ในขณะที่เขียนบทความนี้อยู่ แอพพลิเคชั่นโซเชียลมีเดียแบบเสียงอย่าง Clubhouse ก็ทะลักเข้ามาในไลฟ์สไตล์ของคนไทยมาร่วม 10 วันแล้ว หลายคนใช้เวลาในแอพฯ นี้วันละ 4-5 ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นเวลาที่เยอะมาก
ผู้เขียนได้เป็นคนไทยล็อตแรกๆ ที่ได้เข้าไปใน Clubhouse ตั้งแต่ช่วงที่ในแอพฯ มีเพียงแวดวงเทคโนโลยี สตาร์ตอัพ และคนไทยในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ เห็นความเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศในแอพฯ พอสมควร ในช่วงเวลา 10 วัน เลยขอสรุปวิวัฒนาการของ Clubhouse landscape แบบฉบับคนไทย มาให้อ่านกัน
– ช่วงแรก อย่างที่กล่าวไปว่าคนไทยในนี้คือวงการสตาร์ตอัพ วงการ developer และวงการ cryptocurrency ห้องภาษาไทยที่สร้างในช่วงนี้ส่วนใหญ่จะเป็นการถกหัวข้อเหล่านี้
– ส่วนห้องที่ผู้เขียนได้เข้าไป join จะเป็นห้องมือใหม่ ที่คนไทยหลายคนที่บังเอิญถูก invite เข้ามา จะมาพูดคุยกันว่าพบห้องอะไรของ user ต่างชาติบ้าง และฟังก์ชั่นในแอพฯ นี้ใช้งานกันอย่างไร ปิดเปิดไมค์ เชิญคนขึ้นมาพูด เอาลงไปเป็นผู้ฟัง ฯลฯ
– วงสังคมค่อนข้างแคบมาก ดูถ้อยทีถ้อยอาศัยในการสอนวิธีใช้ (ซึ่งมักออกตัวว่าเข้ามาก่อนกันได้แค่ 1-2 วันเท่านั้น)
– ห้องต่างชาติที่มีให้เข้าไปฟังก็มีทั้งเปิดเพลงให้ฟัง เสวนาธุรกิจ ปรึกษาปัญหาชีวิต ไลฟ์โค้ช ไปถึงแจมดนตรีและสแตนด์อัพคอเมดี
– พออยู่ใน Clubhouse ได้ 2-3 วัน ก็สังเกตเห็นว่ามีคนจากฝั่งคอนเทนต์ไหลเข้ามามากขึ้น หัวข้อของห้องก็เริ่มเปลี่ยนไปเป็นการถกวิธีใช้งาน Clubhouse ในเชิงคอนเทนต์และมาร์เก็ตติ้ง งานโฆษณา ทิศทางของคอนเทนต์ทั้งเพจ อินฟลูเอนเซอร์ พอดแคสต์ ยูทูบ และผลกระทบต่อการใช้งานแพลตฟอร์มอื่นๆ รวมถึงคอนเทนต์การเมือง ที่มาพร้อมๆ กับ อ.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ที่เป็น MVP ทำห้องเต็มตลอดเวลา ไม่ว่าจะเพิ่ม captivity ขึ้นเป็นเท่าไหร่ (ล่าสุด วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 คือ 8,000 คน)
– พอผ่านไปได้สัก 10 วัน สังเกตว่าคนไทยไหลเข้ามาอย่างเยอะ น่าจะหลายหมื่นแล้ว ดูจากยอด follower อ.ปวิน ที่มีราว 200,000+ คน
– บรรยากาศในแอพฯ ก็เปลี่ยนไปมากทีเดียว มีทั้งนักดนตรี นักแสดง พิธีกร เซเลบฯ เข้ามาเยอะขึ้นมาก รวมถึงคอนเทนต์ครีเอเตอร์สายปั่น อันโปรดักทีฟ ที่สร้างห้องสนุกๆ ขึ้นมาหลายห้อง
– ห้องแนวที่ผู้เขียนประทับใจ คือห้องแนวทำงานไปด้วยกันเงียบๆ (เท่าที่จำได้คนแรกๆ ที่ทำคือ user @iannnnn) คอนเซปต์คือเปิดไมค์ไว้แล้วนั่งทำอะไรก็เราไป เสียงเคาะคีย์บอร์ดทำงาน รินน้ำ ถอนหายใจ เขียนกระดาษใดๆ ASMR มาก
– ซึ่งหลังจากนั้นก็มีห้องสไตล์ ‘อยู่ด้วยกันเงียบๆ’ ตามมาเป็นพรวน ได้ฟีล ASMR ที่หลากหลาย ทั้งขับรถกลับบ้านด้วยกันเงียบๆ / อาบน้ำด้วยกันเงียบๆ / นอนด้วยกันเงียบๆ / กินข้าวไปด้วยกันเงียบๆ ฯลฯ
– แต่แอบมีดราม่าแรกใน Clubhouse กับห้อง ‘นั่ง follow กันเงียบๆ’ ที่มีคนมาวิพากษ์ว่ามาปั๊มยอดฟอล ไม่ได้สร้างคอนเทนต์ด้วยเสียงอะไรเลย
– ประเภทห้องเองก็หลากหลายขึ้นมากๆ มีห้องคุยธรรมะ ปรัชญา ห้องคุยซีรีส์ ห้องสุขภาพจิต ห้อง parenting ห้องเครื่องสำอาง ห้องของกิน กาแฟ แฟชั่น ห้องพักเหนื่อย speaker ห้องเม้าท์เบื้องหลังวงการต่างๆ ฯลฯ
– ซึ่งผู้เขียนค่อนข้างเอ็นจอยกับห้องคอนเทนต์สายครีเอทีฟต่างๆ มาก เช่น ห้องที่จะให้คำแนะนำแบบผิดๆ / ห้องที่สมมติว่าทุกคนเป็นเด็กอนุบาลโรงเรียนเดียวกัน / ห้องแนะนำกาแฟ / ห้องชื่นชมประเทศไทย อ ย่ า ง จ ริ ง ใ จ / ห้องประมูลงานศิลปะแบบคนรวย / ห้องของเต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ที่ให้แต่ละคนขึ้นมาฝากคำพูดไปถึงแฟนเก่าคนละ 30 วินาที /
– หรือห้องที่ชาว Salmon ไปลองสร้างไว้อย่าง ห้องเล่าเรื่องหาขุมทรัพย์ในพงไพรเป็นฟิกชั่นแบบเพชรพระอุมา / ห้องที่ให้ยมบาลถามทุกคนว่าเป็นอะไรตาย ภายใน 2 นาที / ห้องเปลี่ยนคำว่าเธอในเพลงให้เป็นคำว่างาน / หรือห้องดีเบตว่า read ไม่ตอบ กับ ไม่ read เลย อะไรเจ็บกว่ากัน?
– แต่ที่ MVP มากในช่วงนี้คือห้องประเภทเช่าช่วง คือห้องหลักเต็ม เข้าไม่ได้ ก็เลยมีห้องที่เปิดแล้วเอาเสียงห้องหลักมาจ่อไมค์อีก device กลายเป็นห้องแอบฟังที่ก็มีคนมาเข้าหลักหลายพันเหมือนกัน
– ซึ่งสถิติล่าสุด (วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564) คือมีห้องแอบฟังต่อมาอีก 4 ห้อง เต็มทุกห้อง คำนวณคร่าวๆ คือมีผู้ฟังคอนเทนต์เดียวกันนี้ถึง 40,000 คน
– เป็นวิธีที่โคตรไทย และเข้าใจว่าทีมงานแอพฯ ต้องเซอร์ไพรส์กับวิธีใช้แบบนี้เหมือนกัน ประทับใจ
– เล่าให้ฟังอีกนิดนึง มีอีกห้องที่ชอบคือห้อง ‘จะเล่นกีตาร์คลอๆ ไปจนกว่าน้องอิงค์-วรันธร (เปานิล) เข้าห้องมาบอกฝันดี’
– สรุปน้องอิงค์มาจริง!! บอกฝันดีจริง!! ประทับใจ
– เห็นได้ว่าช่วงนี้ Clubhouse ทำให้แฟนๆ และศิลปิน หรือ public figure ใกล้ชิดกันอย่างมากทีเดียว และในท่าทีที่กันเองมากๆ
– ล่าสุดแบรนด์และมีเดียเริ่มเข้ามาเยอะจริงๆ ทำแบรนดิ้งกันอย่างชัดเจน ทำมาร์เก็ตติ้งในช่วง early adopter กันอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางห้องคุยที่เยอะมากๆ จนไถหน้า home ไม่เจอจุดจบ
– ก็ต้องดูว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ช่วงปกติกันเมื่อไหร่ เพราะช่วงนี้คือฟองสบู่จริงๆ
– ผู้เขียนคาดเดาว่าอีกสัก 1-2 สัปดาห์ ความบับเบิ้ลจะเริ่มซาลง และจะเห็นพฤติกรรมการใช้ Clubhouse แบบชีวิตจริงมากขึ้น อดนอนกันน้อยลง มีเวลาการใช้ที่ชัดเจนขึ้น
– และในฐานะที่ผู้เขียนทำงานด้านพอดแคสต์ อยู่ที่สถานี Salmon Podcast หลังจากสังเกตการใช้งานมาได้ 10 วัน ค่อนข้างมั่นใจว่า Clubhouse ไม่ทับไลน์กับพอดแคสต์ แต่ค่อนข้างทับกับวิทยุมากกว่า ด้วยธรรมชาติแพล็ตฟอร์มที่ต้องฟังเดี๋ยวนั้น ย้อนมาฟังไม่ได้ ต่อม FOMO กระดิกตลอดเวลา (Fear of Missing Out หรืออาการกลัวพลาด) แต่พอดแคสต์ก็จะยังได้รับความสนใจอยู่ เมื่อคนเริ่มหายเห่อ CH เพราะเป็นคอนเทนต์ evergreen ที่จัดเวลาฟังของเราเองได้ และยังมีการ curate ทั้งเนื้อหาและผ่าน process ด้านเสียงมาอย่างดี
– แต่ก็เป็น Challenge หนึ่งของชาวพอดแคสต์เหมือนกัน เพราะหากช่องใดหรือสถานีใด จัดการคุณภาพเสียง หรือเนื้อหาได้ไม่แตกต่างจากการฟัง Clubhouse มากนัก ก็อาจเสียผู้ฟังให้ Clubhouse หรือพอดแคสต์ช่องอื่นๆ ที่สร้างความแตกต่างจากการฟัง Clubhouse ได้
ทั้งหมดนี้เป็นการสังเกตแพลตฟอร์ม Clubhouse ในฐานะของคนทำคอนเทนต์ด้านเสียงอย่างพอดแคสต์ แต่ในที่สุดแล้ว คาดว่า Clubhouse จะสร้างพื้นที่ในสังคมโซเชียลของไทยได้อย่างถาวร แต่จะอยู่ในชีวิตของผู้สร้างและเสพคอนเทนต์อย่างไม่หนักหน่วงเท่าทุกวันนี้ ที่เหมือนเป็นช่วงเวลา ‘เห่อ’ ของใหม่อยู่
ส่วนชาวแอนดรอยด์ก็ไม่ต้องน้อยใจไป เพราะล่าสุด co-founder ของแอพฯ ออกมาคอนเฟิร์มในห้อง Townhall ภายใน Clubhouse ว่ากำลังระดมสรรพกำลังมาพัฒนาเวอร์ชั่นแอนดรอยด์อยู่
ผู้เขียนคิดว่าความ ‘เห่อ’ wave ต่อไปของ Clubhouse จะมาก็ตอนชาวแอนดรอยด์เข้ามานี่แหละ และจะสร้างคอนเทนต์ใหม่ๆ ที่หลากหลายกว่านี้ได้อีก รอดูเลย