เริ่มแสดงตัวออกมาเรื่อยๆ แล้วว่า ใครจะได้เป็น ส.ว.แต่งตั้งกันบ้าง ส่วนใหญ่ก็คนหน้าเดิมทั้งนั้น คำถามก็คือตำแหน่งนี้มีความสำคัญอย่างไร เหตุใด คสช.ถึงตั้งแต่คนใกล้ชิดให้เข้ามาเป็น
เท้าความก่อนว่า เดิม ส.ว.ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จะมาจากการคัดเลือกในกลุ่มอาชีพต่างๆ และมีจำนวนเพียง 200 คน แต่ คสช.เป็นผู้เสนอให้มาจากการแต่งตั้งและเพิ่มจำนวนเป็น 250 คน
ต่อมา คสช.ก็แก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เพิ่มเติมคำถามพ่วงประชามติได้ โดยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่างเห็นชอบคำถามพ่วงยาว ภ4 บรรทัด แต่มีใจความสรุปสั้นๆ ว่า ‘ให้ ส.ว.แต่งตั้งร่วมเลือกนายกฯ ได้’
ในการทำประชามติ ซึ่งมีการจับกุมผู้ออกมารณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจำนวนมาก ทั้งตัวร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงก็ผ่านความเห็นชอบจากผู้มาออกเสียงไปอย่างท่วมท้น
สำหรับ ส.ว.ชุดที่ใกล้คลอดนี้จะมาจาก 3 แหล่งด้วยกัน
1.) ปลัดกลาโหม ผบ.ทหารสูงสุด ผบ.ทหารบก ผบ.ทหารเรือ ผบ.ทหารอากาศ และ ผบ.ตำรวจ
2.) ตัวแทนกลุ่มอาชีพซึ่ง คสช.เลือกให้เหลือ 50 คน
3.) คนซึ่ง คสช.คัดเลือกมาล้วนๆ อีก 194 คน
สำหรับอำนาจหน้าที่ของ ส.ว.ชุด คสช.ตั้งแต่ นอกจากจะร่วมเลือกนายกฯ กับ ส.ส.ได้ถึง 5 ปีแล้ว ยังจะมีอำนาจอื่นๆ ดังต่อไปนี้
– เปิดช่องให้มีการเลือกนายกฯ คนนอก (เพราะต้องใช้เสียง ส.ส.และ ส.ว. 500 คน จากทั้งหมด 750 คน)
– ตรวจสอบว่ารัฐบาลได้ทำตามแผนปฏิรูปประเทศหรือไม่ ทุก 3 เดือน
– อนุญาตว่าจะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ (เพราะต้องใช้เสียง ส.ว.มาร่วมด้วย เพราะต้องใช้เสียงร่วมกันของรัฐสภา 376 คนขึ้นไป จากทั้งหมด 750 คน)
– พิจารณางบประมาณและร่าง พ.ร.บ.
ฯลฯ
สำหรับรายชื่อว่าที่ ส.ว.แต่งตั้ง ถึงปัจจุบันแล้ว มีอาทิ
อดีตรัฐมนตรี จำนวน 15 คน
- พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ยุติธรรม
- พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี
- สุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
- พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน
- นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ
- พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ
- อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ
- วีระศักดิ์ ฟูตระกูล รมช.ต่างประเทศ
- วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา
- ลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรฯ
- สมชาย หาญหิรัญ รมช.อุตสาหกรรม
- สุธี มากบุญ รมช.มหาดไทย
- พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
- วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง
สมาชิก สนช.ที่เตรียมยื่นใบลาออก อาทิ คำนูณ สิทธิสมาน, พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์, พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช., สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย, สมชาย แสวงการ, กล้านรงค์ จันทิก, ตวง อันทะไชย, นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์
และล่าสุด พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
สำหรับค่าตอบแทนรายเดือนของประธาน ส.ว. จะอยู่ที่ 125,590 บาท รองประธาน ส.ว. (2 คน) 115,740 บาท และ ส.ว. (247 คน) 113,560 บาท
รวมกันทั้ง 5 ปี ประชาชนจะต้องเสียเงินภาษีเป็นเงินเดือนให้กับ ส.ว.ทั้งหมด อยู่ที่ 1,704.38 พันล้านบาท โดยยังไม่รวมเบี้ยประชุมคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ และสิทธิประโยชน์อื่นๆ