‘การฟ้อง’ หรือการเปิดเผยเรื่องราว การชี้เป้าคนกระทำผิด ด้านหนึ่งถ้าการฟ้องนั้นเป็นเรื่องดี สมเหตุสมผล นำไปสู่การแก้ไข ปกป้องผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ดูแลคนที่ถูกกระทำนั้นก็ถือเป็นเรื่องโอเค แต่อีกด้านเราก็คำว่าขี้ฟ้องซึ่งเป็นคำที่ไม่พึงปรารถนา ถ้าเพื่อนบอกว่าเราขี้ฟ้อง เราก็จะเสียความน่าเชื่อถือไปอย่างรุนแรง
คำว่าขี้ฟ้อง มักเกิดขึ้นในสมัยเด็ก เรามองย้อนไปการเป็นคนขี้ฟ้องมักเกิดขึ้นในห้องเรียน ถ้าเพื่อนๆ ทำผิด โดยทั่วไป ถ้าเราไม่ได้ทำด้วย เราก็อาจจะตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ว่าเราควรจะเปิดเผยความผิดของเพื่อนแล้วนำเรื่องไปฟ้องครูอันเป็นตัวแทนของระบบและอำนาจในการรักษากฏเกณฑ์ต่างๆ
ก่อนจะชวนคุยไปไกลกว่านี้ คำว่าอาการขี้ฟ้องน่าจะหมายถึงการที่เราไปสอดส่องมองเห็นการกระทำผิด ที่มักเป็นเรื่องการละเมิดกฎ เป็นการทำผิดที่ไม่ถึงขนาดเป็นอาชญากรรมที่เราต้องไปแจ้งกับผู้เกี่ยวข้องในฐานะพลเมืองที่ดี ซึ่งอาจไปสัมพันธ์กับความเสียหายและความเป็นความตายของผู้คน
แต่ทีนี้การขี้ฟ้องบางครั้งอาจจะไม่ถึงขนาดอาชญกรรมแต่ก็ก้ำกึ่งกับความถูกผิด เช่น เพื่อนลอกข้อสอบกัน แอบพกโพยหรือทำผิดอื่นๆ เราเองก็ต้องช่างใจเพราะคำว่าไอ้ขี้ฟ้องและการถูกสังคมเพื่อนฝูงไม่วางใจ เป็นคนทรยศเป็นตราบาปที่จะติดตัวเราไปอีกนาน
ดังนั้น อาการขี้ฟ้องอาจจะไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป อะไรคือเงื่อนไขของการขี้ฟ้อง และในการฟ้องนั้นเราฟ้องเรื่องอะไร กำลังปกป้องอะไร ปกป้องสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หรือแค่กำลังเอากฎเล็กๆ น้อยๆ กลับมาสร้างอุปสรรคและใช้กับคนเล็กคนน้อยอย่างไม่เป็นธรรม
เรื่องชาวบ้าน การฟ้อง และผลประโยชน์ส่วนตน
ดังกล่าวว่า เป็นเรื่องแปลกที่การช่างฟ้อง ฟ้องเรื่องนู้นเรื่องนี้แล้วรู้สึกว่าน่าจะได้รับการชื่นชม ในด้านหนึ่งเป็นไปได้ว่าคนที่ขี้ฟ้องอาจจะรู้สึกว่าตัวเองกำลังรักษาความถูกต้อง- ซึ่งความถูกต้องนั้นก็เป็นแบบไทยๆ คือการยึดติดกับกฏบางอย่าง และคอยมองหาคนที่ทำผิดเพื่อนำไปรายงานกับผู้บังคับใช้กฏต่างๆ ทำนองว่าสมัยเด็กถ้าครูห้ามกินขนมในห้อง พวกขี้ฟ้องก็จะคอยไปบอกว่าใครกินขนมบ้าง ถ้าเพื่อนคนไหนขี้ฟ้องโดยฟ้องอย่างจุกจิก นัยของการฟ้องนั้นก็จะมีเรื่องการเรียกร้องความสนใจและการประจบกับอำนาจแฝงอยู่ในการช่างฟ้องนั้นๆ
ในแง่หนึ่งการฟ้องจึงอาจจะสัมพันธ์กับการเลือกในเชิงจริยธรรมอยู่บ้าง การคิดคำนวนของการเลือกว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้อง(ในแง่ของการเปิดโปง ไม่การปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองโดยตรง) การ ‘ไม่ขี้ฟ้อง’ จึงดูจะเป็นกฏเบื้องต้นของสังคม เนื่องจากว่าการไม่ฟ้องมีพื้นฐานอยู่บนพื้นฐานว่า การฟ้องทำให้ ‘คนอื่นเกิดปัญหา’ และในเรื่องนั้น ‘ไม่ใช่เรื่องของเรา’
ดังนั้นการ ‘ไม่ฟ้อง’ จึงดูจะเป็นเกณฑ์พื้นฐานที่คนในสังคมกระทำกัน หมายถึงถ้าเราเหตุการณ์ลำบากใจที่ต้องไปแจ้ง ไปฟ้องต่อเจ้าหน้าที่ การคิดว่าต้องไปฟ้องและการลงมือฟ้องเป็นเรื่องที่ยากกว่าทั้งในภาคปฏิบัติและในระดับความหมาย การฟ้องไม่ฟ้องสัมพันธ์กับความหมายทางวัฒนธรรม โดยทั่วไปการฟ้องค่อนข้างสัมพันธ์กับความหมายเชิงลบ เป็นการกระทำของคนอ่อนแอ
บางความคิดมองว่า
เป็นการกระทำที่ไม่มีจริยธรรม
ขี้ฟ้องไม่แย่เสมอไป ถ้าว่าด้วยความถูกต้อง
ด้วยระบบของสังคมทำให้เรารู้สึกว่าการฟ้องหรือการช่วยปกปิดความผิดในเงื่อนไขแบบทั่วๆ ไป เช่น เราเห็นเพื่อนโกง และการที่เรารู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องของเรา รวมถึงการเลือกฟ้องไม่ฟ้องนั้นสัมพันธ์กับนิยามที่สังคมมอบให้การตัดสินใจเช่นที่กล่าวไป ซึ่งอันที่จริงก็เป็นรากฐานหนึ่งของปัญหา คือการมองเห็นว่าเรื่องนั้นๆ เป็นเรื่องเล็กน้อย การสอดส่องและการเปิดโปงเป็นเรื่องยุ่งยากและไม่น่ายกย่อง
ดังนั้น การฟ้อง หรือการทำหน้าที่ตรวจสอบสอบส่องอันที่จริงเป็นหน้าที่สำคัญหนึ่งของการเป็นพลเมือง แต่ว่าการสอดส่องตรวจสอบนั้นย่อมเป็นไปด้วยเหตุและจุดมุ่งหมายอันสมควร คือเรามองเห็นความไม่เป็นธรรม เห็นความไม่ถูกต้องบางอย่าง และลุกขึ้นมาพูดเรื่องนั้นๆ แจ้งทราบเรื่องนั้นๆ โดยไม่นิ่งนอนใจและหวังใจว่าการเปิดโปงดังกล่าวจะนำไปสู่การสร้างความถูกต้อง เป็นธรรมในสังคมให้เพิ่มขึ้นมามากก็น้อย
คือมีผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง
สุดท้ายจึงดูเหมือนว่าเราจะกลับมาที่ประเด็นเรื่องกฎเกณฑ์ต่างๆ ของสังคม ว่าทั้งหมดนั้นสร้างขึ้นเพื่อรักษาความเป็นธรรมและความถูกต้อง การที่เราเลือกรักษาและส่งเสริมด้วยการชี้เป้าคนทำผิดกฎ ถ้าเป็นการทำผิดที่เป็นรากฐานของความไม่ถูกต้องก็นับว่าการฟ้องนั้นเป็นเรื่องน่าสรรเสริญ แต่ในทางกลับกัน การตั้งตน ตั้งหน้าตั้งตาฟ้อง มองเห็นและมองหาคนกระทำผิดที่พอคิดดูแล้วมีแต่เรื่องยิบย่อยและไม่ได้ถูกต้องเป็นธรรม
การฟ้องในแง่นั้นจึงไม่ได้ดูเป็นการทำเพื่อปกป้องดูแลคนตัวเล็กๆ เป็นการรักษาความเป็นธรรม แต่กลับเป็นการจัดผิดโดยใช้ข้อกำหนด ใช้กฎเกณฑ์ ใช้อำนาจมาขัดขวางรังแกคนที่อยู่ใต้อำนาจ การหาช่อง จับผิดนั้นจึงอาจมีอคติ และนำไปสู่การทำให้ระบบระเบียบและความเป็นธรรมที่กฎเกณฑ์ต่างๆ ถูกตั้งขึ้นเพื่อรักษาความถูกต้องเอาไว้ถูกตั้งข้อสงสัยและหมดความน่าเชื่อถือไป
ดังนั้น การจะเป็นคนขี้ฟ้องหรือไม่ หรือจะเป็นผู้รักษาความยุติธรรมในสังคมรึเปล่า นอกจากแค่การรู้กฏแล้ว จึงกลับมาที่วิจารณญาณเรื่องความถูกผิด การคิดใคร่ครวญเรื่องผลประโยชน์ว่าเป็นเรื่องของใคร ใหญ่เล็กและจำเป็นแค่ไหน เพราะในสังคมสมัยใหม่การฟ้อง แจ้งแก่สาธารณะชนเพื่อประโยชน์ของสาธารณชนนั้นก็เป็นเรื่องทำได้ยากจากความคิดเรื่องเรื่องของชาวบ้าน แต่เราเองก็ยังต้องการเสียงและการตรวจสอบจากผู้คนในการกระทำผิดต่างๆ อยู่ดี
อ้างอิงข้อมูลจาก