จะว่าไป ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นช่วงที่วรรณกรรมไทยในโลกภาษาอังกฤษเริ่มน่าตื่นเต้นขึ้นพอสมควร
ถ้าไม่นับนวนิยายที่เขียนโดยนักเขียนไทยเป็นภาษาอังกฤษตั้งแต่แรก อย่าง The Moon Represents My Heart โดย พิม หวังเดชะวัฒน์ หรือ Bangkok Wakes to Rain โดย พิชญ สุดบรรทัด ตัวอย่างหนึ่งที่เป็นหลักฐานก็คือ จุติ นวนิยายของ อุทิศ เหมะมูล ที่ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ The Fabulist ภายใต้สำนักพิมพ์ Penguin Random House SEA
แต่ “มันยังไปได้อีกค่ะ” อ.แพร จิตติพลังศรี รองศาสตราจารย์จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกกับเรา
เธอกำลังพูดถึงสถานการณ์ของการแปลวรรณกรรมไทย จากภาษาไทย ไปสู่ภาษาอังกฤษ หรือภาษาสากลอื่นๆ เพื่อเชื่อมโยงกับนักอ่านทั่วโลก – ที่ถ้าหากได้รับการส่งเสริมอุ้มชูอย่างเป็นระบบ วรรณกรรมไทยที่ได้รับการแปล ก็อาจจะได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวรรณกรรมโลก (world literature) ที่ตลาดโลกให้ความสนใจอย่างจริงจัง
เพียงแต่ตอนนี้เรายังมองไม่เห็นการส่งเสริมในแบบดังกล่าว
“ต้องคิดใหม่ทำใหม่ทั้งหมดเลย” อ.แพร ว่า
แล้วไทยต้องเดินไปอย่างไรต่อ? The MATTER ไปพูดคุยกับ อ.แพร จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ อาจารย์ประจำศูนย์การแปลและล่ามเฉลิมพระเกียรติ และรองประธานร่วมของสมาคมแห่งศาสตร์การแปลและสหวัฒนธรรมศึกษานานาชาติ (International Association of Translation and Intercultural Studies หรือ IATIS) ถึงหนทางข้างหน้าของการส่งเสริมการส่งออกวรรณกรรมไทยไปสู่ตลาดโลก
ในความเห็นของเธอ กรณีของ ‘เกาหลีใต้’ คือตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับไทย – สาเหตุหนึ่งก็เพราะบริบททางประวัติศาสตร์ที่ใกล้เคียงกัน
LTI Korea: ตัวอย่างที่เมื่อรัฐส่งเสริม วรรณกรรมก็ขายได้
ถ้าใครได้เดินไปดูชั้นหนังสือเอเชียในร้านหนังสือภาษาอังกฤษอยู่บ่อยๆ ก็อาจจะได้เห็นนวนิยายอย่าง The Vegetarian โดย ฮัน คัง (Han Kang) วางอยู่บนนั้น
ช่วงปี 2015-2016 ซึ่งเป็นปีที่ The Vegetarian ได้รับการตีพิมพ์ในฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ นวนิยายเล่มนี้ทั้งได้รับรางวัล International Booker Prize (ช่วงนั้นใช้ชื่อว่า Man Booker International Prize) ซึ่งมอบให้กับผู้เขียน – ฮัน คัง – และผู้แปล – เดโบราห์ สมิธ (Deborah Smith) – และถูกนำไปรีวิวบนหน้าสื่อใหญ่ต่างประเทศหลายแห่ง อาทิ The New York Times และ The Guardian
จากหลายสิบปีก่อนที่คนภายนอกแทบไม่รู้จักวรรณกรรมเกาหลี ปฏิเสธไม่ได้ว่า The Vegetarian คือตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จในการผลักดันการส่งออกวรรณกรรมในชาติของรัฐบาลเกาหลีอย่างจริงจัง – นำโดยเรี่ยวแรงหลักที่ชื่อว่า สถาบันการแปลวรรณกรรมแห่งเกาหลี (Literature Translation Institute of Korea หรือ LTI Korea)
ซึ่งก็คือ LTI Korea นี่เอง ที่ อ.แพร ชวนศึกษา ในฐานะโมเดลที่อาจนำมาปรับใช้กับไทย
LTI Korea เริ่มก่อตั้งโดยรัฐบาลเกาหลีใต้เมื่อปี 1996 ในฐานะกองทุนการแปลวรรณกรรม ก่อนจะกลายมาเป็นสถาบันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเมื่อปี 2001 ซึ่ง อ.แพร เล่าว่า ทำให้วัตถุประสงค์ในการผลักดันวรรณกรรมเกาหลีเริ่มชัดเจนขึ้น ด้วยวิธีคิดคือ วรรณกรรมเกาหลีต้องขายได้ เพื่อนำเงินเข้าประเทศ
“สิ่งแรกที่เขาคิดก็คือ แบ่งเบาภาระของสำนักพิมพ์ ที่จะผลิตหนังสือหนึ่งเล่ม ส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ในลักษณะที่เป็นเงินที่ให้นักแปล เงินที่อยู่ในกระบวนการผลิตทั้งหลายก็เป็นหน้าที่ของสำนักพิมพ์ แต่ที่ให้นักแปล [เพราะ] สำนักพิมพ์จะได้ไม่ต้องมารับภาระตรงนี้ ก็เป็นรัฐบาลลงทุนไป” เธออธิบาย
นอกจากเงินสนับสนุนการแปล อีกหลายสิ่งอื่นๆ ที่ LTI Korea ทำ ก็มีอย่างเช่น การอบรมการแปล ผ่านคอร์สของสถาบันสอนที่ชื่อ Translation Academy เพื่อสร้างนักแปลภาษาเกาหลีรุ่นใหม่ หรือการจัดอีเวนต์ อย่าง Seoul International Writers’ Festival เพื่อเชื้อเชิญนักเขียนต่างชาติให้มาร่วมพูดคุยกับนักเขียนเกาหลี และทำให้วรรณกรรมเกาหลีเป็นที่รู้จักมากขึ้น
ประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ LTI Korea ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลโดยตรงอย่างต่อเนื่อง ทำให้วางแผนเป้าหมายการทำงานได้ในระยะยาว “มันก็วางแผนได้ 5 ปี 10 ปี ว่าเขาต้องการไปถึงไหน” อ.แพร ชี้ให้เห็น ซึ่ง “ทุกคนรู้มาตลอดว่า ยังไงเขาก็จะเอาโนเบล เหมือนกับที่เขาตั้งใจจะเอาออสการ์ และเขาได้แล้ว”
“เป้าหมายเขา [เกาหลีใต้] ชัดเจนมาก ถ้าเขาฝันไปถึงออสการ์ได้ ทำไมเขาจะฝันถึงโนเบลไม่ได้”
วรรณกรรมไทย ในฐานะส่วนหนึ่งของวรรณกรรมโลก?
ส่วนหนึ่งที่สำคัญ ที่ทำให้วรรณกรรมเกาหลีได้รับการตอบรับดีในต่างประเทศ คือการพิจารณาถึงลักษณะความสัมพันธ์ของวรรณกรรมในชาตินั้น กับโลกตะวันตก
อ.แพร เท้าความว่า วรรณกรรมประเภทหนึ่งที่มีแนวโน้มที่จะได้รับการแปลมากกว่า คือ วรรณกรรมในร่มหลังอาณานิคม (postcolonial literature) ที่หมายถึง มีที่มาจากอดีตอาณานิคมของตะวันตก โดยเฉพาะสหราชอาณาจักร ซึ่งมีที่ทางในโลกตะวันตกมากกว่า อย่างน้อยก็ได้รับความสนใจด้วยการถูกนำไปสอนในวิชาที่เกี่ยวข้องกับหลังอาณานิคมศึกษา
ตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดคือวรรณกรรมอินเดีย หรือแม้แต่วรรณกรรมอินโดนีเซีย เช่น ผลงานของนักเขียนที่ถูกยกย่องเป็นฮีโร่ของนักเขียนอินโดนีเซียอีกที อย่าง ปรามูเดีย อนันตา ตูร์ (Pramoedya Ananta Toer) ก็มีบริบทแบบหลังอาณานิคมเช่นกัน
แต่เกาหลีใต้ไม่เป็นเช่นนั้น – เกาหลีไม่เคยเป็นอาณานิคมของตะวันตก นั่นจึงทำให้ อ.แพร มองว่า มีบริบทที่ใกล้เคียงกับไทยมากกว่า
สำหรับเกาหลี ช่องทางที่เข้าไปสู่โลกตะวันตก คือภายใต้ร่มของวรรณกรรมโลก (world literature)
อ.แพร อธิบายว่า วรรณกรรมโลกคือ ขบวนการทางวรรณกรรม (literary movement) ที่เริ่มมีมาตั้งแต่ช่วงปี 2000 เป็นต้นมา บุคคลหนึ่งที่เสนอเรื่องนี้คือ เดวิด ดัมรอสช์ (David Damrosch) ศาสตราจารย์ด้านวรรณกรรม จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้เขียนหนังสือ What Is World Literature?
“วรรณกรรมโลกจะเป็นเรื่องของการมอง ประสบการณ์การอ่าน คือการอ่านนอกบริบทของวรรณกรรมเดิม”
“ถ้าอย่างที่ดัมรอสช์อธิบาย ก็อาจจะเป็นกรณีของ เกอเธ่ (Goethe) อ่านงาน ศกุนตลา หรือว่าตัวเขาอ่านงานฝรั่งเศส หรืออ่านงานชนพื้นเมืองอเมริกัน ซึ่งเขาไม่รู้หรอกว่าต้นทางมันเป็นยังไง เพียงแต่ว่า เขาพยายามที่จะใช้ประสบการณ์การอ่านของตัวเอง อธิบายว่า aesthetics หรือสุนทรียศาสตร์ที่ได้จากการอ่านคืออะไร”
ถ้าหากวรรณกรรมไทยได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวรรณกรรมโลก อ.แพร บอกว่า “คนก็จะยกเลิกมายาคติเดิมๆ ว่า เราอ่านวรรณกรรมไทยเพื่อเข้าใจประเทศไทย แต่เราอ่านวรรณกรรมไทยเพื่อเข้าใจความเป็นมนุษย์ที่กว้างขึ้น ซึ่งมันอาจจะมีอะไรที่เหมือนกับวรรณกรรรมอเมริกันก็ได้ เพราะฉะนั้น ความสัมพันธ์มันไม่ใช่ความสัมพันธ์ในเชิงประวัติศาสตร์แล้ว มันเป็นความสัมพันธ์ในเชิงวรรณกรรมที่มีความสากลมากขึ้น”
เธอยกตัวอย่างนวนิยาย A Good True Thai โดย สุนิสา แมนนิง ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519
“ก็จะเห็นว่า มันมีธีมบางอย่าง เช่น คนเราขบถต่อค่านิยมอะไรบางอย่างในสังคม ซึ่งทั่วโลกมี เพราะฉะนั้น คนเลยเข้าใจได้ว่า นี่คือการต่อสู้ของชนชั้น คือการต่อสู้ของหนุ่มสาว ซึ่งมันไม่ได้ยากเกินกว่าเราจะเข้าใจ”
เหตุผลที่รัฐไทยควรใส่ใจการแปลวรรณกรรม
แล้วทำไมไทยจะต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวรรณกรรมโลก?
อ.แพร เล่าถึงกรณีของนวนิยาย The Moon Represents My Heart ซึ่งเขียนและตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ และปรากฏว่า เจมมา ชาน (Gemma Chan) นักแสดงชาวอังกฤษเชื้อสายจีน ได้อ่าน จนได้กลายมาเป็นออปชั่นในการทำซีรีส์ ของ Netflix ร่วมกับ 21 Laps
“เราไม่มีวันรู้เลยว่าโอกาสจะมาถึงเรา [เมื่อไหร่] เพียงแต่ว่า เราจะเปิดประตูให้ตัวเอง หรือว่าเราจะตัดโอกาส มันอาจจะกลายเป็นหนังฮอลลีวูดก็ได้ ใครจะไปรู้”
“แล้วทีนี้ พอนักเขียนไทยไป มันก็จะเป็นเงาสะท้อนกลับมาว่า เราได้ไปถึงนั่นเลยนะ มันก็จะเป็นกำลังใจให้นักเขียนที่อยู่ในประเทศ ว่า เฮ้ย นักเขียนไม่ใช่จะต้องไส้แห้ง มันมีหนทางไป”
แต่ถ้าตัดภาพกลับมาที่ปัจจุบัน แม้แต่จะเริ่มแปล การหานักแปลฝีมือดีๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และคนที่แปลได้ในระดับดีก็ไม่ได้มาจากกระบวนการอบรมที่ได้รับการส่งเสริมโดยภาครัฐ หรือถ้าพูดถึงเรื่องอย่าง ‘ความไส้แห้ง’ ของคนทำงานในวงการวรรณกรรม ก็เป็นประเด็นที่ชัดเจนในตัวมันเองโดยแทบจะไม่ต้องอธิบายอะไรอีกแล้ว
“หนังสือพิมพ์ครั้งหนึ่ง 3,000 เล่ม ก็หรูแล้ว” อ.แพร เล่า “ได้อย่างมากก็ประมาณ 60,000 บาท อยู่ได้กี่เดือน แต่ช่วงเวลาที่เขาเขียน เป็นปี แสดงว่าเขาก็ต้องมีงานอื่น เขาจะไม่ได้รายได้อีกนอกจากจะมีตีพิมพ์ครั้งที่ 2 สมมติมาอีก 3,000 เล่ม ได้มาอีก 60,000 บาท ก็ไม่รู้อีกกี่ปี [กว่าจะได้ตีพิมพ์] คือมันไม่แน่นอน
“พอขายหนังสือแพงมาก ก็ไม่มีใครซื้อ จุดจบมันก็อยู่ในกองลดราคา จริงๆ คนก็จะรู้สึกไม่ดีนะ เฮ้ย มันไปอยู่ในกองลดราคา ฉันเขียนแทบตาย”
ล่าสุดก็เริ่มมีพัฒนาการที่คืบหน้าอยู่บ้าง คือการอนุมัติงบประมาณ 5,164 ล้านบาท โดยคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ โดยที่ในสาขาหนังสือ ได้งบประมาณ 69 ล้านบาท
แต่ อ.แพร มองว่า การผลักดันวงการวรรณกรรมในปัจจุบัน ยังมี 3 ส่วนที่ทับซ้อนกัน คือ การส่งเสริมการอ่าน การส่งเสริมการเขียน และการส่งเสริมการแปล “ซึ่งมองว่ามี 3 ส่วนต้องใช้ความเชี่ยวชาญต่างกัน ต้องใช้คนที่รู้เรื่องใน 3 ส่วนนี้ต่างกัน”
หนทางข้างหน้าของการส่งเสริมการแปลวรรณกรรมไทยที่เธอเสนอ จึงเป็นการสร้างองค์กรขึ้นมาใหม่
“เหมือนกับ LTI Korea [ซึ่ง] มันก็คือ เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมา เพื่อเอางบมาใช้กับการแปลโดยตรง และกระจายงบอย่างชัดเจน ตรวจสอบได้ มีผลงานที่บอกได้”
แต่การจะสร้างองค์กรใหม่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของคนทำงานในองค์กรนั้นด้วย “ขึ้นอยู่กับว่า คนที่จะมาทำคือใคร และเขามีวิสัยทัศน์อย่างนี้ไหม” เธออธิบาย “คนที่มาทำงานก็ต้องรู้ว่าเขาทำอะไรอยู่ ไม่ได้รู้แค่กระบวนการเอาเงินมาใช้ ต้องรู้จักนักเขียน ต้องรู้จักนักแปล”
ว่าง่ายๆ ทั้งหมดนี้ อ.แพร บอกว่า มันคือการ “คิดใหม่ทำใหม่ทั้งหมด” และเป็นการทำงานในระดับที่รื้อโครงสร้าง “ถ้าลงทุนแล้ว ภาครัฐก็ต้องบอกด้วยนะ [ว่า] มันต้องได้ผลนะ ไม่ใช่ให้เงินไปเรื่อยๆ แล้วเป็นน้ำซึมบ่อทราย”
โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน คือทำให้วรรณกรรมไทย “ยืนได้ด้วยตัวเองอย่างสมศักดิ์ศรี เทียบเท่ากับวรรณกรรมประเทศอื่น”