“คนไทยถ้าตั้งใจทำอะไร ไม่แพ้ชาติใดในโลก”
คำกล่าวด้านบนนี้เป็นจริงเสมอ เพราะไม่ว่าจะเป็นเวทีอะไร หรือวงการไหน เราก็มักจะเห็นคนไทยเชิดหน้าชูตาอยู่บนนั้น ทั้งกีฬา การศึกษา ศิลปะ การออกแบบ และอีกมากมาย ซึ่งก็ได้นำชื่อเสียงมาให้ประเทศ รวมถึงเป็นใบเบิกทางให้ใครอีกหลายคนมุ่งหน้าทำตามความฝัน
แต่เหมือนคนไทยจะเก่งกันหลายด้านเหลือเกินจนรัฐไทยเริ่มเบื่อ เริ่มไม่อยากได้ชื่อเสียงอีกต่อไป จึงออกกฎหมาย ‘ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์’ ขึ้นมา ทำให้ผู้ผลิตสุรา เบียร์ ไวน์ และค็อกเทลในประเทศไทยถูกปิดกั้น ไม่ใช่แค่การผลิต แต่ยังรวมถึงการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ซึ่งทำให้เราต้องไปคว้ารางวัลในฐานะประเทศอื่น (ซะงั้น)
อย่างล่าสุด ‘ศิวิไลซ์’ (Beer Sivilai) คราฟต์เบียร์ไทยจากเครือมหานคร (Mahanakhon) ที่มีผู้ก่อตั้งคือ โทนี่ ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้เพิ่งได้รับรางวัลเหรียญเงินจากเวที World Beer Awards 2020 แต่ดูยังไง้ ยังไง ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นเบียร์จากประเทศไทย เพราะแค่ที่ตั้งโรงงานก็ไปอยู่ที่ประเทศเวียดนามแล้ว อ้าว แล้วแบบนี้จะขึ้นรับรางวัลในฐานะประเทศไทยได้มั้ยนะ?
“เราทำได้แล้ว! เรานำเกียรติภูมิมาให้ประเทศ…แต่เดี๋ยวนะ ใครก็ได้อธิบายทีว่าทำไมรางวัลนี้เป็นของประเทศเวียดนาม เราสาบานได้ว่าเรามาจากประเทศไทย (หัวเราะ)”
และนี่คือสิ่งที่โทนี่โพสต์ลงเพจหลังจากได้รางวัล ซึ่งก็ได้สร้างความเจ็บใจให้กับใครหลายๆ คน ด้วยความอยากรู้ว่าที่มาที่ไปเป็นอย่างไร The MATTER จึงทักไปถามหลังไมค์ทันที
จุดเริ่มต้นของคราฟต์เบียร์สัญชาติไทย ‘มหานคร’ เกิดจากความชอบในการดื่มเบียร์ที่มากกกกก ของโทนี่ ที่เผอิญไม่สอดคล้องกับความหลากหลายของเบียร์ที่มีอยู่ในตลาดประเทศไทย ซึ่งที่เห็นวางขายตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วไป ก็มักจะมีแต่เบียร์เจ้าใหญ่ๆ ที่เหลือก็เป็นเบียร์นำเข้าจากต่างประเทศ เขาจึงเริ่มหันมาสนใจผลิตเบียร์ดื่มเอง โดยเสิร์ชหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต แล้วก็ได้พบกับ วิชิต ซ้ายเกล้า เจ้าของกิจการคราฟต์เบียร์ชื่อดัง CHIT BEER และเรียนรู้วิธีการต้มเบียร์จากวิชิตตั้งแต่นั้นมา
“สมัยเริ่มทำเบียร์ ผมไม่ทราบมาก่อนว่า Homebrew (การต้มเบียร์) ผิดกฎหมายในประเทศไทย เพราะผมเรียนอยู่ต่างประเทศมานานหลายปี เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดามาก มีร้านขายอุปกรณ์ต้มเบียร์อยู่ทั่วไป มีเบียร์มากมายให้ได้ลิ้มลอง สามารถโฆษณาได้อย่างเต็มที่ พอรู้ว่าที่ไทยผิดกฎหมายก็งงพอสมควร เพราะมันไม่เมคเซนส์ และพอมาเจอสถานการณ์ปัจจุบันก็ยิ่งงงไปกันใหญ่ ที่กฎหมายรังแกประชาชนมากเกินไป ต่างชาติเขาก็งงกันหมด เหมือนเอาคนไม่มีความรู้มาเขียนกฎหมาย ทุกอย่างมีทางแก้ แต่เลือกที่จะใช้วิธีห้าม และใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่”
หลังจากโทนี่พัฒนาสูตรเบียร์เป็นของตัวเอง ก็ได้ความช่วยเหลือจาก อาวี่ หุ้นส่วนชาวอเมริกา (อดีตหนึ่งในหุ้นส่วนของร้านคราฟต์เบียร์ LET THE BOY DIE) จนสามารถก่อตั้ง Mahanakhon Thai Craft Beer ขึ้นมาได้ โดยจุดเด่นคือการเน้นไปที่คราฟต์เบียร์ประเภท Ale เป็นหลัก แต่เนื่องจากเบียร์ประเภทนี้แตกออกได้หลายแขนง และตลาดคราฟต์เบียร์เมืองไทยไม่เหมือนที่อื่น ถ้าผลิตออกมาหลายๆ ตัว ก็กลัวว่าคนดื่มจะสับสน โทนี่เลยมุ่งเน้นทำ White Ale ให้กลายเป็นซิกเนเจอร์ของแบรนด์ไปเลย
“ผมว่ามันเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง โดยการใช้วัตถุดิบท้องถิ่นมาปรุง ผมเคยทำเบียร์ประเภท Stout จากการนำกาบมะพร้าวมาเผาไฟเพื่อให้เป็นสีดำ ทำเหมือนขนมเปียกปูน เบียร์ประเภท White Ale ผมก็ใช้ส้มเขียวหวานไทย ส่วนเบียร์ประเภท Amber ผมก็ใช้ข้าวกล้องมาทำ Amber อีกตัวก็ใช้ชาแดง”
แต่ความสร้างสรรค์อาจไม่พอเพียงต่อการประกอบกิจการ หากกฎหมายไม่เป็นใจให้ผู้ผลิตรายย่อยต้มเบียร์ได้อย่างอิสระ ซึ่งในปัจจุบันกฎฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ.2560 ระบุไว้ว่า Homebrew จะต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท และมีกำลังผลิตไม่ต่ำกว่า 1 แสนลิตรต่อปี ทำให้ผู้ประกอบการเหล่านั้นต้องออกไปผลิตที่ประเทศอื่น แล้วส่งกลับเข้ามาขายที่ประเทศไทยอีกที เนื่องจากไม่มีกำลังทรัพย์และกำลังผลิตที่เพียงพอ
“มันมีสูตรพิเศษแปลกๆ อีกมากมาย ที่นำผลไม้ไทยมาปรุงก็เยอะ แต่เพราะข้อจำกัดทางกฎหมาย ผมเลยไม่สามารถผลิตในประเทศไทยได้ ต้องไปผลิตที่ต่างประเทศ”
“จริงๆ ของไทยดีๆ มีอีกเยอะ อาหารไทยเราก็อร่อยมาก
แต่กลับทำเบียร์ไม่ได้ และต้องเจอกับการกำหนดขั้นต่ำในการผลิตที่สูงเกินไป”
หมายเหตุ : เอล (Ale) คือเบียร์ที่มีรสชาติแรงและขมกว่าเบียร์ลาเกอร์ (Lager) ที่หลายคนดื่มกันประจำ โดยมีดีกรีอยู่ที่ 5.5-6.5% ส่วนไวท์เอล (White Ale) คือ Wheat Beer ชนิดหนึ่งที่มีรสชาติของเปลือกส้มและผักชี และมีความขมไม่มาก
แม้จะมีข้อจำกัดทางด้านกฎหมาย แต่โทนี่ก็ประสบความสำเร็จขึ้นไปอีกขั้น ด้วยเบียร์ลาเกอร์ในเครือเดียวกันอย่าง ‘ศิวิไลซ์’ ที่ภายหลังแยกตัวออกมาเป็นแบรนด์ของตัวเอง และไปคว้ารางวัลเหรียญเงินของเวที World Beer Awards 2020 มาได้ แต่ที่ตลกร้ายนั่นก็คือ ศิวิไลซ์ได้รับรางวัลในฐานะเบียร์จาก ‘เวียดนาม’ ไม่ใช่ Product of Thailand เนื่องจากเวทีประกวดอิงจากที่ตั้งของโรงงานผลิตเบียร์นั่นเอง
“รางวัลที่ได้มาล่าสุดคือ เหรียญเงินครับ ส่งไปประกวดที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเวียดนามเองก็น่าจะส่งไปกันเยอะ เพราะเป็นเมืองเบียร์ มีเบียร์หลายแบรนด์มาก ที่ไม่ใช่คราฟต์ก็ไม่รู้กี่สิบกี่ร้อยแบรนด์ และเปิดเสรีอย่างแท้จริง ถือว่าผมก็ได้ไปแข่งขันกับผู้ผลิตอื่นๆ จากเวียดนามหลายเจ้า แต่ก็ไม่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็น Product of Thailand อยู่ดี หรือรางวัลอื่นๆ ที่เคยได้ ก็ยกเครดิตให้ไต้หวันและเวียดนามทั้งหมดเหมือนกัน”
และนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะที่ผ่านมาทั้งค็อกเทลและไวน์ไทยก็ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไม่ใช่น้อยๆ ทั้งในเวทีระดับเอเชียและระดับโลก แต่ถึงอย่างนั้นกฎหมายก็ยังมองคงว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เหล่านี้เป็นสิ่งชั่วร้าย ที่จำเป็นจะต้องควบคุมให้อยู่ภายใต้ข้อกำหนดที่กดขี่ แต่ดันเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่แต่เพียงฝ่ายเดียว
แต่รัฐไทยลืมมองว่า ถ้าวันหนึ่งเราเปิดเสรีด้านการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่ผู้ประกอบการเท่านั้นที่จะได้รับผลประโยชน์ หรือผู้บริโภคที่จะได้ลิ้มลองเบียร์รสชาติใหม่ๆ แต่เศรษฐกิจของไทยจะสามารถขยับขยายไปได้ไกลเช่นกัน จากการจ้างงาน การแข่งขันระหว่างประเทศ และการแสดงออกด้านความคิด ที่นอกจากจะเห็นว่ารสชาติเบียร์มีความหลากหลายแล้ว ลวดลายกราฟิกบนขวดยังมีความแปลกตา อันเนื่องมาจากความสร้างสรรค์ของศิลปินมากความสามารถอีกหลายคนด้วย
“ประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางอาเซียนและมีศักยภาพในการผลิตที่ดีมาก ถ้ารัฐเปิดเสรีก็จะเกิดการลงทุน ทั้งคนไทย ทั้งต่างชาติ จะมีการจ้างงานที่มากขึ้น ผลิตมากขึ้น รัฐก็จะเก็บภาษีไปบริหารประเทศได้มากขึ้นเช่นกัน และเมื่อมีการแข่งขันก็จะเกิดการพัฒนา อันนี้เป็นสิ่งที่ดีกับทุกคน อีกทั้งประชาชนคนไทยและชาวโลกก็จะมีตัวเลือกในการดื่มมากขึ้น เพราะเบียร์มันเป็นเครื่องดื่มสากล”
สุดท้าย โทนี่มองว่าเพดานในการต่อสู้ไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ จึงฝากถึงผู้ประกอบการรายย่อยที่กำลังได้รับผลกระทบให้ศึกษากฎหมายให้ดี และมุ่งมั่นที่จะทำต่อไป เพราะถ้าทำต่อไป ยังไงก็มีโอกาสที่อนาคตกฎหมายจะต้องเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความเป็นอยู่กับมนุษย์ แต่ถ้าหยุดทำตอนนี้ ก็เท่ากับยอมแพ้ ซึ่งแพ้แล้วก็คือแพ้เลย