วัคซีน COVID-19 กลายเป็นประเด็นใหญ่ทางการเมืองในวันนี้
เมื่อธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ออกมาตั้งข้อสังเกตเรื่องการจัดหาวัคซีน COVID-19 ของรัฐบาล จนผู้เกี่ยวข้อง ‘ดาหน้า’ ออกมาตอบโต้ ทั้งนายกรัฐมนตรี รมว.กระทรวงสาธารณสุข ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
ประธานคณะก้าวหน้าถามอะไร – และ – ผู้เกี่ยวข้องชี้แจงอย่างไร เหตุใดถึงต้องยกทีมออกมาชี้แจง
The MATTER ขอสรุปให้อ่านกันแบบเข้าใจง่ายๆ
คำถามของธนาธร
ธนาธรตั้งคำถามเรื่องการจัดหาวัคซีน COVID-19 ไว้ในคลิปความยาวครึ่งชั่วโมงที่ใช้ชื่อว่า ‘วัคซีนพระราชทาน: ใครได้-ใครเสีย?’ โดยอ้างถึงการจัดหาวัคซีน COVID-19 จำนวน 26 ล้านโดส ที่สั่งซื้อจาก บริษัท แอสตราเซเนกา จำกัด (AstraZeneca) ของอังกฤษ ที่จะจ้างบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด (Siam Bioscience) ผลิต ซึ่งมีชื่อของในหลวงรัชกาลปัจจุบัน ถือหุ้น 100%
ประวัติของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ก่อตั้งมาในปี พ.ศ.2552 เพื่อให้ “ประชาชนชาวไทยสามารถได้รับยาที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงในราคาที่ถูกลง” มีทุนจดทะเบียน 4,800 ล้านบาท เดิมถือหุ้นโดยบริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของสำนักงานทรัพย์สิน(ส่วน)พระมหากษัตริย์ทั้งหมด ก่อนจะเกิดความเปลี่ยนแปลงในเวลาต่อมา
- จัดหาวัคซีนล่าช้า-ไม่ครอบคลุม
ธนาธร วิพากษ์ว่ารัฐบาลจัดหาวัคซีน COVID-19 ล่าช้า ในขณะที่หลายประเทศเริ่มฉีดไปแล้ว
เขาระบุว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนเพื่อจัดหาวัคซีน COVID-19 ของไทย ได้อนุมัติแผน blueprint ในการหาวัคซีนไปตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ.2563 แต่กว่าจะเริ่มเจรจาก็ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2563 ทำสัญญาจัดซื้อจากบริษัท แอสตราเซเนกา จำนวน 26 ล้านโดส ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2563 แล้วก็ไม่มีข่าวคราวการเจรจาเพื่อจัดซื้อวัคซีนใดๆ เพิ่มเติม ก่อนจะมาจัดซื้อจากบริษัท ซิโนแวค จำกัด (Sinovac) ของจีน เพิ่มเติมอีก 2 ล้านโดส ในเดือนมกราคม พ.ศ.2564 รวมเป็น 28 ล้านโดส ครอบคลุมประชากรเพียง 14 ล้านคน คิดเป็น 22% ของทั้งหมดเท่านั้น เทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น ไต้หวัน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ที่จัดซื้อวัคซีนจนครอบคลุมประชากร 42%, 45% และ 71% ตามลำดับ
[ หมายเหตุ: ธนาธร ยังไม่รวมมติ ครม. เมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ.2564 ที่ให้จัดหาวัคซีนเพิ่ม 35 ล้านโดส เพราะยังไม่มีการเซ็นสัญญากับบริษัทใด ]
- ‘แทงม้าตัวเดียว’ เพื่อประโยชน์การเมืองหรือไม่
ธนาธรเปรียบเทียบการจัดซื้อวัคซีน COVID-19 ล็อตใหญ่จาก บริษัท แอสตราเซเนกา จำกัด ที่ผลิตโดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด โดยใช้คำว่า ‘แทงม้าตัวเดียว’
เขายังอ้างถึงแผนนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ ปี พ.ศ.2563-2565 ที่มีการระบุชื่อ 7 องค์กรที่มีศักยภาพ ในการพัฒนาต่อเพื่อให้เกิดความมั่นคงวัคซีนในประเทศ ได้แก่
- สถานเสาวภา สภากาชาดไทย
- บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด
- องค์การเภสัชกรรม
- บริษัทร่วมทุน ระหว่างองค์กรเภสัชกรรม กับบริษัท เมอร์ริเออร์ ชีววัตถุ จำกัด
- ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล
- โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี
- สถาบันวัคซีนแห่งชาติ
ซึ่งจะเห็นได้ว่า ไม่มีชื่อบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ร่วมอยู่ด้วย โดยธนาธรไปดูข้อมูลงบการเงินของบริษัทนี้ย้อนหลัง 11 ปีนับแต่ก่อตั้ง และพบว่าขาดทุนสะสม 581 ล้านบาท “ไม่ประสบความสำเร็จในทางธุรกิจ”
ธนาธรตั้งคำถามว่า การพึ่งพาโครงสร้างแบบเดียวในการจัดหาวัคซีนให้กับคนไทย เป็นการตัดสินใจของฝ่ายบริหารที่เหมาะสมหรือไม่? เป็นเรื่องของคะแนนนิยมทางการเมืองมากกว่าจะหาข้อสรุปในการหาวัคซีนให้ได้ครอบคลุมมากที่สุดหรือไม่?
- การขัดกันของผลประโยชน์
ประธานคณะก้าวหน้า ยังตั้งข้อสงสัยอีกประเด็นว่า การที่บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล 1,449 ล้านบาท เพื่อให้ผลิตวัคซีนจากบริษัท แอสตราเซเนกา จำกัด ให้ได้ ถือเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่?
พร้อมปิดข้อคิดเห็นในที่ประชุมกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2563 เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2563 ซึ่งกรรมการท่านหนึ่งในที่ประชุม ได้ตั้งข้อสงสัยว่า “มีประเด็นข้อกังวลเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เนื่องจากเป็นการนำงบจากรัฐบาลไปสนับสนุนบริษัทเอกชน ซึ่งขอให้พิจารณาดำเนินการด้วยความรอบคอบและโปร่งใส และมีความเห็นว่าสถาบันวัคซีนต้องเปิดเผยข้อมูลการขัดกันแห่งผลประโยชน์ให้ทราบด้วย”
คำตอบจากผู้เกี่ยวข้อง
อนุทิน: มาเป็นรัฐบาลให้ได้ก่อน
อนุทิน ชาญวีรกูล รมว.กระทรวงสาธารณสุข เป็นคนแรกขอฝ่ายรัฐบาลที่ออกตอบโต้ธนาธร โดยระบุว่า คนที่พูดเรื่องนี้เหมือนกับรู้ทุกเรื่อง แต่ไม่รู้จักอย่างเดียวคือรู้จักสำนึกในพระมหากรุณาที่คุณ ซึ่งประเทศไทยเรามาถึงวันนี้ได้ ใครเป็นผู้ให้กำเนิดและวางรากฐานการแพทย์ การสาธารณสุขให้เป็นที่ยอมรับของคนทั้งโลก และสามารถทำให้ประชาชนทั้งประเทศ มีพื้นฐานสุขภาพที่ดี มีวิถีชีวิตที่ดี และมีความแข็งแรง ใครเป็นคนพระราชทานสิ่งของต่างๆ ตลอดระยะเวลาเป็นร้อยๆ ปี เมื่อประเทศไทยมีภัยพิบัติไม่ว่าจะทางธรรมชาติ ทางโรคระบาด
“จริงๆ ไม่ควรจะวิพากษ์วิจารณ์อะไรเลย เพราะไม่มีอะไรเลยที่พระองค์ท่านได้ทำแล้วไม่เกิดประโยชน์กับบ้านเมืองและประชาชน เรื่องวัคซีนเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะวัคซีนโควิด-19 เป็นวัคซีนใหม่ ที่ต้องใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินต้องไม่เอาเรื่องการเมืองมาเป็นประเด็น จึงขอให้ช่วยกันรักษาบ้านเมืองในตอนนี้ให้มากที่สุด ปล่อยให้แพทย์เขาทำงาน เราไม่ใช่แพทย์เราก็ทำเรื่องอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์กับบ้านเมือง ถ้าไม่ทำอะไรก็พูดอะไรได้หมด ถึงอยากจะทำอะไรมันถึงอยากจะทำอะไรให้เป็นอย่างที่ตัวเองต้องการก็ต้องทำให้ตัวเองเข้ามาบริหารบ้านเมืองให้ได้ก่อน” อนุทินกล่าว
ประยุทธ์: ใครบิดเบือนจะถูกดำเนินคดี
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ถือว่าเป็นการบิดเบือนทุกเรื่อง ทุกอย่างไม่ใช่ข้อเท็จจริงเลย ดังนั้นขอให้ทุกคนระมัดระวังไว้ด้วยการเสนอข่าวพวกนี้
“เรื่องอะไรที่เป็นการบิดเบือน ไม่ใช่ข้อเท็จจริงแล้วนำมาแพร่ ไม่ว่าในสื่อหรือโซเชียลมีเดีย ผมให้ดำเนินคดีทุกเรื่อง ทุกรายการ ก็ขอให้ทุกคนระมัดระวังด้วย อย่าหาว่าผมเอากฎหมายไปขู่ แต่ต้องรักษาความเชื่อมั่นของรัฐบาลไปด้วย ไม่เช่นนั้นต่างคนก็ต่างเขียนอะไรกันไปแล้วไม่รับผิดชอบอะไรทั้งสิ้น กฎหมายมีทุกตัวอยู่แล้ว” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
สถาบันวัคซีนแห่งชาติ: สยามไบโอไซเอนซ์พร้อมที่สุด
บีบีซีไทยถอดเทปคำแถลงของ นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ที่ระบุว่า กรณีวัคซีน COVID-19 จากบริษัท แอสตราเซเนกา เป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตด้วย จำเป็นต้องหาบริษัทที่รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในช่วงเวลาเร่งด่วน ซึ่งคนที่พร้อมที่สุด มีเพียงบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด โดยการคัดเลือกมาจากทางบริษัท แอสตราเซเนกา
“มีเพียงบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เท่านั้นที่มีศักยภาพในการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตในรูปแบบของ Viral vector vaccine ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลับอ็อกซฟอร์ด แม้กระทั่งองค์การเภสัชกรรมเองก็ไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะรับเทคโนโลยีการผลิตนี้ เพราะเป็นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ต้องมีความพร้อม และคนที่มาสอนก็จะต้องไม่เสียเวลามากเกินไปเพราะมีความเร่งด่วน”
นพ.นครยังยืนยันว่า วัคซีน COVID-19 มีเพียงพอต่อคนไทยทุกคนแน่ เพราะมีศักยภาพในการผลิตภายในประเทศ
“ที่เราตั้งเป้าจัดหาวัคซีนให้ได้ 50% ของประชากรเป็นแค่เป้าของปี พ.ศ.2564 ต้องนึกถึงจำนวนวัคซีนที่จะมาทั้งหมด 66 ล้านโดส การกระจายวัคซีนออกไปต้องใช้ความสามารถอย่างมาก ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องเดือดร้อนว่าต้องหาวัคซีนมาให้ได้ทีเดียว 100% ของประชากรไทย จึงขอย้ำว่าวัคซีนมีเพียงพอ เพียงแต่เป็นการใช้วัคซีนในภาวะเร่งด่วน การรีบร้อนนำวัคซีนมาใช้อาจจะมีข้อเสีย”
ส่วนที่บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ได้งบประมาณจากรัฐบาล ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติระบุว่า ได้รับสนับสนุนไปเพียง 600 ล้านบาท และในสัญญาก็ระบุไว้ว่า เมื่อผลิตได้ตามมาตรฐานแล้ว จะคืนวัคซีนในจำนวนเท่ากับทุนที่ได้รับจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ คืนให้กับรัฐบาลไทยด้วย
นี่คือคำถาม-คำตอบ กรณีวัคซีน COVID-19 ที่เป็นประเด็นร้อนทางการเมืองในวันนี้