หากใครเข้าร่วมการชุมนุม ‘ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ’ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา ก็อาจสะดุดตากับขวดแก้วที่วางเรียงรายบนพื้น ไม่ใกล้ไม่ไกลจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งขวดแก้วเหล่านี้ หากดูด้วยตาเปล่าก็คงคาดเดาได้ว่าบรรจุของเหลวอะไรไว้ แต่โลโก้และลวดลายกราฟิกที่ปรากฏดูจะแปลกตาไปหน่อย ไม่เหมือนกับที่เห็นบ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน
นั่นก็เพราะสินค้าเหล่านี้ ไม่ได้รับอนุญาตให้วางจำหน่ายอย่างอิสระ ด้วยความที่ว่ามันเป็น ‘คราฟต์เบียร์’ (Craft Beer)
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถือเป็นของที่อยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นเบียร์ เหล้า ไวน์ หรือค็อกเทล แต่เวลาเดินตามห้างสรรพสินค้า หรือสังสรรค์ที่ร้านอาหาร ส่วนใหญ่เราจะเห็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อยักษ์ใหญ่ที่คุ้นหน้า คุ้นตา คุ้นรสชาติกันดี และน้อยครั้งที่เราจะเห็นคราฟต์เบียร์หรือ ‘เบียร์โฮมเมด’ ที่มีหน้าตาแปลกประหลาด แต่ซ่อนรสชาติอันมีเอกลักษณ์เอาไว้ จากการหยิบจับเอาส่วนผสมที่หลากหลายไม่ซ้ำกันเข้ามาประกอบ
หลายคนอาจจะสงสัย แล้วคราฟต์เบียร์เกี่ยวข้องอะไรกับการเรียกร้องประชาธิปไตยล่ะ? อย่างแรกเลยต้องเกริ่นก่อนว่า ทุกวันนี้ หากใครต้องการผลิตสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขายเองเป็นเรื่องที่ย่อมทำได้ แต่! จำเป็นจะต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ.2560 ระบุไว้ ดังนี้
1.เป็นโรงงานผลิตเบียร์ขนาดใหญ่ (macro-brewery) ที่มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท มีกำลังผลิตไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตร/ปี
2.เป็นบรูผับ (Brewpub) หรือไมโครบรูเออร์รี (micro-brewery) ซึ่งผลิตเบียร์ขายเฉพาะในร้าน ห้ามบรรจุขวดขาย โดยจะต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท มีกำลังผลิตไม่ต่ำกว่า 1 แสนลิตร/ปี แต่ไม่เกิน 1 ล้านลิตร/ปี
อย่างไรก็ตาม แม้กฎกระทรวงจะกำหนดให้มีทั้ง macro และ micro แต่ทุนจดทะเบียนและกำลังการผลิตดังกล่าว ก็เกินกว่ากำลังของธุรกิจประเภทโฮมบรู (Home-brew) อยู่ดี จึงเป็นที่มาของการกีดกันผู้ประกอบการรายย่อย ออกจากการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยสมบูรณ์แบบ
นอกจากข้อจำกัดในการผลิต ผู้ประกอบการรายย่อยยังต้องเผชิญกับกฎหมายควบคุมการโฆษณาอย่าง พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 32 ที่ไม่อนุญาตให้โฆษณา หรืออวดอ้างสรรพคุณในสินค้าที่ตนผลิตได้ โดยกฎหมายนี้มีพื้นฐานความคิดที่ว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถือเป็นสิ่งผิดศีลธรรมในเมืองพุทธ ดังนั้น หากมีการฝ่าฝืน ผู้นั้นจะถูกปรับตั้งแต่ 50,000 ไปจนถึง 500,000 บาท
การวางขวดคราฟต์เบียร์โดยมีพื้นหลังเป็นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในครั้งนี้ จึงถือเป็นการแสดงออกเชิงสัญญะ ว่าด้วยการเรียกร้องสิทธิในการผลิตและโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเสรี โดยที่ผ่านมา สมาคมผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ในประเทศไทยต่างก็ออกมาต่อสู้กับกฎหมายนี้อยู่หลายครั้ง ทั้งจัดงานเสวนาและเปิดลงชื่อแก้ไขพ.ร.บ. แต่ก็ยังไม่เป็นผล ซ้ำยังมีผู้ที่ได้รับความเสียหายจากกฎหมายที่มีความกำกวมนี้เป็นจำนวนมาก
ตัวแทนจากกลุ่ม ‘ประชาชนเบียร์’ หรือกลุ่มผลิตคราฟต์เบียร์ในประเทศไทย ผู้จัดวางขวดคราฟต์เบียร์ในงานชุมนุมขีดเส้นตายไล่เผด็จการ กล่าวว่า การแสดงออกเชิงสัญญะครั้งนี้ อยากให้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม และยังกดทับผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยอยู่ อีกทั้งในส่วนของผู้บริโภคเอง ก็ได้รับผลกระทบจากกฎหมายด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะมาตรา 32 ได้ปิดกั้นการโฆษณาไม่พอ ยังมีการตีความที่กำกวม ซึ่งสามารถนำไปใช้จับหรือปรับใครก็ได้ในสังคม แม้กระทั่งคนที่ลงรูปรีวิวเบียร์ในเฟซบุ๊กเฉยๆ ก็ตาม
“อยากให้ทุกคนมีเสรีภาพทางความคิด มีอิสระในการพูดว่าเบียร์ตัวไหนรสชาติดีหรือไม่ดี ไม่ว่าจะผ่านโซเชียลมีเดียหรือช่องทางไหนก็ตาม และหากกฎหมายเปิดกว้างมากขึ้น ก็อยากให้ทุกจังหวัดมีการผลิตคราฟต์เบียร์เป็นของตัวเอง เพื่อสร้างความหลากหลายในการบริโภค” ตัวแทนจากกลุ่มประชาชนเบียร์กล่าว