ตอนเด็กๆ เราชอบกินหวานๆ โตขึ้นกินเผ็ดได้ ก็เริ่มรู้สึกว่าเรานี่เริ่มโตเป็นผู้ใหญ่แล้วนะ พอถึงวัยหนึ่ง เมื่อลิ้มรสขมของชีวิตมามากพอ ของขมๆ เช่น กาแฟดำและเบียร์ ดูจะถูกปากเรามากขึ้น
รสชาติเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตเราพอสมควร แน่ล่ะเรื่องกินเป็นเรื่องใหญ่ รสชาตินอกจากจะเป็นเรื่องทางกายภาพ เป็นการรับรส ระบบประสาทที่ส่งสัญญาณไปที่สมอง รสชาติบนลิ้นชัดเจนในความรู้สึกและเต็มไปด้วยสีสัน รสชาติเป็นสิ่งที่เราเอาไปใช้อธิบายสิ่งที่เป็นนามธรรม ความรักมีรสหวาน ชีวิตบางครั้งมีรสขมที่นานๆ ชิมบ้างก็ถือว่าเป็นรสชาติของชีวิต บางครั้งก็เอาไปอธิบายคน
นักวิจัยและนักจิตวิทยาต่างสนใจความเชื่อมโยงระหว่างรสชาติ ความหมายและตัวตนของผู้คน คำว่าชอบ/ ไม่ชอบอาจจะเป็นคำที่ยากจะนิยาม วิธีการหลักๆ ที่นักวิทยาศาสตร์ทำ คือการศึกษาปฏิกิริยาหรือความไวต่อรสชาติต่างๆ ที่แตกต่างกัน เชื่อมโยงเข้ากับลักษณะนิสัยที่เฉพาะเจาะจง เช่น รสขม-คนที่รับรสได้มีแนวโน้มที่จะเป็นคนขี้ตกใจ เป็นคนที่ไวกับสิ่งกระตุ้นรอบตัว คนที่ลิ้นถูกกระตุ้นโดยกรดและรสเปรี้ยวได้ง่ายๆ มีแนวโน้มที่จะเป็นอินโทรเวิร์ต-ทำนองว่าถ้าเป็นคนที่ไวกับสิ่งกระตุ้นอื่นๆ เช่น เสียงดัง ผู้คนเยอะๆ รับรสเปรี้ยวหรือกรดได้ไวกว่าคนอื่น ก็มีแนวโน้มที่จะชอบอยู่คนเดียว ไม่ชอบไปไหน
นอกจากนี้นักจิตวิทยาทั้งหลายก็พยายามศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างพฤติกรรมและความชอบรสชาติใดรสชาติหนึ่งโดยเฉพาะ งานศึกษาหลายชิ้นสรุปว่าความเชื่อมโยงของความชอบรสชาติกับลักษณะนิสัยต่างๆ ประมาณว่าชอบกินรสไหนบอกความเป็นตัวคุณ คนชอบกินหวานเป็นคนอารี คนชอบกินเผ็ดเป็นคนชอบความเสี่ยงความท้าทาย คนชอบรสขมมีแนวโน้มเป็นคนขมๆ เกลียดสังคม แต่ก็มีงานวิจัยบางชิ้นที่แย้งว่าไม่พบความเชื่อมโยงของรสนิยมกับลักษณะนิสัยใดๆ อันนี้ก็แล้วแต่ข้อโต้แย้งและวิธีการเก็บประมวลข้อมูล
ชอบรสขม – อาจเป็นคนขมๆ อาจจะโรคจิตนิดๆ
ลิ้นเป็นประตูด่านแรกๆ ที่เราใช้แยกแยะสิ่งที่จะเข้าไปในร่างกาย ของที่เรากำลังจะกินบูดมั้ย เป็นพิษรึเปล่า ‘ความขม’ เป็นรสชาติหนึ่งที่ร่างกายใช้รับรู้เบื้องต้นว่าสิ่งนี้มีพิษไหม ในธรรมชาติของที่มีพิษมักมีรสขม (ดูจะตรงข้ามกับความเชื่อเรื่อง หวานเป็นลม ขมเป็นยา นิดหน่อย) สัตว์บางประเภท เช่น หอยนางรมถึงขนาดถุยของที่มีรสขมทิ้ง รสขมจึงถูกเชื่อมโยงเข้ากับภัยอันตรายต่างๆ มี งานศึกษาในปี 2014 ที่เยอรมันพบว่าคนที่ไวกับรสขมมีแนวโน้มที่จะเป็นคนขี้ตกใจ นักวิจัยบอกว่าความไวกับสัญญาณที่เป็นอันตรายต่างๆ นี้ครอบคลุมถึงแง่มุมอื่นๆ ในชีวิตด้วย
คนชอบกาแฟขมๆ อาจจะสะดุ้งนิดหน่อย งานศึกษาจากออสเตรียในปี 2015 พบความเชื่อมโยงของคนที่ชอบกินของขมๆ มากกว่าของหวานๆ ว่า คนชอบรสขมมีแนวโน้มที่จิตนิดๆ เป็นคนร้ายกาจหน่อยๆ นักวิจัยบอกว่าคนชอบขมเป็นสัญญาณของลักษณะแบบเผด็จการ-เน้นเป้าหมายและผลประโยชน์ (Machiavellianism), หลงตัวเอง (narcissism), โรคจิต (psychopathy) และซาดิส (everyday sadism) ซึ่งเจ้าพฤติกรรมซาดิสในชีวิตประจำวันคืออาการชอบความเจ็บปวดที่ไม่ได้เป็นอันตราย
ชอบของหวาน – เป็นคนน่ารัก
ความรักกับความหวานอาจจะไม่ได้เป็นคำเปรียบเปรย การทดลองชุดหนึ่งในปี 2013 ทดลองให้คนดื่มน้ำเปล่าๆ แล้วนึกถึงความรักไปด้วย ผลคือในขณะที่คนนึกถึงความรัก กลุ่มตัวอย่างมีแนวโน้มที่จะรู้สึกว่าน้ำเปล่าๆ นั้นมีรสชาติหวานขึ้นมาซะเฉยๆ นักวิจัยจาก North Dakota State University ศึกษาพฤติกรรมแล้วพบความเชื่อมโยงว่าคนชอบของหวาน ชอบอาหารรสหวานมีแนวโน้มจะเป็นคนน่ารัก เข้ากับคนง่าย มีน้ำใจ มีแนวโน้มที่จะช่วยเหลือคนอื่น
ชอบกินเปรี้ยว – ชอบเก็บตัว มักคิดถึงคนอื่น
Hans Eysenck เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกเรื่องจิตวิทยาและบุคลิกภาพในช่วงปี 1960 เป็นคนที่คิดแนวคิดและการทดสอบเรื่องการตอบสนองต่อสิ่งเร้า เช่น รสเปรี้ยวสัมพันธ์กับบุคลลิภาพอย่างการเป็นอินโทรเวิร์ตหรือเอ็กโทรเวิร์ต ‘การทดลองด้วยน้ำมะนาว’ เป็นหนึ่งในการทดลองแปลกๆ ที่ดูว่าเราเป็นคนที่ไวต่อกรดหรือความเปรี้ยวแค่ไหน คือดูว่า หลังจากที่ป้ายน้ำมะนาวเข้มข้นแล้ว ลิ้นเราผลิตน้ำลายออกมาจากการถูกกระตุ้นแค่ไหน เจ้าของทฤษฎีบอกว่า นี่ไง ถ้าเราถูกกระตุ้นโดยรสเปรี้ยวง่ายๆ ก็มีแนวโน้มที่จะถูกกระตุ้นด้วยสิ่งเร้าอื่นๆ ได้ง่ายด้วย ดังนั้นคนที่ถูกกระตุ้นง่ายมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงและมีบุคลิกภาพแบบอินโทรเวิร์ตไป
ซึ่งพี่ Eysenck แกบอกว่าได้ทำการทดสอบด้วยแบบสอบถามต่างๆ เพิ่ม แล้วก็พบว่าผลของคำตอบค่อนข้างสัมพันธ์กับสมมุติฐานที่ว่า จากการทดสอบท่าทีต่อรสเปรี้ยวกับการผลิตน้ำลาย ก็เลยมีนักวิจัยที่เอาการทดสอบนี้มาทำต่อแล้วบอกว่า พบความเชื่อมโยงของคนที่ตอบสนองกับรสเปรี้ยว-ไวกับสิ่งเร้า-ว่าจะค่อนข้างเป็นคนที่เห็นอกเห็นใจคนอื่น คิดถึงคนอื่น
ชอบอาหารรสเผ็ด – เป็นคนมันๆ ชอบการผจญภัย
ฟังดูไม่ค่อยน่าแปลกใจเท่าไหร่ที่บอกว่า คนชอบกินเผ็ดมีแนวโน้มเป็นคนมันๆ ชอบการผจญภัย ในปี 1980 ศาสตราจารย์ Paul Rozin ศาสตราจารย์ทางจิตวิทยาจาก University of Pennsylvania พบความเชื่อมโยงของการชอบเล่นโรลเลอร์โคสเตอร์กับการชอบกินของเผ็ดๆ หลังจากนั้นงานวิจัยจากนักวิจัยจาก Penn State บอกว่าคนที่ชอบกินของเผ็ดร้อนจะชอบดูหนังแอคชั่น เป็นคนชอบผจญภัย ชอบหาประสบการณ์ใหม่ๆ เป็นคนมันๆ
คนชอบกินเค็ม – ชอบแข่งขัน เป็นคนที่มีลิ้นดีเป็นพิเศษ
Dr. Alan Hirsch นักประสาทวิทยาและจิตแพทย์ เป็นนักวิจัยผู้ก่อตั้งศูนย์ศึกษาเรื่องกลิ่นและรสชาติแห่งชิคาโกบอกว่า คนที่ชอบรสเค็ม ชอบมันฝรั่งแผ่นกรอบๆ มักจะเป็นคนที่ชอบแข่งขัน เป็นคนทะเยอทะยาน คนชอบรสเค็มจึงมักจะดูเป็นคนรีบๆ เสมอ ในทางกายภาพพบว่าคนที่ชอบรสเค็มมักจะเป็นพวก supertasters คือมีต่อมรับรสที่ดีและเยอะกว่าคนทั่วไป ดังนั้นที่ชอบรสเค็มก็เพราะว่าลิ้นรับรสต่างๆ รวมถึงรสขมได้ดี โซเดียมเป็นสิ่งที่ช่วยลดทอนความขมจากคนที่มีลิ้นดีได้ เลยชอบของเค็มๆ