หอศิลป์ถูกปิดไม่ให้นักศึกษาใช้ งานเสวนาถูกยกเลิก วิทยากรงานเสวนาถูกไม่ให้เข้าประเทศ เสรีภาพทางวิชาการในบ้านเราถูกริดรอน และเข้าแทรกแซงมาโดยตลอดในหลายปีที่ผ่านมา แต่ล่าสุด กับกรณีการฟ้องร้องผลงานวิทยานิพนธ์ ของ อ.ณัฐพล จริงใจ ที่ภายหลังถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ และขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี ยิ่งตอกย้ำว่า เสรีภาพทางวิชาการไทยถูกคุกคามอย่างหนักขึ้น
ประเด็นนี้ ทำให้เกิดข้อถกเถียงมากมายในสังคม ถึงการพยายามปิดกั้นข้อมูล การตั้งคำถามในทางวิชาการ การนิ่งเฉยของตัวมหาวิทยาลัยต้นสังกัด ไปถึงความเหมาะสมที่นำงานวิชาการ มาเป็นคดีในการฟ้องร้อง และการฟ้องร้องตัวอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งไม่ใช่เจ้าของผลงานด้วย จนทำให้หลายคนรู้สึกว่า มหาวิทยาลัยไทยไร้ซึ่งความปลอดภัย และเสรีภาพแล้วหรือเปล่า ?
จากกรณีเหล่านี้ The MATTER จึงได้ไปพูดคุยกับอาจารย์นักวิชาการ อย่าง รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์, ดร.ชัยพงษ์ สำเนียง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ ม.นเรศวร และ ศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ภาคสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.เชียงใหม่ ถึงสิ่งที่พวกเขาเห็นถึงกรณีนี้ เสรีภาพในสถาบันอุดมศึกษา และการศึกษาวงวิชาการบ้านเรา รวมไปถึงว่าเราจะก้าวหน้าได้ไหม ถ้ายังอยู่ในสถาการณ์ที่เสรีภาพถูกคุกคามแบบนี้
เสรีภาพทางวิชาการที่ถูกคุกคาม จากกรณี การฟ้องร้อง อ.ณัฐพล
อ.ณัฐพล ใจจริง เจ้าของผลงานหนังสือขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ และขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี ซึ่งผลงานทั้งสองมาจากวิทยานิพนธ์ ถูกม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต หลานสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ได้ฟ้องร้องในฐานความผิดละเมิด ไขข่าวด้วยข้อความฝ่าฝืนความจริง เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท ทั้งยังฟ้อง อ.กุลลดา ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะที่ปรึกษา และสำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์หนังสือด้วย
ซึ่งนี่ถือว่าไม่ใช่ครั้งแรกที่เราเห็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพในวงการวิชาการ แต่อาจารย์ทุกท่านบอกกับเราว่านี่แทบจะเป็นครั้งแรก ที่มีการนำงานวิชาการ เข้าสู่การฟ้องร้อง หรือเป็นคดี ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ
อ.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ได้ย้อนภาพวงการวิชาการไทยในทศวรรษที่ผ่านมากับเราว่า “สถาบันอุดมศึกษาในไทย ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ดิฉันว่าสถาบันอุดมศึกษาในไทยมันมีความอ่อนแอลงอย่างน่าเศร้าใจ เจตนารมณ์ของการเป็นแหล่งปัญญา ส่งเสริมเสรีภาพทางการคิด การถกเถียง การสร้างสรรค์ความรู้ทางวิชาการ ทั้งหมดมันเกิดจากว่า ผู้บริหารมหาวิทยาลัย แทนที่จะทำหน้าที่ในฐานะเป็นผู้บริหารอุดมศึกษาให้สถาบันมีความเจริญรุ่งเรืองทางปัญญา ทางความรู้ แทนที่จะวางตัวเป็นกลางทางการเมือง แต่กลับลืมหน้าที่ของตน และใช้อำนาจในการรับใช้ชนชั้นนำทางการเมือง”
อ.ปิ่นแก้วได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์ในช่วงรัฐประหารปี 57 ที่อธิการบดีมหาวิทยาลัย ถูกดึงเข้าไปเป็นส่วนสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการใน สนช. โดยไม่มีอธิการแม้แต่คนเดียวที่ปฏิเสธ “จะพบว่าตั้งแต่ปี 57 เป็นต้นมา มันมีการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการเกิดขึ้นเต็มไปหมด ใน มช. ทั้งการจัดเวทีเสวนาการเมือง ตำรวจเข้ามาตามหาอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ผู้บริหารให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ อันนี้มันเป็นปรากฎการณ์ที่สืบเนื่องมาตลอด ก่อนหน้านี้มันอาจจะเกิดขึ้นนอกห้องเรียน ตามเวทีสัมมนาวิชาการ ที่ถูกตรวจตรา ควบคุม
“แต่กรณีของ อ.ณัฐพล และ อ.กุลลดา ดิฉันคิดว่ามันเข้ามาแทรกแซงในระดับของการเรียนการสอน ถ้ามหาวิทยาลัยไม่คุ้มครองระบบการทำวิทยานิพนธ์ แต่กลับตั้งกรรมการมาสอบสวน อันนี้เป็นการทำลายธรรมาภิบาล หรือความเชื่อใจกันต่อระบบทำวิทยานิพนธ์” นี่คือสิ่งที่ อ.ปิ่นแก้วบอกกับเราว่ามันยิ่งทำให้สถานการณ์การถูกคุกคามย่ำแย่ลง ทั้งยังฉายภาพกระบวนการของการทำวิทยานิพนธ์ให้เราเห็นว่า มีการกลั่นกรองหลายขั้น มากกว่าแค่ตัวอาจารย์ และที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ เพราะมีเรื่องของภาควิชา คณะ บัณฑิตวิทยาลัย ซึ่งเป็นระดับมหาวิทยาลัยที่ตรวจสอบวิทยานิพนธ์จนผ่านมาได้
“มันเป็นการทำลายระบบการทำวิทยานิพนธ์โดยสิ้นเชิง เสรีภาพทางวิชาการเป็นเรื่องที่ถูกแทรกแซงอยู่แล้ว แต่เรื่องการเคารพลำดับขั้นของการคุมวิทยานิพนธ์ ถ้ามหาวิทยาลัยมาทำลายแบบนี้ มันก็หมด ไม่เหลืออะไร” อาจารย์ ม.เชียงใหม่กล่าว
ด้าน อ.ชัยพงษ์ สำเนียง เองก๊ได้เสริมในอีกมุมว่า “อีกประเด็นหนึ่ง ที่ผมเห็นใหญ่มากในวงการวิชาการ คือมันเป็นการควบคุม มันไม่สามารถทำให้เรามีสิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพราะเวทีวิชาการ มันต้องอาศัยเสรีภาพ หมายความว่าถ้าใครไม่พึงพอใจธีสิส หรือไม่เชื่อใน argument นี้ ก็ต้องเขียนหนังสือมาตอบโต้ ไม่ใช่ว่าฟ้องร้อง ปัญหาของการฟ้องร้องมันคือการปิดปาก มันคือการลดสถานะงานวิชาการให้เหลือแค่การทะเลาะวิวาท”
นอกจากนี้ อีกประเด็นนึงที่ อ.ชัยพงษ์ เสริมคือ มันจะส่งผลต่ออนาคต ที่อาจารย์อาจจะไม่กล้าคุมธีสิส เพราะโดยปกติแล้ว ตัวอาจารย์จะดูหลักการ แต่รายละเอียดต่างๆ อาจารย์ที่ปรึกษาไม่ได้เข้ามาค้นประวัติศาสตร์ด้วย “ปัญหาคืออาจารย์ที่ไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะมาไปเป็นส่วนหนึ่งกับวิทยานิพนธ์นั้น อันนี้มันเลยเป็นปัญหา ในที่สุดผมว่านอกจากมันจะลดรอนเสรีภาพทางวิชาการแล้ว มันยังจำกัดเพดานทางการศึกษา ต่อไปเราจะศึกษาเรื่องอะไร เราจะกลัวการฟ้องร้องต่างๆ นาๆ แบบนี้เราจะก้าวหน้าจากไหน ในประเทศนี้”
“ทั้งในงานนี้ แม้ว่า อ.กุลลดาจะเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา แต่ว่ามีที่ปรึกษาร่วมอยู่อีก มีกรรมการอีกกี่คน แต่คุณเลือกฟ้องแค่คนเดียว อันนี้แสดงให้เห็นว่าคือการกลั่นแกล้ง ไม่ใช่การตรวจหาข้อเท็จจริงเชิงวิชาการ”
อ.ชัยพงษ์ยังพูดถึงกรณีที่มหาวิทยาลัยไม่ได้ออกมาปกป้อง อาจารย์ทั้งสอง หรือผลงานชิ้นนี้ด้วยว่า “วิธีคิดของมหาวิทยาลัยไทย ถ้าคุณอยากได้ธีสิส ก็บอกว่าเป็นของมหาวิทยาลัย แต่พอมีปัญหากลับปล่อยให้เคว้งคว้าง อันนี้มหาวิทยาลัย ต้องออกมาปกป้องในเชิงหลักการ และที่สำคัญมันผ่านระบบของมหาวิทยาาลัยไปแล้ว การตรวจสอบย้อนหลังมีความหมายเชิงนัยยะ ว่ามหาลัยเองก็ไม่ได้มีพื้นที่ในเชิงวิชาการ และถ้าจำไม่ผิด วิทยานิพนธ์ของ อ.ณัฐพลเองก็ได้ระดับดีมากด้วยซ้ำ หมายความว่ามันผ่าน ณ เวลานั้นไปแล้ว และมหาวิทยาลัย ต้องออกมาปกป้องทั้งวิทยานิพนธ์ และอาจารย์ที่ปรึกษา เพราะนี่คือเกียรติภูมิของมหา’ลัย และการรักษาพื้นที่แห่งเสรีภาพ
“หากเราคิดไปไกลกว่าธีสิสิ พื้นที่มหาวิทยาลัย เป็นพื้นที่ที่ต้องการเสรีภาพให้คนคิด คนเขียน เพื่อที่จะสามารถมทำอะไรได้แตกต่าง มหาวิทยาลัยทุกที่ในโลก มันจึงเป็นพื้นที่ปลอดภัยของทุกคน”
“มันมีความแปลกประหลาดในตัวของมันเอง” นี่คือสิ่งที่ อ.ยุกติ มุกดาวิจิตรย้ำกับเราถึงคดีนี้ “การเอาเรื่องที่มันเป็นสิ่งที่อยู่ในขอบเขตงานวิชาการมาฟ้องร้องในทางกฎหมาย มันก็ทำได้ในเชิงการปกป้องชื่อเสียง แต่ว่าที่ผ่าน ผมคิดว่ามันยังไม่เคยมีเลย เพราะงานวิชาการที่เป็นคดี ก็เป็นเรื่องการขโมยผลงาน ขโมยลิขสิทธิ์ plagiarism แต่เรื่องที่ว่าคนที่เป็นแหล่งข้อมูล หรือผู้ให้ข้อมูลมาฟ้องร้องว่าเขาเสียหายเพราะถูกเขียนถึง ในประวัติศาสตร์วิชาการไทย ผมยังไม่เคยเห็นเลย มันก็มีความแปลกประหลาดในตัวมันเอง”
“อีกอันนึงที่น่าตกใจ คือกระบวนการนี้ มันกลายเป็นกระบวนการที่มีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งเข้าร่วมด้วย และเข้าไปเป็นประจักษ์พยาน เป็นพยานโจทย์ผู้ฟ้อง ทำให้น่าสงสัยว่า ทำไมนักวิชาการถึงกลายไปเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการของการปิดกั้นทางวิชาการ ซึ่งผมคิดว่ามันเหมือนการที่คุณยอมที่จะยอมรับการปิดกั้นเสรีภาพของคุณเอง แทนที่นักวิชาการเองจะมีส่วนในการปกป้อง ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง”
“ทั้งการยังคุกคามไปถึงตัวของคณะกรรมการ อ.ที่ปรึกษา ก็ยิ่งทำให้ขอบเขตการทำงานมันแคบลง หมายความว่าต่อจากนี้ ถ้าคุณไปตีความเกินเลยจากหลักฐาน หรือไม่พูดแค่ตัวหลักฐาน คุณอาจจะถูกฟ้องร้องได้ ก็จะยิ่งทำให้ทุกคนเกิดความหวาดกลัว และจะเกิดกระบวนการ self-censor มากขึ้นเรื่อยๆ ทุกคนก็เข้าไปอยู่ในโลกการปิดปากตัวเอง”
เวทีวิชาการกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง
ในฐานะ อาจารย์ประวัติศาสตร์ อ.ชัยพงษ์เอง ได้พูดถึงการค้นหาข้อมูลในการทำวิทยานิพนธ์ด้วยว่า “ถ้าเราไปดูเชิงประวัติศาสตร์ ผมรู้สึกว่าบางทีเอกสารในทางประวัติศาสตร์ ถ้าคุณจะไปรื้อวิทยานิพนธ์ประวัติศาสตร์ ครึ่งนึงต้องรื้อทิ้ง เพราะเอกสารบางอย่างมันสูญหายตามกาลเวลา หรือหายเพราะการเคลื่อนย้าย แล้วคุณจะบอกว่าอันนั้นไม่จริงได้อย่างไร หรือต่อให้มันเป็นแบบนั้น หรือตีความผิดพลาดนิดๆ หน่อยๆ แต่ถามว่ามันกระทบกับ argument หลักของธีสิสนั้นไหม ถ้ามันไม่กระทบ มันก็ไม่มีปัญหา”
ผมคิดว่าในประเทศเรา มันมีหนังสือไม่กี่เล่มที่ถูกฟ้องร้อง การจะมาฟ้องร้องแทบไม่มี คนที่จะมาฟ้องคือ ก็เขียนหนังสือตอบโต้ คุณจะเห็นว่ามันมีการเขียนตอบโต้กันตลอดในประวัติศาสตร์ หรือในประเทศทั่วโลกสากล ไม่เห็นด้วย ก็เขียนหนังสือ หาหลักฐานอื่นๆ มาโต้แย้ง”
ด้าน อ.ปิ่นแก้วเอง ก็ได้พูดสนับสนุนมุมนี้เช่นกันว่า “ถ้ามีการท้วงติง ไม่เห็นด้วย สิ่งที่ควรจะทำคือการเขียนงานวิชาการมาโต้ หรือทำวิทยานิพนธ์มาดีเบตกัน อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าเสรีภาพทางวิชาการอย่างแท้จริง”
“เสรีภาพทางวิชาการคือ ความมีอิสระในการตั้งคำถาม ค้นคว้า เห็นต่าง สร้างข้อถกเถียงทางวิชาการ ถ้าเราปล่อยให้กรณีนี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ สมมติดิฉันไม่ชอบการวิจัยเชิงปริมาณ และจับผิดทุกหน้า หรือไม่ชอบการวิจัยฝั่งแพทย์ เรื่องวัคซีนไขว้ ไปจับผิด ร้องเรียน ให้มหาวิทยาลัยทำวิทยานิพนธ์สอบ ลองคิดดูว่าปีๆ หนึ่ง จะมีเรื่องที่มหาวิทยาลัยต้องสอบกี่พันเรื่อง”
เราทราบดีว่าเรื่องนี้มีอะไรที่มากไปกว่านั้น มีอำนาจที่อยู่เบื้องหลัง เราต้องแยกแยะพื้นที่ทางวิชาการ และอุดมการณ์ทางการเมืองออกจากกัน อุดมการณ์ทางการเมือง เป็นรสนิยมของแต่ละคน อยากจะเชื่อในอุดมการณ์ทางการเมืองแบบไหน เป็นเรื่องส่วนตัว แต่คุณไม่ควรล่วงละเมิดเอาเรื่องนี้เข้ามาในการทำงานวิชาการ เพราะถ้าทำแบบนั้นไปแล้ว พื้นที่ทางวิชาการมันจะไม่เหลืออะไรเลย มันจะบีบให้คนทำเรื่องที่ผู้มีอำนาจต้องการเท่านั้น มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งสุดท้ายที่ควรจะเป็นเสาหลัก
สิ่งที่เรียกว่าเสาหลัก คือสถาบันที่ธำรงค์ไว้ซึ่งเสรีภาพ คือการสร้างหลักประกันว่าที่นี่เราสามารถจะคิด เราสามารถทำงานวิทยาศาสตร์ งานที่เป็นเหตุเป็นผล มีหลักการรองรับ กระบวนการพวกนี้มันต้องได้รับการค้ำจุน สนับสนุน แต่ถ้าคุณไปทุบทำลายด้วยการเอาอุดมการณ์ทางการเมืองมาแทรกแซง มหาวิทยาลัยก็ไม่เหลืออะไร ก็ตาย”
‘หนังสือต้องห้าม’ ยังเป็นคำที่ปรากฎขึ้นมาในคดีครั้งนี้ ซึ่งหนังสือทั้งสองเล่มที่ถูกตีพิมพ์จากวิทยานิพนธ์ อาจกลายเป็นหนังสือต้องห้ามได้ เราได้ถาม อ.ยุกติถึงการที่สังคมบ้านเรายังมีการถกเถียงถึงหนังสือต้องห้าม ในปี 2021 นี้ ว่าสะท้อนสังคมอย่างไร ซึ่งอาจารย์ก็บอกเราว่า มันสะท้อนถึงการที่เพดานของสังคมต่ำลงเรื่อยๆ
“หนังสือเล่มนึงที่ก็ยังเป็นหนังสือต้องห้ามคือ The King Never Smile อันนั้นคือทั้งเล่มพูดถึงพระมหากษัตริย์ แต่เล่มนี้ (ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ และขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี) มันไม่ได้พูดถึงพระมหากษัตริย์โดยตรงอย่างเดียว ยังมีการพูดถึงกลุ่มการเมืองต่างๆ และประเด็นที่เป็นคดีฟ้องร้องก็แค่พูดถึงคนที่เป็นผู้สำเร็จราชการ ซึ่งก็เป็นแค่จุดเดียวในประวัติศาสตร์ เทียบไม่ได้กับหนังสือ The King Never Smile ในแง่ของการเป็นประวัติชีวิตพระมหากษัตริย์ทั้งเล่ม ซึ่งข้อมูลที่ผู้เขียนหนังสือเล่มนั้นเอามาใช้ มาจากคำบอกเล่า ในขณะที่หนังสือเล่มนี้ ข้อมูลเกือบทั้งหมดมาจากเอกสาร ซึ่ง อ.ณัฐพลเคยชี้แจงไว้หลายรอบแล้ว ว่าพูดตามกรอบของเอกสาร
“ในแง่ของการโต้แย้งที่ผ่านมา นักวิชาการที่หยิบเรื่องนี้มาเป็นประเด็น และในแวดวงจุฬาฯ เองก็มีคณะกรรมการชุดนึง ที่เคยตั้งมาแล้ว และมีอีกชุดที่ดำเนินการอยู่ ตั้งสอบสวนขึ้นมาพร้อมๆ กับคดี สิ่งที่น่าห่วงคือ นักวิชาการเหล่านี้ไม่แยกแยะการตีความหลักฐาน กับการใช้หลักฐานอย่างตรงไปตรงมา สิ่งที่มันเป็นข้อมูล กับการวิเคราะห์ตีความมันคนละเรื่องกัน สิ่งที่เป็นข้อโต้แย้งคือเรื่องการวิเคราะห์ตีความ ไม่ใช่ข้อมูล และไม่ใช่เรื่องของการบิดเบือนข้อมูลด้วย สิ่งที่มันน่ากลัวที่นักวิชาการที่นำสิ่งนี้มาเป็นประเด็น ไม่ได้อธิบายให้สังคมรับรู้ชัดเจนว่ากระบวนการของการทำงานวิชาการ ทางประวัติศาสตร์ มันมีข้อมูลดิบ ที่ไม่มีใครบิดเบือนได้ กับการวิเคราะห์ตีความ ที่มีความเห็นแตกต่างกันได้
แต่สิ่งที่นักวิชาการกลุ่มนี้ทำ คือการดึงการโต้แย้งทางวิชาการออกมายังสังคม แล้วทำให้สังคมไม่เข้าใจ ทำให้เป็นเรื่องทางการเมืองโดยตรง และไม่มีการโต้แย้งทางวิชาการ เช่นการดึงเข้าสู่ กระบวนการทางกฎหมาย หรือการสอบสวน ที่อยู่นอกกระบวนการทางวิชาการ
ผมคิดว่ากลุ่มนักวิชาการกลุ่มนี้ก็พยายามที่จะหยิบเอาผลงาน หรือกลุ่มทางวิชาการที่เป็นประเด็น ที่เขาคิดว่ามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคม หรือเบื้องสูง หรือความเข้าใจโครงสร้างทางการเมือง มาโจมตีให้มันหมดคุณค่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องทางวิชาการ มันเป็นการเมืองโดยตรง เป็นการปกป้องอุดมการณ์ หรือกลุ่มการเมืองแบบอนุรักษ์นิยม ผ่านการหยิบเอางานวิชาการมาโจมตีทางการเมือง อีกส่วนนึงอาจจะเป็นเพราะว่างานมีอิมแพ็กต์ต่อสังคมสูง เลยถูกจ้องอย่างต่อเนื่อง กระบวนการไม่จบสิ้นซักที ผมคิดว่าจะจบตั้งแต่ปีที่แล้วก็ไม่จบ”
ในส่วนเรื่องคณะกรรมการตรวจสอบนี้ อ.ปิ่นแก้วก็ได้ระบุเช่นกันว่า “กรณีของอ.ณัฐพล เป็นเรื่องอับอายมาก แทนที่มหาวิทยาลัยจะออกมา แสดงจุดยืนที่ชัดเจนในฐานะที่เป็นสถาบันอุดมศึกษา ไม่ใช่สถาบันทางการเมือง การที่มหาวิทยาลัยตั้งกรรมการสอบ ดิฉันถือว่าเป็นการสร้างจุดยืนทางการเมือง ไม่ใช่การแสดงจุดยืนฐานะที่เป็นสถานศึกษา”
ผลจากการฟ้องร้อง และคดี ที่อาจเปลี่ยนวงการวิชาการไทย
สำหรับคดีความในตอนนี้ โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว แต่ตัวคดียังไม่สิ้นสุด และศาลจะมีการนัดฟังคำสั่งต่อไปในช่วงสิ้นเดือนพฤษจิกายนนี้ เราได้ถามอาจารย์ทั้ง 3 คนว่า หากศาลมีคำสั่งออกมา ไม่ว่าในเชิงไหน จะส่งผลต่อวงการวิชาการอย่างไร
“เรื่องนี้ก็ต้องต่อสู้ จากที่ดิฉันอ่านงานที่เขียนออกมา อ.ณัฐพลก็ได้โต้แย้งอย่างมีเหตุมีผล ว่าวิทยานิพนธ์กับหนังสือไม่เหมือนกัน ดังนั้นคนมีข้อผิดพลาดได้ มีสิ่งที่ผิดพลาดจากการค้นหา ในรายละเอียด แต่วิทยานิพนธ์ไม่ใช่หนังสือที่ถูกเผยแพร่ในมุมกว้าง ทีนี้พอเป็นหนังสือมันมีการแก้ไขข้อผิดพลาดต่างๆ นั้นแล้ว ก็ต้องไปว่ากันว่าฝ่ายใดฝ่ายนึง” อ.ปิ่นแก้วระบุ
“ฝ่ายที่คิดว่าเสียหายก็ต้องเถียงว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แต่ในกรณีที่มันเป็นวิทยานพนธ์ นักศึกษา และอาจารย์ยืนยันว่า argument หรือข้อเสนอหลัก ที่มันเป็นข้อเสนอที่สมเหตุสมผล ดิฉันคิดว่ามหาวิทยาลัยไม่มีสิทธิเข้ามาแทรกแซงเรื่องนี้ เพราะมันผ่านกระบวนการต่างๆ แล้ว และเป็นงานในมหาวิทยาลัย ไม่ได้ถูกเผยแพร่มุมกว้าง ข้อผิดพลาดเป็นสิ่งที่รับกันได้ ไม่มีวิทยานิพนธ์เล่มไหนไม่มีข้อผิดพลาด
อาจารย์ปิ่นแก้ว ยังได้ย้ำเรื่องบทบาทมหาวิทยาลัยอีกครั้ง “ดิฉันไม่แน่ใจว่าศาลจะตัดสินในกรณีไหน แต่กรณีวิทยานิพนธ์ สิ่งที่มหาวิทยาลัยควรทำคือออกมาปกป้อง เพราะมันผ่านกระบวนการต่างๆ แล้ว ถ้าหากว่ามหาลัยไม่ทำเช่นนั้น และตั้งกรรมการสอบ ก็แปลว่าระบบการทำวิทยานิพนธ์ของจุฬาล้มเหลว จะยอมรับสิ่งนี้ไหม แล้วไม่ใช่แค่คณะรัฐศาสตร์ ทุกคณะต้องออกมาแสดงจุดยืนในการปกป้องระบบการทำวิทยานิพนธ์ของตัวเอง แปลว่ากระบวนการกลั่นกรองทั้งหมด มีปัญหา” อาจารย์ย้ำเรื่องบทบาทมหาวิทยาลัย
ด้าน อ.ยุกติบอกกับเราว่า จะทำให้เกิดการหวาดกลัว และการ self-censor มากขึ้นเรื่อยๆ “มันก็อันตรายต่อวงการวิชาการ เพราะการ self-censor มันยิ่งอันตรายตรงที่เราไม่รู้เส้นแบ่งที่ชัดเจน ว่าเราจะทำอะไรได้ อะไรถูกอะไรผิด ควรทำแค่ไหน แต่มันเริ่มมาจากความกลัวแล้ว เราก็ยิ่งถอยลงมาเรื่อยๆ แต่ในขณะที่งานวิชาการในต่างประเทศ บางมหาวิทยาลัยจะตั้งธงไว้เลย หลักปรัชญาคือการที่คุณจะสามารถตั้งคำถามกับทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกเรื่อง ต้องไปให้ได้สุดทางของสิ่งที่คุณสงสัย โดยที่จะไม่ต้องมีอะไรมาปิดกั้นคุณได้ นี่คือสิ่งที่เรียกว่าเสรีภาพทางวิชาการ
เสรีภาพคือทำได้โดยไม่มีขอบเขต ใครจะบอกว่าเสรีภาพต้องมีขอบเขต ไม่ใช่ เสรีภาพต้องไม่มีขอบเขต อันนี้คือเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงว่าเรากำลังสร้างสังคมที่มันเป็นสังคมของการปิดกั้นการแสดงออกด้วยตนเอง หรือ self-censor society ซึ่งมันอันตราย สังคมวิชาการที่เป็นแบบนี้ มันไม่มีความก้าวหน้าได้หรอก เพราะเสียงของแวดวงวิชาการไทย ก็จะเป็นแบบที่คนจะหรี่ตามอง ว่ามันไปไม่สุด”
ขณะที่ อ.ชัยพงษ์เองก็บอกว่าเช่นเดียวกับ อ.ยุกติว่า จะส่งผลต่อเสรีภาพในการคิดหัวข้อวิทยานิพนธ์ต่างๆ และสุดท้ายจะส่งผลกระทบไม่เพียงแค่ต่อสายสังคมเท่านั้นด้วย แต่สายวิทย์ก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน “มันเป็นจุดเปลี่ยนในทางที่เลวร้าย ถ้าผลมันออกมาในทางเลวร้าย ต้องเสียเงินค่าปรับ จำคุก โดนคดี อาจารย์ที่ไหนจะกล้าคุมธีสิส นักศึกษาก็ไม่มีเสรีภาพต่อไปในการคิด เสรีภาพมันสำคัญกับนิสิตปริญญาโท-เอก การจะคิดอะไรนอกขนบ หรือแตกต่าง มันคือสิ่งสำคัญ มันก็จะได้เรื่องใหม่ๆ ถ้าคิดตามที่อาจารย์ให้คิด คือมันหมดสภาพ เราก็จะไม่มีงานดีๆ ไม่มีธีสิส หรือข้อเสนอทางวิชาการใหม่ๆ มันก็จะอยู่ในกรอบที่อาจารย์ที่ปรึกษาคุ้นชิน หรืออยู่ในระบบที่มหา’ลัย หรือรัฐต้องการให้คิดแบบนั้น เรียกว่าจบเลย สำหรับพื้นที่วิชาการในประเทศนี้ ไม่สามารถทำงานดีๆ ได้อีกต่อไป
ไม่ใช่เฉพาะสายสังคมนะครับ อาจจะบอกว่าสายวิทย์ไม่ได้รับผลกระทบ แต่จริงๆ มันก็จะได้รับผลกระทบอยู่ดี ถ้าเสรีภาพมันไม่มี ทั้งหมดทั้งมวลเราก็ไม่มีทางค้นพบสิ่งใหม่ๆ นี้ได้อีกแล้ว” อาจารย์ภาคประวัติศาสตร์ท่านนี้เสนอในมุมนี้
สภาพการเมือง รัฐบาล ที่สะท้อนเสรีภาพวิชาการ และการเป็นพื้นที่ปลอดภัยของมหาวิทยาลัย
ตลอดปีที่ผ่านมา เราได้ยินเรื่องการริดรอนเสรีภาพทางวิชาการ หรือในสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเรื่องการถูกนำงานศิลปะไปทิ้ง ของ นศ.วิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ มาถึงการถูกปิดกั้นการใช้หอศิลป์ ม.เชียงใหม่ ที่เกิดขึ้นเดือนที่ผ่านมา ยิ่งย้ำให้เห็นว่าเสรีภาพทางวิชาการถูกริดรอนต่อเนื่อง บวกกับสภาวะทางการเมือง ที่รัฐเองก็ปิดกั้นสิทธิแสดงออกทางการเมืองของประชาชน อาจารย์ชัยพงษ์ก็ย้ำกับเราว่าสภาพการเมืองนั้นมันสะท้อนทั้งเสรีภาพทางวิชาการ และเสรีภาพของประเทศ
“ระบบเผด็จการ มันคือการต้องการควบคุมความคิด มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการพูด อาจารย์ก็มีอิสระในการพูด ผมคิดว่าประวัติศาสตร์ไทย เป็นไปน้อยมากที่ระบบเผด็จการไปยุ่งเกี่ยวกับมหาวิทยาลัย อาจจะมีบ้างในกรณีที่ต้องการส่งใครไปเป็นอธิการ แต่ไม่ค่อยมีใครมายุ่งเกี่ยวกับการเรียน การสอน หรือการกำกับการแสดง อย่างเช่นกรณีของวิจิตรศิลป์ มช. ปัญหาใหญ่มากๆ คือการที่รัฐเผด็จการเข้ามายุ่งเกี่ยว เพื่อปิดปาก ทำให้พื้นที่เสรีภาพทางวิชาการมันหดแคบลง ถ้าเวทีวิชาการ มหาลัย ปัญญาชน นักเรียน นักศึกษาที่มีอภิสิทธิ์ในการพูด หรือไม่ต้องกลัวอะไรมากเป็นปากเป็นเสียงให้คนอื่นๆ ได้บ้าง ถูกปิดไป มันก็จะไม่มีใครพูดอะไรอีกแล้ว” ซึ่งอาจารย์ยังเพิ่มเติมว่า นี่ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก เพราะในยุค คสช.ก็มีแคมเปญ หรือเวทีวิชาการอย่างมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ค่ายทหาร ที่ตัวอาจารย์ก็โดนคดี ซึ่งอันนี้มันคือการรุกหนักของรัฐเผด็จการ
ทั้ง อ.ชัยพงษ์ยังบอกว่า สภาพการเมืองนั้นสะท้อนเสรีภาพทางวิชาการ และสะท้อนเสรีภาพของประเทศนี้ที่หดแคบลงเรื่อยๆ “จนแบบไม่มีพื้นที่ แม้แต่เสนอในเชิงวิชาการ ปกติการเสนอทางวิชาการ คือการหาหลักฐานเพื่อแสดง หรืออธิบาย argument หรือธีสิส ถ้าใครไม่เห็นด้วย ผมก็ยืนยันว่าก็หาหลักฐานใหม่มาโต้แย้ง มันไม่เคยมีการฟ้องร้องอะไรแบบนี้” อาจารย์ย้ำ
“กรณีปิดกั้นหอศิลป์ เป็นกรณีที่ชัดเจน ที่การแสดงออกทางศิลปะก็ต้องให้เสรีภาพ ถ้ามีความผิดทางกฎหมายอะไรขึ้นมาก็ค่อยว่ากัน แต่ไม่ใช่ว่าคุณจะมีสกรีนก่อนแต่แรก” อาจารย์ยุกติพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ใน ม.เชียงใหม่ “อย่างวิทยานิพนธ์ กระบวนการของการทำวิทยานิพนธ์ในประเทศนี้ ก็ค่อนข้างมีความเป็นสากล คือเราให้อำนาจกรรมการวิทยานพนธ์ และจบที่นั่น แม้แต่คณบดี ซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยงาน ยังไม่สามารถไปปรับแก้วิทยานิพนธ์ได้ อธิการบดี หรือรัฐมนตรีก็ไปยุ่งไม่ได้ มันเป็นเรื่องของกรรมการวิทยานิพนธ์ กับนักศึกษา
อันนี้สำคัญ เพราะสำหรับบางประเทศที่เป็นเผด็จการสูง เขาตรวจกันไปถึงระดับรัฐมนตรี คือรัฐมนตรีต้องมาแอพพรูพวิทยานิพนธ์ เพราะฉะนั้นนี่คือสิ่งที่เป็นเสรีภาพทางวิชาการ ดังนั้นเรื่องหอศิลป์ก็เหมือนกัน ตั้งแต่จุดตั้งต้นเลย การที่คณบดีไปเซนเซอร์แต่แรก แบบนี้ในอนาคตคุณก็อาจจะตรวจไปถึงขั้นวิทยานิพนธ์ รายงาน หรือเอากล้องมาตั้งในห้องเรียน และก็ถูกจับจ้อง นี่ก็เป็นเรื่องที่อันตราย”
อ.ปิ่นแก้ว ได้เสริมในมุมนี้เช่นกัน ว่าการริดรอนสิทธิต่างๆ มันเข้ามาสู่ในห้องเรียน การเรียน การสอนมากขึ้น “เราจะพบสิ่งที่เรียกว่าการแผ่ขยายของอำนาจ ซึ้งนี่เป็นสิ่งที่น่าตกใจ และควรจะมีมาตรการในการคัดง้างกับสิ่งเหล่านี้ เราพบว่าบรรดาผู้บริหารในระดับมหาวิทยาลัย ใน มช. ระดับผู้บริหาร คณบดีขึ้นไป ไม่ใข่การเลือกตั้ง เป็นการคัดเลือกโดยผู้นำ หรือว่าผู้บริหารระดับสูง เราจะพบว่าเมื่อผู้บริหารระดับสูงมีจุดยืนทางการเมือง และแสดงตนในการปกป้องอำนาจชนชั้นนำมาโดยตลอด มันมีผลต่อผู้บริหารในระดับรอง ในมหาวิทยาลัยชั้นนำส่วนใหญ่ เป็นเช่นนี้
ผู้บริหารแทนที่จะบริหารสถาบันอุดมศึกษา และใช้มาตรวัดในการมองเรื่อง หรือตัดสินว่าวิชาการเป็นยังไง เราจะพบว่ามันมีมาตรวัดของอุดมการณ์ทางการเมืองมากำกับ การปิดกั้นเรื่องบางเรื่องไม่ให้แสดงออกมา บางเรื่องถูกตรวจสอบถี่ยิบ เรียกง่ายๆ ว่าเป็นกลไกของรัฐเผด็จการ ในการเป็นตำรวจตรวจสอบความคิดของบรรดาคณาจารณ์ และนักศึกษา มันมีการทำเรื่องแบบนี้มาโดยตลอด เพราะผู้บริหารให้ท้าย เปิดไฟเขียว และเขาก็มีอำนาจไม่ว่าจะไม่ยอมให้ใช้ห้อง หรือสถานที่”
ภาพเหล่านี้ที่เราพูดถึงกัน แสดงให้เห็นถึงเสรีภาพทางวิชาการในไทยที่ดูถดถอย และพื้นที่มหาวิทยาลัยก็ดูจะไม่ปลอดภัยมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ในอีกภาพหนึ่ง เรามักเห็นการเชิดชูเกียรติมหาวิทยาลัย ที่ผูกติดกับการจัดอันดับต่างๆ ในโลก หรือที่เรียกว่า Ranking ซึ่งดูว่าอยากจะผลักดันให้สถานศึกษาอย่างมหาวิทยาลัย เป็นแนวหน้าทางวิชาการ ซึ่งกลับสวนทางกับเหตุการณ์การคุกคามที่เกิดขึ้น
อ.ยุกติ ก็มองถึงประเด็นนี้ว่า การได้อันดับดีๆ กลับไม่ได้รับประกัน หรือรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกในการแสดงออกได้เลย “ผมกลับมองว่าเรื่อง ranking มันไม่ได้ประกันคุณภาพทางวิชาการ มันประกันปริมาณมากกว่า มันไม่ได้ประกันว่ากระบวนการที่คุณจะได้มาซึ่งการเป็นมหาวิทยาลัยที่มีอันดับ ไม่ได้รับรองเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก หรือเรื่องระบบการทำงาน สวัสดิการของมหาวิทยาลัย ไม่มีสิ่งเหล่านั้นที่ได้รับรองผลงานที่ออกมาเลย
“มันไปดูแต่ผลงานที่ออกมา ซึ่งผลงานบางทีมันก็ลวงโลก เพราะวิธีที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ทำก็คือการจ้างนักวิจัยเฉพาะ เงินเดือนสูงๆ มาผลิตผลงานทางวิชาการ เป็นนักวิจัยต่างชาติบ้าง ทั้งหมดเพื่อผลิตผลงาน เอารางวัล ขณะที่อาจารย์ที่ทำงานสอนก็ทำงานไปงกๆ เงินเดือนต่ำๆ ทำทั้งงานบริหาร งานสอน ไม่สามารถจะผลักตัวเองไปผลิตผลงานดีๆ ได้ หรือบางคนก็เข้าไปเป็นมนุษย์สัญญาจ้าง
ระบบ ranking เหล่านี้ไม่ได้สะท้อนหลักการของการทำงานในระบบอุดมศึกษา ไม่ได้แสดงเสรีภาพในการแสดงออก หรือการบริหาร good governance เลย”
อ.ชัยพงษ์เองก็มองว่าเรื่องการจัดอันดับ มันกลับเป็นการลดทอนเสรีภาพมากกว่า “ผมคิดว่าปัญหาของการหมดมุ่นกับ ranking ระดับโลก มันกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ มหาวิทยาลัยไปบีบอาจารย์ อันนี้ก็เป็นส่วนนึงที่ลดทอนเสรีภาพ เพราะการจะหา ranking คุณต้องไปหาอะไรที่ตีพิมพ์ หรือในกระแส คนที่จะคิดอะไรนอกกระแส มันไม่สามารถหา ranking หรืออันดับ อันนี้คือสิ่งที่มันเกิดขึ้น แต่ในทางกลับกันคุณแสวงหา ranking หรืออันดับไปเรื่อยๆ แต่คุณทำให้พื้นที่วิชาการหดลงเรื่อยๆ จนไม่เหลืออะไร ห้องสมุดก็จะยุบ ธีสิสก็จะตรวจสอบ อาจารย์ที่ปรึกษาก็กล้าๆ กลัวๆ ถ้าคิดอะไรใหม่ๆ จะถูกใครฟ้องใหม่ พื้นที่ของวิชาการมันหดแคบลงไปหมด การแสดงความคิดเห็นของนักศึกษาโดนจำกัด การจัดเวทีวิชาการก็มีเพดาน อย่างนี้เราจะไปแสวงหาแรงค์กิ้งไปทำไม ทั้งๆ ที่พื้นที่ของเสรีภาพ ของการงอกงามทางวิชาการ หรือทางความรู้มันไม่เกิดแล้ว”
“ย้อนแย้ง หรือเรียกว่ามือถือปากสากถือศีล” นี่คือสิ่งที่ อ.ปิ่นแก้วพูดกับเราทันที เมื่อเราถามถึงเรื่องการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในไทย “เพราะเรารู้ว่ามหาวิทยาลัยไทยไล่กวด การจัดอันดับในนานาชาติ เราพยายามจะอวดความเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านวิชาการ แต่ช่วงหลังๆ เราก็จะเห็นมันมีการใช้ตัวบ่งชี้ตัวอื่นๆ เช่นของ UN ที่มีการพัฒนายั่งยืน หรือ SDG เราก็เห็นว่าตัวบ่งชี้พวกนี้มันมีเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ ความยุติธรรม ความเป็นธรรม ซึ่งมหาวิทยาลัยทำไม่ได้อยู่แล้ว สิ่งที่เขาทำคือการกลบเกลื่อนสิ่งที่ไม่ได้ทำ มาอวดอ้างว่าทำ