รัฐสภาไทยเปิดทำงานมาแล้วหลายเดือน ที่ผ่านมาก็มีคำศัพท์มากมายที่ทำให้เราสงสัยเช่น ‘คณะกรรมาธิการสามัญ’ นี่หมายถึงอะไร แล้วมันต่างไปจาก ‘คณะกรรมาธิการวิสามัญ’ อย่างไรบ้าง
หรือบางทีเปิดดูข่าวในทีวีก็ได้ยินคำศัพท์เช่น วิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และคำอื่นๆ อีกเยอะแยะ เลยอยากรู้เหมือนกันเนอะว่ามันหมายถึงอะไรบ้าง ซึ่งถ้าเราเข้าใจสิ่งต่างๆ แบบนี้มากขึ้นก็อาจทำให้ดูการอภิปรายในสภากันได้อย่างสนุก และทำให้เห็นภาพการทำงานต่างๆ ในการเมืองไทยกันได้ไม่น้อย
The MATTER รวมคำศัพท์ที่ใช้กันรัฐสภาไทยที่น่าสนใจมา 6 คำ พร้อมกับคำอธิบายว่าสิ่งเหล่านั้นหมายถึงอะไรกันบ้าง? เพื่อให้เราได้เข้าใจเรื่องการเมืองในระบบรัฐสภากันมากขึ้น
คณะกรรมาธิการสามัญ
หมายถึง ทีมงานที่สภาแต่งตั้งขึ้นมา เป็นกลุ่มคนที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ ทำหน้าที่ช่วยพิจารณาร่างกฎหมายต่างๆ ที่คณะรัฐมนตรีหรือ ส.ส. เป็นคนเสนอมาให้
พูดให้เห็นภาพมากขึ้นก็คือ เมื่อพวกเขาได้รับบรีฟมาจากที่ประชุมใหญ่ ทีมงานเหล่านี้ก็จะเอาโจทย์ที่ได้มา ไปทำงานเพื่อลงรายละเอียดกันต่อตามห้องประชุมเล็กต่างๆ ต่อไป
คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภา แบ่งเป็นทีมงานชุดต่างๆ ที่ทำงานในเรื่องที่ตัวเองถนัด เช่น คณะกรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อม คณะกรรมาธิการด้านตำรวจ ด้านท่องเที่ยว ด้านการศึกษา หรือด้านศาสนา เป็นต้น แต่ละทีมก็จะดูแลแค่เรื่องที่ตัวเองถนัดเท่านั้น
เมื่อทีมงานเหล่านี้ปรับปรุงร่างกฎหมายต่างๆ หรือทำงานตามที่ได้รับมอบหมายเสร็จแล้ว พวกเขาก็จะต้องส่งเนื้อหากลับมาให้ที่ประชุมใหญ่ลงมติเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง
คณะกรรมาธิการวิสามัญ
หมายถึง ทีมงานที่สภาแต่งตั้งขึ้นมา เป็นกลุ่มคนที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ แต่จะมาจากคนในสภาหรือไม่ก็ได้ เกิดขึ้นเพื่อดูแลเรื่องพิเศษแบบชั่วครั้งชั่วคราว หรือต้องทำงานที่อยู่นอกเหนือขอบเขตของคณะกรรมาธิการสามัญ
คณะกรรมาธิการวิสามัญ จะทำหน้าที่ดูแลกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งเป็นพิเศษ หรือเพื่อวาระเร่งด่วนบางอย่างโดยเฉพาะ เช่น คณะกรรมาธิการวิสามัญที่ดูแลเรื่องการเขียนกฎการประชุมสภา หรือ กรรมาธิการเรื่องจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี
ซึ่งทีมงานในรูปแบบนี้จะทำงานกันแบบเฉพาะกิจ คือ ดูแลกฎหมายฉบับนั้นเสร็จ นำไปรายงานต่อสภาเพื่อลงมติเห็นชอบ ก็ค่อยสลายตัวและแยกย้ายไปทำงานอื่นกันต่อ
สิ่งนี้เทียบได้คล้ายๆ กับ การแบ่งงานกลุ่มในโรงเรียน เป็นทีมงานที่ดูแลเรื่องงานวันปีใหม่ งานวันสงกรานต์ หรืองานกีฬาสีที่ตั้งฝ่ายเชียร์ลีดเดอร์ ฝ่ายสวัสดิการ ฝ่ายกีฬา ซึ่งเมื่อเสร็จงานก็สลายตัวกันไปทำหน้าที่อื่นของตัวเอง
คณะกรรมาธิการเต็มสภา
ถ้าแปลแบบง่ายๆ ก็คือ การให้คนในสภาทั้งหมดเป็นกรรมาธิการร่วมกัน ต่างไปจากคณะกรรมาธิการทั่วไป ที่เมื่อแบ่งกลุ่มแล้วจะต้องแยกออกไปทำงานกันในห้องของตัวเอง
แต่นี่คือการทำงานกลุ่มร่วมกันของคนทั้งสภาในเวลาเดียวกันไปเลย โดยประธานสภาก็จะทำหน้าที่เป็นประธานกรรมาธิการเต็มสภา คือมาคิดด้วยกันทั้งสภานี่แหละ ไม่ต้องไปแบ่งกลุ่มอะไรกันแล้ว
ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการเต็มสภาจะเกิดขึ้นในกรณีที่เป็นกฎหมายเนื้อหาอ่อนไหว ไม่ก็เป็นกฎหมายที่มีมาตราไม่เยอะมาก ซึ่งจะพิจารณากฎหมายรวดเดียว 3 วาระ ถือว่าประหยัดเวลาการทำงาน
สมัยประชุม
หมายถึงระยะเวลาการประชุมรัฐสภาที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ว่าจะมีกี่ครั้ง แต่ละครั้งจะมีระยะเวลาเท่าไหร่ ทั้งนี้สมัยประชุมแบ่งได้เป็น 2 แบบคือ สมัยประชุมสามัญ และสมัยประชุมวิสามัญ
สมัยประชุมแรกเรียกว่า ‘สมัยประชุมสามัญ’ เป็นการประชุมโดยปกติในระยะเวลาหนึ่งที่ ส.ส. และ ส.ว. จะมาประชุมกัน เพื่อมาทำงานตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้
สมัยประชุมสามัญ ยังแยกออกเป็นอีก 2 รูปแบบ (อย่าเพิ่งสับสนนะ อันนี้ไม่ยาก ค่อยๆ ตามไปด้วยกัน)
A) สมัยประชุมสามัญทั่วไป = เกิดขึ้นหลังเลือกตั้งเสร็จ มีระยะประชุม 120 วัน ส่วนใหญ่แล้วจะมาพูดคุยกันเรื่องนโยบาย และประเด็นสำคัญที่กำลังอยู่ในกระแสสังคม
ในปีนี้จะมีการประชุมสภาสมัยสามัญ 2 รอบ รอบแรกคือ 22 พฤษภาคม 2562 – 18 กันยายน 2562 ส่วนอีกรอบคือระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน -28 กุมภาพันธ์ 2563
B) สมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ = เกิดขึ้นหลังการประชุมสภาสามัญรอบแรกจบลง หลักๆ แล้ว การประชุมสมัยนี้จะเน้นไปที่การพิจารณากฎหมาย หรือการถอดถอนบุคคลทางการเมืองออกจากตำแหน่ง (แต่ในสมัยประชุมสภารอบนี้ก็จะมีวาระอื่นๆ นอกจากการพิจารณากฎหมายได้ด้วยเช่นกันนะ)
การแบ่งแยกเป็นการประชุมสามัญทั่วไป กับสามัญนิติบัญญัติ เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่อยากทำให้การประชุมสภาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยให้พิจารณากฎหมายได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
กระทู้ถาม
หนึ่งในหลักการสำคัญของระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา คือการตรวจสอบและถ่วงดุลหรือที่เรียกกันว่า ‘Check and Balance’ ซึ่งวิธีการที่ฝ่ายนิติบัญญัติ (ส.ส.) จะตรวจสอบฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) ได้เนี่ยก็มีอยู่หลายรูปแบบ โดยการตั้ง ‘กระทู้ถาม’ ก็คือหนึ่งในนั้น
กระทู้ถาม หมายถึง การตั้งคำถามจาก ส.ส. ไปยังรัฐบาล เพื่อขอให้คนในรัฐบาลมาตอบคำถามเรื่องนโยบายต่างๆ ในรัฐสภา
การตั้งกระทู้ถามจาก ส.ส. จะต้องส่งหัวข้อและคนที่อยากให้มาตอบแก่ฝ่ายเลขานุการสภาเสียก่อน เพื่อจัดเรียงลำดับกันว่าใครจะได้ตั้งกระทู้ก่อนหลัง รวมถึงประสานงานให้คนที่ถูกเรียกมาตอบได้มาตอบ
อย่างไรก็ดี หลายๆ ครั้ง ส.ส.มักจะตั้งกระทู้ถามเรื่องนโยบายไปยังรัฐมนตรี รวมถึงนายกรัฐมนตรีโดยตรง แต่ฝั่งที่ต้องมาตอบก็มักจะส่ง ‘ตัวแทน’ เช่น รัฐมนตรีช่วย หรือรองนายกรัฐมนตรีมาตอบแทนก็ได้ แต่ถึงอย่างนั้น ถ้ารัฐมนตรีมาตอบเองโดยตรงก็จะได้ความน่าเชื่อถือมากกว่าคนอื่นอยู่แล้วเนอะ
วิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน
เราเชื่อว่าหลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินคำว่า ‘วิป’ กันบ่อยๆ ผ่านสื่อต่างๆ แล้วตกลงวิปที่เรียกกันนี่หมายถึงอะไร แล้วทำหน้าที่อะไรกันนะ
คำว่าวิปที่เรากำลังพูดถึงอยู่มันมาจากภาษาอังกฤษคือ ‘Whip’ ที่แปลว่า การโบยตี การลงแส้ การเฆี่ยน หรือฝึกอย่างเข้มงวด คำนี้เคยใช้ในวงการล่าสัตว์ของอังกฤษที่หมายถึงการควบคุมฝูงสุนัขล่าสัตว์ ให้อยู่ในระเบียบวินัย และอยู่กันแบบเป็นกลุ่มก้อนได้ไม่แตกแยกกัน
ทั้งนี้ คำว่าวิปได้นำมาใช้ในทางการเมืองอังกฤษ กับตำแหน่งของนักการเมืองที่ควบคุมเสียงในสภาให้เป็นไปในทางเดียวกัน คอยตรวจตราไม่ให้นักการเมืองฝ่ายเดียวกันแตกแถว ซึ่งไทยเราเองก็รับความหมายนี้มาใช้ในเวลาต่อมา
วิปรัฐบาลจะมีความสำคัญมากๆ ในกรณีที่เป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค เพราะต้องคอยควบคุมให้พรรคการเมืองต่างๆ ต้องโหวตไปทางเดียวกันให้มากที่สุด ในบางทีก็ต้องไปต่อรองแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันในกลุ่มของตัวเองด้วย
อ้างอิงจาก