ในการศึกษาด้านวรรณกรรม เรามีข้อเสนอที่ว่ามนุษย์เราใช้เรื่องเล่าในการสร้างและเชื่อมโยงตัวตนซึ่งกันและกัน ซึ่งในบางกรอบทฤษฎีอธิบายว่า เรื่องเล่าที่ดูซับซ้อนและเราฟังกันเมื่อโตขึ้นนั้นอาจจะมีรากฐานการเป็นเรื่องเล่า (narrative) ที่ไม่แตกต่างกัน
เปิดมาอย่างเป็นวิชาการ แต่อันที่จริงเรากำลังจะพูดถึงความเฟื่องฟูของการปลอมตัวมาเป็นยามของท่านประธานบริษัทข้อคิดชิดจันทร์ ประธานบริษัทสาวที่น่าจะทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ผู้ใช้เวลาว่างในการปลอมตัวและทดสอบจิตใจของผู้คน สำหรับใครที่ช่างสังเกตหน่อยก็อาจจะเริ่มจับสังเกตได้ว่า รูปแบบเรื่องเล่าละครสั้นบนจอมือถือนี้ อันที่จริงมันก็คือการใช้การเล่าเรื่องแบบนิทานที่เราคุ้นเคยกันในสมัยเด็กเลย
ละครคุณธรรม หรือเรื่องเล่าของ พลอย ชิดจันทร์ ก็จะประกอบขึ้นด้วยเส้นเรื่องที่เรียบง่าย ชัดเจน ตัวละครทั้งหลายเป็นประเภทตัวละครตัวแบน ตัวละครทุกตัวคือเล่นใหญ่ยิ่งกว่าละครเวทีสมัยโบราณที่มองจากยอดเขาโอลิมปัสก็รู้ว่าเป็นตัวละครชนิดไหน เราควรจะเกลียดตัวไหนดี และแน่นอนว่าในเรื่องจะมีคำสอนใจชนิดบอกกันตรงๆ ไปเลยว่าฉันกำลังสอนเธอเรื่องนี้อยู่นะ ชนิดที่ว่ากลัวไม่ชัดและผู้ชมไม่รับรู้ในทำนองนิทาน “เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า …”
ดังนั้น ละคร พลอย ชิดจันทร์ จึงเป็นตัวอย่างของความเป็นวรรณกรรม (ในความหมายกว้าง เรื่องเล่าใดๆ ก็เป็นวรรณกรรมประเภทหนึ่ง) ซึ่งการกลับมาของละครในรูปแบบนิทานสอนใจในเวอร์ชั่น TikTok ถ้าเรามองว่าเป็นเรื่องเล่าชุดหนึ่งที่ร่วมสมัย ได้รับความนิยม อะไรคือความหมายที่อยู่ภายใต้ความฮิตของนิทานสอนใจในยุคโซเชียล โดยในที่สุดแล้วแม้ว่าเวลาจะผ่านมาเป็นพันปี การกลับมาของการปลอมตัว การลงโทษ และการเผยความจริงนั้นก็อาจจะอยู่ในสูตรและบรรจุความคิดบางอย่างของสังคมในช่วงเวลานั้นๆ เอาไว้
ในโอกาสนี้เราจึงทดลองใช้กรอบความคิดด้านวรรณกรรมศึกษาเพื่อมาศึกษาละครของ คุณพลอย ชิดจันทร์ ในซีรีส์ข้อคิดชิดจันทร์โดยเริ่มตั้งแต่การนิยามประเภทวรรณกรรม และจากข้อสังเกตเบื้องต้นว่าละครของ พลอย ชิดจันทร์ นั้นน่าจะใช้รูปแบบเรื่องเล่าประเภทนิทาน เราจึงจะใช้ทฤษฎีด้านคติชนวิทยาที่เหมาะแก่การหารูปแบบชองเรื่องเล่าของวรรณกรรมนิทานในยุคสมัยและในชนชาติหนึ่งๆ ว่า สูตรละครร่วมสมัยของ พลอย ชิดจันทร์ นั้นน่าจะสามารถวิเคราะห์ได้ด้วยกรอบคิดเรื่องอนุภาค (motif) โดยจะใช้ตารางอนุภาคเรื่องเล่า (motif index) ของ สติท ทอมป์สัน (Stith Thompson) เพื่อทำความเข้าใจลำดับของเรื่อง
เมื่อวรรณกรรมยังต้องสอนใจ นิทานจึงไม่เคยหายไปจากสังคมไทย
ในการศึกษาวรรณกรรมแบบที่เบื้องต้นที่สุด ปกติแล้วเรามักจะมีการจำแนกแยกประเภท โครงสร้าง โครงเรื่องอะไรพวกนั้นกันก่อน หนึ่งในจุดเริ่มของการวิเคราะห์เรื่องเล่าหรือ fiction ซึ่งหมายความว่า การศึกษาเรื่องที่แต่งขึ้น เราก็จะเริ่มจากการระบุประเภทของวรรณกรรมนั้นๆ ก่อน ในประเภทวรรณกรรมหรือบันเทิงคดีที่มักถูกพูดถึงในยุคก่อนหน้าก็คืองานเขียนประเภทนิทาน หรือ fable ซึ่งเป็นรูปแบบเรื่องแต่งที่เก่าแก่และมีในแทบจะทุกวัฒนธรรม
เรื่องแต่งประเภทนิทาน แน่นอน นิทานอีสปเป็นตัวอย่างที่เราคุ้นเคย ซึ่งนิทานแบบ fable นั้นอาจจะเป็นคนละแนวกับนิทานแบบที่เราเรียกนิทานไทย พวกนิทานไทยจะเข้าทำนองเทพนิยายหรือ fairy tales มีเจ้าหญิงเจ้าชาย เรื่องมหัศจรรย์ ส่วนนิทานแบบอีสปนั้นจะมีลักษณะเป็นเรื่องเล่าสั้นๆ มักจะมีตัวละครเป็นสัตว์ พืช หรือสิ่งมหัศจรรย์ต่างๆ โดยหัวใจหลักของนิทานคือการสอนศีลธรรม (moral lesson) ดังนั้นนิทานส่วนใหญ่มักจะจบว่า “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า …” เป็นบทเรียนให้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้ฟังธรรมะธรรมโม
ด้วยความที่เป้าหมายหลักของการแต่งนิทาน แน่นอน นอกจากความบันเทิงแล้ว นิทานมีเป้าหมายในการสั่งสอนให้บทเรียนกับผู้ฟัง (นิทานในยุคแรกๆ หรือกระทั่งนิทานที่เราฟังก่อนนอนเป็นเรื่องที่เล่าต่อๆ กัน ส่งต่อด้วยการเล่าให้ฟังเป็นหลัก) ดังนั้น การใช้สัตว์หรือพืชในนิทานนั้น จริงๆ แล้วพวกมันก็ไม่ใช่สัตว์หรอก แต่สัตว์เหล่านั้นคือตัวแทนของความเป็นมนุษย์ในมิติต่างๆ เช่น คนขยัน คนขี้เกียจ คนคดโกง คนชั้นสูง คนสวย คนเห็นแก่ตัว เพื่อขับเน้นไปสู่ปลายทางของคำสอนให้ชัดเจน เข้าใจง่าย
ดังนั้น ในเบื้องต้น เราจะเห็นว่าละครของ พลอย ชิดจันทร์ ค่อนข้างเข้าลักษณะการเป็นเรื่องเล่าประเภทนิทาน แม้ว่าในเรื่องจะดูเป็นบริบทที่เกิดขึ้นในโลกแห่งความจริง ซึ่งแน่นอนว่าเราจะจับสังเกตความมหัศจรรย์ของละครทั้งเหตุการณ์พลิกผัน ความคิด บทพูด รวมไปถึงตัวละครที่ปรากฏโดยมีลักษณะนิสัยและการแสดงออกอย่างชัดเจนว่าเป็นตัวละครจำพวกไหน ไปจนถึงเรื่องราวมหัศจรรย์ของประธานบริษัทผู้มองเห็นความทุกข์ยาก การลงมาทดสอบจิตใจของปวงประชาใต้การบริบาลของตนแบบใกล้ชิด
ด้านหนึ่งนั้น ละครของ พลอย ชิดจันทร์ ก็ดูจะเป็นหนึ่งในสายธารเรื่องเล่าของบันเทิงคดีไทยที่สืบทอดลักษณะการเป็นเรื่องแต่ง โดยมีการสั่งสอนเป็นที่ตั้งดังที่ละครไทยมักเป็นมาโดยเสมอ ด้านหนึ่งนั้นอาจเกิดจากคำครหาเรื่องการเป็นบันเทิงคดีที่ไม่มีสาระแก่นสาร ละครของไทยจำนวนมากจึงมุ่งเน้นไปที่การนำเสนอหลักธรรมคำสอน จากละครยาวที่พยายามหนีความน้ำเน่าไปสู่การเทศนาสั่งสอนในตอนจบ ไปจนถึงละครชุดว่าด้วยบุญด้วยกรรมทั้งหลายซึ่งเป็นฐานคิดสำคัญของสังคม
อ่านในฐานะนิทาน ไขแบบเรื่องและความหมายของอนุภาคการปลอมตัว
เมื่อเรานิยามว่าละคร พลอย ชิดจันทร์ น่าจะเป็นเรื่องเล่าแบบนิทาน ด้วยความที่ละครและนิทานดั้งเดิมก็ดูจะใช้เครื่องมือในการเล่าที่ไม่เหมือนกันนัก ละครเล่าด้วยเรื่องแบบสมจริง(บ้างไม่สมจริงบ้าง) นิทานเล่าเรื่องเหนือจริง แต่ว่าในการศึกษานิทานเราก็มีเครื่องมือ โดยเฉพาะจากแขนงวิชาคติชนวิทยาที่เน้นศึกษาเรื่องเล่าแบบปากต่อปาก นิทานเก่าแก่ทั้งหลาย หนึ่งในคำถามของนักคติชนคือการหาสูตรเรื่อง หรือหาแบบเรื่องว่า เออ เรื่องเล่าทั้งหลายมันอาจจะมีระบบเรื่องที่เหมือนกันอยู่ แม้ว่าจะมาจากคนพื้นที่ คนละซีกโลก หรือคนละยุคสมัย
แนวคิดที่จะทดลองใช้กับละครคือกรอบคิดเรื่องอนุภาคหรือ motif แนวคิดเรื่องอนุภาคนี้เป็นส่วนหนึ่งของสำนักแบบโครงสร้างนิยม คือ เน้นศึกษาระบบบางอย่างแบบวิทยาศาสตร์หน่อย หาสูตรที่เป็นสากลเพื่ออธิบายเรื่องเล่าของมนุษย์ ทีนี้ แนวคิดเรื่องอนุภาค นำโดยนักคติชนสหรัฐชื่อ สติท ทอมป์สัน เป็นการเอานิทานออกมาแตกเป็นหน่วยเรื่องย่อยๆ (ค่อนข้างได้อิทธิพลการศึกษาจากทางภาษาศาสตร์) แล้วก็ทำการบันทึก จัดระบบหน่วยย่อยเหล่านั้นขึ้นเป็นดัชนีหรือ index เช่น ในนิทานฝรั่งอาจจะมีการดึงดาบเพื่อทดสอบ อินเดียมีการยกธนู ไทยมีการแข่งขัน ซึ่งพวกนี้ก็จะถูกสรุปเป็นอนุภาคเช่นการทดสอบ (trial) ซึ่งพอเราแตกอนุภาคออกมาแล้วเราก็จะเห็นทั้งระบบของเรื่องเล่า ไปจนถึงอาจเห็นความคิดบางอย่างใต้โครงสร้างนั้นๆ
ดัชนีอนุภาคของ สติท ทอมป์สัน ถือว่ามหัศจรรย์มาก คือ พี่แกรวบรวมแล้วจัดลงระบบออกมาเป็นดัชนีหกเล่ม ในดรรชนีจะแบ่งกลุ่มอนุภาคเป็น 22 กลุ่ม ไล่ตามลำดับตัวอักษร A–Z แต่ไม่มีตัว O และ Y เนื่องจากคล้ายเลข 0 และเลข 7 โดยในหัวข้อใหญ่ก็เช่น อนุภาครหัส A หมายถึงอนุภาคที่เกี่ยวกับปกรณัม (mythological motifs) B เป็นเรื่องสัตว์ (animal motifs) ไล่ไปถึงเรื่องเวทมนตร์หรือการทดสอบ โดยในแต่ละหมวดก็จะมีอนุภาคย่อยให้เราได้เทียบเคียง เช่น หมวด H ที่อนุภาคหมายเลข H35.3. คือการทดสอบด้วยฝีเข็มหรือฝีมือเย็บผ้า—แบ่งละเอียดมากกกก (ใครอยากดูการแบ่งหมวดของ สติท ทอมป์สันอย่างละเอียดไปที่: sites.ualberta.ca)
ทีนี้ตัวดัชนีอนุภาคเราอาจจะมองแบบกว้างๆ เพื่อดูระบบเรื่องเล่าก็ได้ เช่น ละครของ พลอย ชิดจันทร์ มักจะว่าด้วยเรื่องการปลอมตัวหรือความเข้าใจผิด ก่อนจะไปจบที่การทดสอบ ซึ่งก็มักเป็นการทดสอบจิตใจหรือทดสอบสายตาว่าตัวละครในเรื่องนั้นมีจิตใจที่ดีไหม ซึ่งจะนำไปสู่ตอบจบของเรื่อง
ดังนั้น ลำดับอนุภาคในละครของ พลอย ชิดจันทร์ เลยอาจจะเริ่มที่ อนุภาคในหมวด K คือการหลอกลวง (deceptions) และอาจเข้ากับอนุภาคหมายเลข ‘K1810. deception by disguise’ คือการทำให้เข้าใจผิดหรือหลอกลวงด้วยการปลอมแปลงหรือปลอมตัว ไม่ว่าจะปลอมตัวเป็นแม่บ้านหรือยาม โดยบางเรื่องนั้นก็อาจจะไม่ได้ตั้งใจปลอมตัว แต่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเรื่องตัวตน ซึ่งหมวด K นี้ก็มีอนุภาคหมายเลข ‘K2150. innocent made to appear guilty’ เช่น ในละครตอน ‘เหนือฟ้ายังมีฟ้า’ ที่แม่และลูกตกอยู่ในสถานะคนผิด
หลังจากการถูกเข้าใจผิดหรือประธานบริษัทประธานบริษัทเปลี่ยนตัวตนไป / แม่หรือลูกของท่านประธานเปลี่ยนไปสู่อัตลักษณ์ใหม่ที่ตกต่ำ ตัวเรื่องจะนำไปสู่การตกอยู่ในโชคชะตา ซึ่งโชคชะตาหรือเหตุการณ์จะนำพาไปสู่การเปิดเผยตัวตน ซึ่งเราก็น่าจะใช้อนุภาคหมวดว่าด้วยโอกาสและโชคชะตา หรือหมวด N. (chance and fate) โดยอนุภาคย่อยทั้งหมายเลข N300. unlucky accidents และ N310. accidental separations ดูจะเป็นการดำเนินเรื่องที่สอดคล้องกับละครส่วนใหญ่ ทั้งการตกอยู่ในสถานะที่ถูกดูแคลน การเป็นยามจำเป็น หรือการที่ยายถูกแยกจากหลาน โดยเหตุการณ์แย่ๆ และยังมีทั้งการถูกด่าทอ ถูกทำร้าย หลักๆ คือฉากสาดน้ำ ทำให้อับอาย บางเรื่องถึงขนาดจะเปลื้องเสื้อผ้าราวกับการลงโทษสตรีในยุคกลาง
พอเรื่องเริ่มเดือดหนักเข้า เราก็จะเริ่มเดินทางเข้าสู่จุดไคล์แม็กซ์ เรื่องจึงนำไปสู่จุดที่ใกล้คลี่คลาย คือการทดสอบ คืออนุภาคหมวด H. คือการอนุภาคว่าด้วยการทดสอบ (tests) ซึ่งก็ตรงตัวเลย อนุภาคนี้ว่าด้วยการทดสอบตัวตน (identity tests: recognition) ถ้าแยกย่อยจะมีประมาณ 200 ข้อ ตรงนี้เราอาจจะเริ่มเห็นภาพการซ้ำของนิทานของเรื่องเล่า เช่น นางเอกถูกเข้าใจผิด พอตามหาตัวจริงก็จะมีทั้งการจำได้จากรอยของร่างกาย เช่น ปาน (H50. recognition by bodily marks) หรือการแสดงสิ่งของพวกแหวน/ล็อกเก็ต (H80.–149. identification by tokens)
สำหรับการจำได้ของละคร พลอย ชิดจันทร์ ก็เป็นการยืนยันตัวตนทั่วๆ ไป หลักๆ คือเอาพยานมาอ้างอิงซึ่งเป็นอาเจ๊เลขาที่เป็นญาติเป็นเพื่อน ก็อาจจะใช้หมายเลข H10. recognition through common knowledge หรือในบริบทใหม่คือการเอาเงินมากอง ชี้ไปที่ข้าวของต่างๆ เช่นสัญญา ก็อาจจะนับเป็นหมวด H120. identification by tokens – miscellaneous ก็คือพิสูจน์ยืนยันตัวเองด้วยสิ่งของต่างๆ
สุดท้าย เมื่อความจริงถูกเปิดเผย ทั้งตัวตนของท่านประธานสาวและจิตใจหยาบช้าของเหล่าพนักงาน เรื่องราวก็จะก้าวเข้าสู่ลำดับสุดท้ายคือเกิดชะตาที่พลิกผันซึ่งก็คือหมวด L. (reversals of fortune) เป็นจุดพลิกสำคัญของทุกละครเนอะว่า กฏแห่งกรรมมันทำงานแล้ว ในเรื่องคนที่อ่อนน้อมก็จะได้ดี เช่น เพื่อนที่ต้อนรับท่านประธานในชุดแม่บ้านที่ร้านอาหารโรงแรมหรูที่สุดก็ได้เข้าทำงาน หรือพนักงานที่สรรหามาได้ชั่วช้าเกือบทั้งบริษัทก็มีอันตกต่ำถูกไล่ออกไป ตรงนี้ก็จะเข้ากับอนุภาคย่อย 2 หมายเลขคือ L200. modesty brings reward และ L400. pride brought low คือคนถ่อมตัวได้รางวัล พวกจองหองพองขนก็ตกต่ำไป
แบบเรื่องแนวเทพเจ้าจำแลง และข้อสังเกตเบื้องต้น
เมื่อเราเริ่มเห็นโครงสร้างเรื่องที่ดำเนินจากการเปลี่ยนตัวตน ไปสู่การตกในสถานการณ์เลวร้าย ถูกสาดน้ำแบบคลาสสิกๆ จนกระทั่งมีการเปิดเผยพิสูจน์ตัวตนและเกิดการลงโทษ ตามลำดับอนุภาคหมวด K >>> N >>> H >>> L ซึ่งเป็นโครงเรื่องหลักๆ ของละครแนวปลอมตัว เข้าใจผิด และการเผยตัวตนของผู้คนผ่านการปฏิบัติต่อคนทุกชั้น
ทว่า ถ้าในโครงสร้างเรื่องเล่าทำนองนี้ เราเองอาจรู้สึกคุ้นเคยกับนิทานในทำนองเดียวกัน เช่น การที่มีเทพเจ้าถูกสาปหรือจงใจจำแลงแปลงกายลงมา กษัตริย์หรือเจ้าชายที่ใส่ชุดมอซอ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือโดยอุบัติเหตุลงมาทำหน้าที่ทดสอบเหล่ามนุษย์หรือประชาชนของตน ถ้าคนคนนั้นมีจิตใจดีก็จะได้รางวัลตอบแทน ช่วยเหลือ ให้ของ ตื่นมาบ้านก็อาจจะเต็มไปด้วยทอง ได้ถุงใส่เงิน ไปจนถึงได้ลาภยศ แต่พวกนิสัยเสียก็รับถ่านไม้หรือคำสาปไปตามเรื่อง
สิ่งที่น่าสนใจคือ โดยสถานะการเลือกตำแหน่งและตัวละคร เราจะเห็นว่าละครร่วมสมัยนี้ก็มีลักษณะและวิธีคิดใกล้เคียงกัน จากสเกลโลก สเกลอาณาจักร มาสู่โลกเล็กๆ ที่เรียกว่าบริษัท ความใหญ่โตหรืออำนาจย่อยๆ สัมพันธ์กับเงินและคอนเน็กชั่นซึ่งแน่นอนว่ามีการบัญชาควบคุมอย่างเด็ดขาดได้ สามารถชี้นำให้คุณให้โทษแก่เหล่าพนักงานได้อย่างเด็ดขาดนั่นเอง
ดังนั้น ในการอ่านการผลิตซ้ำรูปแบบเรื่องเล่าจากยุคก่อนหน้า แม้ว่าจะถูกเล่าในบริบทสมัยใหม่ เราเองก็อาจจะยังเห็นรูปแบบเรื่องเล่าและความเชื่อบางอย่างที่แอบแฝงอยู่ในเรื่องเล่าที่ดูร่วมสมัย เราอาจจะเห็นโครงสร้างของอำนาจ ที่เผินๆ นอกจากการพูดเรื่องการปฏิบัติต่อคนอย่างเท่าเทียม ภายในการปราบปรามการใช้อำนาจโดยมิชอบ (abuse of power) ก็อาจจะมีการเน้นย้ำถึงโครงสร้างอำนาจหรืออำนาจเหนือ (hierarchy of power and supreme power) ที่มีอำนาจเหนือกว่า โดยเสนอเรื่องความเที่ยงธรรมและการสอดส่องตรวจตราอันเป็นการรักษาระบบระเบียบ รวมถึงโดยนัยคือรักษาสถานะท่านประธานเอาไว้
สุดท้าย แน่นอนว่าละครของคุณ พลอย ชิดจันทร์ เป็นตัวบทร่วมสมัยที่น่าสนใจ มีการรวมทั้งลักษณะเรื่องเล่าที่เราคุ้นเคยเข้ากับภาษาภาพและเรื่องราวแบบที่เราเห็นบ่อยๆ ในละครของไทยทั้งบทสนทนา ลักษณะตัวละคร การเบะปาก การเปิดเอาน้ำรดหัวกันอย่างสนุกสนาน ไปจนถึงการใช้เพลงประกอบแบบหนังแอ็กชั่น ซึ่งความนิยมและการกลายเป็นไวรัลนั้น ย่อมต้องถือว่าละครชุดนี้เป็นปรากฏการณ์และเป็นตัวบทบันเทิงคดีร่วมสมัยที่สามารถอ่านได้ด้วยแว่นอันหลากหลาย
อ้างอิงข้อมูลจาก