เวลาพูดถึงสุขภาพ 3 เรื่องแรกที่เรานึกถึงคงจะเป็นการกิน การนอน และการออกกำลังกาย ซึ่ง 2 อย่างหลังเรายังพอมีทางเลือกให้ไม่ต้องจ่ายเงินได้ แต่ ‘การกิน’ คือสิ่งที่เราจำเป็นต้อง ‘จ่ายเงินซื้อ’ ในทุกๆ มื้อ และดูเหมือนว่า ยิ่งอาหารเป็นมิตรต่อร่างกายเท่าไร ยิ่งมีโอกาสที่ต้องจ่ายแพงขึ้นเท่านั้น
The MATTER เลยอยากชวนมาหาคำตอบว่า อาหารที่ดีต่อสุขภาพเป็นแบบไหน เราจำเป็นต้องจ่ายแพงจริงไหม และอะไรที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังค่าใช้จ่ายเหล่านี้บ้าง?
อาหารสุขภาพกับราคาที่ต้องจ่าย
เมื่อพูดถึงอาหารเฮลตี้ บางคนอาจจะนึกถึงอาหารคลีน ออร์แกนิก หรืออีกหลากหลายนิยาม แถมคำว่า ‘แพง’ ยังเป็นเรื่องปัจเจกที่ชวนให้เราสับสนว่า สรุปแล้วอาหารเพื่อสุขภาพกับความแพง-ไม่แพงจะสามารถวัดจากอะไรได้บ้างนะ
รายงานหนึ่งที่น่าสนใจจาก Our world in data ที่เผยแพร่เมื่อปี 2021 อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า อาหารที่ดีต่อสุขภาพแบบขั้นพื้นฐานสุดๆ คืออาหารที่ดีต่อร่างกายทั้งในด้านปริมาณคือ ‘แคลเลอรี่ที่พอดี’ และด้านคุณภาพคือ ‘สารอาหารที่ครบถ้วน’ แต่หลายประเทศประสบปัญหา ‘กินอิ่มครบตามปริมาณแคลเลอรี่’ แต่ ‘สารอาหารไม่ครบ’ ตามสัดส่วนที่ร่างกายต้องการ เช่น ขาดแคลเซียม วิตามิน หรือแร่ธาตุบางชนิดอยู่ โดยเฉพาะประเทศยากจนที่คนส่วนใหญ่มักจะบริโภคอาหารจำพวกแป้งเป็นหลัก
และถ้าเรานำตัวเลขราคาอาหารทั่วโลกมาหาค่าเฉลี่ยจะพบว่า ค่าใช้จ่ายสำหรับอาหารที่ให้พลังงานอย่างเพียงพอจะตกอยู่ที่ 0.83 ดอลลาร์ต่อวัน (29.12 บาท) แต่ถ้าเป็นอาหารที่ให้พลังงานและสารอาหารเพียงพอด้วย ค่าใช้จ่ายจะตกอยู่ที่ 3.54 ดอลลาร์ต่อวัน (124.22 บาท) นั่นหมายความว่าอาหารที่ ‘อิ่มและดีต่อสุขภาพ’ จะแพงกว่าอาหารที่กินแค่ ‘พออิ่ม’ ถึง 4 เท่าเลยทีเดียว
และเมื่อสำรวจค่าใช้จ่าย ‘ขั้นต่ำสุด’ ที่จะสามารถเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้นั้น พบว่า ในภาพรวมประเทศไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ ‘จ่ายไหว’ เพราะราคาอาหารเหล่านี้ต่ำกว่ารายได้เฉลี่ย แต่ยังนับว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงมากๆ เรียกง่ายๆ ว่าเราจ่ายได้ แต่ไม่สบายกระเป๋า และถ้าเทียบเป็นสัดส่วน ข้อมูลในปี 2020 ระบุว่า ประเทศไทย มีประชากรที่ไม่สามารถจ่ายค่าอาหารที่ดีต่อสุขภาพนี้ได้ราวๆ 17% หรือประมาณ 12 ล้านคนเลยทีเดียว
ที่มา Ourworldindata.org
ที่มาของราคาที่ (ไม่ค่อยจะ) เป็นมิตร
อย่างที่เล่าไปว่า การกินให้ได้ทั้งแคลเลอรี่ที่พอดีและสารอาหารที่ครบถ้วนนั้น มีราคาที่เราต้องจ่าย ‘เพิ่มขึ้น’ ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็น ‘ต้นทุนการผลิตและการขนส่ง’ อย่างผักผลไม้ตามฤดูกาลหรือวัตถุดิบปลอดสารเคมีนั้นต้องอาศัยธรรมชาติที่ไม่สามารถเร่งรัดหรือควบคุมได้ ยิ่งเจอปัญหาโลกร้อน สภาพอากาศรวน ยิ่งทำให้เราควบคุมปริมาณการผลิตได้ยากและผลผลิตที่ออกมาค่อนข้างจำกัด พอเจอช่วงน้ำมันแพง ราคาขนส่งจากฟาร์มมาถึงร้านก็แพงตามไปด้วย ขณะที่อาหารขยะหรือขนมขบเคี้ยวบางชนิดสามารถผลิตได้ทีละเยอะๆ แถมไม่ต้องใช้วัตถุดิบคุณภาพสูง เพราะมีน้ำตาลและสารปรุงแต่งอื่นๆ เข้ามาเป็นส่วนผสมด้วย เลยสามารถลดต้นทุนและทำให้ราคาเข้าถึงได้ง่ายกว่านั่นเอง
นอกจากต้นทุนการผลิตแล้วยังมี ‘ต้นทุนด้านการเก็บรักษา’ เนื่องจากอาหารที่ดีต่อสุขภาพส่วนใหญ่ ไม่สามารถเก็บไว้ได้นานๆ เหมือนอาหารกระป๋องและอาหารสำเร็จรูป เลยต้องอาศัยการแช่เย็นเพื่อคงความสดใหม่ ทำให้มีต้นทุนส่วนนี้เพิ่มเข้ามา และถ้าต้องการเลี่ยงเครื่องปรุงจากร้านอาหารตามสั่งทั่วไปแล้วหันมาทำอาหารเองที่บ้าน ก็ต้องแลกมาด้วย ‘เวลา’ ที่ใช้ทำอาหาร ล้างจาน เลือกวัตถุดิบ แถมของสดเหล่านี้ยังหมดอายุไว ยิ่งทำให้เราไม่สามารถซื้อวัตถุดิบมาตุนได้ทีละเยอะๆ นอกจากนี้ ยังมีคนที่แพ้อาหารอย่างแล็กโตส ยีสต์ หรือวัตถุดิบบางอย่างที่มีสารอาหารจำเป็นต่อร่างกาย เลยต้องเปลี่ยนไปกินอาหารทางเลือกที่บางครั้งก็มีราคาสูงกว่าอาหารทั่วๆ ไปเลยต้องจ่ายแพงขึ้นนั่นเอง
เมื่อแพงเราไม่เท่ากัน
อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรารู้สึกว่าอาหารที่ดีมักจะมีราคาแพง คือเรื่องสัดส่วนรายได้ของคนในประเทศ โดยเรื่องนี้สามารถอธิบายด้วย ‘กฎของเองเกล’ หรือ ‘Engel’s Law’ ที่ว่า ยิ่งเรารวยขึ้นเท่าไร ‘สัดส่วน’ ค่าอาหารต่อรายได้ยิ่งลดน้อยลงเท่านั้น ทำให้ความรู้สึกที่ว่า ‘อาหารดีๆ ราคาแพง’ ลดน้อยลงไปด้วย
ถ้าเราเทียบเป็นตัวเลขกลมๆ ให้เห็นภาพ สมมุติว่า A มีรายได้ 20,000 บาทต่อเดือน แล้วใช้ไปกับค่าอาหารการกิน 8,000 บาทต่อเดือน หมายความว่าค่าอาหารคิดเป็น 40% ของรายได้ แต่ถ้า A มีรายได้เป็น 30,000 บาทต่อเดือน A อาจจะซื้ออาหารเฮลตี้ กินมื้อหรูในบางครั้ง จนค่าอาหารเพิ่มขึ้นมาเป็น 10,000 บาทต่อเดือน ซึ่งคิดเป็น 33.33% ของรายได้ นั่นหมายความว่า A จ่าย ‘ค่าอาหาร’ เพิ่มขึ้นก็จริง แต่ไม่ได้หมายความว่า ‘สัดส่วนค่าอาหารต่อรายได้’ จะเพิ่มตามไปด้วย ซึ่งกรณีของ A ค่าอาหารมีสัดส่วนน้อยลงด้วยซ้ำ
ที่มา corporatefinanceinstitute
ดังนั้น A เลยมีเงินเหลือพอจะไปใช้จ่ายกับสินค้าและบริการอื่นๆ และรู้สึกว่าอาหารแพง ‘น้อยกว่า’ ตอนเงินเดือน 20,000 บาท แม้จะจ่ายค่าอาหารมากกว่าเดิมก็ตาม เลยไม่น่าแปลกใจที่ในประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศที่ร่ำรวยมักจะมีธุรกิจการบริการ สินค้าฟุ่มเฟือย หรือสินค้าอื่นๆ นอกเหนือจากปัจจัย 4 ผุดขึ้นมา เพราะประชากรส่วนมากมีเงินเพียงพอต่อค่าอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และมีงบเหลือจะเอาเงินไปใช้กับสินค้าและบริการหมวดอื่นๆ ด้วยนั่นเอง
ทั้งหมดนี้คงพอจะทำให้เราเห็นภาพมากขึ้นว่า เบื้องหลัง ‘ความแพง’ ของอาหารที่ดีต่อสุขภาพต่างสะท้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา ซึ่งบางอย่างคือปัญหาที่เราอาจรู้สึกว่า ‘ไกลตัว’ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน ปัญหาเศรษฐกิจ และอีกสารพัดสิ่งที่สุดท้ายแล้ว ผลลัพธ์กลับกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากๆ อย่างเรื่องอาหารการกินในชีวิตประจำวัน เพราะทุกสิ่งล้วนเกี่ยวโยงสัมพันธ์กันไม่ว่าปัญหานั้นจะเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่ก็ตาม
อ้างอิงจาก