ที่ผ่านมา หลายคนอาจได้ยินประเด็นเกี่ยวกับร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ที่กำหนดหลักเกณฑ์ ‘จริยธรรม’ การวิจัย และมีคำถามมากมายเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ ว่ามีสาระสำคัญอย่างไร และจะเป็นการจำกัดเสรีภาพทางวิชาการหรือไม่?
แม้ว่าเมื่อวานนี้ (3 กันยายน 2567) คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีมติเพิกถอนร่าง พ.ร.ฎ.ดังกล่าวไปแล้ว เพื่อกลับไปทบทวนและมอบหมายให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รับฟังความเห็นเพิ่มเติม แต่การถกเถียงประเด็นเสรีภาพทางวิชาการในสังคมไทย ก็ยังคงจำเป็น
วันนี้ The MATTER ขอชวนทำความเข้าใจปัญหาของร่างกฎหมายดังกล่าวไปพร้อมๆ กัน เพื่อตอบคำถามว่ากฎหมายฉบับนี้มีปัญหาอย่างไร? และจะเป็นการจำกัดเสรีภาพทางวิชาการมากน้อยแค่ไหน?
เรื่องราวเริ่มต้นที่ตรงไหน?
เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 ที่ประชุม ครม. โดยมีประธานคือ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ได้ ‘เห็นชอบ’ ร่าง พ.ร.ฎ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์การวิจัยและข้อกำหนดจริยธรรมการวิจัย ซึ่งมีปัญหากับหลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งผู้เสนอคือ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)
แค่ชื่อก็สับสนแล้วจริงไหม? การมี ‘ปัญหา’ กับหลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คืออะไร?
เพื่อเข้าใจปัญหาของ พ.ร.ฎ.นี้มากขึ้น ขอสรุปสาระสำคัญของร่าง พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ คร่าวๆ ดังนี้
อันดับแรกคือ ให้อำนาจคณะกรรมการฯ ตามต่อไปนี้
- กําหนด ‘ลักษณะ’ การวิจัยซึ่งมีปัญหากับหลักศาสนาฯ
- กําหนด ‘หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข’ ในการทําวิจัย ซึ่งมีปัญหา กับหลักศาสนาฯ
- สอดส่องดูแลการวิจัย และให้คําแนะนําเพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.ฎ.
- ตีความและวินิจฉัยปัญหาที่เกิด จากการใช้บังคับ พ.ร.ฎ.นี้
แล้วคณะกรรมการฯ ที่ว่านี้ คือใครบ้าง?
พ.ร.ฎ.ดังกล่าว กําหนดให้คณะกรรมการฯ มีดังนี้
- ประธานกรรมการซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิอย่างสูงด้านจริยธรรมการวิจัย ศาสนา วัฒนธรรม หรือจารีตประเพณี
- กรรมการโดยตําแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายกราชบัณฑิตยสภา และประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
- กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจํานวนไม่เกิน 5 คน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ด้านต่างๆ
แล้วงานวิจัยที่มี ‘ปัญหา’ ตามที่เขาว่า หน้าเป็นเป็นอย่างไร?
- ขัดหรือแย้งหรือละเมิดหลักการสําคัญพื้นฐาน ของ ‘ศาสนาใดศาสนาหนึ่ง’
- น่าจะก่อให้เกิดความแตกแยก ความขัดแย้ง การดูหมิ่นเกลียดชัง การด้อยค่า การล้อเลียน ‘วัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดี’
- ขัดต่อ ‘ศีลธรรมอันดี’ ของท้องถิ่นหรือประเทศอย่างชัดแจ้ง และน่าจะนําไปสู่การละเมิด ‘ศีลธรรม’ อย่างกว้างขวาง
- น่าจะก่อให้เกิด ‘การเลือกปฏิบัติ’ โดยไม่เป็นธรรม ‘การแบ่งแยกเป็นฝักฝ่าย’ ในท้องถิ่นหรือสังคม ‘การด้อยค่าหรือละเมิด’ ชีวิต ร่างกาย เกียรติยศ ชื่อเสียงของมนุษย์ ความเสมอภาค สิทธิ หรือเสรีภาพ
- ลักษณะอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการฯ กําหนด
แล้วถ้าคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วว่างานวิจัยมีปัญหาตามข้อกำหนดข้างต้น จะเกิดอะไรขึ้น?
สรุปขั้นตอนคร่าวๆ หากพบการวิจัยที่มี ‘เหตุอันควรสงสัย’ ว่ามีปัญหากับหลักศาสนาฯ ดังนี้
- หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งงานวิจัยนั้น ให้คณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาวินิจฉัย โดยจะเสร็จสิ้นภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้เรื่อง
- หากคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า มีปัญหากับหลักศาสนาฯ จริงๆ สามารถมีคําสั่งให้ยุติการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและ ‘ยุติการวิจัย’ หากวินิจฉัยว่าการวิจัยนั้นร้ายแรง ในขณะเดียวกันหากคณะกรรมการฯ วินิจฉัยว่าการวิจัยมีประโยชน์ทางวิชาการ และควรวิจัยต่อไป คณะกรรมการฯ จะกําหนดหลักเกณฑ์การวิจัย เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย
- หากนักวิจัยไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ตามคําสั่งของคณะกรรมการฯ ให้คณะกรรมการฯ แจ้งหน่วยงานเกี่ยวข้องให้พิจารณาต่อไป และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระงับการให้ทุนแก่นักวิจัย
พูดง่ายๆ ก็ร่าง พ.ร.ฎ.ที่เพิกถอนไปแล้วนี้ ได้ให้อำนาจคณะกรรมการฯ ซึ่งถูกแต่งตั้งโดยคนมีกี่คนมีอำนาจ ‘ยุติการวิจัย’ หากวินิจฉัยแล้วว่ามีปัญหากับหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ อย่างร้ายแรง
แม้ว่า ครม.ได้เพิกถอนร่างกฎหมายนี้ เพื่อกลับไปทบทวน และมอบหมายให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รับฟังความเห็นเพิ่มเติม แต่ร่าง พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ อาจชี้ให้เห็นถึงปัญหาอื่น ที่ใหญ่กว่านั้น
แล้วปัญหานั้น คืออะไร?
ในเสวนาทางวิชาการหัวข้อ “เสรีภาพทางวิชาการภายใต้ร่าง พ.ร.ฎ.หลักเกณฑ์การวิจัย ซึ่งมีปัญหากับหลักศาสนาวัฒนธรรมจารีตประเพณี” ที่จัดขึ้นเมื่อวานนี้ (3 กันยายน) ณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการถกเถียงในประเด็นดังกล่าวอย่างน่าสนใจหลายประเด็น
เสรีภาพทางวิชาการ
“สำคัญที่สุดเลย คืออาจารย์หรือคนที่ทำงานวิจัย ควรจะต้องมีเสรีภาพ มีพื้นที่เปิด สำหรับการศึกษาหาความรู้ ในเรื่องอะไรก็ได้ที่ตัวเองสนใจ” พร้อมทั้งมีเสรีภาพในการหาคำตอบ และเผยแพร่ความรู้ให้แก่วงการ โดยไม่ถูกปิดกั้นโดยอำนาจภายนอก คือหัวใจของเสรีภาพทางวิชาการ ตามที่ โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ อดีตอาจารย์ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว
อีกทั้งอาจารย์กำชับประเด็นการ “ปราศจากการแทรกแซงจากอำนาจภายนอก” หรืออำนาจจากคนนอกวงการวิชาการ ที่สำคัญกับเสรีภาพทางวิชาการ
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีขอบเขตใดๆ
อาจารย์โสรัจจ์ ได้ชี้ให้เห็นระบบ Peer Review หรือการทบทวนโดยผู้ที่อยู่ในวงการเดียวกัน ที่นักวิชาการใช้ตรวจสอบและตัดสินซึ่งกันและกัน เป็นขอบเขตทางวิชาการ ที่มีจรรยาบรรณวิชาชีพประกอบด้วย
“การแทรกแซงจากคนไม่รู้เรื่องทางวิชาการ ก็คือการละเมิดเสรีภาพทางวิชาการ” อาจารย์โสรัจจ์กล่าว
จุดเริ่มต้นของปัญหา
ถัดมา ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ชี้ให้เห็นจุดเริ่มต้นของร่าง พ.ร.ฎ.ดังกล่าว ว่ามาจาก บทบัญญัติ มาตรา 33 (2) พ.ร.บ.การส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2562 ที่กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) สามารถกำหนด ‘หลักเกณฑ์การวิจัยและข้อกำหนดจริยธรรมการวิจัย ซึ่งมีปัญหากับหลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน’ ที่ให้รัฐบาลมีหน้ากำหนด พ.ร.ฎ.ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยไม่ได้ระบุว่าต้องมีเนื้อหาอย่างไร
ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ–มีความชอบธรรมไม่พอ
หากวิจารณ์เนื้อหาของร่าง พ.ร.ฎ. อาจกล่าวได้ว่ามีเนื้อหา ‘จำกัด’ เสรีภาพทางวิชาการ ซ้ำยังไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 34 (2) ที่ระบุว่า “เสรีภาพทางวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น”
อาจารย์ต่อพงศ์กล่าวต่อว่าร่าง พ.ร.ฎ.ดังกล่าว “มีความชอบธรรมไม่พอ” ที่จะจำกัดเสรีภาพทางวิชาการ
“เป็นสิ่งแปลกปลอมทางวิชาการ” คือความเห็นของอาจารย์ต่อพงศ์
เมื่อกล่าวถึงประเด็นที่คณะกรรมการฯ เพียง 9 คน ซึ่งอาจมาจากนอกวงการวิชาการ จะเป็นมีอำนาจตาม พ.ร.ฎ.ดังกล่าว
กฎหมายแม่ที่ ‘เบลอเกินไป’
“มาตรา 33 (2) โดยตัวของมันเอง มันขัดกับรัฐธรรมนูญ” อาจารย์ต่อพงศ์แสดงความกังวล พร้อมชี้ให้เห็นว่า แม้ร่าง พ.ร.ฎ.ดังกล่าวจะถูกเพิกถอนไปแล้ว แต่มาตรา 33 (2) ที่ ‘เบลอเกินไป’ ยังคงอยู่ นั้นหมายความว่าการขยายความร่างเป็น พ.ร.ฎ.ต่อไป อาจกว้างขวางเกินขวางเกินไป จนมีผลร้ายแรงในอนาคต
โดยข้อเสนอของอาจารย์ต่อพงศ์ คือการแก้ไขมาตรา 33 (2) พ.ร.บ.การส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2562 ให้มีเนื้อหาที่สามารถจำกัดเสรีภาพทางวิชาการน้อยที่สุด
กฎหมายจริยธรรมการวิจัย ไม่ใช่เรื่องจำเป็น
“ปัจจุบันในโลกนี้ ไม่มีประเทศไหนใดเลย ที่จะมีกฎหมายว่าด้วยจริยธรรม” อนุสรณ์ อุณโณ ประธานคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์ กล่าว พร้อมทั้งระบุว่าอาจมีการระบุเพียง ‘แนวทาง’ (guideline) ให้ผู้วิจัยปฏิบัติ
นอกจากนี้ ในทุกวงการวิชาการมีหน่วยงานมากมายที่ดูแลจริยธรรมการวิจัย ในแต่ละวิชาชีพ ดังนั้นหากพิจารณาในเชิงหลักการ อาจารย์อนุสรณ์มองว่ากฎหมายดังกล่าว ‘ไม่จำเป็น’
สร้างความแตกแยกในสังคม
ในแง่ของเนื้อหาการกำหนด อาจารย์อนุสรณ์กล่าวว่า การให้อำนาจคณะกรรมการฯ ตัดสินว่างานวิจัยแบบใด มีลักษณะที่ขัดกับหลักศาสนา จารีตประเพณี วัฒนธรรมอันดี เป็นนามธรรมและสามารถตีความได้อย่างกว้างขวางมาก จนอาจขัดแย้งกันเองในสังคมที่หลากหลาย
“มันเป็นจินตนาการของคนที่อยากจะ คล้ายๆ กับว่าผูกขาดกระบวนการวิจัยตรงนี้ในประเทศไทย เอาไว้ในมือของตัวเอง” อาจารย์อนุสรณ์แสดงความกังวล
อีกทั้งในแง่การบังคับใช้ อาจารย์ตั้งคำถามต่อศักยภาพของคณะกรรมการฯ ในการตรวจสอบงานวิจัย ที่หนึ่งปีอาจมีหลายพันชิ้น จนอาจเกิด ‘ปรากฏการณ์คอขวด’ ซึ่งอาจทำให้การกระบวนดำเนินการขาดประสิทธิภาพ
พ.ร.ฎ.ปกป้องศาสนา?
“ไม่ใช่แค่ผิด แต่ว่าอันตราย” คือความเห็นของปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี จากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมทั้งเธอแสดงความกังวลเกี่ยวกับ ‘การทำให้หลักการศาสนาเป็นสิ่งที่โต้แย้งไม่ได้’
“ศาสนาหลักในโลกทุกศาสนา กำเนิดขึ้นจากการละเมิด หรือการวิพากษ์หลักการสำคัญของศาสนาที่ดำรงอยู่ก่อนหน้านี้แล้วทั้งสิ้น” อาจารย์ปิ่นแก้วระบุ พร้อมชี้ว่าคุณสมบัตินี้เอง ที่ทำให้ “ศาสนามีชีวิต มีพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง” ดังนั้นหากใครพยายาม ‘แช่แข็ง’ ศาสนา ให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งแตะต้องไม่ได้ หรือเปลี่ยนแปลงไม่ได้ จะเป็นการ ‘ทำลายศาสนา’ เสียเอง
“ประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ มันเติบโตขึ้นด้วยเสรีภาพในการคิดและค้นคว้า และการโต้แย้งกับหลักศาสนา” อาจารย์ปิ่นแก้วระบุ
ความมืดบอดทางปัญญา
เมื่อไม่มีเสรีภาพในการถกเถียงแล้ว ความงอกงามขององค์ความรู้ใหม่ๆ ย่อมจะถูกขัดขวาง ซึ่งอาจารย์ปิ่นแก้วเน้นย้ำว่า ผลกระทบจะไม่ได้เกิดแค่กับการวิจัยสายสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ แต่สายวิทยาศาสตร์ก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน
“ปัจจุบัน ดิฉันคิดว่าสิ่งที่รัฐไทยพยายามจะทำก็คือ กำลังจะสร้างสิ่งใหม่ที่เรียกว่างานวิจัยต้องห้าม” อาจารย์ปิ่นแก้วระบุ โดยเปรียบเทียบกับ ‘หนังสือต้องห้าม’ ที่มีให้เห็นมาแล้วในประเทศเรา
ชวนมอง ‘จริยธรรม’ กันเสียใหม่
อาจารย์ปิ่นแก้วเสนอว่า แทนที่จะมองว่าจริยธรรม เป็น ‘checklist’ ซึ่งมีคำตอบที่แน่นอน หรือสำเร็จรูปอยู่แล้ว เราควรมองจริยธรรมในรูปแบบของ ‘กระบวนการ’ ซึ่งเปิดกว้างให้แนวคิดหลากหลายมีพื้นที่ในการสนทนาแลกเปลี่ยนกันได้
เครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมือง?
ในช่วงท้าย กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์จากภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นว่าร่าง พ.ร.ฎ.ดังกล่าว อาจถูกใช้เป็น ‘เครื่องมือ’ ในการกลั่นแกล้งทางการเมืองได้ กล่าวคืออาจมีใครต้องการขัดขวางการวิจัย ด้วยเหตุผลทางสังคม หรือการเมือง จนเกิดความขัดแย้งอย่างกว้างขวางได้
ข้างต้นเป็นการชี้ให้เห็นถึงปัญหาโดยเหล่านักวิชาการในงานเสวนาครั้งนี้ ซึ่งเราอาจตระหนักได้ว่า ประเด็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ ไม่ได้จำกัดแค่จากตัวกฎหมายของมันเอง แต่กลับชี้ให้เห็นปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นมาก โดยเฉพาะการใช้อำนาจในสังคมไทยที่กระทบต่อแวดวงวิชาการ
ประเด็นที่น่าคิดคือ แม้ร่าง พ.ร.ฎ.เจ้าปัญหาฉบับนี้จะถูกเพิกถอนไปแล้ว แต่ประเทศเรายังคงมีปัญหาอะไรหลงเหลืออยู่? แล้วในอนาคตจะมีผลร้ายอะไรตามมา?