“ในสายตาคุณพระ อนงค์ดีพอสำหรับคุณพระไหมคะ”
บทพูดจากหนึ่งในร้อย ละครดังที่กำลังเป็นกระแสบนโลกออนไลน์ กับการสะท้อนให้เห็นภาพสาวสวยมั่นใจ ผู้กล้าจะประจันหน้ากับผู้ชายเพื่อเปิดเผยสิ่งที่อยู่ในใจ
เชื่อว่าหลายคนที่ได้ดูหนึ่งในร้อย คงหลงเสน่ห์ตัวละครอย่าง ‘อนงค์’ (รับบทโดยญาญ่า-อุรัสยา เสปอร์บันด์) กันอยู่ไม่น้อย เพราะเธอทั้งสวยสง่า มั่นอกมั่นใจ กล้าแสดงความคิดเห็นของตัวเอง แถมยังกล้าแต่งตัวฉูดฉาดโดดเด่นเกินกว่าสาวคนไหนในย่าน จนอาจเรียกได้ว่าหนุ่มคนไหนมาเยือนพระนครจะต้องเหลียวมองเธออย่างแน่นอน
การนำเสนอตัวละครอนงค์ให้ดูล้ำนำสมัย ถือเป็นส่วนหนึ่งในการสะท้อนภาพสังคมในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งไม่ได้ปรากฏเพียงในละครเท่านั้น ทว่าเนื้อหาในลักษณะนี้ยังถูกนำเสนอมาตั้งแต่ต้นฉบับของหนึ่งในร้อยแล้ว โดยนวนิยายเรื่องนี้เป็นบทประพันธ์ของนามปากกาดอกไม้สด หรือ หม่อมหลวงบุปผา นิมมานเหมินท์ นักเขียนแนวสัจนิยมกึ่งพาฝันของไทย ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2477
เพราะวรรณกรรมคือกระจกสะท้อนสังคม The MATTER จึงอยากพาไปย้อนหน้าประวัติศาสตร์วรรณกรรมไทย ตั้งแต่ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไปจนถึงวรรณกรรมสมัยใหม่ เพื่อสำรวจเรื่องราวที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังวรรณกรรมเหล่านี้กัน
งานวรรณกรรมยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
เหตุการณ์การอภิวัฒน์สยามในปี 2475 โดยเหล่าคณะราษฎร ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ นั่นจึงนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงมากมายในประเทศ และยังส่งผลกระทบไปแทบทุกภาคส่วน รวมไปถึงงานวรรณกรรมที่ถือเป็นอีกหนึ่งวงการซึ่งได้รับผลกระทบด้วย
แน่นอนว่า เมื่อพูดถึงประเด็นเกี่ยวกับการเมืองและการปกครอง ย่อมเกิดภาพของความขัดแย้งกันและแบ่งแยกทางความคิดของผู้คนในสังคมออกเป็นฝักเป็นฝ่ายชัดเจนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นรวมไปถึงช่วงเวลาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ของไทยด้วยเช่นกัน
ภาพที่ฝ่ายหนึ่งมีความคิดแบบเสรีนิยมจากหลักการของระบอบประชาธิปไตย อันมุ่งเน้นให้เกิดความเสมอภาคและเสรีภาพของประชาชน ส่วนอีกฝ่ายมีความคิดแบบอนุรักษ์นิยม ยังคงยึดมั่นถือมั่นต่อขนบธรรมเนียมและแนวคิดแบบดั้งเดิมจึงเกิดขึ้น และไม่ได้มีแค่ความขัดแย้งทางความคิดซึ่งปรากฏเด่นชัดขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นช่วงเวลาที่ชนชั้นกลางเริ่มก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของสังคมด้วยเช่นกัน
การเปลี่ยนแปลงการปกครองดังกล่าวยังได้เปิดพื้นที่ให้ชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับการศึกษาและมีความตื่นตัวทางการเมือง สามารถแสดงออกถึงความคิดความอ่านอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเกี่ยวกับแนวคิดระหว่างเสรีนิยมกับอนุรักษ์นิยม
ความตื่นตัวของชนชั้นกลางในยุคนั้นจึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในวงการการเมือง แต่ยังแสดงออกอย่างเด่นชัดผ่านงานวรรณกรรม ซึ่งสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงทางความคิดและวิถีชีวิตของผู้คนในสังคม งานวรรณกรรมยุคก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ จึงกลายเป็นพื้นที่ที่นักเขียนได้นำเสนอความคิดและมุมมองอันก้าวล้ำไปข้างหน้า โดยเฉพาะเรื่องความเท่าเทียม เสรีภาพ และความปรารถนาที่จะปลดปล่อยตัวเองและสังคมจากกรอบประเพณีสุดแสนเคร่งครัด
หนึ่งในร้อย ของดอกไม้สด เป็นหนึ่งในวรรณกรรมดังกล่าวซึ่งสะท้อนภาพสังคมช่วงภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองออกมาได้ค่อนข้างครบถ้วน อย่างตัวละครอนงค์ ตัวแทนของฝั่งเสรีนิยม มีความคิดก้าวล้ำนำคนอื่น มีบทบาททัดเทียมผู้ชาย มั่นใจสมกับเป็นผู้หญิงในยุคเพิ่งได้รับสิทธิและเสรีภาพอย่างยิ่ง ในอีกด้าน ตัวละครอย่างคุณพระอรรถคดีวิชัย ก็ถือเป็นตัวแทนของคนฝั่งอนุรักษ์นิยมหรือคนรุ่นเก่า ผู้ที่ยังคงยึดมั่นหลักศีลธรรม และมักปฏิบัติตามขนบธรรเนียมแบบดั้งเดิม จนอนงค์มองว่าคุณพระฯ เป็นคนคร่ำครึหัวโบราณ ซึ่งสะท้อนให้เห็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมในสังคม ผู้ไม่ปรับตัวและยอมรับต่อความเปลี่ยนแปลงใหม่ในสังคม
ด้วยเหตุนี้เอง วรรณกรรมในยุคก้าวหน้าจึงทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการสนทนาระหว่างกลุ่มชนชั้นกลางกับกลุ่มผู้มีอำนาจเก่า สำหรับการวิพากษ์วิจารณ์ระบอบเก่า ซึ่งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางความคิดและการรับรู้ของผู้คนในสังคมต่อไป
จุดรวมสำคัญของวรรณกรรมยุคก้าวหน้า
การเกิดขึ้นของวรรณกรรมยุคก้าวหน้าหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ทำให้วรรณกรรมต่างๆ ในยุคนี้มีจุดร่วมสำคัญ ซึ่งชี้ให้เราเห็นได้ถึงความโดดเด่นและเอกลักษณ์ของวรรณกรรมในช่วงเวลาดังกล่าว 3 ประเด็น ได้แก่
ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ความคิดของตัวละคร
เหมือนกับที่ได้ยกตัวอย่างหนึ่งในร้อยไปในหัวข้อก่อนหน้า วรรรณกรรมในยุคนี้มักปรากฏภาพของตัวละครที่มีอุดมการณ์และความคิดแตกต่างกัน ฝ่ายหนึ่งเป็นตัวแทนของเสรีนิยมและอีกฝ่ายเป็นตัวแทนของอนุรักษ์นิยม แต่ถึงอย่างนั้น นักเขียนในยุคนั้นต่างก็ออกแบบจุดจบของตัวละครแต่ละฝ่ายออกมาแตกต่างกันตามจุดยืนทางอุดมการณ์ของแต่ละคน
ตัวอย่างเช่น ข้างหลังภาพ ของศรีบูรพา ซึ่งมีคุณหญิงกีรติเป็นตัวแทนของอนุรักษ์นิยม ผู้ไม่กล้าคิดนอกกรอบและยึดมั่นในต่อขนบธรรมเนียมดั้งเดิม ส่วนนพพรเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ มีความรู้ กล้าทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ไม่เกรงกลัวต่อหลักศีลธรรม สะท้อนให้เห็นถึงการปะทะกันระหว่างค่านิยมแบบเก่ากับใหม่ได้อย่างชัดเจน
การถ่ายทอดแนวคิดผ่านสังคมอุดมคติ
นอกจากนี้ งานวรรณกรรมในยุคก้าวหน้ายังสะท้อนภาพของการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและมิติทางสังคม ผ่านการใช้สังคมในอุดมคติ เพื่อถ่ายทอดแนวคิดหรือมุมมองทางการเมืองของตัวผู้เขียนออกมา ทำให้วรรณกรรมหลายเรื่องในช่วงนี้มีลักษณะเป็นนวนิยายแนวอุดมคตินั่นเอง
ตัวอย่างเช่น เมืองนิมิตร นวนิยายแนวการเมืองอุดมคติ ของม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน์ เขียนขึ้นขณะที่ติดคุกในข้อหากบฏบวรเดช โดยนวนิยายดังกล่าวได้นำเสนอเรื่องราวของรุ้ง ตัวละครเอกของเรื่อง ผู้ที่แม้จะต้องเผชิญกับความผิดหวังในชีวิตจริง ซึ่งแตกต่างจากอุดมคติมากเพียงใด ทว่าเขาก็ยังยืนหยัดต่อสู้เพื่อคงความคิดเชิงอุดมคติของตัวเองไว้อย่างเข้มแข็งต่อไป
ความเสมอภาคระหว่างชายหญิง
เป็นที่ทราบกันดีว่าคณะราษฎรต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยาม โดยมุ่งเน้นความเป็นประชาธิปไตย เพื่อสร้างความเท่าเทียมและเสมอภาคกันระหว่างคนในสังคม ซึ่งนั่นรวมไปถึงผู้หญิงและผู้ชายด้วยเช่นกัน จะเห็นได้ว่ามีการเชิดชูสตรีผู้อยู่เบื้องหลังกลุ่มคณะราษฎรมากมาย อย่างท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ผู้เคลื่อนไหวเพื่อยกระดับสถานภาพของผู้หญิง เป็นต้น
ซึ่ง หนึ่งในร้อย ของดอกไม้สด สามารถถ่ายทอดแนวคิดเรื่องความเสมอภาคระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงออกมาได้ชัดเจนเรื่องหนึ่ง ตัวละคร อนงค์ แม้จะมีความเป็นกุลสตรี แต่เธอก็มีบทบาททัดเทียมผู้ชาย ด้วยการเติบโตมาท่ามกลางพี่ชายถึง 4 คน ทำให้เธอมั่นใจและไม่หวาดหวั่นต่อการจะต่อล้อต่อเถียงกับผู้ชาย ภาพสังคมในช่วงเวลาดังกล่าวทำให้เราเห็นว่า ผู้หญิงเองก็สามารถลุกขึ้นมามีบทบาทในสังคมเหมือนผู้ชายได้
จากวรรณกรรมยุคก้าวหน้าสู่วรรณกรรมสมัยใหม่
แม้วรรณกรรมในยุคปัจจุบันจะมีหลากหลายเนื้อหาให้เราเลือกสรร แต่คงต้องยอมรับเลยว่า ความเป็นนวนิยายสมัยใหม่ที่เราอ่านกันได้รับอิทธิพลมาจากวรรณกรรมช่วงยุคก้าวหน้าไม่น้อยเลยทีเดียว
หลังจากยุควรรณกรรมแนวก้าวหน้า งานเขียนก็ได้เริ่มเข้าสู่ช่วงยุคกบฏสันติภาพ (2489-2500) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนถูกจำกัดเสรีภาพให้แคบลงกว่าเดิม โดยเฉพาะเสรีภาพด้านการพูด การเขียน และการพิมพ์ ทำให้นักเขียนหลายคนถูกจับเข้าคุก จนทำให้พวกเขาเริ่มเขียนนวนิยายที่สามารถสะท้อนปัญหาของสังคมได้อย่างชัดเจน
วรรณกรรมในช่วงเวลาดังกล่าวจึงนำเสนอเรื่องหนักๆ อย่างการเรียกร้องเพื่อความเสมอภาคและเสรีภาพ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ดีขึ้น นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เรียกวรรรกรรมในยุคนี้ว่า วรรณกรรมเพื่อชีวิต โดยตัวอย่างวรรณกรรมในยุคกบฏสันติภาพ เช่น จนกว่าเราจะพบกัน แลไปข้างหน้า ปีศาจ และศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน
ต่อมาในปี 2501 ยุคหลังการปฎิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐบาลใช้มาตรการกำราบปราบปรามผู้ที่มีความคิดเห็นขัดแย้งกับรัฐบาลได้อย่างเด็ดขาด และนี่เองที่ส่งผลต่อวรรณกรรมการเมือง ทำให้ยุคนี้ถูกเรียกว่า ยุคสมัยแห่งความเงียบ เนื่องจากการปิดกั้นอย่างรุนแรงของรัฐบาลต่องานเขียนเชิงการเมือง ทำให้งานเขียนแนวเพื่อชีวิตจึงได้หยุดชะงักไป วรรณกรรมโด่งดังในยุคนี้จึงเป็นงานเขียนแนวพาฝันหรือนวนิยายน้ำเน่าแทน โดยการดำเนินเรื่องและตัวละคร ที่ปรากฏในงานวรรณกรรมช่วงนี้จึงมีลักษณะคล้ายคลึงกัน
ภายหลังปี 2506 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ถึงแก่อสัญกรรม สภาพสังคมจึงเริ่มผ่อนคลายขึ้น หลังจากถูกกดขี่จากระบอบเผด็จการมาเป็นเวลานาน ทำให้ในยุคถัดมา ประชาชนเริ่มมีอิสระทางความคิดมากขึ้น ประกอบกับการขยายตัวของสถาบันอุดมศึกษา จึงเริ่มมีกลุ่มนักศึกษที่มีความรู้เพิ่มขึ้นในสังคม ในช่วง 2507-2515 จึงถูกเรียกว่า ยุคฉันจึงมาหาความหมาย นั่นเอง
ด้วยเหตุนี้เองวรรณกรรมเพื่อชีวิตจึงได้หวนคืนกลับสู่สังคมอีกครั้ง แถมยังเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญสำหรับการปลุกระดมมวลชนในการลุกขึ้นต่อต้านอำนาจรัฐซึ่งไม่เป็นธรรม ณ ช่วงเวลาดังกล่าว นั่นจึงทำให้วรรณกรรมในระยะนี้ เกิดจากการรวมกลุ่มกันของนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ จนนำไปสู่การเกิดแนวการเขียนลักษณะใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น งานแนวกึ่งสัญลักษณ์กึ่งเหนือจริง อย่างคนบนต้นไม้ ถนนสายที่นำไปสู่ความตาย และรถไฟเด็กเล่น เป็นต้น
ช่วงเวลาถัดมาหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่เรียกว่า ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน วรรณกรรมในยุคนี้จึงมีลักษณะเด่นชัดคือ งานเขียนประเภทเรื่องสั้น เพื่อนำเสนอแนวคิดได้กะทัดรัดและรวดเร็ว ตามวัตถุประสงค์ในการเผยแพร่แนวคิดออกสู่ประชาชนในวงกว้าง งานวรรณกรรมที่ขายดีจะเป็นงานประเภท สะท้อนภาพสังคม ต่อสู้กับระบบเผด็จการ รวมไปถึงเนื้อหาแนวเปิดโปงขุดคุ้ยการทุจริตในแวดวงต่างๆ งานเขียนในยุคนี้จึงถูกเรียกโดยรวมว่า วรรณกรรมเพื่อประชาชน
ท้ายสุดแล้ว ตัวอักษรหรือประโยคในหนังสือล้วนมีเรื่องราวมากมายถูกซ่อนเอาไว้อยู่ จากการเรียนรู้ความเป็นวรรณกรรมแนวก้าวหน้า สู่วรรณกรรมเพื่อประชาชนในครั้งนี้ ทุกคนคงเห็นกันถึงบทบาทและความสำคัญของวรรณกรรมในแต่ละช่วงเวลาแล้วว่า มันต่างก็มีคุณค่าและสะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ตามแต่ละยุคสมัยในตัวมันเอง
แล้วคุณมีวรรณกรรมไทยเรื่องโปรดในดวงใจกันบ้างหรือเปล่า?
อ้างอิงจาก
คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร, ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย พิมพ์ครั้งที่ 14 (กรุงเทพฯ: มติชน, 2022).