เด็กเลี้ยงแกะจบยังไง?
หลังจากเด็กเลี้ยงแกะโกหกชาวบ้านติดต่อกันหลายวันว่ามีหมาป่ามากินแกะของเขา เมื่อหมาป่ามาจริงๆ ก็ไม่มีใครเชื่อ นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าการโกหกจนเป็นนิสัยทำให้ความน่าเชื่อถือของเราลดลง และเมื่อถึงเวลาที่เขาต้องการความช่วยเหลือจริงๆ สังคมจะไม่ยอมรับเขามากพอที่จะยื่นมือเข้าไปช่วย
โอเค พอนึกถึงนิทานเรื่องนี้ที่เราทุกคนต้องเคยผ่านตาผ่านหูมาตั้งแต่ยังเด็กเสร็จแล้ว ลองหันไปมองที่ภาพป้ายนโยบายที่สาบสูญในช่วงหาเสียงของพรรคหนึ่งที่โดนลบออกไปจากหน้าเพจตอนไหนไม่รู้ การกลับคำไปมาของนักการเมืองหลายๆ คนที่พาเขาไปยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับแนวคิดทางการเมืองที่ทำให้เขาได้รับเลือกมาแต่ต้น หรือแม้แต่การที่โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ผู้ประดิษฐ์วาทกรรม fake news ขึ้นมาก็เผยแพร่ข้อมูลเท็จกว่า 30,000 ครั้งในเวลา 4 ปีที่เขาอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดี จากตัวอย่างข้างต้นมีใครตกอยู่ในสถานะเดียวกันกับเด็กเลี้ยงแกะบ้างหรือเปล่า?
ทำไมนิทานอีสปที่ตรงไปตรงมาและควรเป็นจริง กลับดูไม่สะท้อนความเป็นจริงของโลก? ทำไมนักการเมืองถึงโกหกและหรือพลิกลิ้นอย่างสม่ำเสมอ? และทำไมดูเหมือนว่ามันไม่มีผลอะไรต่อพวกเขาเลย?
ไม่เชื่อใจแปลว่าจะไม่เลือก?
เมื่อพูดถึงการกระทำของนักการเมือง สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงคือปฏิกิริยาจากคนที่ตัดสินใจเลือกและไม่เลือกพวกเขา
มีการค้นพบที่น่าสนใจในงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของการโกหกโดยนักการเมืองต่อผู้มีสิทธิใช้เสียงเลือกตั้งโดยใช้กรณีศึกษาของโดนัลด์ ทรัมป์ชื่อ Processing political misinformation: comprehending the Trump phenomenon จัดทำโดยนักวิจัยคณะรัฐศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์และมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออสเตรเลีย
การทดลองเริ่มขึ้นก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2016 โดยผู้วิจัยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งดูถ้อยแถลงของโดนัลด์ ทรัมป์ที่พูดทั้งเรื่องจริงและเท็จเพื่อวัดความเชื่อถือที่พวกเขามีต่อทรัมป์ และทดลองครั้งที่สองโดยการนำถ้อยคำเดิมให้ดูซ้ำด้วยการบอกว่าตรงไหนเป็นเรื่องจริง และตรงไหนเท็จ
จากการทดลอง พบว่าเมื่อชี้ให้เห็นว่าตรงไหนจริงตรงไหนไม่จริง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีโอกาสเชื่อถือข้อมูลเหล่านั้นลดลงจริงๆ แต่ถึงแม้ความเชื่อถือจะลดลง การตัดสินใจในการเลือกแคนดิเดตของพวกเขาไม่ต่างจากเดิม และผลของงานวิจัยตามที่ถามคำถามเดียวกัน แต่ถามมันกับผู้สนับสนุนฝั่งพรรคเดโมแครต ก็พบว่าผลออกมาเหมือนเดิม ผลการทดลองรูปแบบเดียวกันเกิดขึ้นเมื่อมีการทำการทดลองรูปแบเดียวกันในประเทศฝรั่งเศส
แต่มองไปยังการทดลองเดียวกันที่ออสเตรเลีย พบว่าผลการทดลองออกมาแตกต่าง โดยการโกหกส่งผลให้พวกเขามีโอกาสเปลี่ยนใจไม่เลือกแคนดิเดตนั้นๆ จริง ทว่าผู้ทดลองอธิบายเพิ่มเติมว่าประเด็นที่โกหกก็เป็นปัจจัยที่ส่งผล โดยประธานาธิบดีออสเตรเลียมักมีคำโกหกเกี่ยวกับประเด็นใหญ่ที่มีผลต่อการใช้ชีวิตของพวกเขา เช่น การกระจายวัคซีน ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการลดโลกร้อน และการใช้งบประมาณ
ฉะนั้นหากมีคำถามว่าทำไมนักการเมืองโกหก คำตอบหนึ่งที่อาจเป็นไปได้เมื่อมองจากการทดลองเหล่านี้คือก็พวกเขาไม่จำเป็นต้องพูดความจริงก็ได้ ในเมื่อปัจจัยที่สำคัญที่สุดสำหรับพวกเขาอย่างคะแนนเสียงไม่ได้รับผลกระทบแง่ลบอย่างมีนัยยะสำคัญจากการพูดโกหก
ค่าของข้อเท็จจริงสูงขนาดไหน?
เมื่อฟังจากหัวข้อที่แล้ว คำถามอาจผุดขึ้นมาว่ามนุษย์ให้ค่าความจริงน้อยขนาดนั้นเลยเหรอ?
ลองนึกถึงเวลาเราร่วมวงถกเถียงประเด็นอะไรต่างๆ บนอินเทอร์เน็ต ไม่แม้แต่จำเป็นต้องเป็นเรื่องการเมืองก็ได้ เราเถียงจากอะไรและให้อะไรเป็นตัวนำการเถียงของเรา? อะไรคือสิ่งที่ดึงให้เราเข้าเถียงแต่แรก? อาจจะเป็นชื่อบางชื่อ อุดมการณ์ทางการเมืองบางอย่าง ความเชื่อที่เราศรัทธา ลัทธิปรัชญาที่เรายึดถือ หรือพรรคการเมืองที่เราแบก ถ้าเราเรียกมันอย่างง่ายจนน่าเกลียดคือเราใช้ความเห็นและความจริง (truth) ของเรานำเป็นหลักนั่นเอง
แน่นอนว่าข้อเท็จจริงอยู่ในขั้นตอนการถกเถียงเหล่านั้นอยู่แล้ว มันอาจทำหน้าที่ตัวสนับสนุนข้อถกเถียงของเราได้ แต่น้อยครั้งที่มันจะขึ้นมาเป็นหัวหอกนำในการถกเถียง เพราะแม้แต่กระบวนการเลือกข้อเท็จจริงที่นำมาพูด การสังเคราะห์ หรือการหยิบจับมุมมองที่จะวางกรอบข้อเท็จจริงเหล่านั้นก็ยังขึ้นอยู่กับอุดมการณ์และความคิดเห็นของเราอยู่ดี
นั่นไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพราะการเสนอข้อเท็จจริงด้วยเพียงตัวของมันเองอาจอ่อนแอ ไม่ชักจูง และไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควรหากขาดบริบทและอุดมการณ์รอบๆ มัน แต่ในโลกโซเชี่ยลมีเดียที่เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างคน ระหว่างสำนักข่าว ระหว่างนักการเมือง และอีกมากมายด้วยระดับความน่าเชื่อถือที่ไม่ห่างไกลกันมาก ความจริง ข้อเท็จจริง ความเห็น ทั้งสามหน้าตาเริ่มคล้ายคลึงกัน ค่าของมันดูเท่ากัน และด้วยธรรมชาติและอำนาจการกระจายข่าวของโซเชียลมีเดีย ความเห็นสุดโต่งที่สุดสามารถเผยแพร่ไปได้อย่างกว้างขวาง โดยไม่ต้องเป็นข้อเท็จจริงด้วยซ้ำ
เราสามารถอธิบายปรากฏการณ์นี้ด้วยคำว่า Post-truth ที่พจนานุกรม Oxford ในคำแปลมันว่า ‘ใช้เรียกสถานการณ์ที่ข้อเท็จจริงเชิงวัตถุวิสัยมีอิทธิพลต่อความคิดเห็นมหาชนน้อยกว่าการโน้มน้าวอารมณ์และความเชื่อส่วนบุคคล’ โดยพจนานุกรม Oxford มอบตำแหน่ง post-truth เป็นคำศัพท์แห่งปี 2016 เพราะการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ส่งผลให้การค้นหาคำดังกล่าวสูงที่สุดในห้วงเวลานั้น
แต่ post-truth เกี่ยวข้องยังไงกับนักการเมืองและการไม่ซื่อตรง?
หลังการเข้ามาของโซเชียลมีเดีย การเผยแพร่และการรับข่าวที่นิยมมากที่สุดนั้นขึ้นอยู่กับความเร็วที่เหลือ เช่น ความถูกต้อง ความรอบด้าน ความ ‘ควรต้องรู้’ กลายเป็นปัจจัยรองทั้งหมด เรียกว่าสำนักข่าวทั้งหมดในโลกต้องเพิ่มความเป็นแท็บลอยด์ไม่มากก็น้อยเข้าไปสู่การทำงานของตัวเอง และสำหรับนักการเมืองจำนวนมากการต้องเพ่งเล็งกับความเร็วเหนือทุกอย่างนั้นสามารถเป็นประโยชน์ต่อพวกเขาได้ และเครื่องมือที่ต้องใช้คือ post-truth
โดย post-truth ไม่ได้เพียงมาในรูปของคำโกหก แต่มันสามารถเป็นอุดมการณ์หรือนโยบายที่สุดโต่งจนไม่ว่าใครก็ต้องหันมอง โควตเด็ดๆ ประจำสัปดาห์ที่จะโดนนำไปแขวนด่าบนอินเทอร์เน็ต หรือกลายเป็นมีมประจำสัปดาห์ ตัวโจ๊กของสภาที่พูดอะไรก็ไม่รู้เสียงดังออกมายิ่งกว่าเรื่องราวที่พวกเขาประชุมกัน วันนี้ประยุทธ์พูดอะไร? วันนี้ประวิตรไม่รู้อะไรบ้าง? เมื่อเสียงรบกวนรอบข้างดังมากพอ ข้อมูลที่เราต้องรู้และควรรู้แต่ไม่หวือหวาเท่ามันก็จมหายไป ม็อบชาวนามีข้อเรียกร้องอะไร? ตู้ห่าวคืออะไร? อะไรคือป่ารอยต่อ? ฯลฯ
และบางครั้งมันยังหน้าตาเหมือนการพยายาม gaslight คนทั้งประเทศว่าเหตุการณ์บางอย่างไม่ได้เกิดขึ้น หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้เกิดขึ้นแบบที่ทุกคนจำได้ “เรื่องของคนปฏิวัติผมก็ไม่ได้ไปเกี่ยวข้อง นี่ครับคนปฏิวัติ ท่านนายกฯ นี่คนเดียว อนุพงษ์ก็ไม่ได้เกี่ยวข้อง คุณก็เอาผมไปเกี่ยวข้อง ผมยังไม่รู้เลยจะปฏิวัติเมื่อไหร่ 3 ป. 3 เปอ อะไรนี่ พูดไปเรื่อย” ประวิตร วงษ์สุวรรณพูดแก้ต่างในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และเหตุผลที่พวกเขาสามารถพูดออกมาเช่นนั้นได้เต็มปากเป็นเพราะไม่ว่าเขาพูดอะไรเดี๋ยวก็ได้รับการ ‘แบก’ อยู่แล้ว จากผุ้สนับสนุน และหรือจากระบบที่พวกเขาวางขึ้นมา
แต่การมุ่งหาข้อเท็จจริงก็ไม่ใช่ทางออก?
เพราะอย่างที่เรารู้แล้วว่ามุมมองการถกเถียงเรื่องการเมือง การเลือกสนับสนุนพรรคการเมือง การเลือกตั้งในปัจจุบันนั้นแทบไม่เกี่ยวข้องกับความถูกหรือผิดของการให้ข้อมูล แม้ข้อมูลนั้นๆ ที่หมายถึงจะเป็นนโยบายหรืออุดมการณ์ เพราะในสายตาของของเราหลายๆ คนแค่เพียงเราและเขามุ่งไปในทางเดียวๆ กัน เรื่อง ‘เล็กๆ น้อยๆ’ เหล่านี้ก็ไม่ได้หมายความว่าอะไรมากกว่าหนทางไปสู่ชัยชนะที่ยอมรับได้
เช่นนั้นแล้วการมานั่ง fact-check แม้จะเป็นเรื่องที่ต้องทำ มันก็ไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของการเล่นการเมืองรูปแบบนี้ แต่เป็นการต้องตั้งคำถามให้บ่อยขึ้น ลึกขึ้น และหลากหลายเรื่องมากขึ้น ไม่ใช่เพียงข้อเท็จจริง แต่เป็นความจริงส่วนตัว เป็นสิ่งที่เราให้คุณค่า อุดมการณ์ที่เรามี รวมถึงความเห็นของเรา ของคนที่เราสนับสนุน แม้ว่าคำถามเหล่านั้นจะน่าเบื่อ และคำตอบของมันจะเป็นความเงียบหรือข้อแก้ตัว
แน่นอนมันอาจฟังดูไม่แฟร์สำหรับคนที่บอกตัวเองว่าเขาไม่เลือกคนโกหก ทำไมฉันต้องตั้งคำถามเพิ่ม?
คำตอบสำหรับคำถามนั้นคือเรื่องนี้ไม่ใช่เพียงเรื่องของนักการเมือง A กลับคำ แต่เป็นเรื่องของสนามการพูดคุยเกี่ยวกับการเมืองที่อนุญาตให้นักการเมือง A ไม่ต้องสนใจกับคำพูดและการกระทำของเขาก็ได้ เพราะลึกๆ เขารู้อยู่แล้วว่าตราบใดที่เขาเข้าไปอยู่พรรคใหญ่ เขาก็จะมีคนมาเชียร์อยู่ดี
อ้างอิงข้อมูลจาก