สำหรับผู้หญิง สิ่งที่มาทุกเดือนไม่ได้มีแค่เงินเดือน แต่เป็นเรื่องของ ‘ประจำเดือน’ ที่ไม่สามารถกลั้นได้ และทำให้ ‘ผ้าอนามัย’ กลายเป็นอีกหนึ่งค่าใช้จ่ายที่จะต้องซื้ออยู่ทุกเดือน
ประจำเดือนคือสิ่งที่ผู้หญิงทั่วโลกต้องเผชิญหน้าด้วยทุกเดือนละประมาณ 5 – 7 วัน หรือโดยเฉลี่ย 60 – 84 วันต่อปี และเมื่อมีประจำเดือนแล้ว ผ้าอนามัยก็เป็นสิ่งของที่ต้องมีไว้เสมอ โดยตามหลักสุขภาพแล้วควรเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกๆ 4 ชั่วโมง นั่นเท่ากับว่าในหนึ่งวัน ผู้หญิงต้องใช้ผ้าอนามัยอย่างน้อย 6 แผ่น (ยังไม่นับว่าสรีระของแต่ละคนมีผลต่อปริมาณประจำเดือนที่มามาก-น้อยไม่เท่ากัน)
หรือในการมีประจำเดือนหนึ่งรอบ ผู้หญิงต้องใช้ผ้าอนามัยประมาณ 30 – 42 แผ่นต่อเดือน
ซึ่ง The MATTER ได้ลองลงไปสำรวจแบรนด์ของผ้าอนามัยซึ่งมีหลากหลายยี่ห้อและรูปแบบ โดยราคาจะอยู่มีตั้งแต่ประมาณ 12 – 79 บาทต่อหนึ่งห่อ ซึ่งราคานั้นขึ้นอยู่กับจำนวนชิ้น ความยาวของผ้าอนามัย รูปแบบของผ้าอนามัยเช่น ความบาง กลิ่น หรือวิทยาการป้องกันการซึมเปื้อนต่างๆ ตามแต่ละแบรนด์สร้างขึ้นมา นอกจากนี้ยังไม่นับรวมกับชนิดแบบสอดหรือแบบถ้วยที่มีราคาค่อนข้างสูงเช่นกัน
ยี่ห้อ Sofy สลิม แบบกระชับ
ราคา/ชิ้น : ห่อละ 41 บาท 16 ชิ้น (แผ่นละ 2.5 บาท)
ความยาว : 22 ซม.
คำโฆษณา : ผิวสัมผัสนุ่ม ซึมซับได้ดี มีแนวป้องกันการซึมเปื้อนรอบด้าน
ยี่ห้อ Laurier Soft & Safe
ราคา/ชิ้น : ห่อละ 12 บาท 4 ชิ้น (แผ่นละ 3 บาท)
ความยาว : 22 ซม.
คำโฆษณา : ผิวหน้าพาวเวอร์สแควร์ ซึมซับได้มากกว่าเดิม และซึมซับเร็ว 0.1 นาที มีระบบควิกล็อก ป้องกันการไหลย้อนกลับ
ยี่ห้อ Modess Cottony Soft
ราคา/ชิ้น : ห่อละ 45 บาท 16 ชิ้น (แผ่นละ 2.8 บาท)
ความยาว : 23 ซม.
คำโฆษณา : สัมผัสนุ่มสบาย ดีไซน์กระชับ ป้องกันกลิ่นอับชื้น ดูดซับและสกัดกั้นรอบทิศทาง ระบายความร้อนอับชื้น
ยี่ห้อ Eris Fairy Wing
ราคา/ชิ้น : ห่อละ 24 บาท 8 ชิ้น (แผ่นละ 3 บาท)
ความยาว : 22.5 ซม.
คำโฆษณา : ปีกกระชับ นุ่มสบายทุกการเคลื่อนไหวด้วย ซึบซับดี แห้งสบายด้วย active dot ติดแน่น ไม่เลื่อนหลุด ไม่ห่อตัว
ยี่ห้อ Whisper Skin Love
ราคา/ชิ้น : ห่อละ 79 บาท 18 ชิ้น (แผ่นละ 4.3 บาท)
ความยาว : 24 ซม.
คำโฆษณา : แผ่นซึบซับและผิวหน้าแบบ airy ควบคุมกลิ่นไม่พึงประสงค์ มีเจลที่ซึบซับได้มากกว่าน้ำหนักตัวเจลถึง 40 เท่า
ซึ่งการเทียบผ้าอนามัยของแต่ละแบรนด์ครั้งนี้เราเทียบจากชนิดที่มีราคาถูกที่สุด เป็นแบบกลางวัน มีปีก และใช้ความยาวที่สั้นที่สุดของแต่ละแบรนด์ เป็นหลัก ซึ่งหากลองคำนวนราคาโดยประมาณแล้วจะพบว่าในแต่ละเดือนผู้หญิงต้องเสียค่าใช้จ่ายกับผ้าอนามัยอย่างน้อยในราคาถูกที่สุดก็ต้องใช้เงินมากกว่า 100 บาท ยังไม่นับรวมว่าจำเป็นต้องมีผ้าอนามัยแบบกลางคืนสำหรับใช้ตอนกลางคืนซึ่งแตกต่างจากตอนกลางวันและมีราคาสูงกว่าอีกด้วย เรื่องนี้จึงนำไปสู่การตั้งคำถามว่าสิ่งเหล่านี้ควรเป็นสวัสดิการของรัฐ หรือมีการแจกฟรีตามสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลไหม
หรืออย่างน้อยรัฐควรมีมาตรการที่จะลดค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นเรื่องสุขภาวะของผู้หญิงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้หรือเปล่า เพราะในขณะนี้ ผ้าอนามัยถูกจัดอยู่ในสินค้าประเภทเครื่องสำอาง ทำให้เป็นสินค้าที่มีภาษี ก่อให้เกิดต้นทุนที่ทำให้ราคาของผ้าอนามัยสูงและบางคนไม่อาจเอื้อมถึงจนอาจนำไปสู่โรคต่างๆ ในอนาคตได้