วันนี้ (17 พฤษภาคม) งานพืชมงคลประจำปีนี้จบลงไปแล้ว ซึ่งพระยาแรกนาเสี่ยงทายหยิบผ้าได้ 5 คืบ และพระโคเลือกกินหญ้าและเหล้า ซึ่งแสดงให้เห็นว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนา ธัญญาหาร ผลาหาร ล้วนจะอุดมสมบูรณ์ และเศรษฐกิจจะยังรุ่งเรืองอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เกิดข้อถกเถียงถึงพิธีดังกล่าวว่า ‘มีความสำคัญต่อสังคมปัจจุบันอย่างไร?’
ขอเล่าก่อนว่า พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญมีที่มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ หรือในสมัยรัชกาลที่ 4 พระราชพิธีพืชมงคลถูกกำหนดขึ้นอย่างเป็นทางการ ซึ่งประกอบไปด้วย 2 พิธีรวมกัน คือ
– พืชมงคล เป็นพิธีทำขวัญเมล็ดพืชพันธุ์ต่างๆ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะให้เมล็ดพันธุ์เหล่านั้น ปราศจากโรคภัย และให้อุดมสมบูรณ์เจริญงอกงามดี
– พิธีแรกนาขวัญ เป็นพิธีเริ่มต้นการไถนาเพื่อหว่านเมล็ดข้าว ที่มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เป็นอาณัติสัญญาณว่า ขณะนี้ฤดูกาลแห่งการทำนาและการเพาะปลูกได้เริ่มขึ้นแล้ว
นอกจากนี้ พิธีนี้ยังเป็นการส่งเสริมสิริมงคลและเพื่อระลึกถึงความสำคัญของภาคเกษตรกร ซึ่งถือเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย เพื่อให้พวกเขาเกิดความมั่นใจในการเพาะปลูก โดยพิธีดังกล่าว จะถูกจัดขึ้นช่วงราวเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายนของทุกปี ซึ่งเกษตรกรจะถือเอาวันพืชมงคลเป็นวันเริ่มต้นฤกษ์แห่งการหว่านไถ
อย่างไรก็ดี มีคนแสดงความคิดเห็นในโลกอินเทอร์เน็ต อาทิ “ในยุคที่มีวิทยาศาสตร์ พิธีนี้ยังจำเป็นอยู่หรือ…?”
ซึ่งมีคนแสดงความคิดเห็นกลับว่า “จริงๆ แล้วมันก็ไม่ได้มีความสำคัญอะไร แต่มีคุณค่าในทางนามธรรม เพราะต้องเข้าใจว่าลักษณะความเป็นสังคมเกษตรกรในบ้านเรา ยังคงยึดโยงอยู่กับขนบประเพณีและชุมชน”
บ้างก็ว่า “ปัญหา คือ ‘งบประมาณ’ ไม่ใช่ ‘พิธี’ เพราะตัวพิธีมีคุณค่าด้านสังคม และประเทศนี้ไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยแค่วิทยาศาสตร์กระแสหลัก ยังมีด้านสังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ฯลฯ”
ทั้งนี้ ความคิดเห็นของผู้คนส่วนใหญ่ค่อนข้างเห็นด้วยกับการจัดพิธีดังกล่าว เพราะยังเห็นถึงความสำคัญในการอนุรักษ์วัฒนธรรมโบราณของไทยที่ถือเป็นอัตลักษณ์และซอฟต์พาวเวอร์อย่างหนึ่งของประเทศ ซึ่งสามารถเชื้อเชิญให้ผู้คนสนใจที่ไม่ใช่แค่คนไทยแต่รวมถึงคนทั่วโลกอีกด้วย
อ้างอิงจาก