ว่ากันตามตรงแล้วถ้าเราเดินทางไปพื้นที่ภาคใต้ ยิ่งกับ 3 จังหวัดชายแดนใต้ สิ่งหนึ่งที่เราจะได้เจอแน่ๆ คือ ‘ร้านน้ำชา’
ร้านน้ำชานั้นเป็นพื้นที่สนทนา เป็นพื้นที่พบปะ เป็นพื้นที่สำหรับคนทุกกลุ่มทุกวัย ถ้าจะมีที่ไหนที่รวมตัวผู้คนและบทสนทนาได้มากขนาดนี้ก็คงมีแค่ร้านน้ำชานี่แหละ
สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่เรามีภาพจำถึงความเงียบเหงา ความไม่สงบ แต่หากใครได้เดินทางมาที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้แล้วเราก็จะค้นพบว่า ผู้คนยังคงใช้ชีวิตอย่างปกติ ไปจ่ายตลาด ไปเดินเล่นในสวนสาธารณะ ไปเที่ยวคาเฟ่เปิดใหม่ ไปดริปกาแฟที่ทะเล และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การได้ไปนั่งพูดคุยกันที่ร้านน้ำชาที่ก็มีช่วงเวลาของคนแต่ละช่วงวัย
จากคำบอกเล่าของคนในพื้นที่นั้นเล่าให้ฟังว่า ช่วงเช้ามักจะเป็นวัยรุ่น นักศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัยที่แวะเวียนมาก่อนเข้าเรียน ช่วยบ่ายถึงเย็นอาจเป็นชาววัยกลางคนไปจนถึงกลุ่มก้อนนักการเมืองที่มาแลกเปลี่ยนเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ รวมถึงการเมืองท้องถิ่น ช่วงค่ำไปจนถึงดึกๆ กลุ่มวัยรุ่นก็ออกมาเที่ยวเล่นพูดคุยถึงปัญหาชีวิต เรื่องราวที่พวกเขาเจอ การพบปะสังสรรค์กับกลุ่มเพื่อนๆ ของพวกเขา
เรียกได้ว่าร้านน้ำชานั้นอยู่ในแทบทุกช่วงชีวิตของคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เลยทีเดียว
ซึ่งจากเดิมที่ร้านน้ำชาเป็นพื้นที่สนทนาสำคัญของผู้คนแล้ว การมาถึงการคนรุ่นใหม่ที่หันมาหยิบจับทำธุรกิจมากขึ้นก็ทำให้ร้านน้ำชากำลังจะกลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่จะช่วยส่งต่อภาพวัฒนธรรมคน 3 จังหวัดชายแดนใต้ให้เป็นที่รู้จัก และสื่อสารกับคนภายนอกพื้นที่ได้ว่าที่นี่มีเสียงพูดคุย มีความเป็นมนุษย์ มีวิถีชีวิต ที่ยังคงดำเนินไปในทุกๆ วัน
อดีตและปัจจุบัน ของพื้นที่สนทนาจากคนรุ่นเก่า
ร้านน้ำชา ‘บังหนูด’ คือร้านน้ำชาที่หลายคนแนะนำให้เราเดินทางมาตามหา เพราะเป็นร้านเก่าแก่ที่อยู่คู่กับ จ.ปัตตานีมานาน โดยสาขาแรกอยู่บริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หรือ ม.อ.ปัตตานี
เมื่อเราเดินทางไปถึง เสียงจ็อกแจ็กจอแจของผู้คนคือเสียงแรกที่เราได้ยิน มีคนมากมายนั่งอยู่ตามโต๊ะในร้านที่เต็มไปด้วยโต๊ะม้าหินอ่อนวางไว้จนเรียกได้ว่าแน่นขนัด ผู้คนเหล่านั้นมีทั้งที่มาเป็นครอบครัว เป็นคู่รัก เป็นกลุ่มเพื่อนทั้งวัยรุ่น และวัยกลางคน ส่วนเด็กเสิร์ฟก็เดินกันขวักไขว่เรียกได้ว่าเป็นความวุ่นวายที่ครึกครื้นไม่น้อย
ภาพเหล่านี้ทำให้เราพอจะเข้าใจว่าทำไมหลายคนแนะนำให้มาที่นี่
พอดีกับที่เจ้าของร้าน หนูด อิศลาม หรือ บังหนูด ที่หลายคนรู้จักนั้นอยู่ที่ร้านพอดี เราจึงมีโอกาสได้พูดคุบกับเขาถึงเรื่องราวของร้านน้ำชาและการเป็นพื้นที่สนทนาของคนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้
“ร้านเปิดตั้งแต่ปีพ.ศ. 2534 นี่ปีพ.ศ. 2564 ประมาณ 20 ปีเนาะ” บังหนูดพุดคุยกับเราด้วยท่าทางสบายๆ “คนที่นี่จะกินชา นั่งดูนกเขา นกกรง เป็นอาชีพของเขา แบบหมู่บ้านตามบ้านนอก ส่วนมากเขามีร้านกาแฟเล็กๆ แล้วก็มีนกเขาไปแขวน แล้วก็นั่งกินกันอยู่แบบนั้น เป็นธรรมเนียมของคนที่นี่”
บังหนูดเล่าให้เราเห็นภาพถึงวัฒนธรรมของคนที่นี่ ที่การนั่งร้านน้ำชา กับการดูนกเขา เป็นสองสิ่งที่มักมาด้วยกัน และทำให้เราเห็นถึงความสำคัญของร้านน้ำชาที่กลายเป็นพื้นที่สำคัญของผู้คน และยังชวนให้เราเห็นภาพมากขึ้นว่าวิถีเหล่านี้อยู่คู่กับผู้คนในสังคมชายแดนใต้อย่างไร ซึ่งบทสนทนาส่วนใหญ่ที่ผู้คนมาพูดคุยแลกเปลี่ยนข่าวสารที่บังหนูดบอกกับเรานั้นก็มีการกันคุยทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเหตุการณ์บ้านเมือง เรื่องการเมือง ทั้งงการเมืองท้องถิ่น การเมืองระดับชาติ และมีทุกเพศ ทุกช่วงวัย ทุกศาสนา
“ตอนนี้บังขายแค่ครึ่งวัน แต่พวกนักการเมืองก็จะมาขอร้องให้เปิดทั้งวัน เพราะว่าส่วนใหญ่จะมานั่งกันตอนเย็นๆ จะได้คุยเรื่องการเมือง แต่บังไม่เปิด บอกว่าไม่ได้ ตอนนี้ไม่เปิดแล้ว กลัวโควิดระบาด” บังหนูดพูดปนเสียงหัวเราะ เมื่อเล่าให้ฟังว่าพื้นที่แห่งนี้เป็นที่ถูกถามถึงจากหลากหลายผู้คนมากแค่ไหน เพราะเรียกได้ว่าร้านน้ำชา โดยเฉพาะที่ร้านบังหนูด ดูจะกลายเป็นที่พบปะพูดคุยของทุกคนจนขาดไม่ได้ไปเสียแล้ว
ในขณะเดียวกันเราก็ชวนบังหนูดคุยถึงการเปลี่ยนแปลงที่นับวันร้านกาแฟ หรือร้านน้ำชาที่ติดแอร์นั้นมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งบังหนูดเองก็ชวนคุยว่า “ตอนนี้มีร้านน้ำชาเยอะเพราะก่อนหน้าโควิดระบาดเขากลับมาจากมาเลเซียกัน แล้วจะกลับเข้าไปก็ไม่ได้ คน 3 จังหวัดนี่อยู่มาเลเซียทั้งหมด ไปทำอาชีพอยู่ในมาเลเซีย ขายน้ำชา ขายข้าว ทีนี้พอกลับมาบ้าน แล้วเข้าไปมาเลเซียไม่ได้เพราะโควิด มันก็จำเป็นต้องดิ้นรน เปิดร้านเล็กๆ น้อยๆ”
ในขณะที่ร้านน้ำชาแบบดั้งเดิมนั้นยังคงเน้นขายไปที่ชาวบ้านและคนในชุมชน และให้เป็นพื้นที่เพื่อสนทนาเรื่องประเด็นทางสังคม การเมือง หรือเหตุการณ์ต่างๆ ในขณะเดียวกันการเข้ามาทำธุรกิจของคนรุ่นใหม่ก็ได้มองภาพอนาคตของร้านน้ำชาไปไกลกว่านั้น
อนาคต ของการเป็นวัฒนธรรมการกินประจำถิ่นโดยคนรุ่นใหม่
เมื่อเรามาเยือนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ สิ่งที่ได้เห็นอยู่บ่อยๆ คือร้านคาเฟ่ ติดแอร์ บรรยากาศดี ถ่ายรูปสวยเกิดขึ้นให้เห็นมากมาย ซึ่งเป็นอีกภาพที่แตกต่างไปจากร้านน้ำชาแบบเก่า ซึ่งหนึ่งในนั้นคือร้านที่นำโดยคนรุ่นใหม่คือร้าน Roti de Forrest ที่มี มูฮัมหมัดฟาห์มี ตาเละ เป็นคนริเริ่มสร้างและวางแผนขยายสาขาไปเรื่อยๆ ด้วยความหวังว่าอยากทำให้วัฒนธรรมโรตี – น้ำชา ของ 3 จังหวัดชายแดนใต้กลายเป็นอีกหนึ่ง soft power เปลี่ยนแปลงให้ภาพจำของพื้นที่แห่งนี้มีเรื่องที่ดีๆ อยู่
“ตอนเริ่มทำร้าน ก็เริ่มคิดถึงการสร้างแบรนด์อะไรบางอย่างที่จะทำให้สะท้อนวัฒนธรรมของพื้นที่ เพื่อที่จะพาวัฒนธรรมของเราออกไปนอกพื้นที่ เพราะว่าเรามีความตั้งใจที่จะยกระดับมาตรฐานของธุรกิจ และก็ต้องส่งออกอะไรบางอย่างที่เป็นผลิตภัณฑ์ในแง่ soft power คือของพวกนี้เป็นของที่คนพื้นที่เขายังไม่เห็นมูลค่า ยังไม่เข้าใจวิธีการทำให้มันมีคุณค่า มีมูลค่า แต่ว่าเราจะไปเลกเชอร์เขาก็ไม่ได้ จะไปบอกว่า คุณต้องทำอย่างนู้นอย่างนี้ ชาวบ้านเขาก็ไม่ทำกัน” มูฮัมหมัดฟาห์มี เล่าให้เราฟังถึงการตั้งต้นทำ Roti de Forrest ที่นอกจากเมนูหลากหลายแล้ว บรรยากาศภายในร้านยังน่านั่งด้วยเช่นกัน
โดยแนวคิดการพยายามผลักดันวัฒนธรรมอาหารนั้น มูฮัมหมัดฟาห์มีได้ยกตัวอย่างให้เราฟังว่า “ถ้าเป็นเครื่องปรุงอาหารที่ให้ความเค็มของภูมิภาค มันก้าวไประดับโลกแล้ว เช่น น้ำปลา เป็นของคนภาคกลาง ของคนสมุทรสาคร ของคนชลบุรี fish sauce มันกลายเป็นวัตถุดิบที่ไปในระดับเวิลด์คลาสแล้ว คือเชฟทั่วโลกเขารู้จักน้ำปลา”
“หรือปลาร้า เป็นเครื่องปรุงให้ความเค็มของคนอีสาน แต่ว่ามีการยกระดับมาเรื่อยๆ คนอีสานเขาไปทั่วโลก เขาก็พาปลาร้าไป แล้วมีคนที่เขาทำธุรกิจเก่งๆ ที่นั่น เขาก็เอาปลาร้ามาทำเป็นแพ็คเกจมาทำให้กระบวนการมีควาามสะอาดมากขึ้น ยกระดับของพวกนี้ ซอสหอยนางรมที่เป็นของชลบุรี มีคนยกระดับมันไปไกลเลย มันกลายเป็นซอสที่คนเขาใช้ทุกบ้าน คือความจริงพวกนี้อายุมัน 30-40 ปีเอง แต่รสชาติอย่างน้ำบูดูของบ้านเราเนี่ยมันไม่มีใครเอาวัฒนธรรมอาหารที่จะทำให้มันกลายเป็นของที่คนรู้จัก ทั่วประเทศยังทำไม่ได้เลย”
จากการอยากทำให้เศรษฐกิจในบ้านเกิดเติบโตขึ้น บวกกับการได้มองเห็นว่าภาพจำของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกมองในแง่ลบมานาน มูฮัมหมัดฟาห์มีจึงรู้สึกว่าถึงเวลาที่ต้องส่งออกเรื่องราวและวัฒนธรรมดีๆ ของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ให้ผู้คนได้รู้จักกัน โดยเขาได้เริ่มต้นสาขาแรกที่ปัตตานี ก่อนจะขยายสาขามาที่จังหวัดยะลา และกำลังเปิดสาขาใหม่ที่หาดใหญ่
“หลังจากได้พื้นที่ตรงนี้มาผมก็เลยลองทำดู เพราะผมไม่อยากให้คนมาแล้วมานั่งนึกว่า เออ..มา 3 จังหวัด มาทำอะไร มาดูระเบิด หรือไม่ก็มาดูคนป่วย มาศึกษาเรื่องความยากจน มาดูความรุนแรง ผมว่ามันไม่ควรจะมีภาพจำแบบนั้น มันควรจะมีคนที่สร้างความหวังใหม่ๆ ให้กับพื้นที่ ผมก็ขออาสาเป็นคนนั้น”
“ผมไม่อยากให้พื้นที่นี้เป็นเรื่องของความรุนแรง คนเจ็บ ในขณะที่คนรวยมันก็รวยโดยเศรษฐกิจที่ผูกขาด เศรษฐกิจที่มาจากการทำธุรกิจกับภาครัฐก็มีข้อครหา แล้วเด็กรุ่นใหม่ที่ฉลาดๆ ที่เก่งๆ ก็ไม่อยากอยู่ในพื้นที่ เพราะมันรู้สึกว่าทำมาหากินสุจริตมันไม่มีความหวัง สู้ไปเป็นเด็กออฟฟิศที่กรุงเทพฯ มันมีอุดมการณ์อยู่ มันก็อยากจะไปนู่น แล้วมานึกถึงว่า เออ..แล้วกูจะทำอะไรดีวะ จบปริญญาตรีมา มาอยู่ 3 จังหวัดจะมาทำอะไร เราคิดไม่ออกไง”
และเมื่อพูดคุยกันไปว่าอะไรทำให้ร้านน้ำชาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้นั้นเป็นร้านยอดนิยมของคนในพื้นที่ แม้จะไม่มีผับบาร์ แต่คนที่นี่ก็ใช้ร้านน้ำชาเป็นที่แฮงก์เอาต์กันได้ มูฮัมหมัดฟาห์มีก็ได้ชวนเราสังเกตว่า “มันเป็น joyful คนละแบบ สมมติว่า เราไปผับไปบาร์ เราต้องการ intoxicated เราต้องการให้สมองเราโดนแอลกอฮอล์ โดนอะดรีนาลีนที่มาจากดนตรี”
“แต่ที่นี่มันเป็น joyful ที่มาหาความสุขจากการพูดคุย
ที่ผสมเรื่องของอาหารและบรรยากาศด้วย”
เมื่อเราถามถึงอนาคตว่าเขามองพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นอย่างไร มูฮัมหมัดฟาห์มีตอบเราว่า “ผมคิดว่า มันต้องมีภาพอนาคตที่สดใสกว่านี้ มีความรู้สึกว่า ถ้าทำให้เศรษฐกิจที่นี่มันดี คนมีความหวัง คนมีความตั้งใจ คนเก่งๆ ก็ไม่หลุดออกไปนอกพื้นที่ ยิ่งเรามีคนเก่งเยอะเท่าไร ยิ่งทำให้มันสนุกมากขึ้น ตัว eco system ก็จะดีขึ้น แต่ก่อนหน้านั้นจะทำยังไง ก็ต้องทำให้เขาเห็นตัวอย่างว่า คุณเริ่มต้นจากสิ่งๆ เล็กๆ แต่ฝันให้ใหญ่ได้นะ คุณจะเป็นบัณฑิตจบปริญญา เรียนในมหาวิทยาลัย มีฝันมีอะไร มันต้องไม่มอด เวลาออกมาจากที่นั่น มาลงมือทำจริง มันอาจจะยาก แต่ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้”
เมื่อชีวิตประจำวันของผู้คนยังคงต้องเดินหน้าต่อไป อนาคตของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เองก็กำลังขยับต่อไปสู่อนาคตที่สดใสโดยมือคนรุ่นใหม่เช่นกัน
Photo by Fasai Sirichanthanun
Illustration by Krittaporn Tochan
– หมายเหตุ – ผลงานชิ้นนี้จัดทำขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง THE MATTER กับองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ภายใต้โครงการ Together เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ของภาคประชาสังคมในการทำงานร่วมกับภาครัฐ เนื้อหาของผลงานเป็นความรับผิดชอบของ THE MATTER และไม่ได้สะท้อนถึงมุมมองของ USAID หรือรัฐบาลสหรัฐอเมริกาแต่อย่างใด