ในชีวิตหนึ่งของผู้หญิงต้องมีประจำเดือนอยู่ที่ประมาณ 2,535 วัน หรือจะพูดก็ได้ว่าผู้หญิงต้องมีกำลังทรัพย์พอที่จะเอามาใช้เพื่อจ่ายค่าผ้าอนามัย และสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือนรวมๆ แล้วเกือบ 7 ปี และที่ผ่านมา ผ้าอนามัยก็ถูกจัดอยู่ในสินค้าฟุ่มเฟือยที่ต้องเสียภาษีแพงมากกว่าปกติ
ในไทยเอง ประเด็นเรื่องราคาผ้าอนามัยก็เป็นสิ่งที่ได้รับการพูดถึงอยู่เรื่อยๆ อย่างล่าสุดช่วงไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมาก็เป็นประเด็นในทวิตเตอร์อีกครั้งเรื่องข้อถกเถียงและความจำเป็นของผ้าอนามัย ซึ่งปัญหาอยู่ที่ราคาผ้าอนามัยที่แพงเกินกว่าที่คนรายได้น้อยจะสามารถเข้าถึงได้ และอาจส่งผลต่อสุขภาวะอนามัยของผู้หญิง เพราะในหนึ่งเดือนผู้หญิงต้องแบ่งเงินสำหรับผ้าอนามัยมากกว่า 100 บาทขึ้น (ดูราคาผ้าอนามัยได้ที่นี่)
และนั่นทำให้หลายคนตั้งคำถามกับราคาที่ตอนนี้ถูกจัดอยู่ในหมวดเครื่องสำอาง กลายเป็นต้องจัดเก็บภาษีในหมวดสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งแท้จริงแล้วผ้าอนามัยนั้นคือสิ่งที่ผู้หญิง ‘จำเป็น’ ต้องใช้ เมื่อประจำเดือนกลั้นไว้ไม่ได้
ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในไทย แต่ต่างประเทศก็มีปัญหานี้เช่นเดียวกัน โดยผ้าอนามัยมักถูกรวมไปอยู่กับสินค้าฟุ่มเฟือย หรือ Luxury Tax ที่บางประเทศเก็บภาษีสูงมากจนทำให้ราคาผ้าอนามัยราคาสูงไปด้วย ซึ่งกลายเป็นความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศ ทั้งๆ ที่ประจำเดือนคือเรื่องธรรมชาติที่ไม่สามารถจะเลือกได้ว่าไม่ต้องการมี
ประจำเดือนจึงกลายเป็นเรื่องการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน และนั่นทำให้ผู้หญิงหลายคนในหลายประเทศลุกขึ้นมาเรียกร้องให้รัฐปลดภาษีของผ้าอนามัย และอาจขยับไปถึงขั้นให้เป็นสวัสดิการของรัฐในการแจกให้กับผู้หญิงที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ เช่น นักเรียนหรือคนที่มีรายได้น้อย เพื่อสุขภาวะที่ดีของผู้หญิงด้วย
The MATTER จึงชวนไปดูว่ามีประเทศไหนบ้างที่รัฐลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนนโยบายสำหรับผ้าอนามัยกันแล้วบ้าง
- เคนยา : ประเทศแรกที่เดินหน้าเรื่องการยกเลิกภาษีผ้าอนามัยตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004 และตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011 รัฐบาลมีงบประมาณ 3 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เพื่อแจกจ่ายผ้าอนามัยให้โรงเรียนและชุมชนยากไร้
นอกจากนี้ก็มีประเทศที่ยกเลิกภาษีสำหรับผ้าอนามัยแล้วคือ ไอร์แลนด์, จาไมก้า, ไนคารากัว, ไนจีเรีย, แทนซาเนีย, เลบานอน และมาเลเซีย
- สก็อตแลนด์ : เป็นประเทศแรกที่แจกผ้าอนามัยฟรีในโรงเรียนและผู้มีรายได้น้อย โดยทุ่มงบกว่า 4 ล้านยูโร ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายแก้ปัญหาความยากจนให้คนในประเทศ
- สหรัฐอเมริกา : มี 18 รัฐจาก 50 รัฐที่ไม่ได้เก็บภาษีผ้าอนามัยแล้ว ได้แก่ Alaska, Delaware, Maryland, Massachusetts, Minnesota, Montana, New Hampshire, Illinois, Connecticut, Florida, Nevada, New York, Ohio, Oregon, Pennsylvania, Rhode Island, Washington D.C.
- แคนาดา : ยกเลิกภาษีให้กับผ้าอนามัย แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเก็บภาษีการนำเข้า ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่สูงอยู่
- อินเดีย : ยกเลิกภาษีสำหรับผ้าอนามัย 12% แล้วหลังจากรัฐบาลอินเดียจะออกกฎหมายการเก็บภาษีใหม่ โดยให้ผ้าอนามัยจัดอยู่ในกลุ่มภาษีสินค้าไม่จำเป็น (non-essential tax) จนเกิดการเรียกร้องให้ยกเลิกและประท้วงกันอยู่หลายเดือน เพราะปัญหาการเข้าถึงผ้าอนามัยเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เด็กผู้หญิงไม่ไปเรียนเนื่องจากไม่มีผ้าอนามัยใช้ จึงไม่สามารถออกจากบ้านได้
- สหราชอาณาจักร (UK) : เก็บภาษีสำหรับผ้าอนามัย 5% จากปกติสินค้าทั่วไปมักเก็บภาษีอยู่ที่ประมาณ 20% ซึ่งตอนนี้กำลังเข้าสู่ขั้นตอนการพยายามผลักดันให้ผ้าอนามัยเป็นสินค้าปลอดภาษี
- เยอรมัน : ลดภาษีสำหรับผ้าอนามัยจาก 19% (ภาษีของฟุ่มเฟือย) เหลือ 7% (ภาษีของใช้ในชีวิตประจำวัน) เมื่อปี ค.ศ. 2018
- ออสเตรเลีย, ฝรั่งเศส, เนเธอแลนด์, โปรตุเกส, เบลเยี่ยม, สวิตเซอร์แลนด์, ไซปรัส เองก็ลดภาษีจากการเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยกลายเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป
อ้างอิงข้อมูลจาก