ว่ากันว่า มนุษย์เราต่างกับทวยเทพตรงที่เรามีข้อบกพร่อง แต่บางครั้งทวยเทพผู้สมบูรณ์แบบกลับหลงรักมนุษย์ก็เพราะความไม่สมบูรณ์แบบของเรา
คิดได้กระนั้น มนุษย์เดินดินอย่างเราๆ เดินเข้าออฟฟิศด้วยความกระหยิ่มยิ้มใจ มองไปรอบๆ ตัว คนนี้ก็อาจจะหยิ่งไปสักหน่อย คนนั้นขี้เมาท์ไปสักนิด เราต่างมีข้อเสียบางอย่างที่บางครั้งก็เป็นเสน่ห์…แต่ว่าบางที ข้อเสียเล็กๆ ของเราก็อาจทำให้เราตกไปสู่หายนะได้เหมือนกัน ในบทละครแบบกรีกเรื่อยมาจนถึงตัวละครเอกในวรรณคดีทั้งหลายต่างก็มีข้อเสียพิฆาต (fatal flaw) จุดเสียที่ทำให้ฮีโร่มนุษย์เดินดินเหล่านั้นตกไปสู่หายนะหรือความยุ่งยากในชีวิต คิดทบทวนดูแล้วก็ไม่ต่างจากเราๆ ในโลกปัจจุบันเท่าไหร่
Tragic flaw เป็นแนวคิดจากอริสโตเติลเจ้าเก่าจาก Poetics งานที่ถือกันว่าเป็นทฤษฎีวรรณกรรมชิ้นแรกๆ ของมนุษยชาติ ในสมัยกรีก ละครแนวโศกนาฏกรรม (tragedy) ถือว่าเป็นงานที่มีคุณค่าควรชม การที่เราได้เห็นการล่มสลายของชะตากรรมมนุษย์ทำให้เราได้ประสบการณ์พิเศษบางอย่าง ทีนี้ อริสโตเติลก็พูดโศกนาฏกรรมที่ดีว่า เออ ละครที่เราไปดูแล้วจะอิน จะสงสารกับตัวละครนั้นๆ ได้ นักการละครจะสร้างพระเอกแบบมั่วๆ ซั่วๆ ก็ไม่ได้ เพราะว่าตัวละครเหล่านี้จะต้องเจอกับชะตากรรมพลิกผันบางอย่างจนถึงแก่ความฉิบหายไป
ดังนั้น ตัวละครที่เราจะรู้สึกร่วมและสมจริงก็คือเป็นตัวะละครที่มีความเป็นมนุษย์ เป็นมนุษย์ในแง่ที่ว่าคือเป็นตัวละครที่ถือว่าเป็นคนดี เป็นผู้ที่มีสถานะดีนี่แหละ แต่เพราะเป็นมนุษย์ไง เราเลยมีจุดเสียบางอย่างในตัวเอง และในจุดเสียนั้นแหละก็เป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตของฮีโร่คนนั้นหายนะไปในที่สุด จากการมีข้อเสียนี้ผู้ชมก็จะเข้าใจว่า อ๋อ คนมันก็เป็นแบบนี้เนอะ แล้วก็เชื่อด้วยว่า โอเค จุดเล็กๆ นี่แหละที่ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปได้ คือถ้าพระเอกสมบูรณ์แบบไปเลย แล้วชีวิตพลิกเพราะความซวยเฉยๆ ก็ไม่อิน หรือถ้าทำตัวเละๆ เทะๆ ข้อเสียเยอะแยะ ก็เท่ากับกรรมตามสนอง เราจะไม่เกิดความสงสาร เกิดความกลัวในชะตากรรม ไม่นำไปสู่การชำระล้างใจ
จากรากฐานของอริสโตเติล งานเขียนยุคต่อๆ ค่อนข้างรับเอาวิธีทางวรรณกรรมของอริสโตเติลมาปรับใช้ พวกตัวละครทั้งหลายก็มักจะมี fatal flaw มีจุดเสียเด่นๆ บางอย่างของตัวเองเสมอ The MATTER เลยชวนมนุษย์เงินเดือนมาลองเทียบดูสนุกๆ ว่า เราเองที่เชื่อว่าเป็นพระเอกของชีวิตของเรา เราอาจจะมีข้อเสียบางอย่างไม่ต่างกับเหล่าฮีโร่ในวรรณกรรมก็ได้
Oedipus – Hubris (อหังการ)
ชีวิตมันเลือกยากเนอะ บางทีการเป็นคนเก่ง เป็นคนมั่นใจมากๆ ความมั่นใจก็อาจจะทำให้เราตาบอดได้ โอดิปุสคือตัวละครที่โด่งดังจากการฆ่าพ่อและหลับนอนกับแม่ด้วยความไม่รู้ ข้อเสียของโอดิปุสที่ทำให้ซวยคืออหังการ (Hubris) หายนะของโอดิปุสในเรื่องเกิดจากฝ่าฝืนคำเตือนจากเทพเจ้าจนได้รับคำพยากรณ์ว่าจะต้องฆ่าพ่อและแต่งงานกับแม่ ก่อนที่โอดิปุสจะคุ้มคลั่งจนควักลูกตาของตัวเอง ในเรื่องมีบางช่วงที่โอดิปุสสามารถหยุดการสืบหาคนผิดได้แต่เฮียแกก็ไม่ทำ อหังการถือเป็นจุดเสียที่พบได้บ่อยในตัวละครกรีกโบราณ คำว่าผยองโดยนัยหมายถึงความรู้สึกว่าตัวเองสูงส่งกว่าคนอื่น จนบางครั้งกลายเป็นทัดเทียบเทพเจ้าไป หลักๆ ข้อเสียนี้เป็นเหมือนคำย้ำเตือนถึงความเป็นมนุษย์ของเรานั่นแหละว่า ไม่ว่าอย่างไรเราก็เป็นมนุษย์เดินดินคนหนึ่ง
Antigone/Creon – Loyalty (ความจงรักภักดี)
ในเรื่องแอนทิโกนี เรื่องนี้ก็ถกเถียงกันพอสมควรว่าแอนทิโกนีและครีออนนีมีข้อบกพร่องรึเปล่า แต่หลักๆ แล้วความขัดแย้งของสองคนนี้คือการจงรักภักดีต่อความถูกต้อง ต่อกฎเกณฑ์บางอย่าง เนื้อเรื่องพูดถึงแอนทิโกนีที่ต้องการฝังศพพี่ชายที่ตายในสนามรบ แต่ตามกฎหมายแล้ว ครีออนในฐานะกษัตริย์ประกาศให้พี่ชายนางเป็นกบฏและไม่มีสิทธิได้ตายอย่างมีเกียรติ ทั้งครีออนและแอนทิโกนีต่างฝ่ายต่างยึดมั่นในความถูกต้องและหลักการของตัวเอง ต่างฝ่ายต่างดึงดันกันไปมาจนเกิดหายนะ แอนทิโกนีฆ่าตัวตาย สุดท้ายความขัดแย้งนำมาซึ่งการสูญเสียเมียและลูกของครีออนเอง ในโลกการทำงานเราคงเคยเจอความขัดแย้งประเภทนี้บ่อยๆ ฝ่ายหนึ่งยึดในกฎ อีกฝ่ายก็ยึดในหลักปฏิบัติ ความถูกต้องขึ้นอยู่กับว่าจะมองจากด้านไหน
Medea – Power (อำนาจ)
เรารู้จักคนที่ทรงพลัง แต่สุดท้ายคนที่เก่งมากๆ อาจจะโดนภัยบางอย่าง ความเก่งกลายเป็นอุปสรรคของชีวิตไปซะเฉยๆ นางเมเดียเป็นอีกหนึ่งผู้หญิงที่แสนจะทรงอำนาจ บางการวิเคราะห์จึงบอกว่าด้วยพลังอำนาจของนางนี่แหละทื่ทำให้ชีวิตของนางแสนจะลำบาก ตัวเมเดียเองเป็นผู้หญิงที่ถึงพร้อมทั้งความงาม สติปัญญา แถมยังมีพลังอำนาจ มีเวทมนตร์คาถา แถมยังมีสัมผัสพิเศษกับสัตว์บางประเภท ด้วยอำนาจที่เธอมี เธอถึงขนาดถูกขอให้ออกจากเมืองเพราะผู้คนเกรงกลัวพลังของเธอ บางครั้งอำนาจและความเก่งกาจก็กลายเป็นคำสาปแทนพร ผู้คนเกรงกลัว ใช้ชีวิตยากลำบาก
Narcissus – Narcissism (หลงตัวเอง)
ในยุคที่กระจกและกล้องหน้าเป็นสิ่งที่เราไม่เคยมองข้าม เหล่าผู้คนต่างหลงในเงาสะท้อนและตัวตนของตัวเอง บางคนมองว่าการหลงตัวเอง—มั่นใจในตัวเองบ้างก็เป็นเสน่ห์ แต่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางมากไปก็อาจจะกลายเป็นคนน่ารังเกียจและรับมือยาก ในระดับขำๆ โลกยุคใหม่ทำให้เราสนอกสนใจกับภาพลักษณ์ของเรามาก ในออฟฟิศของเราอาจจะมีหนุ่มและสาวน้อยนาร์ซิสซัส ผู้ที่ลุ่มหลงในภาพและตัวตนของตัวเอง ตามตำนานพ่อหนุ่มนาร์ซิสซัสของเราเคยเป็นคนที่หน้าตาดีจนกระทั่งไปเย่อหยิ่งในบริวารของทวยเทพ เลยถูกสาปให้หลงรักเงาสะท้อนของตัวเองและตายไปในที่สุด
Psyche – Curiosity (ขี้สงสัย)
บางคนก็แสนดี แสนน่ารัก แต่เสียอย่างคือขี้สงสัย ช่างสนใจ อยากรู้ไปทุกเรื่องโดยเฉพาะเรื่องชาวบ้าน คุณอาจจะเป็นนางไซคีประจำออฟฟิศ ในตำนานเรื่องคิวปิดและไซคี พูดถึงนางไซคีในฐานะนางเอกของเรื่องที่ไปรักและใช้ชีวิตร่วมกับคิวปิดกามเทพ ด้วยความที่กามเทพต้องการปกปิดตัวตนเลยบอกว่าทุกครั้งที่พบกันใช้ชีวิตร่วมกัน ทั้งสองจะต้องพบกันในความมืดยามค่ำคืนเท่านั้น วันนึงนางไซคีก็อยากรู้อะ—แล้วก็ไม่ไว้ใจว่าผัวนางเป็นอย่างไร นางก็เลยแอบจุดตะเกียงแล้วส่องคิวปิดตอนหลับ ผลคือเธอก็พบว่าผัวเธอคือเทพแถมเป็นหนุ่มรูปงาม แต่ด้วยความซวยและซุ่มซ่ามเธอดันทำน้ำมันตะเกียงหยดลงโดนตัวคิวปิด คิวปิดเลยตื่นขึ้นและบินหนีไป ถึงเรื่องนี้มาถึงขนาดเป็นโศกนาฏกรรม แต่จากความขี้สงสัยของนางเลยทำให้นางไซคีต้องไปเผชิญความลำบากต่างๆ กว่าจะได้กลับไปครองรักและขึ้นไปอยู่บนยอดเขาโอลิมปัสกับผัวได้ในท้ายที่สุด
The Oracle of Delphi – Big Mouth (ปากสว่าง)
ทุกออฟฟิศและเพื่อนพ้องของเราย่อมมีตำแหน่ง ‘หอกระจายข่าว’ มิตรสหายประเภทคนนี้รู้ โลกรู้ เราขอแต่งตั้งให้คุณเป็น ‘เทพพยากรณ์แห่งวิหารเดลฟี’ คือจริงๆ ตัวเทพยากรณ์ไม่ใช่เป็นขี้เมาท์อะไรหรอก แต่โดยตำแหน่งหน้าที่ของนางคือการบอก ‘ความลับสวรรค์’ และเรามักจะไปที่วิหาร ไปพูดคุยกับคนนี้เพื่อรับข่าวสารต่างๆ
Romeo – Impulsiveness (ไม่คิดหน้าคิดหลัง)
ไอ้นี่ก็ด่วนจังเลย จะทำอะไรจะไปไหน ปุบปับทุกอย่าง คิดนิดนึง ใจเย็นหน่อย ใครที่เข้าข่ายนี้ก็คล้ายๆ กับโรเมโอในโรเมโอกับจูเลียต ความซวยต่างๆ เกิดจากความปุบปับของพ่อหนุ่มเลือดร้อนของเรา โรเมโอเป็นพระเอกที่ทำอะไรตามหัวใจและทำฉับพลันทันที แรกสุดที่เจอจูเลียต—ทั้งๆ ที่โรเมโอเองมีคนรักอยู่แล้ว แต่ด้วยพอเจอ ‘รักแท้’ แค่เพียงคืนเดียวในงานเต้นรำ โรเมโอก็ลืมทุกอย่างและแต่งงานกับจูเลียตทันที สุดท้ายด้วยความหุนหัน โรเมโอลงมือสังหารพี่ชายของจูเลียต ไปจนตอนจบของเรื่องก็ล้วนเป็นเพราะความเร่งร้อนไม่ทันคิดของโรเมโอที่นำไปสู่ความตายของทั้งสอง
Hamlet – Indecisiveness (โลเล)
“To be, or not to be” แฮมเลตเป็นอีกด้านของโรเมโอ คือเป็นคนที่คิดอยู่นั่น ไม่ตัดสินใจ ไม่ลงมือทำสักที สุดท้ายแล้วไอ้การผัดสิ่งที่ควรทำไปเรื่อยๆ ก็ส่งผลเสียกลับมาที่ตัวแฮมเลตเอง ในเรื่องแฮมเลตคิดว่าลุงลงมือฆ่าพ่อและแย่งชิงบัลลังก์ไปเลยแกล้งทำเป็นบ้า สุดท้ายแฮมเลตเองก็มัวแต่คิดไม่ลงมือล้างแค้น การลงมือและตัดสินใจช้าของแฮมเลตทำให้ทางลุงไหวตัวและวางแผนสังหารเขาแทน ผลคือเรื่องจบลงด้วยโศกนาฏกรรม ความไม่เด็ดขาดของแฮมเลตนำความตายมาให้ทั้งแฮมเลต แม่ และคนรัก
Macbeth – Ambition (ทะเยอทะยาน)
เรามีความทะเยอทะยานผลักดันให้ก้าวไปข้างหน้า แต่บางคนก็ทะเยอทะยานจนลงมือทำอะไรก็ได้ เป็นความทะเยอทะยานแบบมืดบอด ไม่สนใจความถูกต้องและวิธีการ แม็กเบ็ธเป็นอีกหนึ่งโศกนาฏกรรมสำคัญของเชกสเปียร์ ในเรื่องพูดถึงแม็กเบ็ธ นักรบหนุ่มที่มีทะเยอทะยานทำทุกอย่างจนสุดท้ายภัยจากอำนาจกลับทำให้ชีวิตพบกับหายนะ จุดเด่นของแม็กเบ็ธอยู่ที่นางแม่มดที่แม็คเบ็ธพบหลังจากกลับจากสงคราม แม่มดทั้งสามให้คำทำนายสำคัญไว้หนึ่งในนั้นคือจะได้เป็นกษัตริย์ ด้วยคำทำนายและเมียรักที่ช่วยยุยงส่งเสริม แม็กเบ็ธจึงตัดสินใจลอบปลงพระชนม์กษัตริย์ และสุดท้ายตอนจบของเรื่อง คำทำนายของแม่มดทำให้แม็กเบ็ธประสาทกิน เส้นทางชีวิตของแม็กเบ็ธจึงโรยด้วยเลือดและความตายของผู้คน
อ้างอิงข้อมูลจาก