มีใครชอบคุยกับตัวเองบ้าง? บางครั้งที่เผลอคุยคนเดียวขึ้นมาก็จะเขินๆ หน่อย จะมีใครมองว่าเราแปลกไหมนะ แต่สมัยนี้หมดยุคของการคุยคนเดียวแล้วแปลกแล้ว เพราะการคุยคนเดียวคือการทำความเข้าใจตัวเองรูปแบบหนึ่งต่างหาก ถ้ายังไม่ลองก็ไม่รู้หรอก มาเข้าวงการคุยกับตัวเองหน่อยเป็นไง
ทำไมเราถึงชอบคุยกับตัวเอง? ย้อนกลับไปตอนที่เรายังเป็นเด็กที่เพิ่งเริ่มหัดพูด เราจะคุยกับตัวเองเสียงดังเจื้อยแจ้วอยู่เสมอ โดยไม่ได้สนใจว่าจะมีใครมองว่าการคุยกับตัวเองนั้นแปลกหรือไม่ แต่พอถึงจุดหนึ่งสักช่วงอายุห้าขวบ เราจะเริ่มเลี่ยงการคุยกับตัวเองให้คนอื่นได้ยิน หรือคุยกับตัวเองสั้นลง จากการคุยเป็นเรื่องเป็นราวก็อาจจะเหลือแค่ไม่กี่ประโยค เมื่อเราเติบโตขึ้น หลายคนก็หลงเหลือพฤติกรรมการคุยกับตัวเองอยู่ ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องแปลกเลย
มีงานศึกษามากมายที่ชี้ให้เห็นว่าการคุยกับตัวเองนั้นส่งผลดีกับสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแก้ปัญหา การใช้เหตุผล การวางแผน การสร้างแรงบันดาลใจ และการเข้าใจตัวเอง
การคุยกับตัวเองทำให้เราแก้ปัญหาได้ดีขึ้น
การคุยกับตัวเองนั้นมีหลายรูปแบบ และในหลายรูปแบบก็ยังแตกแยกย่อยออกไปอีกมากมาย แต่ถ้าพูดถึงโดยรวม ก็จะมีการ ‘คุยกับตัวเองในใจ’ และการ ‘คุยกับตัวเองแบบเปล่งเสียงออกมาเลย’ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบไหนก็ล้วนส่งผลดีกับตัวเราทั้งสิ้น
การคุยกับตัวเองสามารถช่วยให้เราก้าวข้ามผ่านปัญหาอะไรก็ตามที่เรากำลังเผชิญอยู่ บางครั้งมันก็ถูกเรียกว่า ‘การอธิบายตัวเอง’ ซึ่งการอธิบายตัวเองนี่แหละที่ทำให้เราสามารถเข้าใจว่าเรากำลังเจอกับอะไร เรากำลังทำอะไรอยู่ และเราสามารถทำอะไรต่อได้บ้างเพื่อจะแก้ปัญหาตรงหน้าได้ดีขึ้น เราเข้าใจว่าการเจอกับปัญหาอะไรบางอย่าง ไม่มีใครตั้งสติได้ในทันทีหรอก ดังนั้นการแบ่งเวลาสักนิดมาตั้งสติและคุยกับตัวเอง จะช่วยให้เราได้หยุดมองปัญหา เห็นภาพรวม และค้นพบความเป็นไปได้ ทางเลือกในการแก้ปัญหา
ถ้าเราเข้าใจว่าเราควรคุยกับตัวเองอย่างไร กำลังคุยเรื่องอะไร และรู้ตัวเองว่านี่ไม่ใช่สัญญาณของปัญหาสุขภาพจิตที่แอบซ่อนอยู่ในใจ ก็ไม่มีอะไรน่าห่วงว่าเราจะดูแปลก แต่ถ้าการคุยกับตัวเองของเรานั้นมีแต่เรื่องที่ทำให้รู้สึกแย่ ยากจะควบคุม หรือบางครั้งเราอาจเห็นภาพหลอนหรือหูแว่วด้วย ก็ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
คุยกับตัวเองเรื่องอะไร ให้ได้ผลดีที่สุด
โฟกัสเฉพาะเรื่องราวที่ดี ชีวิตคนเรามีทั้งดีและแย่ปนกัน แต่ในเวลาที่เราคุยกับตัวเอง เน้นการสร้างพลังบวกให้ตัวเองเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการชมตัวเอง หรือการให้กำลังใจตัวเอง ในแบบที่ไม่เกินความจริงจนเกินไปนัก บางครั้งเราอาจรู้สึกท้อแท้ว่าเราพรีเซนต์งานไม่เก่งเท่าคนอื่น การพูดกับตัวเองว่า “เราเก่งที่สุดแล้ว” ก็อาจรู้สึกว่ามันไม่จริง ลองเปลี่ยนเป็น “เรารู้ว่าการพรีเซนต์งานมันยากแหละ แต่ก็ไม่เกินความสามารถสักหน่อย คงต้องลองทำให้เยอะกว่านี้ เราก็ทำได้ดีขึ้นทุกครั้งเลยเถอะ”
ย้ำเตือนตัวเองในสิ่งที่กำลังทำ การวางแผนเอาไว้ล่วงหน้าว่าเราจะต้องทำอะไรนั้น ช่วยทำให้งานของเราเสร็จอย่างรวดเร็วขึ้น ลองใช้เวลาในตอนเช้าหลังตื่นนอน พูดคุยกับตัวเองดูว่าวันนี้เราต้องทำอะไรให้เสร็จบ้าง แล้วถ้าจะทำให้เสร็จ เราจะต้องมีลำดับขั้นตอนยังไง หรือจะลองกับการทำเรื่องเล็กน้อยก่อนอย่างการประกอบเฟอร์นิเจอร์ ลองคุยกับตัวเองว่าขั้นตอนต่อไปต้องหยิบชิ้นส่วนนั้นเข้ามาประกบกับชิ้นส่วนนี้ แล้วเดี๋ยวจะต้องใช้น็อตตัวนั้นมาล็อกด้วยกัน แล้วจะพบว่าสิ่งที่กำลังทำนั้นง่ายขึ้นอย่างน่าประหลาด
ให้กำลังใจตัวเองก่อนจะลงมือทำเรื่องที่ยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะพรีเซนต์งาน สอบครั้งสำคัญ หรือแข่งขันอะไร ก่อนลงมือ ลองพูดให้กำลังใจตัวเอง มีงานศึกษาหนึ่งที่พบว่าเมื่อให้นักบาสเก็ตบอลพูดให้กำลังใจตัวเองก่อนที่จะลงแข่งขัน ทำให้พวกเขาเล่นบาสเก็ตบอลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นคำกล่าวที่ว่า ‘แค่เชื่อว่าเราทำได้ เราก็ทำได้แล้ว’ ก็อาจไม่เกินจริงเลย
หลีกเลี่ยงการคุยเรื่องที่ทำให้ดิ่ง แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เราควรหลีกเลี่ยงการคุยกับตัวเองในเรื่องที่สะเทือนใจ ไม่พูดจาว่าร้ายตัวเอง ไม่โทษตัวเองถึงปัญหาที่เกิดขึ้น การพูดเรื่องลบกับตัวเองนั้นเหมือนกันตอกย้ำแผลตัวเองซ้ำ ถ้าพบว่าเราเป็นคนที่คุยกับตัวเองในเรื่องที่ทำให้ดิ่งบ่อย ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเร็ว
คุยกับตัวเองแบบแอดวานซ์ไปอีกหน่อย
ถ้าเป็นคนที่คุยกับตัวเองทุกวันอยู่แล้ว อยากลองคุยกับตัวเองให้ลึกขึ้น ทำความรู้จักกับตัวเองให้มากขึ้น มีวิธีคุยกับตัวเองที่น่าลองดูอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นคุยกับตัวเองในมุมมองบุคคลที่สาม คุยกับตัวเองในกระจก หรือคุยกับตัวเองแล้วอัดวิดีโอไปด้วย
มีงานศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่าในกลุ่มคนที่มีความวิตกกังวลนั้น การคุยกับตัวเองในมุมมองบุคคลที่สามสามารถช่วยให้คลายความกังวลได้ เพราะการคุยด้วยมุมมองนี้เราจะได้เอาตัวเองออกมาจากสิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่อย่างสมบูรณ์ มองมันด้วยมุมมองของคนนอกที่จะมองเข้ามา ทำให้เราเข้าใจความรู้สึก ความเป็นไป และอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ดีกว่าการคุยด้วยมุมมองของเราเอง เผลอๆ การคุยกับตัวเองในเรื่องที่กำลังเครียดอยู่ด้วยมุมมองบุคคลที่หนึ่ง อาจทำให้เราอารมณ์ขุ่นมัวขึ้นมาอีกครั้ง ดังนั้นการคุยในมุมมองบุคคลที่สามจึงเป็นทางเลือกที่อาจดีกว่า
อีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจคือ การถามคำถามอะไรบางอย่างกับตัวเอง แล้วหาคำตอบมาอธิบายให้ตัวเองฟัง เป็นวิธีที่สามารถช่วยในเรื่องความจำได้ดี เพราะเรากำลังเรียนรู้สิ่งนั้น และสอนตัวเองไปพร้อมกัน การทำแบบนี้จะช่วยฝังสิ่งที่เราถามและตอบตัวเองไว้ในความทรงจำระยะยาว บางคนก็ใช้เทคนิคนี้ในการอ่านหนังสือสอบเพื่อการจดจำและเข้าใจที่ดีขึ้น
หรืออาจลองคุยกับตัวเองในกระจก เพราะเราจะสามารถสังเกตสีหน้าและภาษากายของเราในขณะที่เราคุยกับตัวเองอยู่ได้ว่าเรารู้สึกกับเรื่องนี้อย่างไร เราจะได้เห็นมุมมองที่ตัวเองแสดงออกมาแตกต่างกันออกไประหว่างที่คุยกับตัวเอง เมื่อลองทำไปสักพักเราจะจับจุดตัวเองได้มากขึ้น การเปลี่ยนแปลงไปของสายตา ท่าทาง หรือน้ำเสียง และเข้าใจตัวเองได้ในหลายมิติมากขึ้น
การคุยกับตัวเองนั้นอาจไม่ได้ทำให้ปัญหาตรงหน้าหายวับไปกับตา แต่บทสนทนาที่เกิดขึ้นระหว่างเราเองจะช่วยบอกว่าอย่างน้อยปัญหานี้ก็ยังพอมีทางออกอยู่บ้าง
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.psychologytoday.com
https://www.medicalnewstoday.com
Illustration by Kodchakorn Thammachart