การระบาดครั้งใหม่ของไวรัส COVID-19 ในช่วงปลายปี พ.ศ.2563 คือคลื่นระลอกใหญ่ที่ซัดโครมใส่ประชาชนทุกคนทุกระดับในประเทศไทย และทันทีที่มีผู้ติดเชื้อเป็นวงกว้าง มาตรการการควบคุมโรคต่างๆ ของรัฐบาลก็เริ่มมีการประกาศบังคับใช้อย่างต่อเนื่อง
เหตุการณ์ต้นปี พ.ศ.2564 จึงกลายเป็นภาพยนตร์ที่หมุนฉายซ้ำ ประชาชนล้วนได้รับผลกระทบไม่ว่าทางหนึ่งทางใด
วันที่ 2 มกราคม กรุงเทพมหานครสั่งปิดสถานที่เสี่ยงและสถานที่คุมเข้มโควิดจำนวนหนึ่ง ซึ่งประเภทของกิจการกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิด คือร้านนวดแผนโบราณ สปา และฟิตเนส
“ก่อนหน้านี้เดือนธันวาคม 2019 ปิดรีโนเวทไป 45 วัน เปิดมา 15 มกราคม พ.ศ.2563 ผ่านมา 1 เดือนเจอโควิด-19 ซวยมากๆ ซวยโคตรๆ ลงเงินไป 2 ล้านกว่า”
จิรภัทร ถิรนุทธิ เจ้าของกิจการ Moov Bangkok สถานประกอบกิจการฟิตเนส และโยคะสตูดิโอ ขนาด 700 ตารางเมตรในโซนราชเทวี พูดขณะหัวเราะให้ความโชคร้ายของตัวเอง
เขาเล่าต่อว่าหลังจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบแรกในช่วงต้นปี พ.ศ.2563 ตอนแรกยังไม่ได้กระทบเท่าใดนัก แต่พอเข้าช่วงปลายเดือนมีข่าวเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตจากโรคระบาด ลูกค้าเริ่มไม่มา และพอเริ่มมีเคสในไทย ลูกค้าก็หาย เหลือเพียงความเงียบและความรกร้าง
“ร้างในที่นี้คือทั้งจำนวนคนสมัคร และคนมาเล่น คนมาเล่นยังพอมีนะ แต่หายไปเยอะ จำได้ว่าปิด 18 มีนาคม คนหายเลย”
“ปิดยาว 2 เดือน พอเปิดกลับมาก็ยาก เพราะ 1. คนไม่มีเงิน 2. คนไม่อยากใช้เงิน พอกลับมาเปิดก็เลย.. ถ้าไม่มีพักเงินต้นของธนาคารคือขาดทุน คำว่าขาดทุนในที่นี้หมายถึงเงินสดหมุนเวียนติดลบ แต่ไอ้ขาดทุนแบบขาดทุนอะขาดทุนอยู่แล้ว แค่กระแสเงินสดยังพอมี”
จิรภัทรอธิบายว่าระบบของธุรกิจฟิตเนสเป็นการสมัครแล้วให้บริการเป็นคอร์ส จะเป็นช่วงเวลา 1 เดือน 3 เดือน หรือ 1 ปี แตกต่างไปตามระยะเวลาและรูปแบบคอร์สที่ลูกค้าเลือก ดังนั้น เมื่อลูกค้าสมัครคอร์สแล้ว แต่มาเล่นไม่ได้เพราะมาตรการการควบคุมโรคระบาด เขาจึงต้องหาวิธีแก้ไขสถานการณ์
“ช่วงนั้นคือมีนโยบายฟรีซระบบเวลาไว้ ไม่นับเวลา พอเปิดมาก็ค่อยรันต่อ ซึ่งถ้าลูกค้ายังไม่วางใจที่จะกลับมาเล่น ก็ขยายให้อีก 1 เดือน เพราะว่าถ้าไม่ทำตรงนี้ลูกค้าจะขอคืนเงินได้ ช่วงนั้นก็มีคนขอคืนเงินบ้าง แต่จำนวนไม่เยอะ คำว่าไม่เยอะ แต่ถ้าคนขอรีฟันด์คนละ 20,000 บาท สัก 5 คน ก็ 100,000 บาทแล้ว แล้วก็จะมีปัญหาเรื่องกระแสเงินสดต่ออีก”
แต่โชคชะตาไม่ได้โหดร้ายกับเขานัก เมื่อลูกค้าส่วนใหญ่ยังคงให้การสนับสนุน
“ตอนที่ล็อกดาวน์ ลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ได้มาขอรีฟันด์นะ จะมาขอหยุดสมาชิก คือ ขอฟรีซเวลาไว้ก่อน โควิด-19 หายค่อยมานับเวลาต่อ ยังไม่เจอที่มารีฟันด์เยอะๆ คือถ้ามาพร้อมกัน 50 คนก็อ้วกเลยนะ ตายเลยนะ ยังดีที่ลูกค้า..ใจบุญกับเรา”
คลายล็อกดาวน์
หลังจากคลายล็อกดาวน์ลูกค้าก็เริ่มกลับเข้ามาอยู่ในจุดที่ควรจะเป็น จิรภัทรเล่าต่อว่าฟิตเนสเป็นธุรกิจที่เป็นรอบปี มีเดือนที่คนเล่นเยอะ สมัครเยอะ มีเดือนที่คนเล่นน้อย สมัครน้อย เช่น คนสมัครเยอะช่วงปลายปี ราวกับหาสถานที่ออกกำลังกายชดใช้กรรมที่สะสมมาตลอดทั้งปี และสมัครน้อยในช่วงก่อนปีใหม่กับสงกรานต์ เพราะเตรียมตัวเก็บเงินไปเที่ยว
“คือหลังจากคลายล็อกดาวน์ คนสมัครแค่ 50-60% พอมาพฤศจิกายน ถึงธันวาคม เริ่มดีขึ้นเป็น 75% ซึ่งคำว่าดีของฟิตเนสคือคนเริ่มสมัครสมาชิก”
แม้จะยังไม่อยู่ตัว แต่ก็ประคับประคองไปได้
จิรภัทรประเมินว่าค่าใช้จ่ายประจำเดือนของเขาในช่วงคลายล็อกดาวน์ตั้งแต่กลางปีจนถึงปลายปี พ.ศ.2563 อยู่ที่ประมาณ 500,000-600,000 บาท/เดือน มาจากทั้งค่าเช่าที่ ค่าไฟฟ้า เงินเดือนพนักงาน และค่าการผ่อนชำระหนี้ธนาคาร เรียกได้ว่าบริหารค่าใช้จ่ายแบบเดือนชนเดือน
“เราคุยกับพนักงานว่า ให้ทำงานลดจำนวนวันลง จากที่เคยทำ 6 วัน ก็ให้ทำ 5 วัน ส่วนที่ลดไปก็ตีเป็นเปอร์เซ็นต์ว่าเวลาหายไปจากทำงานจริงเท่าไร แล้วลดเงินเดือนตามนั้น ซึ่งก็ช่วยแต่ก็ไม่มาก ที่มากจะเป็นค่าเช่า กับธนาคารที่ให้หยุดเงินต้น แต่ดอกเบี้ยก็ยังต้องจ่าย หลัก 20,000-30,000 บาท ส่วนเรื่องค่าเช่าคือก็มีไปคุยขอจ่ายค่าเช่าอยู่ที่ 50% ซึ่งโชคดีมาก บางที่ก็คุยไม่ได้”
โรคระบาดกลับมาอีกครั้ง
การประกาศปิดสถานที่เสี่ยงรับต้นปี พ.ศ.2564 ทำให้กิจการจำนวนมากหยุดชะงัก แต่กับฟิตเนสการประกาศปิดในช่วงที่ลูกค้ามาไม่ได้ หรือไม่พร้อมจะมา..อาจดีกว่า
“ต่อให้ภาครัฐไม่สั่งปิดฟิตเนส เราก็มีผลกระทบอยู่ดี ถ้าไม่ปิดเราตาย ตายแบบของจริง เพราะ fixed cost ต่อเดือนเราเยอะมาก ค่าไฟ ค่าเช่า เงินเดือนพนักงาน แล้วถ้าเปิดแต่คนไม่มาสมัคร ก็เสียไปเปล่าๆ ฟิตเนสลดพนักงานไม่ได้”
“อย่างร้านอาหารบางร้านมีพาร์ตไทม์กับฟูลไทม์ ช่วงนี้พาร์ตไทม์โดนก่อนแน่นอน ฟูลไทม์ก็แล้วแต่คนกับนโยบาย ลดคน ลดวัน แต่ของเราลดไม่ได้ เพราะเทรนเนอร์ไม่สามารถหามาทดแทนได้ทั่วไป ต้องมีทักษะ ต้องถูกจริต เคมีเข้ากับตัวฟิตเนส และคนในทีมในระดับหนึ่ง เราเลยเลย์ออฟคนไม่ได้เป็นไปได้ยากมาก”
เมื่อไม่มีรายได้ หรือรายได้ลดลง … พนักงานของเขาอยู่อย่างไร?
จิรภัทรอธิบายว่าฟิตเนสของเขามีนโยบายช่วยพนักงานเก็บเงิน รูปแบบคล้ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หักจากเงินเดือนไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท โดยเลือกเข้าร่วมโครงการหรือไม่ก็ได้
“ครบกี่ปีก็จะมีสมทบให้ เป็นแนวทางให้พนักงานอยู่ยาวหน่อย ทำมาประมาณ 3-4 ปีแล้ว ซึ่งพนักงานแต่ละคนมีเงินเก็บก้อนนี้อยู่เฉลี่ยคนละ 30,000 บาท เราก็เอาตรงนี้ให้เขาใช้แทนเงินเดือน ตอนที่กิจการหยุดไป ส่วนคนที่ยังไม่ได้เข้าโครงการนี้ หรือยังอยู่ไม่ครบ เพิ่งเข้ามาใหม่ เราก็จะมีเงินสด ให้กู้ยืมแบบไม่มีดอกเบี้ย แล้วพอเปิดกิจการก็ทยอยหักออกจากเงินเดือน”
ทางรอดของฟิตเนส
“คือในมุมธุรกิจฟิตเนสที่พบผู้ติดเชื้อเรื่อยๆ ปิดไปดีกว่า เพราะเปิดไปก็ไม่มีคนมาเล่น แต่ถ้าสมมติลากยาวเกิน 2 เดือน แล้วปิดต่อเรื่อยๆ ก็ตาย..อันนี้ตายแบบที่หนึ่ง แต่ถ้าสมมติเปิด แล้วสถานการณ์การระบาดยังไม่ดีขึ้น ลูกค้ายังไม่มั่นใจมาสมัคร หรือมาเล่นฟิตเนส..ก็ตายอยู่ดี”
จิรภัทรอธิบายถึงทางเลือกทางรอดต่อสถานการณ์นี้จากมุมมองของเขา
“ยากมาก ถ้าจะฟื้นต่อจากนี้ เป็นเรื่องท้าทายมาก ที่หวังคือเรื่องวัคซีนที่มีปัญหา กว่าเราจะได้ฉีดกันในประเทศคงอีกนาน ถ้ารู้ว่าวัคซีนเริ่มฉีดได้เมื่อไร ถึงจะมีหวัง ….คือถ้ามีวัคซีนคนก็จะกล้าออกมามากขึ้น มาสมัครฟิตเนสเหมือนเดิม”
เพราะความหวังในการดำเนินกิจการของฟิตเนสต่อไปในมุมของจิรภัทร คือต้องมีวัคซีนเพื่อทำให้ชีวิตกลับสู่สภาวะปรกติ
“จริงๆ ที่ต้องการที่สุดคือการมีวัคซีนที่เข้าถึงได้อย่างแพร่หลายในประเทศไทย ถ้าเขาเคลียร์ได้ เห็นแนวโน้มที่น่าเชื่อถือชัดเจน คนก็จะได้วางแผนจัดการธุรกิจถูก”
ปิดร้านนวด
หากทางรอดในมุมของของผู้ประกอบกิจการฟิตเนสอาจมีความแตกต่างกับกรณีของร้านนวดแผนโบราณ ที่มองว่าการคลายมาตรการให้กลับมาเปิดและดำเนินกิจการได้อย่างปรกติ คือความหวังที่สำคัญที่สุด
“ตอนนี้ไม่ไหวแล้ว เพราะไม่มีเงินใช้ รายรับรายจ่ายเราได้วันต่อวัน บางวันเยอะบ้างน้อยบ้าง อยากเปิดอยากทำงาน ที่อื่นเขาผ่อนปรนได้ เราไม่ได้แออัด กระจายต่างคนต่างนวด มีตัวดูดอากาศ ทำความสะอาดบ่อย”
สำอางค์ ชาติดี เจ้าของร้านนวดแผนโบราณย่านที่อยู่อาศัยชานเมืองกรุงเทพฯ กล่าว ก่อนจะอธิบายรายจ่ายที่ต้องแบกรับ และการผ่านพ้นช่วงล็อกดาวน์ต้นปี พ.ศ.2563
“ค่าเช่าปกติเราโดนเดือนละ 30,000 บาท ไม่มีรายได้ก็คือจ่ายเลย 30,000 บาท แต่อย่างรอบที่ปิดเมืองคราวที่แล้วต้นปี พ.ศ.2563 เจ้าของที่เขาลดให้ครึ่งหนึ่ง เหลือ 15,000 บาท ได้เงินจากเราไม่ทิ้งกัน 5,000 บาท ก็เอามาโปะ ใช้จ่ายไปก่อน มีกู้ธนาคารออมสินมาด้วย ตอนนี้ก็ใช้คืนไปหมดแล้ว เอารายได้จากตอนคลายล็อกดาวน์มาอุด”
แต่ฟ้าก็ดูจะเป็นใจ เมื่อภาครัฐประกาศคลายมาตรการควบคุมในช่วงกลางปีก่อน ซึ่งส่งผลให้ร้านนวดสามารถกลับมาดำเนินกิจการต่อไปได้
“รอบแรกร้านนวดโดนสั่งปิดตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2563 เราก็ปิดกิจการรอคำสั่งรัฐบาลเปิด รอเรื่อยๆ จนมีนาคม เมษายน พฤษภาคม มา 1 มิถุนายน พ.ศ.2563 ถึงได้เปิดเปิดทำการเราก็ทำตามที่รัฐบาลขอความร่วมมือทุกอย่าง ระยะห่าง มีที่วัดไข้ เจลล้างมือ กฎระเบียบเราทำตามหมด”
“ลูกค้าตกเฉลี่ยวันละ 40-50 คน มีเว้นระยะห่างระหว่างเตียง คนอยากนวดอยู่แล้ว จนปิดรอบนี้เขาโทรถามทุกวัน ลูกค้าบางคนถามว่าแอบนวดได้ไหม เราก็ว่าไม่ได้หรอก ต้องทำตามกฎระเบียบ”
กลับบ้านปีใหม่แล้วอยู่ยาว
“ร้านกำลังไปได้ดีเลย ดีขึ้นเรื่อยๆ พอสั่งให้ปิด เราก็ทำตามรัฐบาล หมอนวดอยู่ที่นี่ 10 คน เขากลับต่างจังหวัดบ้าง อยู่ตามห้องบ้าง ห้องใครห้องมัน ทำได้แค่รอเขาเปิด”
สำอางค์เล่าถึงวันที่คำสั่ง ‘ปิด’ ร้านนวดของกรุงเทพมหานครประกาศใช้ โดยอธิบายต่อว่า เป็นช่วงเวลาที่เหล่าพนักงานนวดหรือหมอนวดในร้านทยอยกลับบ้านต่างจังหวัด ก่อนที่ร้านจะปิดให้พนักงานพักผ่อนในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2564
แต่การประกาศกะทันหันของกรุงเทพมหานครในคืนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2564 ให้ร้านนวดแผนโบราณ เป็นหนึ่งในกิจการที่ต้องหยุดทำการชั่วคราว เพื่อป้องกัน COVID-19 ทำให้พนักงานของร้านสำอางค์นวดแผนโบราณ เลื่อนตั๋วกลับกรุงเทพฯ ไปช่วงปลายเดือนทันที เพราะกลับมาแล้วก็ไม่สามารถทำงานได้
“พอเขาประกาศคืนวันที่ 1 มกราคม เช้ามาเราโทรบอกพนักงานนวดว่า ไม่ได้ทำงานแล้วนะ ผู้ว่าฯ สั่งปิดร้านนวด กำหนดจะปิดร้านวันที่ 4 มกราคมเพื่อจะกลับบ้านต่างจังหวัดกัน เขาปิดร้านวันที่ 2 มกราคม คนกลับไปแล้ว ก็อยู่บ้านต่างจังหวัดต่อเลย ป้าก็เข้ามาเก็บกวาด เข้ามาคอยทำความสะอาด คอยดูแลร้านไม่ให้มันเงียบเหงา”
“ระหว่างนี้เราก็ซ่อมร้าน ให้มีสภาพดูดี สมบูรณ์ ยาแนวใหม่ พอเขาคลายมาตรการเราจะได้เปิดได้เลย”
พร้อม new normal
ความหวังของสำอางค์ต่อมาตรการรัฐ คือการใช้รูปแบบ new normal เหมือนครั้งการคลายล็อกดาวน์ในกลางปีที่แล้ว ซึ่งทำให้ร้านสามารถเปิดให้บริการได้ แม้จะต้องมีมาตรการควบคุมภายในร้านก็ตาม
“ให้เราเปิดร้านได้ จะให้เราปฏิบัติตามอะไร เว้นระยะห่าง อะไรก็ว่ามาเลย ลูกค้าเขาก็มั่นใจในร้านเรา เราล้างมือบ่อย ไม่ได้ไปที่สุ่มเสี่ยง มีระบบคิว นัดลูกค้า ไม่ให้มานั่งรอแออัดในร้าน คือเขาจะให้เรามีมาตรการอะไร ให้ลงทุนเราพร้อมทำหมดทุกอย่าง เราสั่งที่วัดไข้มาเพิ่มด้วย เจลและผ้าปิดจมูกก็เตรียมพร้อม”
สำอางค์กล่าวในขณะที่เปรียบเทียบถึงการเปิดร้านในช่วงคลายล็อกดาวน์
“ถ้าทำเหมือนงวดที่แล้วคลายล็อกให้เรา ให้เราปฏิบัติตาม มันก็โอเคอยู่ ตอนนั้นพอกลับมาเปิดลูกค้าก็มา ..มันจะดีอยู่แล้ว”
“ตอนล็อกดาวน์ สั่งให้ปิดร้านนวด พนักงานนวดเรายังพอไปนวดตามบ้านได้ เพราะเขาอนุโลม ได้วันละ 2-3 ชั่วโมง พออยู่รอด กระจายรายได้กัน แต่รอบนี้ห้ามนวดตามบ้าน เราก็ทำอะไรไม่ได้ แยกย้าย อยู่ห้องใครห้องมัน คือเขาห้ามออกนอกสถานที่ ให้พยายามไม่เดินทาง เพราะพื้นที่เราสีแดง ควบคุมสูงสุด แต่อย่างที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เขาก็มีผ่อนปรนแล้วนะ ให้นวดสปาได้..”
ต้นทุนที่ต้องแบกรับ
ปัญหาที่เลี่ยงไม่ได้คือเมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจขาดช่วง คือรายจ่ายและพันธะผูกพันไม่ได้หยุดลงแม้เม็ดเงินขาดมือ ในกรณีของสำอางค์ยังต้องจ่ายค่าเช่าที่ของร้านในทุกเดือนเช่นเดิม
“ค่าเช่าเดือนนี้ยังไม่รู้ว่าจะอย่างไร ว่าเจ้าของที่จะอนุโลมให้แค่ไหน ต้องรอดูสถานการณ์ไปก่อน เพราะค่าน้ำค่าไฟเราก็จ่ายกับเจ้าของที่”
“อย่างตอนนี้ก็ต้องเอาเงินเก่าพอมีก็เอามาซื้อกับข้าวกิน มาจ่ายให้แม่บ้านที่ดูแลร้าน เราก็อยากทำงานอยากเปิดร้าน น้องๆ พนักงานก็มีงานทำ ทุกคนคิดถึงร้าน อยากมาทำงาน”
เพราะเมื่อกิจการดำเนินต่อไม่ได้ ไม่ใช่เพียงเจ้าของร้านที่ได้รับผลกระทบ
“รายได้พนักงานเราให้เป็นรายหัว ต่อลูกค้า 1 คน เข้าร้าน 50% เข้าพนักงาน 50% พอร้านเปิดไม่ได้ เขาก็ไม่มีรายได้เลย เพราะรายรับเขาเป็นรายวัน”
ทุกคนทำได้เพียงหาทางรอดที่พอจะทำได้
“หารายได้ไม่ได้ ที่เราต้องแบกภาระไว้ก่อนเลยคือค่าเช่า ต้องมีสำรอง ไม่มีก็ต้องกู้ยืม รอบก่อนป้าก็ไปกู้ออมสินมา 100,000 บาท เป็นเงินทุนสำรอง คืนไปหมดแล้ว รอบนี้ถ้าไม่ไหว ยาวไปก็ต้องกู้อีก” สำอางค์กล่าว
ท่ามกลางนาฬิกาชีวิตที่หมุนไปไม่มีพัก ผู้ประกอบการเหล่านี้ก็ยังต้องเฝ้ารอเพียงการตัดสินใจของผู้มีอำนาจในการชี้ขาดมาตรการที่จะแก้ไขทั้งโรคระบาดและต่อชีวิตทางเศรษฐกิจต่อไป