันเป็นไปได้ ระหว่างเกลียดพ่ออย่างที่หนูเขียนกับให้อภัยเขา หรือวางเฉยต่อเรื่องนี้ไปสักพัก อะไรคือทางเลือกที่น่าจะเหมาะที่สุด”
แน่นอนว่าวันนั้นเขาอาจจะไม่ได้เลือกตามที่เราบอก แต่มันจะเป็นต้นทุนให้เขารู้ว่าเขามีประตูมากกว่าหนึ่งบาน ซึ่งอันนี้สำคัญ
แล้วเคยมีเด็กอีกคน เขาไปเวทีกับป้ามา ป้าไปรับเขาด้วยนะ เขาปล่อยไปแล้ว 5 ปีแต่เวทีนี้ต้องการคนที่เคยถูกกระทำ แล้วก็มากระทำคนอื่น แล้วเป็นผู้รอด แล้วมาเป็นผู้ปกป้อง มี 4 ขั้นตอนอยู่ในตัวเขา ครบเลยเด็กคนนี้ เราเลยไปชวนเขาให้ไปพูดบนเวทีกับเรา เขาเล่าชัดเจนเลยว่าเขามาจากบ้านที่พ่อชอบใช้ความรุนแรงกับเขา แม่เนี่ยหายไปเลย จนบัดนี้ก็อยู่ไหนไม่รู้ แต่รู้ว่าเพราะถูกทำร้าย แต่เขาไปไหนไม่ได้ ก็ต้องอยู่กับพ่อ
แล้ววันหนึ่งเขาโตขึ้นมา เขาไม่หันไปทำร้ายพ่อ แต่เขาไปฆ่าคนอื่น คือใช้วิธีเดียวกับที่พ่อทำกับเขา แต่ไปทำกับคนอื่น เราก็ลองให้เขาเล่าบางฉากที่มันอยู่ในความทรงจำของเขา “จำได้ว่ามีวันนึงพ่อให้ผมไปซื้อไข่ แล้วหมามันก็ไล่ ผมก็กลัว ไข่แตกหมดเลย พอมาถึงบ้านเขาไม่ถามผมสักคำเลยว่าผมเจออะไร ผ่านอะไรมา เขาก็ตบผม ทำร้ายผม ในใจผมก็นึกว่า แม่ง ไข่มันสำคัญกว่ากูใช่มั้ย ผมก็ไปนั่งซุกร้องไห้อยู่ แต่ตอนนั้นผมยังเด็ก พอนึกถึงความรู้สึกที่เกลียดพ่อ มันก็จะมีความรู้สึกแบบนี้ตามมา แล้วป้าจำได้มั้ย” เขาหันมาถามป้า “วันที่ป้าทำ empower ครอบครัว ผมก็เลือกการ์ดที่ใช้ความรุนแรง ผมคิดว่าเขาจะด่าผมซะอีก เขาก็ทำเสียงแข็งแหละ แต่ผมต้องพูดเพราะผมมีป้าอยู่ด้วย ผมบอกว่าการ์ดใบนี้เป็นปัจจัยที่ผลักไสไล่ส่งที่สำคัญสำหรับผม และถ้าอยากให้ผมรอดจริงๆ ต้องเอาการ์ดใบนี้ (ความรุนแรงในครอบครัว) ออกไปจากบ้านให้หมด จากนั้นกระบวนการในบ้านกาญจนาฯ ก็ทำให้ผมเห็นพ่อมากขึ้น” ครั้งหนึ่งเขาพูดกับป้าว่า “ผมอายุ 21 นะครับ ที่ต้องอธิบายว่าผมอายุ 21 มาด้วยคดีฆ่าก็เพราะว่าเขามีผมตอนอายุ 18-19 ซึ่งอายุน้อยกว่าผมในวันนี้ และเขาคงจะมีแผล ผมเพิ่งมารู้ในบ้านกาญจนาฯ ว่าคนจะมีแผลติดตัวมาด้วย แต่ก่อนผมไม่รู้ ผมก็เลยเกลียดเขา แต่บัดนี้ผมไม่เกลียดเขาแล้ว แต่ผมไม่กล้ามีใครก่อน เพราะผมต้องเยียวยาตัวเองก่อน”
เราจะเห็นว่ากระบวนการเหล่านี้มันสำคัญ ปัจจุบันหนุ่มน้อยคนนี้เขามีแฟนของเขา เขาจะไม่ทำร้ายแฟน และถ้าเขามีลูกเขาจะไม่ทำสิ่งเหล่านั้นให้ลูกเห็น ดังนั้นมัน on process ชัดนะ ตั้งแต่เคยเป็นเหยื่อ แล้วก็ไปทำร้ายคนอื่น แล้วก็เป็นผู้รอด และจะไม่ทำร้ายคนอื่นต่อไป ซึ่งห่วงโซ่เหล่านี้มันชัดเจน
เราพยายามทำให้เด็กเห็นว่าเมื่อไหร่ที่เขาเห็นโครงสร้างปัญหาของเขา เขาจะเดินออกจากโครงสร้างนั้นได้ แม้ว่ากลไกใหญ่ของรัฐจะไม่ได้ทำอะไร ระบบใหญ่ยังไม่ได้ถูกออกแบบ แต่ตัวเขาจะเห็น
The MATTER: เคยเจอเคสที่ไม่ว่าทำพยายามทำเท่าไรเขาก็ไม่เปิดใจให้เราบ้างไหม
ป้าไม่อยากจะบอกว่าเขารักษาไม่หาย แต่ป้าคิดว่า timing ต่างหากที่ยังเป็นปัญหาในการรักษา ป้าเคยเจอเด็กคนหนึ่งหลังออกจากบ้านกาญจนาฯ ไปเขาไปติดคุก เขาเขียนจดหมายมาหาป้า ฉบับแรกเขาบอกว่า เขาคิดนานนะว่าจะเขียนมาหาป้า เพราะเขารู้ว่าป้าจะต้องเสียใจ เขาเป็นห่วงความรู้สึกป้ามากกว่าความรู้สึกแม่เขา เพราะเขารู้ว่าตลอดเวลาที่อยู่ในบ้านกาญจนาฯ ป้าทุ่มเทเพื่อพวกเขา แล้วพอออกมาก็ทำผิดอีก เขารู้สึกผิด เขาอยากบอก
พอฉบับที่สองก็ชัดเจนเลยว่า “ป้าอย่าเสียใจนะครับ ผมคือข้าวใน 5,000 เมล็ดที่ป้าเคยหว่านในปี พ.ศ.หนึ่งแต่มันไม่ขึ้น แต่มันต้องขึ้น” คือความสุกงอมของเขามันยังไม่ได้จังหวะ ด้วยบาดแผลที่มันอาจจะลึกมาก แต่ที่นี่อยู่ใต้เงื่อนไขของคำพิพากษา เมื่อถึงเวลาเราก็ต้องปล่อย ทั้งๆ ที่เรารู้ว่าบาดแผลของเขามันยังเรื้อรังอยู่ ถ้าเป็นโรงพยาบาลอาจจะให้แอดมิทต่อได้ แต่พอเป็นคำพิพากษา เป็นเรื่องกฎหมาย เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ ถึงแม้ว่าเราจะขอยื่นขยายการฝึกแต่มันก็อาจจะไม่เคลียร์ ถ้าเราบอกเด็กบางคนว่าเธอยังไม่ดีนะ เธออย่าเพิ่งออกนะ มันไม่อาจเข้าใจว่าเรากำลังเยียวยาเขาต่อไป ซึ่งหน้าที่เราก็คือทุ่มให้สุดตัวก่อน จดหมายฉบับนี้เป็นสิ่งที่มีผลต่อความรู้สึกของป้าอย่างมาก “ผมคือข้าวใน 5,000 เมล็ดที่ป้าเคยหว่านในปี พ.ศ.หนึ่งแล้วมันไม่ขึ้น ป้าอย่าเสียใจนะครับ แต่มันจะขึ้น”
The MATTER: ตอนต้นๆ คุณทิชาพูดถึงปัญหาเชิงระบบ ที่ผลักเด็กคนหนึ่งให้มากระทำผิด และทำให้การเยียวยาเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กๆ เหล่านี้เพื่อคืนเขาสู่สังคมไม่ใช่เรื่องง่าย ตลอดเวลาที่ทำงานที่บ้านกาญจาภิเษก 16 ปี สถานการณ์เหล่านี้ ดีขึ้นบ้างไหม
คือจริงๆ ถ้าเรียงทามไลน์ เปลี่ยนมากๆ 3 ปีแรก ป้าทำสงครามทางความคิดกับผู้คนเกือบทั้งหมดที่คุ้นชินกับกระบวนการยุติธรรมแบบแนวดิ่งรวมทั้งในบ้านกาญจนาฯ เป็นช่วงสงครามทางความคิดอย่างรุนแรง ไม่ว่าป้าจะพูดถึงสิทธิเสรีภาพใดๆของเด็ก ก็จะถูกตั้งคำถามสวนกลับมาเสมอ เช่น ไม่สงสารเหยื่อหรือไง? ทำแบบนี้ คิดว่าเหยื่อเค้าจะรู้สึกยังไง? ซึ่งป้าก็ต้องตั้งคำถามกลับไปว่า หน้าที่ของเราก็คือทำงานกับคนที่กระทำกับคนอื่น ส่วนเหยื่อจะมีคนอีกกลุ่มนึงทำ แล้วที่สำคัญคือระหว่างที่เราทำงานกับคนกลุ่มนี้ที่กระทำกับคนอื่น คือเราไม่จำเป็นจะต้องทำให้เค้าเกลียดชังเหยื่อ แต่เราทำให้เค้าสำนึกในความสูญเสียเค้าคืนเหยื่อ ความเสียหายของเหยื่อพร้อมๆ ไปด้วยไง
ดังนั้นอันนี้คุณต้องแยกให้ออกว่าคุณอยู่ในกลไกอะไรของระบบใหญ่ เราถูกส่งให้มาทำงานเพื่อเยียวยาเด็กที่ไปละเมิดคนอื่น ดังนั้นหน้าที่ของเราคือกู้เค้าคืนมา ไม่ใช่ซ้ำเติมเค้า หรือแม้นแต่ป้าตั้งคำถามกลับไปว่า ถ้าลูกเรามาติดในที่แบบนี้ กระบวนการจัดการเช่น กินข้าวต้องตบฉาก เราคิดว่ามันใช่ไหม? แล้วลูกเราจะไปนั่งกินข้าวในห้างแห่งนึงต้องไปตบฉากไหม? แล้วเราฝึกแบบนี้เพื่ออะไร? หรือว่าเค้าต้องนั่งยองๆ กับเรายกมือไหว้ทุกครั้งที่พูดกับเรา เค้าสูญเสียอะไรไปบ้าง ถ้าเค้าเป็นลูกเรา เรายอมไหม หรือเค้าไม่เคยแตะต้องอะไรที่เป็นงานครัวงานบ้านเลย เพราะว่าถึงที่สุดทุกอย่างมันจะสำเร็จรูปมาตั้งที่โต๊ะรอให้กินอย่างเดียว 3 ปีต่อมา เราปล่อยเค้าไปอยู่กับพ่อแม่ ทั้งๆ ที่ก่อนเข้ามารอยร้าวในครอบครัวมันก็เต็มไปหมด แล้วเราก็ส่งเค้าไปแบบเนี่ย อะไรคือคำตอบ ซึ่งไม่มีใครตอบป้าได้ทั้งหมดเลยตอนที่ป้ามาครั้งแรก แต่เค้าก็รู้สึกได้ว่าก็มันทำกันมาแบบนี้ ป้าก็รู้สึกได้ว่า ไม่มีเหตุผลที่เราจะทำแบบนี้ต่อไป
ดังนั้นป้าขอให้เด็กๆ ทุกคนได้มีโอกาสทำกับข้าวกินเอง กลายเป็นประเด็น เพราะว่า มีด ตะหลิว เตาแก๊ส กระทะ ทุกอย่างถูกให้ความหมายว่าเป็นอาวุธทั้งหมด เฉพาะเรื่องนี้เรื่องเดียว ป้าจำได้เค้าเถียงกัน 3-4 เดือน เค้าไม่ยอม จนสุดท้ายป้าต้องถามอย่างหยาบคายกลับไปว่า รู้สึกยังไงกับส้นตีน? เพราะว่าเด็กจำนวนหนึ่งไปฆ่าคนโดยไม่มีอาวุธเลยแม้แต่น้อย มือเปล่า ตีนเปล่า แล้วถ้าเราเชื่อว่ากระทะ ตะหลิว เตาแก๊สเป็นอาวุธ รู้ยังไงกับส้นตีน? ใช่ไหมคะ มันต้องเคลียร์กันให้ตก ว่าจริงๆ อาวุธอยู่ตรงที่วิธีคิด? อยู่ตรงที่ความรู้สึกปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัยต่างหาก ถ้าเค้ารู้สึกว่าไม่ปลอดภัย ส้นตีนเค้าก็เป็นอาวุธได้ แต่ถ้าเค้ารู้สึกปลอดภัย มีดก็เป็นแค่เครื่องมือหั่นผักเท่านั้น
ใน 3 ปีแรกข้อถกเถียงแบบนี้มีตลอดทุกๆ วันที่เราจะออกแบบกิจกรรม แต่ทั้งหมดนั้นเป็นได้แค่อดีตแล้ว วันนี้ทุกคนร่วมมือร่วมเดินทาง ก็พิสูจน์ได้อย่างคนที่มารุ่นล่าสุด 90 ที่จะต้องไปต่อเรือนจำอีก 34 ปีที่มีคดีผู้ใหญ่รออยู่ เจ้าหน้าที่ไม่รู้สึกว่า อย่าให้มันไปกินหมูกระทะนะ อย่าให้มันกลับบ้านนะสิ้นเดือนน่ะ เพราะไม่รู้ว่ามันจะกลับมาหรือเปล่า ไม่มี เพราะทุกคนแฮปปี้กับระบบที่เราออกแบบ ซึ่งทั้งหมดนี้ป้าเชื่อว่ามันไม่ใช่เปลี่ยนในเชิงโครงสร้างของรัฐ แต่ในระดับปัจเจก เค้าเป็นดอกไม้ที่งดงามในสวนได้แล้ว ซึ่งป้าคิดว่าเวลาทำงานมันมีก็ 2 ฟังก์ชั่นให้เราได้เลือกเนอะ ฟังก์ชั่นหนึ่งก็คือเราไปสู้รบตบมือเพื่อให้โครงสร้างนโยบายเปลี่ยน ระบบเปลี่ยน กลไกเปลี่ยน กับอีกอันนึงก็คือเราทำสเกลเล็กๆ ให้งดงามส่งพลัง ให้เป็นเรื่องเล่าเร้าพลัง ให้เกิดโมเมนตัม ให้มัน scale up แล้วถ้าเราทำสเกลเล็กให้มันสเกลอัพเพื่อไปซัพพอร์ตนโยบายได้ สำหรับป้ามันคือทิศทางที่ถูกต้อง แต่นโยบายไม่ควรที่จะออกมาด้วยการประชุมของคนในห้องประชุมซึ่งจำนวนมหาศาลก็ไม่ได้เคยติดคุกแล้วก็เอารัดเอาเปรียบคนอื่นด้วยซ้ำไป ทิศทางแบบนี้มันสำคัญ
แล้วป้าคิดว่าแบบนี้มันอาจจะดูเหมือนเปลี่ยนช้า แต่แบบนี้มันทำให้คนสุกได้มากกว่า สุกงอมกว่า เหมือนกับใครบางคนที่เคยพูดเอาไว้ว่า เอาจริงๆ เนี่ยคนกลุ่มเล็กๆ ที่ทำงานอย่างมุ่งมั่นและศรัทธาเนี่ย คนกลุ่มนี้ต่างหากที่จะเขียนประวัติศาสตร์ที่จะเปลี่ยนแปลง ถามว่านานไหม เพราะคนบางคนจะมุ่งแก้ปัญหาที่เชิงนโยบายเชิงโครงสร้าง ซึ่งป้าว่าไม่ผิดแล้วก็ถูกที่ต้องทำอย่างนั้น แต่ถ้าเราสามารถเอาสเกลเล็กๆ ในซัพพอร์ตนโยบายและโครงสร้างได้ มันคือความลงตัว
The MATTER: หากโมเดลของบ้านกาญจนาฯ มันเวิร์กต่อเด็ก เป็นไปได้ไหมที่สถานพินิจอื่นๆ จะนำโมเดลนี้ไปใช้
คำตอบหนึ่งก็อย่างที่ป้าพูดไปในตอนแรกเนอะว่า บ้านกาญจนาฯ เนี่ย ปรับความสัมพันธ์แนวดิ่งเป็นแนวราบคือหมายถึงว่าไม่ empower อำนาจของเรา แต่ไป empower อำนาจของเด็กๆ และพ่อแม่ ซึ่งป้าคิดว่าที่เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ถ้าเป็นคนที่ mindset ไม่แข็งแรง แล้วก็ไม่ถูกทำงานอย่างต่อเนื่องอย่างใกล้ชิดเนี่ย เค้าไม่กล้าสูญเสีย ที่นี่ป้าเคยให้เจ้าหน้าที่หนึ่งคนออกตอนที่ป้าเข้ามาไม่ถึง 6 เดือน ทั้งๆ ที่ป้าก็ไม่ได้มีอำนาจเพราะป้าถูก outsource มา แต่ป้าขอให้เจ้าหน้าที่หนึ่งคนออก เพราะว่าเค้าตบหน้า ทำร้ายเด็ก ซึ่งหลังจากคุยกันแล้วเนี่ย เค้าก็สมัครใจเขียนใบลาออกให้ เพราะไม่อย่างงั้นป้าก็อาจจะต้องดำเนินการจริง เรียกพ่อแม่เค้ามาดูที่ลูกเค้าถูกทำร้าย ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่คนเนี่ยก็ออก
แต่เจ้าหน้าที่อีกทั้งบ้าน ตอนนั้นป้าก็เพิ่งมาใหม่ๆ ด้วยเนอะ แล้วเขาก็รู้สึกได้ว่าป้าไม่ใช่ข้าราชการซี 8 ซี 9 จะมาใช้การตัดสินใจแบบนี้กับพวกเขาไม่ได้ และลึกไปกว่านั้น จริงๆ ก็คือตอนที่เค้าเดินมาหาป้าที่ห้องเนี่ย โจทย์ใหญ่ของเค้าก็คือว่า ‘เมื่อคุณให้พวกเราหนึ่งคนที่ทำร้ายเด็กออก ตอนนี้สัญญาณจากเด็กๆ ที่มองมาที่เราคือเหมือนโดนปลดอาวุธ คือประมาณว่ามันอาจจะมากดเราอะ มันอาจจะมาทำร้ายเรา แล้วคุณทิชาจะรับผิดชอบอะไรแทนพวกเราถ้ามันทำร้ายพวกเรา เพราะมันรู้ว่าเราทำอะไรมันไม่ได้
อันนี้คือความหวาดกลัวที่สุดของเจ้าหน้าที่ในปี พ.ศ.นั้น ป้าก็เลยถามกลับไปว่า ‘เมื่อคนทำร้ายเด็กหนึ่งคนถูกให้ออก แล้วเด็กจะรู้สึกเหลิงในอำนาจ แล้วก็ลุกขึ้นมาทำร้ายคุณในพรุ่งนี้และมะรืนนี้ ทำไมคุณไม่คิดบ้างว่า เด็กๆ รู้สึกว่า ตัวตนของเขานั้นช่างมีคุณค่า ความเป็นเด็กของเขาถูกเคารพ กฎหมายคือกฎหมาย กติกาคือกติกา และคุณค่านี้มันก็เปลี่ยนเป็นความรู้สึกที่ละเมียดละไม ที่รู้สึกได้ว่าเค้าให้เกียรติเรา เขาเคารพเรา เค้ายอมรับเรา เราก็จะยอมรับเขา เขาให้ใจเรามาเราก็จะให้ใจเค้าคืน ทำไมคุณไม่คิดว่าเด็กจะ move ตัวเองมาในมุมนี้ ทำไมคุณต้องคิดว่าเด็กจะลุกขึ้นมาทำร้ายพวกคุณในวันพรุ่งนี้เมื่อเค้ารู้ว่าคนๆ นึงถูกออกไปเพราะทำร้ายพวกเขา มันถูกพิสูจน์แบบนั้นแล้วจริงหรือ ซึ่งป้าเชื่อว่าเด็กจะไม่รู้สึกเช่นนั้น ป้าเชื่อว่าอีกไม่กี่วันต่อมาเด็กจะรู้สึกว่าบ้านหลังนี้แสนจะปลอดภัยสำหรับพวกเขา ดังนั้นมันจะต้องการคนทำงานที่ใกล้ชิดกับผู้คนที่จะเปลี่ยนแปลง mindset เหล่านี้ แค่นโยบายจากข้างบนสั่งมาว่าอย่าทำร้ายเด็กๆ สำหรับป้า มันไม่พอ ต้องมีคนที่คอยแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ในบ้านกาญจนาฯ ช่วง 3-4 ปีแรกก็เป็นเช่นนี้
พอเรายิ่งเชื่อมั่นในอำนาจของเรา เรายิ่งไม่มีเครื่องมือไป empower คนที่เปราะบางและอ่อนแอ คนเหล่านั้นจะอยู่ได้ด้วยการ empower ไม่ใช่การถูกปล้นอำนาจ แต่ขณะนี้ทุกสถานควบคุมเราเอาอำนาจของพวกเขามาเก็บเพื่อให้เรา powerful ซึ่งป้าคิดว่าคนเหล่านี้พอออกไปแล้วเค้าก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นอะไรก็ไม่รู้ ซึ่งมัน empower ตัวเองไม่ได้ไง อาจจะมีคน empower ตัวเองได้ แต่มันไม่ใช่เป็นสูตรเดียวกันทั้งประเทศไง คนบางคนต้องการคนอื่น
เอาจริงๆ เด็กทุกคนที่ก่ออาชญากรรมที่รุนแรง เขาอยากลงจากหลังเสือ แต่เขาลงเองไม่เป็น และที่สำคัญมากๆกว่านั้นก็วันที่เขาขึ้นหลังเสือเขาก็ขึ้นแบบคนหลงทางไปด้วยเนอะ เขาไม่ได้ขึ้นเพราะกูตั้งใจขึ้นไปบนหลังเสืออย่างสง่างาม ไปแบบไม่รู้จะไปไหนไง ที่จะให้ตัวเองมีที่หยั่งยืนนะ แล้วก็หลุดไปนั่งอยู่ที่หลังเสือนั้น พอนั่งไปซักพักนึงก็รู้ด้วยว่ามันน่ากลัวและอยากลงแล้ว
ถ้าเราทำทางลงให้เค้าอย่างสง่างาม เด็กอยากลงหมดน่ะค่ะ ไม่มีใครอยากอยู่ตรงนั้น