ในช่วงเย็นของวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีออกประกาศว่าประเทศไทยต้อง ‘เปิดประเทศ’ ทั้งหมดได้ภายใน 120 วัน
ท่ามกลางสถานการณ์ไม่สู้ดีนักของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การประกาศที่เรียกได้ว่าฉับพลันกะทันหัน ตามมาด้วยปฏิกิริยาตอบรับจากประชาชนที่เปี่ยมหวังว่าการเปิดประเทศครั้งนี้จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากซบเซามาแรมปี หรือบางส่วนก็ไม่เชื่อแม้กระทั่งว่าคำสัญญานี้จะเกิดขึ้นได้จริง
ทว่าไม่ทันครบ 30 วันหลังการประกาศครั้งนั้น ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2564 สภาวะ ‘กึ่งล็อกดาวน์’ และ ‘เคอร์ฟิว’ จากคำสั่งปิดกิจการและสถานที่ต่างๆ ก็กลับมาเข้มข้นอีกครั้ง ความหวังในการกลับมาประกอบอาชีพของกลุ่มอาชีพอย่างนักดนตรี ที่ได้รับผลกระทบทางตรงจากมาตรการปิดกิจการตั้งแต่ช่วงแรกจึงดูเลือนลางเข้าไปทุกที
ไม่กี่สัปดาห์ถัดมา รัฐบาลก็ประกาศ ‘ล็อกดาวน์’ อีกครั้ง…
นับตั้งแต่การ ‘ปิดประเทศ’ เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2563 กลุ่มอาชีพแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบังคับให้หยุดงาน โดยอ้างว่าเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อนั้นคือกลุ่มนักดนตรี ที่ล้วนมีแหล่งรายได้หลักจากอีเวนต์ คอนเสิร์ต และร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ที่เปิดบริการในช่วงกลางคืน
หลายคนไร้การจ้างงานมาเป็นระยะเวลากว่าหนึ่งปีครึ่ง ชีวิตพวกเขาที่หลักลอย ไร้จุดปักชัดเจน และอาจถูกคลื่นลูกใหม่กระแทกได้ทุกเมื่อ พวกเขากำลังประคองชีวิตกันอย่างไร การประกาศครั้งนี้จุดประกายความหวังให้กับประกอบอาชีพนักดนตรีของพวกเขาได้แค่ไหน
“(เปิดประเทศ) เป็นไปไม่ได้หรอก ก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นไปไม่ได้ ไม่มีเลย”
คือคำตอบของ รังสิวัชร แย้มกสิกร (จ๊อบ) สมาชิกวง Hope the flowers วงดนตรีแนว Post-Rock อายุ 8 ปีที่มีผลงานออกขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เขาและสมาชิกอีกคนในวงอย่าง ณรงค์ฤทธิ์ อิทธิพลนาวากุล (ฮอน) เล่าถึงช่วงเวลาหนึ่งปีกว่าที่ผ่านมา พวกเขาพบอุปสรรคในการประกอบอาชีพที่รักอะไรบ้าง และปรับตัวเพื่ออยู่รอดเช่นไร
โดยในช่วงเวลาที่การแสดงดนตรีในพื้นที่สาธารณะเป็นเรื่องต้องห้าม พวกเขาปรับตัวในการทำงานให้เข้ากับความปกติใหม่ (New Normal) ด้วยการย้ายจากการแสดงบนเวทีต่อหน้าผู้ชม เป็นการแสดงต่อหน้ากล้องวิดีโอที่เชื่อมต่อเข้ากับระบบการแสดงแบบไลฟ์สตรีมมิง (live-streaming) ที่ผู้เข้าชมสามารถบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนศิลปินเหล่านี้ เป็นการเพิ่มรายรับให้กับวงในอีกทางหนึ่งทดแทน
รวมไปถึงระหว่างการล็อกดาวน์ในช่วงปีพ.ศ. 2563 วง Hope the flowers ทำการ ‘สวนกระแส’ การตลาดกลางวิกฤติโรคระบาดที่ผู้คนจำนวนมากต่างหยุดหรือว่าชะลอทุกกิจกรรม โดยการออกอัลบัมใหม่อย่าง Sonorous Faith PT.1 แต่ก็ใช่ว่ารายได้จากการออกอัลบัมในครั้งนั้นจะช่วยประคองชีวิตผ่านคำสั่งเปิด-ปิดสถานที่ในระลอกสอง สาม และสี่ที่ตามมาได้
เตรียมตัวเท่าไหร่ก็ไม่พอ
ไม่ใช่เพียงแค่การขยับช่องทางในการแสดงดนตรี สำหรับณรงค์ฤทธิ์ที่ประกอบอาชีพนักดนตรีเต็มตัวมาตลอด เขาต้องเบนลำดับความสำคัญไปยังธุรกิจห้องคาเฟ่อย่าง Ageha Café ที่ตั้งอยู่ในเขตสวนหลวง โดยในช่วงแรกนั้นสามารถสร้างรายได้ให้ประมาณครึ่งหนึ่งของการรับงานดนตรี แต่แล้วประกาศห้ามรับประทานอาหารภายในร้านก็เป็นอีกครั้งที่รัฐปิดช่องทางการหารายได้ของประชาชน
“ผมก็สูญเสียแทบจะทุกอย่างเลย เพราะว่าจริงๆ ผมอยู่มาได้ด้วยดนตรีของตัวเองนานมากเลยครับ คือก็ใช้งานจากการที่ขายอัลบัมนี่แหละครับ ประคองชีวิตตัวเอง อะไรอย่างนี้ ก็สร้างธุรกิจ ขายเสื้อผ้ามือสอง ทำคาเฟ่ ทำทุกอย่าง เพื่อที่จะหาเงิน เพิ่ม income การลงทุนเหรียญ (Cryptocurrency) หรือว่าอะไรก็เอาหมดเลย อะไรที่ทำให้เงินงอกเงยก็ทำ”
ณรงค์ฤทธิ์กล่าว
จังหวะชีวิตที่เรียกได้ว่าถูกแช่แข็งโดยสิ้นเชิงจากคำว่า ‘รอให้ทุกอย่างเข้าที่ก่อน’ ส่งผลต่อสภาพจิตใจของณรงค์ฤทธิ์พอสมควร
ความกังวลและกดดันจากการหารายได้ ยังส่งผลให้เขาต้องประคองไม่ให้สุขภาพจิตถูกความเครียดกัดกินในช่วงเวลาที่ไร้คนจ้างงาน ด้วยการกำหนดเป้าหมายที่จะทำในแต่ละวันเพื่อที่ลดช่วงเวลาจมอยู่กับความคิด เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งจุดที่รัฐบาลไม่เคยมองเห็นว่าการเยียวยาที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้ที่ตกอยู่ใต้ภาวะไร้งานและไม่มีรายได้ไม่น้อย
ท่ามกลางการใช้ชีวิตบนนโยบายการเฝ้าระวังการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 การประกาศเรื่องการควบคุมพื้นที่สูงสุดที่ไม่มีความชัดเจนทั้งในด้านของนโยบายการนั่งทานในร้านและช่วงเวลาการเปิดให้บริการ นำไปสู่ความไม่แน่นอนในการบริหารคาเฟ่ว่าสามารถจะเปิดต้อนรับลูกค้าได้หรือไม่หรือว่าเปิดรับลูกค้าได้แค่ไหน จนร้านกาแฟไม่สามารถตอบโจทย์สำหรับการหารายได้ของณรงค์ฤทธิ์มากนัก จนเรียกได้ว่าตอนนี้ปิดร้านไปเลยก็ยังดีกว่า
การปรับตัวของพวกเขายังรวมไปถึงการรับงานเสริมเช่นงานตัดต่อหรือว่าโปรดักชัน การผลิตสินค้าประเภทอื่นออกจำหน่ายระหว่างที่ไม่สามารถรับงานดนตรีได้ อย่างเช่นร่วมมือขายเมล็ดกาแฟกับไร่ที่จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงการเข้าไปสำรวจกระแสตลาดของวัยรุ่นว่าในช่วงเวลานี้เป็นอย่างไร จนมีการผลิตเทียนหอมขายเป็นลำดับถัดมา
ซึ่งโดยเนื้อแท้นั้นการขายสินค้าเหล่านี้ควรเป็นรายได้ที่นำเข้ากองทุนสำหรับทำอัลบัม แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก ทุกวันนี้ณรงค์ฤทธิ์ก็ต้องหยิบยืมเงินในส่วนนั้นมาใช้ต่อสายป่านชีวิตในลักษณะของวันต่อวัน
สำหรับในส่วนของการซ้อมดนตรีสำหรับเตรียมความพร้อมเปิดการแสดงนั้น พวกเขาลงรายละเอียดให้ฟังเพิ่มเติมว่าช่วงต้นปีที่ผ่านมาเมื่อรัฐบาลคลายพื้นที่ควบคุม ทางวงเองก็มีการนัดซ้อมสำหรับการกลับมาแสดงต่อหน้าผู้ชมอีกครั้ง หากคำสั่งควบคุมพื้นที่การแพร่ระบาดภายหลังที่เรียกได้ว่าเป็นการปิด-เปิด-ปิด จนไม่รู้ว่าจะสามารถออกงานแสดงได้จริงหรือไม่ ในท้ายที่สุดก็ทำให้พวกเขาตัดสินใจหยุดทั้งตารางการซ้อมและแผนของการออกอัลบัมใหม่อย่างไม่มีกำหนด
แรงงานยามค่ำคืน
ประกาศห้ามแสดงดนตรีที่เหมือนว่าจะกินเวลาเพียงแค่ระยะหนึ่ง กลับกลายเป็นว่าล่วงเลยยาวมานานถึงหนึ่งปีครึ่ง จากคนที่มีชีวิตอยู่กับดนตรีอยู่เสมอ ณรงค์ฤทธิ์ยอมรับว่าทุกวันนี้ในบางครั้งเขาก็ลืมว่าตัวเองเป็น ’ศิลปิน’ หากเป็นเพียง ‘หนึ่งในแรงงานของอาชีพกลางคืน’
“คือผมลืมคำว่าศิลปินไปแล้ว แบบลืมแล้วจริงๆ นะ มันด้วยความที่เรารู้เลยว่าการเป็นอาชีพศิลปินในประเทศนี้มันยากอะ แล้วเราก็ไม่รู้ว่าเราเป็นศิลปินอยู่จริงๆ หรือเปล่าด้วย เรารู้แค่ว่าเราเป็นคนที่อยากเล่นดนตรี เป็นแรงงานคนหนึ่งที่รู้สึกว่าหยิบกีตาร์มา แล้วก็รับใช้พวกคุณ”
ณรงค์ฤทธิ์อธิบายความหมายของคำว่าแรงงานที่เล่นดนตรีต่อไปว่า หากนิยามคำว่าอาชีพศิลปิน ก็ควรจะรู้สึกว่าดนตรีหรือการแสดงนั้นมันมีความหมายไม่ว่าจะกับตัวเองหรือว่าคนอื่น รวมถึงควรที่จะมีโมเดลในการสนับสนุนการทำงานของบุคคลเหล่านี้ อย่างเช่นมีกองทุนช่วยเหลือศิลปิน มีอคาเดมี หรือมีมิวสิคยูเนียนที่ช่วยกันประคับประคองคนร่วมอาชีพในยามที่ลำบาก คอยส่งเสริมสิ่งจรรโลงใจให้กับสังคมนี้
ขณะที่มองย้อนกลับมาในประเทศไทยนั้นสิ่งเหล่านี้อาจเรียกได้ว่าไม่มีอยู่จริง เหมือนเขาเป็นแค่แรงงานคนหนึ่งที่หยิบกีตาร์ขึ้นมาทำการแสดง แล้วก็รอรับเงินค่าจ้างเป็นสิ่งตอบแทนเพื่อต่อชีวิตไปอีกวัน ไม่มีการคุ้มครองหรือว่าสนับสนุนใดเพื่อเป็นแรงผลักดันให้เขาสร้างสรรค์ผลงานใหม่ชิ้นถัดไป
เอาแค่วันต่อวัน ยังไม่ต้องคิดถึง 120 วัน
จากการประกาศเปิดประเทศที่ควรจะสร้างความมั่นใจและกระตุ้นระบบเศรษฐกิจ ทั้งณรงค์ฤทธิ์และรังสิวัชรอธิบายให้ฟังว่าเพราะอะไรประกาศฉบับนี้จึงไม่มีความหมายและไม่สร้างความหวังให้กับพวกเขา
ที่ผ่านมารัฐบาลมอบเพียง ‘ความไม่รู้’ มาตลอด
ไม่รู้ว่าจะต้องหยุดเล่นดนตรีไปถึงเมื่อไหร่ ไม่รู้ว่าประกาศพื้นที่สีแดงครอบคลุมพื้นที่ใด ไม่รู้ว่าวัคซีนสำหรับป้องกันไวรัสจะมาในไตรมาสไหน ไม่รู้แม้กระทั่งว่า 120 วันตามที่อ้างนี้เริ่มต้นจากวันที่เท่าไหร่ รัฐบาลที่มอบแต่ความไม่แน่นอนให้กับประชาชนทำให้พวกเขาไม่เคยเชื่อถือและคาดหวังกับคำมั่นสัญญาของนายกรัฐมนตรี จนอาจเรียกได้ว่าพวกเขาไม่ได้มองอนาคตในอีกราวๆ สี่เดือนว่าจะเต็มไปด้วยสดใส รวมถึงไม่คิดวางแผนว่าเราจะเตรียมตัวอย่างไรเพื่อรอคอยการเปิดประเทศ
เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุด ณ เวลานี้คือการเอาชีวิตรอดให้ได้ในวันพรุ่งนี้
“มันกลายเป็นว่า 120 วันนี้ เราต้องทำยังไงให้ชีวิตรอดแบบ ไม่ตายอะ …เริ่มตอนไหนก็ได้ ผมไม่แคร์แล้ว อาจจะแบบ 120 วัน นับแต่วันทำการ ไม่นับวันหยุดราชการ เสาร์อาทิตย์”
ต้นทุนที่สู้ไม่ได้
นอกจากโอกาสที่เสียไปในเส้นทางดนตรี รายจ่ายที่ยังคงอยู่ในชีวิตประจำวัน ก็เป็นราคาอีกส่วนที่นักดนตรีต้องจ่าย
นิษฐ์รพี วรรณโกสีย์ (มอญ) มือเบสจากวง The cloud collector เล่าว่าที่ใครต่างบอกว่า ‘นักดนตรีต้องปรับตัว’ เขาได้ทำอะไรบ้างเอาชีวิตรอดในช่วงหนึ่งปีกว่าที่ผ่านมาบ้าง สูญเสียสิ่งใดไประหว่างทาง แล้วเพราะอะไรเขาเองก็เป็นอีกหนึ่งเสียงที่มีความเห็นว่าไม่ได้คาดหวังกับประกาศเปิดประเทศในครั้งนี้
โดยช่วงก่อนการประกาศห้ามเล่นดนตรีภายในร้าน ชีวิตของเขาเรียกได้ว่าอยู่ในช่วงขาขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการว่าจ้างอย่างต่อเนื่องจากบริษัทแห่งหนึ่ง ที่ไม่ได้ป้อนแค่ในส่วนการเล่นดนตรีตามงานอีเวนต์หรือสัมมนาต่างๆ ภายในประเทศเท่านั้น แต่บริษัทยังเชื่อมือจนจ้างให้ไปเล่นดนตรีในงานสัมมนาต่างประเทศอีกด้วย
เมื่อรัฐบาลออกประกาศห้ามแสดงดนตรีโดยอ้างว่าเพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โอกาสทองเหล่านี้ก็หายไปพร้อมกับความเงียบเหงาจากการจ้างงาน เมื่อรายได้หายแต่รายจ่ายในแต่ละเดือนยังคงเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าเช่าห้องพักหรือว่าค่าใช้จ่ายอื่น ทำให้นิษฐ์รพีจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อหารายได้ทางอื่นเพิ่มเติม
เขาปล่อยห้องคอนโดมิเนียมของตัวเองให้ผู้อื่นเช่า ส่วนตัวเองก็ขยับย้ายมาเช่าตึกสามชั้นที่สามารถเปิดกิจการขายกาแฟและอาหารบริเวณชั้นหนึ่งของร้านได้
“เราคิดว่าเราอยู่ข้างบนคอนโดอะ ถ้าไม่มีงานเลย แล้วมารองานดนตรีเราทำอะไรไม่ได้ …มันไม่มีเงินสำรอง เราก็เลยหาอะไรที่มันทำสำรองได้”
จากความสนใจส่วนตัวในเรื่องของเมล็ดกาแฟ การลงทุนเปิดร้านกาแฟ Until Morning และขายเครื่องดื่มในราคามิตรภาพจึงเริ่มต้นขึ้น ในช่วงแรกนั้นนิษฐ์รพีมองว่าการเปิดร้านนี้เป็นการแชร์กันดื่มระหว่างเขากับลูกค้าที่แวะเวียนเข้ามา สั่งเมล็ดกาแฟมาสิบหรือยี่สิบชนิดแล้วก็แบ่งกันเพื่อไม่ให้เมล็ดกาแฟเหล่านั้นเสื่อมสภาพไปก่อน
เขายังเล่าให้ฟังต่อเนื่องว่าเป้าหมายหลักในการขายคือการต่อสู้กับเครื่องดื่มในร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมง เจ้าของร้านกาแฟมือใหม่เชื่อว่าหากสามารถขายเครื่องดื่มที่อัดแน่นไปด้วยคุณภาพเหล่านั้น ในราคาที่ห่างจากราคาขายหน้าร้านสะดวกซื้อไม่มากนัก ธุรกิจนี้ก็น่าจะรอดได้
อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจในรอบปีที่ผ่านมาทำให้เขาตกตะกอนว่ามันไม่มีทางสู้กับระบบของธุรกิจกินรวบ ที่สามารถกดราคาทุนของวัตถุดิบทุกชนิดให้ต่ำที่สุด ในขณะที่กำไรหลังหักลบเรื่องต้นทุนของนิษฐ์รพีไม่เพียงพอแม้แต่กับค่าเช่าที่ จนตอนนี้เขาตัดสินใจลงประกาศเซ้งร้านนี้และกำลังมองหาสถานที่ใหม่สำหรับการประกอบอาชีพ
การบอกลาที่เร็วเกินไป
ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของการย้ายที่อยู่อาศัยเพื่อประกอบอาชีพอื่นเพิ่มเติม การใช้ชีวิตในแต่ละเดือนที่ผ่านไปโดยมีเพียงรายจ่าย ในระหว่างที่ไร้รายรับเพราะไม่สามารถรับงานดนตรีได้ทำให้นิษฐ์รพีตัดสินใจขายทรัพย์สินส่วนตัวอย่างรถยนต์ทั้งสองคันของเขาด้วย ซึ่งคันหนึ่งเขาใช้มาตั้งแต่เริ่มทำงานขายเสื้อผ้ามือสอง ส่วนอีกคันนั้นเรียกได้ว่าเป็นรถยนต์ในฝันที่เพิ่งซื้อมาในช่วงปีพ.ศ. 2561 เป็นคันที่เขาตามหามานาน รวมถึงมีการปรับแต่งดูแลเป็นอย่างดี
“ทำยังไงให้มันเซฟชีวิตที่สุด ตอนที่ขายรถคันแรกเงินเหลืออยู่ในบัญชีประมาณ 30,000 มั้ง แล้วก็ตอนขายคันที่สองเหลืออยู่ประมาณ 15,000 แล้ว”
เขายังเสริมอีกว่า ถ้าไม่นับเรื่องเงินที่ได้จากการขายรถทั้งสองคัน ตอนนี้เงินต้นในบัญชีของเขามีเหลือเพียง 5,000 บาทเท่านั้น
หรือสำหรับในบางกรณี นิษฐ์รพีเล่าว่าคนรอบตัวจำใจต้องประกาศขายแม้กระทั่งอุปกรณ์ในการเล่นดนตรี
“มันเจ็บปวด ขายของทำมาหากิน เพราะว่าตอนนี้นักดนตรีมันก็ลำบากกันหมด ขายก็ขายยากนะ ขายใครอะ แต่สำหรับคนที่ไม่มีอะไรจะขายแล้ว เขาก็ต้องขายแม้แต่เป็นชิ้นที่เขารักที่สุด น้องในวงเราก็ขายกีตาร์ที่รักที่สุดไป”
เจ๊งแล้วเจ๊งอีก
ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนอาชีพชั่วคราว หรือสำหรับนักดนตรีบางคนอาจจะเป็นการเบนสายถาวร การขายทรัพย์สินส่วนตัวหรือว่าอุปกรณ์การเล่นดนตรีที่เรียกได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญลำดับต้น ปัจจัยหลักของการตัดสินเหล่านี้เกิดขึ้นคงไม่พ้นเรื่องการเอาชีวิตรอด
เช่นนั้น ทำไมกลุ่มของคนดนตรีถึงถูกทอดทิ้งมาตั้งแต่แรกเริ่มเกิดปัญหาการแพร่ระบาดจนถึงปัจจุบัน เพราะอะไรรัฐบาลไม่ได้มีการเยียวยาเพื่อต่อชีวิตกับคนกลุ่มนี้ นิษฐ์รพีให้ความเห็นว่า
“จะลงมาแก้ปัญหาเนี่ย คุณต้องมองตัวเองว่าคุณโตมายังไงก่อน ถ้าเกิดคุณโตมาในค่ายทหาร คุณจะไม่สามารถเก็ตความรู้สึกของการเป็นนักดนตรีได้เลยเว้ย คุณไม่สามารถเก็ตความรู้สึกของคนที่นั่งแกะเพลงทั้งวัน คนที่นั่งฝึกสกิลทั้งวัน วันละสี่ชั่วโมงห้าชั่วโมง เพื่อที่จะวันหนึ่งจะได้ออกไปทำงาน คุณไม่เก็ต”
เขาให้ความเห็นต่อว่า เมื่อรวมเข้ากับวิธีการทำงานในช่วงปีที่ผ่านมาของรัฐบาลที่เรียกได้ว่า ’ไม่น่าเชื่อถือ’ อย่างเช่นการประกาศเรื่องของการห้ามนั่งทานในร้านกะทันหัน หลังจากที่เพิ่งผ่อนปรนนโยบายให้นั่งในร้านได้ 50% ไม่นาน จนกลายเป็นว่าแม้นิษฐ์รพีจะมีการปรับเปลี่ยนไปประกอบอาชีพเปิดร้านกาแฟแล้วก็ตาม นโยบายของรัฐก็ไม่เอื้อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปอย่างราบรื่นอยู่ดี และนั่นเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่เขาไม่รู้สึกคาดหวังอะไรกับการเปิดประเทศ
“คนมันจะเจ๊งได้อีกกี่ครั้งในชีวิตกันวะ แม่ง เจ๊งบ่อยๆ เหนื่อยนะเว้ย”
ยังคงเฝ้ารอ
ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก และอาชีพนักดนตรีไม่ได้มีความมั่นคงในทางการเงิน หากวันหนึ่งที่สามารถกลับไปยืนอยู่บนเวทีรอเวลาที่จะได้เฉิดฉายท่ามกลางผู้ฟังอีกครั้ง นิษฐ์รพีก็ยังคงยึดมั่นในสิ่งที่เขารัก
“ยังอยากกลับไป มันคือสีสันของชีวิตเลยอะ มันเหมือนชีวิตชีวา เหมือนคนรอวันซื้อหวย เหมือนคนรอดูละครที่เขาชอบอะ ฟีลลิงคล้ายกันเลย เราไม่เก็ตหรอก ว่าทำไมป้าข้างบ้านติดหวยจังวะ ติดละครจังวะ เพราะว่าชีวิตเขา สีสันมันทำงานไม่ได้เยอะเท่ากับสิ่งเล็กๆ ที่มันเติมแต่งชีวิตเขาได้ นักดนตรีก็เหมือนกัน นั่นมันคือสีสันของชีวิตเขา”
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่ลองผ่านมาแล้วหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานเงินเดือนหรือว่าเป็นเจ้าของร้านอาหารตามสั่ง การที่ได้อยู่กับอะไรที่เราค้นพบแล้วว่าเราเกิดมาเพื่อสิ่งนั้นคือสิ่งที่ดีที่สุด เหมือนที่นิษฐ์รพีพบว่าเกิดมาเพื่อเล่นดนตรี
เสียงของเพื่อนนักดนตรีที่หายไป
ในขณะเดียวกันนักดนตรีบางคนก็ยังคงพอมีต้นทุนชีวิตในการพ้นผ่านช่วงยากลำบากนี้ได้
ช่วงแรกที่มีคำสั่งห้ามเล่นดนตรีนั้นสำหรับ ธีรวัฒน์ เอี่ยมวงศ์วาน (ธี) ผู้ประกอบอาชีพนักดนตรีเต็มเวลา เล่าว่ามันคล้ายกับการได้พักผ่อนระยะสั้น อารมณ์เดียวกันกับการปิดเทอมในสมัยเรียน ทว่าเมื่อช่วงเวลายาวนานขึ้น ก็เริ่มทำให้จิตใจเขาแย่ลง
“เนื่องด้วยเวลาปิดที่มันนาน มาสักพักล่ะ ผมว่ามันทำให้แบบ ก็ขวัญเสียได้อยู่เหมือนกัน ด้วยระยะเวลากับรายได้ที่หายไป ทำให้รู้สึกแย่ไปเรื่อยๆ ครับ”
ยังจะเรียกว่าเป็นโชคดีของธีรวัฒน์อยู่ก็ได้ ในด้านภาระส่วนตัวเขาแตกต่างจากเพื่อนในวงการนักดนตรีพอสมควร ไม่มีภาระค่าใช้จ่ายเรื่องบ้านหรือว่ารถที่ต้องผ่อน ทำให้เรียกได้ว่าชีวิตการประคองตัวในช่วงไร้งานนั้นมีระดับความกังวลที่น้อยกว่าหลายคนในแวดวงเดียวกัน
ถึงอย่างไรก็ตาม เพื่อนหลายคนของธีรวัฒน์ยังคงมีภาระค่าใช้จ่ายประจำในทุกเดือนจนต้องเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่นในช่วงเวลานี้ รวมถึงไม่ทราบว่าภายหลังจากที่นักดนตรีสามารถกลับมาแสดงสดได้แล้วนั้นพวกเขาเหล่านี้จะกลับมาหรือไม่
“ผมเสียจริงๆ คือผมเสียโอกาสในการประกอบอาชีพผม ซึ่งอาชีพผมมันเป็นเรื่องของการได้ยิน เหมือนกับว่าเป็นนักดนตรีมันก็อยากได้เสียงจากเพื่อนที่เล่นดนตรีด้วยกัน เสียโอกาสที่จะได้ทำ ได้เจอกับนักดนตรีคนอื่นๆ มันหายไป”
และสำหรับเพื่อนนักดนตรีบางรายที่ตัดสินใจเลิกประกอบอาชีพด้านดนตรีถาวร ธีรวัฒน์มองว่ามันไม่ต่างอะไรกับการตายจากกันไปตลอดกาล
คอร์ดยากไป ไม่มีใครซื้อ
แม้นักดนตรีจำนวนหนึ่งจะปรับตัวเพื่อความอยู่รอดโดยการขายสินค้าประเภทอื่นเพื่อเสริมรายได้ หรือว่าเปิดกิจการร้านกาแฟ ความน่าสนใจหนึ่งอย่างคือลักษณะอาชีพเหล่านั้นเรียกได้ว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับดนตรีหรือเสียงเพลงเลยแม้แต่น้อย
เช่นนั้นทำไมนักดนตรีเหล่านี้จึงเลือกที่จะกระโดดมาทำงานข้ามสายอาชีพ นอกจากอาชีพนักดนตรีแล้วมีอาชีพใกล้เคียงหรือว่าต่อยอดจากเสียงเพลงได้หรือไม่
ธีรวัฒน์จุดประเด็นเรื่องของความแคบในวงการดนตรี ที่นักดนตรีมักจะถูกผูกติดอยู่กับการเล่นดนตรีเป็นหลัก และความยากของการเอาตัวรอดในวงการนี้ก็ยิ่งมากขึ้นไปอีกหากดนตรีที่เล่นมีลักษณะเป็นเพียง ‘กระแสรอง’ ที่ส่งผลต่อความสนใจของผู้ฟัง
เมื่อดนตรีขายไม่ได้ก็ต้องเบนหรือปรับไปหาเส้นทางที่สามารถพาไปหารายได้ได้จริง ปัญหาเหล่านี้นำไปสู่การลดถอยขาดหายของความหลากหลายทางดนตรี แม้ว่าจะมีนักดนตรีจำนวนมากที่มีแรงปรารถนาในการพัฒนาวงการนี้ให้ดีขึ้นไป
“อยากเรียนดนตรีเพราะว่าอยากทำให้ดนตรีมันดีขึ้นเนี่ย ผมไม่เชื่อว่ามันเป็นผมคนเดียวที่รู้สึกอย่างนี้นะ ผมเห็นหลายๆ คนเห็นรุ่นน้องผมก็รู้สึกคล้ายๆ ผมเยอะเหมือนกัน เราถูกแช่แข็งทางวัฒนธรรมทางศิลปะมานานมากแล้วครับ”
โดยธีรวัฒน์ยกตัวอย่างอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของดนตรีอย่างเช่นนักเขียนคอร์ด โดยทั่วไปหนึ่งบทเพลงจะสองส่วนประกอบหลักคือทำนองและเนื้อร้อง แต่วงการนักดนตรีไม่มีพื้นที่ให้กับนักสร้างทำนองสักเท่าไหร่
เมื่อนักเขียนคอร์ดสร้างหรือคิดคอร์ดดนตรีขึ้นมาใหม่ ต่อให้เขาเหล่านั้นเป็นกลุ่มคนที่เรียนและทำงานกับเรื่องคอร์ดดนตรีมาโดยตรง จะมีความเชื่อว่าคอร์ดชุดนี้มีความโดดเด่น สามารถขายให้กับโปรดิวเซอร์หรือว่าห้องอัดได้อย่างแน่นอน กลับกลายเป็นว่าในขั้นตอนสุดท้ายแล้วมันก็ยังมีอุปสรรค อย่างประเด็นของคอร์ดที่ ‘เล่นยาก’ จนไม่มีใครในวงการดนตรีสนใจซื้อ นำไปสู่การวนเลือกคอร์ดที่มีอยู่เดิมแล้วจนเป็นการใช้ซ้ำ
กลับกลายเป็นว่าต่อให้นักดนตรีนั้นต้องการที่จะพัฒนาต่อยอดความรู้และสิ่งที่เล่าเรียนมาแค่ไหน สุดท้ายแล้วความแคบของวงการดนตรีก็ไม่มีพื้นที่ให้นักเขียนคอร์ดเหล่านี้ในวงการเพลง จนต้องเบนไปอยู่ในรูปแบบของนักดนตรีหรือว่าเป็นนักทำคอร์ดขนาดสั้นเพื่อประกอบโฆษณา นี่ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้วงการดนตรีนั้นไม่ได้พัฒนาเท่าที่ควร
ในเมื่อประเทศนี้ไม่เปิดโอกาสให้นักดนตรีได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่และรอบด้าน ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พวกเขาจะต้องหาอาชีพเสริมที่ดูแล้วไม่ได้มีความเกี่ยวข้องหรือยึดโยงกับดนตรีมากเท่าไหร่นัก
ธีรวัฒน์กล่าวว่าไม่ใช่แค่รัฐบาลนี้เท่านั้น หากประเทศไทยเพิกเฉยกับความสำคัญด้านดนตรีมานานมากแล้ว การปลูกฝังเรื่องความสำคัญของดนตรีที่ยังไม่มากพอจนรัฐไม่มีวิสัยทัศน์ว่าเพราะอะไรถึงต้องสนับสนุนดนตรี ซึ่งมักสะท้อนมาในรูปแบบของการที่รัฐไทยไม่มีแม้กระทั่งพื้นที่สำหรับการแสดงผลงานของนักดนตรีเสียด้วยซ้ำ โดยสามารถพิสูจน์ได้จากคำถามว่าสถานที่สาธารณะที่ใช้รองรับการแสดงดนตรีตั้งอยู่ที่ไหนบ้าง
คำตอบคือไม่มี…
เช่นนั้นประเทศนี้ไม่มีผู้สนับสนุนด้านดนตรีเลยหรือ คำตอบคือ “ไม่ใช่” หากผู้สนับสนุนเงินทุนและสถานที่การแสดงในแต่ละครั้งนั้นมีเป้าหมายในทางธุรกิจอย่างชัดเจน
เพราะดนตรีต้องพึ่งธุรกิจมึนเมา
ปัญหาทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการไม่สามารถเล่นดนตรีได้จนต้องหาอาชีพเสริมทดแทน หรือว่าจะเป็นเรื่องของความแคบในวงการดนตรี มันวนกลับมาที่จุดกึ่งกลางคือเรื่องของรายได้ที่มนุษย์ทุกคนต่างปรารถนาสำหรับการเอาชีวิตรอด
เมื่อ ‘เงิน’ เป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิต แล้วเช่นนั้น ‘ใคร’ เป็นผู้สนับสนุนเงินทุนให้วงการดนตรียังมีพื้นที่การแสดงผลงานอย่างต่อเนื่อง
ธีรวัฒน์ชี้ให้เห็นว่าในเมื่อรัฐไม่เคยเข้ามาให้ค่าหรือว่าให้ความสำคัญกับเรื่องดนตรี ในปัจจุบันการปรากฏตัวของ ‘ผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ’ อย่างบริษัทจำหน่ายเครื่องดื่มมึนเมาจึงเกิดขึ้นและเข้ามามีบทบาทกับวงการดนตรีอย่างมีนัยสำคัญ
“ผมว่าทุกคนชินไปแล้วด้วยซ้ำว่า เอ้ย… บริษัทพวกนี้จัดงานดนตรี เหมือนเราไปช่วยเขาขายของ”
จนกลายเป็นว่าภาพจำของวงการดนตรีนั้นมักจะผูกอยู่กับ ‘พึ่งบารมี’ ของบริษัทเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานแสดงในระดับใดก็มักจะมีชื่อของบริษัทเอกชนเหล่านี้ปรากฏในฐานะ ‘สปอนเซอร์’ อยู่เสมอ ตั้งแต่การแสดงดนตรีสเกลใหญ่ การนำเอาศิลปินมีชื่อเสียงมาขึ้นมาเวทีเพื่อดึงดูดความสนใจไปพร้อมกับการขายเครื่องดื่ม กระทั่งการจัดแสดงดนตรีมักจะเป็นการจัดงานตามร้านเหล้าหรือว่าร้านอาหาร
เมื่อรู้สึกตัวอีกครั้ง นักดนตรีทั่วไปที่เล่นประจำร้านเหล้าเหล่านี้ก็ล้วนถูกขับเคลื่อนไปด้วยเงินจากธุรกิจเครื่องดื่มมึนเมา จนกลายเป็นว่านักดนตรีนั้นถูกเชือกที่มองไม่เห็นมัดโอกาสในการแสดงความสามารถให้อยู่ใต้กรอบทุนของบริษัทเหล่านั้น
และเมื่องานแสดง หรืออีเวนต์เหล่านี้หายไปเพราะสภาวะโรคระบาด งานจำนวนมหาศาลก็หายไปจากระบบ นักดนตรีที่เรียกได้ว่าเป็นสุดสายของห่วงโซ่นี้ก็ล้มตามไปด้วยอย่างหลีกหนีไม่ได้
ในวันที่นักดนตรีพบความยากลำบากในการประคองชีวิตลักษณะของวันต่อวัน การก่อร่างสร้างตัวธุรกิจใหม่ ความเจ็บปวดซ้ำซ้อนจากการบริหารงานของรัฐบาลที่ทั้งทอดทิ้งและหันหลังให้กับคนกลุ่มนี้ เหยียบย่ำทุกความคาดหวังจนไม่เหลือแม้แต่สักเศษเสี้ยวความเชื่อมั่นว่าประเทศนี้สามารถคืนอาชีพให้กับพวกเขาได้
อย่างไรก็ตาม หนึ่งคำตอบที่เป็นเสียงเดียวกันคือหากถึงวันหนึ่งที่รัฐอนุญาตให้กลับมาแสดงดนตรีได้อีกครั้ง พวกเขาก็ยังยึดมั่นในอาชีพนี้เพราะมีความเชื่อว่าอยากใช้ชีวิตอยู่กับเสียงดนตรีที่รัก
จะเป็นไปได้หรือไม่ถ้าวันหนึ่งรัฐจะเป็นผู้โอบอุ้ม สร้างหลักประกันหรือว่าการสนับสนุนให้นักดนตรีสามารถเล่นดนตรีในพื้นที่สำหรับดนตรี ไม่จำเป็นต้องเป็นส่วนหนึ่งของร้านอาหารหรือว่ากิจการเครื่องดื่ม ปลดปล่อยให้เขาเป็นอิสระอย่างแท้จริงทั้งในเรื่องของการทำเพลงและการแสดงออก
ภาพมุมกว้างของการคงอยู่ของอาชีพนักดนตรีจึงไม่ใช่เรื่องของความสำเร็จในการเปิดประเทศได้ใน 120 วันอีกต่อไป แต่ทำอย่างไรนักดนตรีเหล่านี้จึงสามารถดำเนินชีวิต ได้รับการสนับสนุนให้ทำสิ่งที่รักได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกทอดทิ้งหรือว่าตกอยู่ใต้เงื่อนไขทางธุรกิจบางอย่างในระยะยาว
ไม่รู้ว่าเสียงดนตรีของพวกเขาต้องดังเพียงใด รัฐถึงจะได้ยินความเจ็บปวดของพวกเขาเสียที