“พร้อมรับมือทุกความเจ็บป่วย … สบายใจเรื่องค่ารักษา … ได้รับการดูแลที่ดีที่สุด”
หลากวลีขายประกันสุขภาพ ที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ภาพที่ทำให้เห็นนั้นช่างดูสวยงาม และมันคงจะดีไม่น้อยหากในวันที่เจ็บป่วยมีประกันเหล่านี้มารองรับ เพียงจ่ายเบี้ยเดือนละหลักพัน แต่มีค่ารักษาหลักล้านมารองรับ แถมเข้าใช้โรงพยาบาลเอกชนได้เลยโดยไม่ต้องรอคิวนาน
แต่เคยคิดหรือเปล่าว่า เอ๊ะ! ในเมื่อการได้รับการดูแลเรื่องสุขภาพน่าจะเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์แท้ๆ แล้วทำไมเราจะต้องจ่ายเงินซื้อประกัน เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างสะดวกด้วยล่ะเนี่ย?
เพื่อไขข้อข้องใจ ว่ามีแต่คนไทยหรือเปล่าที่ต้องจ่ายเงินซื้อความมั่นใจในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพ The MATTER ชวนไปสำรวจระบบสาธารณสุขในต่างประเทศ และความรู้สึกของเหล่าคนไทยที่ย้ายไปใช้ชีวิตในต่างประเทศกัน
สวัสดิการสุขภาพคนไทย มีอะไรบ้าง ทำไมคนถึงยังต้องซื้อประกัน?
แม้จะไม่ได้ซื้อประกันสุขภาพใดๆ เลย ประชาชนชาวไทยก็ยังมีสิทธิสวัสดิการในการเข้าถึงระบบสุขภาพได้ ได้แก่ บัตรทอง (บัตร 30 บาท – สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ
บัตรทอง เป็นสิทธิที่ทุกคนสามารถมีได้หากไม่มีสวัสดิการอื่นของรัฐ (ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ) ใช้ได้เลยโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ใช้ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง และไม่มีวงเงิน เพียงลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการหรือสถานพยาบาลประจำตัวแล้วใช้สิทธิได้ทันทีโดยใช้บัตรประชาชนใบเดียว
ถ้าหากเจ็บป่วยต่างพื้นที่ ก็สามารถเข้าสถานพยาบาลปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ และกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติถึงแก่ชีวิตสา สามารถเข้าสถานพยาบาลรัฐและเอกชนที่อยู่ใกล้ที่สุดได้ทันที ทั้งนี้ จะไม่มีเงินชดเชยว่างงาน เกษียณ หรือกรณีเสียชีวิต เหมือนกับประกันสังคม
สำหรับประกันสังคม จะต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนทุกเดือน ตามเงื่อนไขจึงจะสามารถใช้สิทธิได้ ใช้ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ไม่มีวงเงิน และไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมถึงกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกกฤติ สามารถเข้าสถานพยาบาลรัฐและเอกชนที่อยู่ใกล้ที่สุดได้เช่นกัน รวมถึงได้รับเงินชดเชยว่างงาน เกษียณ หรือเสียชีวิต
แต่แม้ว่าจะมีสิทธิเหล่านี้ให้เลือกใช้ได้ในราคาถูก กลับมีเสียงสะท้อนถึงระบบการจัดการที่ทำให้เข้าถึงบริการทางสุขภาพได้อย่างไม่สะดวกนักอยู่เรื่อยๆ
อลิซ (นามสมมติ) หญิงไทยวัย 26 ปี เล่าว่า “เราเคยประสบอุบัติเหตุแล้วใช้สิทธิ 30 บาท แต่การดำเนินการมันช้ามากๆ นอกจากนั้นคุณภาพก็ไม่เท่ากัน เช่น วัคซีนที่ได้ฉีดเป็นคนละเกรดกับเวลาจ่ายเองหรือใช้ประกัน” และนอกจากเรื่องค่ารักษาโดยตรง อลิซยังระบุถึงเงินชดเชยที่จะได้รับจากการต้องลางานและเสียรายได้ หรือหากเป็นไปอะไรไปจากอุบัติเหตุ ครอบครัวก็จะได้รับเงินก้อนด้วย
อลิซ จึงตัดสินใจเริ่มต้นทำประกันอุบัติเหตุ และกำลังจะพิจารณาทำประกันสุขภาพเพิ่มเติม โดยให้เหตุผลหลักว่า “เราอยากพึ่งตัวเองด้วย เวลาเราป่วย มันมีทั้งภาระค่ารักษา และภาระอื่นๆ เราไม่อยากไปเป็นภาระใคร”
เช่นเดียวกันกับฟูจิ (นามสมมติ) ชายไทยวัย 29 ปี ที่ระบุว่า เหตุผลหลักที่เขาตัดสินใจเริ่มทำประกัน คือป้องกันความเสี่ยงเรื่องสุขภาพ ประกอบกับการได้นำเบี้ยประกันไปลดหย่อนภาษี
ในอดีต ฟูจิเคยใช้สิทธิบัตรทองมาก่อน โดยได้ใช้สิทธิในโรงพยาบาลใหญ่ แต่เมื่อเริ่มทำงานและเข้าสู่ระบบประกันสังคม โรงพยาบาลที่ได้รับสิทธิกลับเป็นโรงพยาบาลที่อาจไม่สะดวกมากนัก รวมถึงเวลาป่วยยังต้องรอคิวนาน ฟูจิจึงนิยามตนเองว่าเป็นคนที่ ‘มีกำลังซื้อ’ และต้องการ ‘ซื้อความสะดวก’ ให้กับชีวิต จึงตัดสินใจทำประกันสุขภาพ
“ถ้าเจ็บป่วย ก็ไม่อยากขอให้ใครมาช่วย” ฟูจิกล่าว
จากคำตอบของอลิซ ฟูจิ ประกับกับการสำรวจความคิดเห็น เราจะพบได้ว่า ‘คนไทย’ ที่ยังอาศัยอยู่ในประเทศไทย ตัดสินใจทำประกันสุขภาพด้วยหลากหลายปัจจัย ได้แก่
- ค่ารักษาพยาบาลสูง : เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า ทำให้ค่ารักษาพยาบาลก็สูงยิ่งขึ้นตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรคที่มีความรุนแรงหรือซับซ้อน การทำประกันสุขภาพจึงจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ทำให้ไม่ต้องจ่ายเองทั้งหมดเมื่อเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา
- ความสะดวกสบาย รวดเร็ว : แม้จะมีสิทธิการรักษาซึ่งเป็นรัฐสวัสดิการอย่างบัตรทองและประกันสังคม แต่กลับต้องรอคิวนาน ทำให้ไม่ได้รับความสะดวกสบาย หรืออาจได้รับสิทธิในโรงพยาบาลที่มีขนาดเล็ก อุปกรณ์ไม่ครบครัน
- ต้องการความอุ่นใจ รองรับความเสี่ยง : หนึ่งในคำตอบที่ตรงกันของหลายๆ คน คือ “ไม่ต้องการเป็นภาระของใคร” การมีประกันสุขภาพจึงทำให้รู้สึกอุ่นใจว่าหากเกิดเจ็บป่วย ก็จะสามารถรักษาตัวและดูแลตัวเองได้
แล้วคนไทยที่อยู่ใน ‘ต่างประเทศ’ มีความเห็นที่ต่างออกไปหรือเปล่า?
“มันสะดวกมากๆ และบ้านเมืองทำให้รู้สึกปลอดภัย เราเลยไม่ได้ทำประกันอะไรที่ไทยไว้เลย เพราะรู้สึกวางใจ ถึงแม้จะอยู่ห่างบ้าน” เป็นคำตอบของ ยู (นามสมมติ) หญิงไทยวัย 22 ปี ที่ใช้ชีวิตในไต้หวันมานาน 3 ปีกล่าว
ยูอธิบายว่า ไต้หวันมีระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ (National Health Insurance – NHI) ซึ่งอาจจะเปรียบเทียบได้คล้ายๆ กับบัตรทองของไทย แต่เป็นแบบฉบับที่รัฐบาลบังคับให้ ‘ทุกคน’ ซึ่งหมายรวมถึงคนไต้หวัน และต่างชาติที่มีถิ่นพำนักในประเทศ จะต้องจ่ายค่า NHI เป็นรายปีเพื่อให้ได้รับสิทธินี้
โดยทุกคนจะได้รับบัตรที่เรียกว่า เจี้ยนเป๋าข่า (健保卡) เป็นบัตรที่จะสามารถนำไปเข้ารับบริการสุขภาพที่โรงพยาบาลหรือคลินิกใดก็ได้ทั่วประเทศ โดยจ่ายเงินประมาณ 200 บาท ก็จะสามารถเข้ารับการรักษาได้เกือบทุกอย่าง
เช่น ยูที่เป็นโรค PCOS (Polycystic Ovary Syndrome – ภาวะผิดปกติของฮอร์โมนในร่างกายผู้หญิง) ก็เคยใช้บัตรเจี้ยนเป๋าข่าเพื่อตรวจภายใน หรือจะไปผ่าฟันคุด ก็เสียค่าบริการเพียง 200 บาทต่อครั้ง
“การที่ระบบประกันฯ นี้ครอบคลุมถึงคนต่างชาติอย่างเรา ทำให้เราที่อยู่ที่นี่ได้อย่างมั่นใจ ว่าถึงจะเป็นอะไรไป มีปัญหาสุขภาพฉุกเฉิน หรืออยากตรวจร่างกายประจำปี ค่าใช้จ่ายก็จะไม่บานปลายแน่ๆ และจะตรวจทีนึงก็สะดวกมากๆ แค่ยื่นบัตรให้เขา ก็จะมีข้อมูลส่วนตัวพร้อมประวัติการรักษาในคลินิกขึ้นมาเลย” ยูกล่าว
สำหรับชมพู (นามสมมติ) หญิงไทยวัย 30 ปี ที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นด้วยวีซ่านักเรียน ให้ข้อมูลว่า ภาครัฐจะให้ทำประกันสุขภาพแห่งชาติเช่นกัน โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณ 380 บาท/เดือน โดยชมพูเคยเข้ารับการรักษาที่คลินิก โดยจ่ายเงินแค่ 30% ของค่ารักษาเท่านั้น และยังได้รับการรักษาที่รวดเร็ว
เมื่อเปรียบเทียบกับขณะที่อยู่ไทย ชมพูระบุว่า ขณะอยู่ญี่ปุ่นจะไม่ค่อยมีความกังวลด้านค่าใช้จ่าย หรือความกังวลที่ว่าหากไปรับการรักษาแล้วประกันฯ อาจไม่จ่ายหรือจ่ายไม่ครบ แต่ในด้านคุณภาพของการรักษา มีความมั่นใจในระดับที่ไม่ต่างกัน
หันมาดูที่ประเทศในฝั่งยุโรปกันบ้าง โดยประเทศหนึ่งที่มีคนไทยย้ายไปอาศัยอยู่จำนวนไม่น้อยอย่างออสเตรเลีย ก็มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลเช่นกัน โดยเรียกว่า ‘Medicare’
Medicare จะครอบคลุมการรักษาในโรงพยาบาลรัฐ และรับการตรวจรักษาจากแพทย์ทั่วไป (GP) ซึ่งใช้บริการได้ทั้งพลเมืองออสเตรเลีย ผู้พำนักถาวร และผู้ถือวีซ่าบางประเภท เช่น วีซ่านักเรียน แต่ก็จะมีเงื่อนไขบางอย่าง เช่น บังคับว่าจะต้องทำประกัน Overseas Students Health Cover เพิ่มเติมด้วย
ในขณะที่ในประเทศที่มีคนไทยไปอาศัยอยู่จำนวนไม่น้อยเช่นกันอย่างสหรัฐอเมริกา ผู้ที่ให้ข้อมูลบอกตรงกันว่ามีการทำประกันสุขภาพ เพราะ ‘ค่ารักษาแพง’ รวมถึงทำให้พบหมอได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น “ถ้าไม่มีประกัน ชีวิตลำบากแน่นอน” หญิงไทยคนหนึ่งในอเมริกากล่าว
แม้หลายเสียงของคนไทยในต่างประเทศ (บางประเทศ) ที่เป็นประเทศที่มีรัฐสวัสดิการที่ดี จะระบุว่า ค่อนข้างไว้วางใจในระบบประกันสุขภาพของรัฐ และอาจไม่ได้ทำประกันสุขภาพเพิ่มเติมด้วยตัวเอง แต่ก็ยังพบว่ามีคนไทยในต่างประเทศบางส่วน ที่แม้จะอยู่ในประเทศที่มีระบบประกันสุขภาพซึ่งเป็นรัฐสวัสดิการแล้ว ก็ยังคงซื้อประกันสุขภาพของเอกชนในประเทศนั้นๆ หรือซื้อประกันสุขภาพที่ไทยเก็บไว้
โดยให้เหตุผลว่ายังชอบการรักษาที่ไทยมากกว่าเพราะสื่อสารกันได้ชัดเจนหรือยังมีความสะดวกรวดเร็วกว่าในต่างประเทศ รวมถึงเพื่อจัดการความเสี่ยง และเพื่อให้อุ่นใจว่า หากเกิดเหตุฉุกเฉินทางสุขภาพขึ้นมา ก็จะมีประกันฯ มารองรับ
สวัสดิการเพื่อให้คนไทยเข้าถึงระบบสุขภาพ ควรเป็นอย่างไร?
แน่นอนว่าการเปรียบเทียบเพียงภาพของสวัสดิการที่ประเทศต่างๆ ทำอยู่ อาจไม่สามารถกล่าวอย่างตรงไปตรงมาได้ทันทีว่า สวัสดิการแบบไหนถึงจะเรียกได้ว่า ‘ดีที่สุด’ หรือ ‘เหมาะสมที่สุด’ สำหรับประเทศไทย เพราะยังมีบริบทและปัจจัยอีกมากที่ควรถูกนำมาพิจารณา
แต่เมื่อเห็นภาพเปรียบเทียบขึ้นมาบ้าง ก็ถือเป็นประเด็นที่น่าถกเถียงต่อไปว่า เป็นไปได้ไหม ที่จะพัฒนาสวัสดิการไทย เพื่อให้คนเข้าถึงบริการสุขภาพได้สะดวก รวดเร็วขึ้น จนอาจจะไม่ต้องขวนขวายทำประกันสุขภาพด้วยตัวเองอีกต่อไป…?
อลิซให้ความเห็นถึงภาพฝันรัฐสวัสดิการในระบบสุขภาพไทยว่า “จริงๆ เราคิดว่ามันอาจจะไม่ต้องมีประกันต่างๆ ไปเลยก็ได้ ถ้ารัฐให้การสนับสนุนได้อย่างดี หรือหากยังจำเป็นต้องมีระบบประกันอยู่ ก็ควรจะทำให้เข้าใจง่ายขึ้นกว่าปัจจุบัน และทำให้เบิกได้ง่ายจริงๆ เหมือนตอนที่มาเสนอขาย”
โดยอลิซยกตัวอย่างประสบการณ์ที่เคยพบ คือกรณีที่ญาติล้มจนเป็นเหตุให้เสียชีวิต โดยมีประกันอุบัติเหตุที่จ่ายเบี้ยประมาณ 2-3 หมื่นต่อปี และจ่ายมาต่อเนื่องกว่า 20 ปี เคลมว่าถ้าเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจะจ่ายทันที 3 ล้าน แต่สุดท้ายแม้จะมีผลชันสูตรออกมาว่าเสียเพราะล้มอุบัติเหตุจริงๆ ก็กลับไม่ได้รับเงินทันที โดยบริษัทประกันบอกปัดไปเรื่อยๆ จึงอยากให้รัฐเข้ามาตรวจสอบการทำงานของบริษัทประกัน ว่ามีความตรงไปตรงมา หรือหลอกลวงผู้บริโภคหรือเปล่า
เพราะนอกจากนั้น ยังมีกรณีอื่นๆ อีก เช่น คนออกมาบอกเล่าประสบการณ์ที่ตัวแทนประกันพูดรายละเอียดในตอนขายประกันไม่ชัดเจน และเมื่อทำประกันจริงๆ ก็ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ หรือมีเงื่อนไขมากมายที่ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ยากจนกลายเป็นเหมือนโดนหลอก
ในด้านของฟูจิก็เห็นด้วย โดยกล่าวว่า “เราจะจ่ายภาษีแพงขึ้นก็ได้ และทำให้มันเป็นรัฐสวัสดิการที่ดีกว่าในปัจจุบัน ถ้าภาษีเราถูกเอาไปใช้อย่างมีวิสัยทัศน์ เราก็จะอยากจ่ายมากขึ้น”
ทั้งนี้ ฟูจิเห็นว่ายังมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทับซ้อนกันอยู่ อย่างเรื่องความเหลื่อมล้ำที่ช่องว่างระหว่างชนชั้นในไทยมันห่างกันมาก ซึ่งถ้าหากช่องว่างนี้แคบลง ทุกคนมีงานทำ ได้รับค่าแรงที่สมเหตุสมผล คนก็อาจจะจ่ายภาษีได้มากขึ้น
“มันไม่ควรเป็นภาพที่ ใครไม่มีปัญญาซื้อ ก็ซื้อ ใครไม่มีปัญญาซื้อ ก็ต้องไปอาศัยรัฐสวัสดิการ”
ฟูจิกล่าว
ดังนั้น ภาพฝันของระบบสุขภาพไทย อาจเป็นการที่การเข้าถึงบริการ (ที่มีคุณภาพ และสะดวกรวดเร็ว) นั้นเป็นของทุกคนอย่างแท้จริง จนคนอาจไม่ต้องซื้อประกันสุขภาพของเอกชนอีกต่อไป แต่กว่าจะถึงตอนนั้น ก็ยังมีอีกหลากหลายปัญหาที่ภาครัฐควรจะเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขให้ทุกคนเท่าเทียมกันได้ก่อนนั่นเอง