เมื่อวานนี้ (27 กุมภาพันธ์) มีการรายงานจากหลายสื่อว่า ชาวอุยกูร์ 40 กว่าคน ที่อยู่ในห้องกักตัวคนต่างด้าว สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) เป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ถูกนำตัวส่งไปยังประเทศจีนโดยทางการไทย
หลังจากนั้นไม่นาน สื่อจีนและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติออกมายืนยันว่า มีการส่งตัวชาวอุยกูร์กลับจีนจริง จนเกิดข้อกังขาขึ้นในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เนื่องจากในตอนแรกรัฐบาลตอบว่า ยังไม่ยืนยันเรื่องดังกล่าว
ทั้งนี้ การส่งตัวชาวอุยกูร์กลับไปยังจีนนั้น เสี่ยงผิดกฎหมายเรื่องใดบ้าง? The MATTER พูดคุยกับ อังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) และ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน และ สิทธิมนุษยชน เกี่ยวกับประเด็นที่เกิดขึ้น
ยืนยันว่าไม่ส่งกลับ แต่ก็ส่งกลับ

cr. Chinese Embassy Bangkok
อังคณายอมรับว่า เธอรู้สึกผิดหวังมากหลังจากทราบข่าวนี้ เพราะที่ผ่านมาในฐานะที่เป็นประธานการประชุมคณะกรรมาธิการการฯ ได้มีการจัดทำหนังสือไปถึง สตม.ทั้งหมด 3 ฉบับ และก็ประสานด้วยวาจากับเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
“เพื่อที่จะขอเข้าไปเยี่ยมคนกลุ่มนี้ในห้องกัก เพราะว่าเมื่อไม่นานนี้มีคนเสียชีวิตด้วย และก็มีคนป่วยติดเตียง และก็ได้ข่าวมาว่าพวกเขาน่าจะถูกส่งกลับ แต่เราไม่ได้รับอนุญาตให้เยี่ยมเลยทั้ง 3 ครั้งที่เราขอไป”
The MATTER จึงถามหาถึงเหตุผลจากการถูกปฏิเสธ ที่อังคณาและคณะกรรมาธิการได้รับกลับมา เธอตอบว่า ไม่ได้บอกเหตุผล เพียงแต่ส่งหนังสือทางการกลับมาว่า ขอให้เข้าไปพบที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่แจ้งวัฒนะ เราจึงบอกว่า “เราจะไปเยี่ยมผู้ต้องกัก เราไม่ได้จะไปเยี่ยมสำนักงาน ก็คือไม่ได้รับความร่วมมือเลย”

อังคณา นีละไพจิตร
ในเวลาต่อมา อังคณาจึงได้เชิญหลายหน่วยงาน ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงต่างประเทศ สตม. และ สมช. มาชี้แจงกับคณะกรรมธิการ “พอ สมช. มาด้วยตัวเอง เราก็ถามคำถามนี้อีก เขาบอกว่าตรงนี้ก็อนุญาตให้กรรมการสิทธิไปเยี่ยมแล้ว และก็อ้างความมั่นคง ความอ่อนไหวเปราะบางประมาณนี้”
เธอกล่าวต่อ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานข้างต้นยืนยันหนักแน่นว่า “ยังไงก็ไม่มีทางส่งกลับ” ดังนั้นพอมีข่าวว่าส่งกลับ และรัฐมนตรียังนั่งแถลงข่าวว่า ชาวอูยกูร์สมัครใจ ทว่าตามที่เราได้ข่าวมาตลอดคือ พวกเขาไม่ได้สมัครใจ
“หากบอกว่าพวกเขาสมัครใจ ก็ควรจะให้ทั้ง 40 คน ได้มีโอกาสนั่งแถลงข่าวต่อสาธารณะ หรือต้องอนุญาตให้กรรมธิการไปเยี่ยม อันนี้เป็นการกระทำที่โกหก ทั้งให้ข้อมูลไม่จริงต่อกรรมาธิการและสาธารณะ”
ละเมิดกฎหมายใดบ้าง
อังคณา ระบุว่า อย่างแรกเลยละเมิดพระราชบัญญัติทรมานบังคับสูญหาย มาตรา 13 อย่างที่สองละเมิดมาตราที่ 3 ของอนุสัญญาการต่อต้านการทรมาน รวมทั้งยังละเมิดอนุสัญญาการบังคับสูญหาย มาตรา 16
“มันทำให้เห็นเลยว่า แม้ว่ารัฐบาลไทยจะให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศ หรือว่ามีกฎหมายในประเทศที่คุ้มครอง แต่ก็ไม่มีผลในทางปฏิบัติเลย เพราะรัฐบาลไม่ได้ใส่ใจ ไม่ให้ความสำคัญ”
เป็นการซ้ำเติมปัญหาการอุ้มหายชาวอุยกูร์
เธอเสริมว่า หากพูดตรงๆ คือ ทำไมต้องไปเอาใจทางการจีนขนาดนั้น ทำไมต้องเอาชีวิตและความปลอดภัยของมนุษย์ไปแลก นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น เพราะว่าปี 58 รัฐบาลในตอนนั้นก็เคยส่งชาวอุยกูร์ 108 คน กลับไปจีน ต่อมาก็ได้รับการร้องเรียนจากญาติของชาวอุยกูร์ว่า ไม่สามารถติดต่อพวกเขาเหล่านั้นได้ จนทุกวันนี้ก็ไม่รู้ชะตากรรม และรายงานของสหประชาชาติ (UN) หลายฉบับ ก็บอกเลยว่า ชาวอุยกูร์ที่เป็นชนกลุ่มน้อยในศาสนาอิสลาม ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมาตลอด
“เพราะฉะนั้นตรงนี้รัฐบาล ไม่ต่างกับรัฐบาลทหาร และอันที่จริงนายกรัฐมนตรีก็น่าจะตระหนัก เนื่องจากสมัยที่คุณทักษิณเป็นผู้ลี้ภัย หรือคุณยิ่งลักษณ์ที่ตอนนี้ลี้ภัยอยู่ ก็ได้รับความคุ้มครองในต่างประเทศ ไม่ได้ถูกส่งกลับมารับโทษในประเทศไทย แต่เวลาผู้ลี้ภัยอื่นๆ มาพักพิงในไทย ไม่ได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกัน” อังคณา ปิดท้าย
การส่งชาวอุยกูร์กลับจีนขัดหลักการสากล?
วันนี้ (28 กุมภาพันธ์) คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองฯ ออกแถลงการณ์เรื่อง ‘การส่งตัวชาวอุยกูร์ทั้ง 48 คน กลับไปยังประเทศต้นทาง’ ว่า ปัจจุบันเป็นที่ยืนยันแล้วว่า รัฐบาลไทยได้ส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวภัยอุยกูร์ทั้ง 40 คนกลับประเทศจีน
แม้รัฐบาลจะแถลงว่า ผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้สมัครใจเดินทางกลับประเทศต้นทาง แต่การที่รัฐบาลส่งตัวคนเหล่านี้กลับโดยไม่เปิดเผย ไม่เปิดโอกาสให้สังคมตรวจสอบ และไม่เปิดโอกาสให้ชาวอุยกูร์ทั้ง 40 คน แถลงความต้องการต่อสาธารณะ ถือเป็นการกระทำที่ปิดบังซ่อนเร้นข้อเท็จจริง ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการมีข้อสังเกตต่อการดำเนินการของรัฐบาลดังนี้
1. ผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ทั้ง 40 คน ได้ถูกทางการไทยควบคุมตัวไว้ในห้องกักสวนพลูมานานมากกว่า 11 ปี โดยที่ผ่านมาทุกคนปฏิเสธที่จะเดินทางกลับประเทศต้นทาง เนื่องจากกลัวจะได้รับอันตราย คณะกรรมาธิการพยายามขอเข้าเยี่ยมผู้ลี้ภัยทั้ง 40 คน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ทุกคนได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และจะไม่ถูกผลักดันสู่อันตรายหรือถูกส่งกลับโดยไม่สมัครใจ แต่ไม่ได้รับอนุญาต
“คณะกรรมาธิการรู้สึกผิดหวังและเสียใจที่หน่วยงานรัฐให้ข้อมูลที่ไม่เป็นจริงต่อคณะกรรมาธิการที่มีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และตรวจสอบการทำหน้าที่ของฝ่ายบริหาร”
2. คณะกรรมาธิการ มีความเห็นว่า การส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์กลับประเทศต้นทาง มีนัยยะสำคัญต่อการทำลายความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในเวทีโลก โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ เพราะการส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์กลับประเทศจีนถือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพโดยเฉพาะสิทธิในชีวิตและเนื้อตัวร่างกาย ขัดต่อหลักการไม่ผลักดันสู่อันตราย ซึ่งถูกกำหนดไว้ในมาตรา 3 ของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี
นอกจากนี้ ยังขัดต่อมาตรา 7 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) มาตรา 16 อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (CED) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี และมาตรา 13 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565
“คณะกรรมาธิการเห็นว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะตระหนักอยู่แล้วว่า การส่งชาวอุยกูร์กลับประเทศต้นทางมีความเสี่ยงสูงที่ผู้ลี้ภัยเหล่านี้อาจได้รับอันตราย หรือถูกบังคับให้สูญหาย ดังเช่นกรณีรัฐบาลที่ผ่านมาได้ส่งผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ 108 คน กลับประเทศจีนเมื่อปี 2558 ซึ่งจนบัดนี้ญาติไม่สามารถติดต่อทั้ง 108 คนได้”
3. คณะกรรมาธิการเห็นว่า การที่รัฐบาลไม่ให้ความร่วมมือ และไม่ให้ข้อเท็จจริงในการทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการ เป็นการไม่เคารพการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งประเด็นผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยทางศาสนาในประเทศจีน เป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหว เปราะบาง การผลักดันผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้กลับประเทศจีนจึงเป็นการละเมิดหลักการไม่ผลักดันสู่อันตราย ซึ่งห้ามกระทำโดยเด็ดขาดเนื่องจากมีความเสี่ยงที่คนกลุ่มนี้จะถูกทรมาน ได้รับการปฏิบัติที่โหดร้าย ถูกทำให้สูญหาย หรือเผชิญอันตรายที่ไม่อาจคาดเดาเมื่อถูกผลักดันกลับไปยังประเทศต้นทาง
“คณะกรรมาธิการ จึงขอย้ำเตือนรัฐบาลถึงคำมั่นที่ได้ให้ไว้ต่อรัฐสภาต่อสาธารณะ และต่อประชาคมระหว่างประเทศในการเคารพสิทธิมนุษยชน ธรรมมาภิบาล และหลักนิติธรรม คณะกรรมาธิการจะทำหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลต่อไป เพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนสำหรับบุคคลทุกคน”
โดยสรุปแล้ว กมธ.ได้รับหนังสือจากผู้ลี้ภัยอุยกูร์ในห้องกักว่า “ไม่ต้องการกลับจีน” กมธ.จึงส่งหนังสือถึง สตม. 3 ฉบับ เพื่อขอเข้าเยี่ยมผู้ลี้ภัย แต่ถูกปฏิเสธทุกครั้ง และตลอดที่ผ่านมามีหลายประเทศยินดีรับชาวอุยกูร์ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลแถลงเป็นการแถลงฝ่ายเดียวและไม่เป็นความจริง เรื่องนี้ผิดกฎหมายทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศอย่างชัดเจน