วันนั้นผมโต้เถียงกับพ่ออย่างเข้มข้น
ก็เรื่องทั่วๆ ไปแหละครับ ผมแจกแจงเหตุผล พ่อก็ตอบโต้ด้วยเหตุผล ทั้งสองเหตุผลไม่มีถูกหรือผิดโดยสมบูรณ์ (เรื่องในชีวิตประจำวันไม่ใช่ข้อสอบที่ไว้ตรวจความถูกผิดซะหน่อย) เป็นความคิดเห็นของผู้พูดเท่านั้น
เมื่อคำอธิบายแบบแรกไม่ได้รับการตอบสนอง ผมคิดคำอธิบายแบบใหม่เพื่อให้เขาคล้อยตาม เสียงพูดจาของเราสองคนค่อยๆ ดังขึ้นตามแรงความคิดที่ปะทะกัน ผมยอมรับว่าในใจเริ่มมีอารมณ์หงุดหงิด และอาจเจือปนด้วยความรู้สึกอยากเอาชนะด้วย แม้ภาพและเสียงจะดุเดือดอยู่บ้าง แต่การโต้เถียงยังไม่ได้รุนแรงถึงขนาดทะเลาะกัน
จู่ๆ การโต้เถียงมีอันต้องชะงัก หยุดกะทันหันราวกับรถยนต์แล่นมาแล้วถูกบางสิ่งบางอย่างตัดหน้า แม่ซึ่งอยู่ตรงที่เกิดเหตุพูดประโยคสั้นๆ ด้วยความปรารถนาดี จากที่ผมพยายามใช้เหตุผลเพื่ออธิบายบางอย่าง ก็เปลี่ยนเป็นคำถามและความไม่พอใจในเสี้ยววินาที
“อย่าไปเถียงพ่อสิ เดี๋ยวก็ทะเลาะกันอีก” แม่ส่งเสียงห้ามปราม
“ทำไมถึงเถียงไม่ได้” ผมสวนกลับทันที
แม้ไม่พอใจที่การโต้เถียงต้องชะงัก แต่โดยส่วนตัวไม่นิยมการโกรธกัน (โกรธกันทีไร ผมมักเป็นฝ่ายต้องง้อไง) ผมเลยหาวิธีประนีประนอมตามแบบฉบับตัวเอง เพียงไม่นาน เหตุการณ์จบลงโดยไม่มีความขัดแย้งบานปลาย เราคุยกันปกติ กินข้าว กินขนม กินน้ำ แล้วแยกย้ายไปทำหน้าที่ของตัวเอง
มองแบบผิวเผิน เหตุการณ์จบลงจริง แต่คำพูดของแม่ยังติดอยู่ในใจ นี่ไม่ใช่ครั้งแรก บางครั้งพ่อก็ใช้คำพูดแบบนั้น คำพูดที่เชื่อมโยงไปยังสำนวนไทย (ๆ) ในครั้งนี้คือ “เถียงคำไม่ตกฟาก” สำนวนที่ได้ยินทีไรก็อึดอัด ปากที่กำลังจะอ้าต้องรีบหุบ ความคิดที่เตรียมจะอธิบายต้องลอยปลิวหายไป
บางครั้งพ่อแม่ใช้คำพูดตามสำนวนไทย (ๆ) ราวกับก๊อปปี้-เพสต์เลยทีเดียว
ผมเดินขึ้นบันได เปิดประตูห้องนอน นั่งลงบนเตียงแล้วถึงประสบการณ์ในอดีต หลายสำนวนไทย (ๆ) ที่สะท้อนความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจระหว่าง ‘ผู้ใหญ่’ และ ‘เด็ก’ ค่อยๆ ผุดออกมา บางส่วนผมถูกกระทำด้วยตัวเอง บางส่วนผมได้ยินคนอื่นถูกกระทำ
เถียงคำไม่ตกฟาก
ว่านอนสอนง่าย
อาบน้ำร้อนมาก่อน
เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด
รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี
บทความนี้ไม่ได้ต้องการหาที่มาของสำนวนเหล่านั้น หาไปก็ใช่ว่าจะเปลี่ยนอะไรได้ มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ (ในใจผู้ใหญ่ไทยจำนวนมาก!) และไม่มีวี่แววว่าจะดับไปเสียที แต่ผมอยากฟังว่าคนอื่นๆ รู้สึกยังไงกับสำนวนไทย (ๆ) เหล่านี้ ผมทยอยส่งข้อความไปให้แต่ละคนเลือกเพื่อตอบว่าคิดอะไร
นั่นแหละครับ ที่มาของบทความนี้
ขอยืนยันด้วยเกียรติของลูกชายที่ชอบเถียงพ่อแม่ บทความนี้ไม่ได้จ้องจะหาความถูก-ความผิด แล้วประณามผู้ใด เพียงต้องการสะท้อนความรู้สึกของคนจำนวนหนึ่งที่มีต่อสำนวน ต่อค่านิยม ต่อบางวลีบางประโยคที่กำหนดชีวิตเด็กไทยอีกจำนวนไม่น้อย
กำหนดให้ ‘เด็ก‘ เป็นสิ่งมีชีวิตที่เล็กจ้อย จนยากที่จะยืนหยัดความคิดของตัวเองอย่างภาคภูมิใจ
เถียงคำไม่ตกฟาก
“สำนวนนี้โบราณนะ ทั้งในแง่คำว่า ‘ฟาก’ และวิธีคิด สมัยก่อนพื้นบ้านนิยมปูด้วยฟาก การบอกว่าเถียงคำไม่ตกฟาก ก็คล้ายๆ กับบอกว่าเถียงไม่หยุดปาก จนคำยังไม่ได้หล่นถึงพื้นเลย และมักเป็นคำที่ผู้ใหญ่หรือคนที่โตกว่าพูดกับคนที่เด็กกว่า ปัญหาคืออาจทำให้คนที่โดนตำหนิรู้สึกว่า การถกเถียงนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ ทำให้อำนาจของคนที่มีปากมีเสียงน้อยกว่าถูกทำให้น้อยไปอีก จนไม่สามารถเสนอหรือแสดงความเห็นอะไรได้
เราไม่ค่อยโดนอะไรแบบนี้ อาจเพราะเราไม่ค่อยเถียงอะไรจริงจังกับคนที่อาจพูดประโยคนี้ เช่น พ่อแม่ ครู ฯลฯ แต่คิดว่าถ้าเกิดการถกเถียง แล้วเราแสดงความเห็น ถ้าโดนตำหนิว่า ‘เถียงคำไม่ตกฟาก’ เราคงงงๆ ในตอนแรก แต่ถ้ามั่นใจว่าสิ่งที่พูดเป็นความคิดเห็น หรือต้องการจะอธิบาย เราคงพูดมันต่อไป สิ่งที่ดีอย่างหนึ่งของสังคมแวดล้อมใกล้ตัวเราตอนนี้ คือการไม่โดนจำกัดความคิดด้วยคำว่า ‘เถียงคำไม่ตกฟาก’ เราแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่ไม่ว่าคู่สนทนาของเราจะอายุมากกว่า การศึกษาสูงกว่า เรารู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งในการสนทนาได้เต็มที่”
นลัทพร ไกรฤกษ์
บรรณาธิการเว็บไซต์ ThisAble.me
ว่านอนสอนง่าย
“เราเป็นปรปักษ์กับคำนี้มาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว เพราะตอนเด็กๆ เป็นคนดื้อและเป็นตัวของตัวเองสูงมาก สิ่งที่เห็นจากคำนี้คือ ‘ความไม่มีเหตุผล’ ตัวเองมักสงสัยว่า ทำไมเด็กต้องทำตามที่ผู้ใหญ่บอก ทำไมทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำไม่ได้ และ ‘ความไม่ยุติธรรม’ เพราะเป็นผู้ใหญ่เลยมีสิทธิ์ออกคำสั่งกับเด็กเหรอ รวมไปถึงเพื่อนๆ ที่ ‘ว่านอนสอนง่าย’ มักได้รับการปฏิบัติดีกว่า
พอโตขึ้น เรามองเห็นคำว่า ‘ว่านอนสอนง่าย’ ในแง่ของการสร้างความสงบเรียบร้อย แต่ในทางกลับกัน คำว่า ‘ว่านอนสอนง่าย’ ในสังคมไทย เป็นเป็นสิ่งที่ทำให้ ‘ความสงบเรียบร้อย’ เปราะบางเข้าไปใหญ่ เพราะการตั้งคำถาม หรือแค่ทำอะไรนอกโอวาทนิดหน่อยก็เกิดดราม่า หรือความแตกตื่นได้แล้ว ปัญหาของคำว่า ‘ว่านอนสอนง่าย’ คือการที่เด็กเชื่อฟังผู้ใหญ่โดยไม่ตั้งถาม หรือแม้แต่กระทั่งอำนาจที่ผู้ใหญ่ใช้สั่งสอนเรา ทำให้เด็กนั้นขาดความคิดเชิงเหตุผล และเมื่อเด็กต้องทำตามสิ่งที่ผู้ใหญ่บอกตลอด เด็กจึงขาดความคิดสร้างสรรค์ไปด้วย”
วริษา สุขกำเนิด
นักเรียน ม.6 โรงเรียนโยธินบูรณะ
อาบน้ำร้อนมาก่อน
“พอผู้ใหญ่พูดคำนี้มาปุ๊บ เหมือนบอกให้เราหุบปากปั๊บ สิ่งที่เราจะอธิบาย หรือแม้จะเถียงก็เหอะ เป็นสิ่งผิดหรือไร้สาระไปเลย เป็นประโยคตัดจบที่ไม่เปิดโอกาสให้อธิบาย แต่เข้าใจว่าประโยคนี้ส่วนใหญ่ผู้ใหญ่จะใช้เตือนด้วยความปรารถนาดี (ความปรารถนาดีที่เถียงไม่ได้อีกแล้ว เพราะเขาปรารถนาดีไง ปรารถนาดีแล้วจะเอาอะไรอีก) ที่ไม่อยากให้เราผิดพลาดจากอะไรที่ ‘เด็กๆ’ มักจะคิดไม่ถึง
แต่หลายๆ ครั้งผู้ใหญ่ชอบเอามาใช้เป็นคาถาปกป้องตัวเอง จากการคุยเพื่อถกเถียงในตัวประเด็น เพื่อล็อกให้เราอยู่ในโอวาท ให้เคารพ ให้เชื่อถือ ซึ่งหลายๆ ครั้งมันไม่นำไปสู่ความเข้าใจที่แท้จริง สิ่งที่ไม่ชอบที่สุด คือคำนี้เหมือนจะปรารถนาดี แต่มันมีสำเนียงแบบ “หนูจ้ะ หยุด ป้าอาบน้ำร้อนมาก่อน ป้ารู้” แต่มันมีนัยเหยียดคนฟังว่า “ทำไมมึงโง่อะ… ไม่รู้เรื่องอะไรเสียเลย” สรุปคือ อาบน้ำร้อนมาก่อน เป็นคาถาที่พูดยังไงคนพูดก็ดูฉลาด แต่คนฟังดูโง่”
ณิชากร ศรีเพชรดี
กองบรรณาธิการ waymagazine.org
เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด
“มันเหมือนเอาประสบการณ์เป็นที่ตั้งมากกว่าสิ่งอื่น มองอีกแง่ เหมือนทำให้ความคิดของคนที่อายุน้อยถูกจำกัดกรอบว่าต้องอยู่ภายใต้ประสบการณ์ของคนที่อายุมากกว่า ต้องทำตามผู้ใหญ่เสมอไป มันสะท้อนว่าสังคมมองว่าการผิดพลาดเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นเลย! มันทำให้สังคมติดอยู่กับที่ ไม่ไปไหน ไม่พัฒนา ทำแบบนี้ๆ สิถึงจะไม่พลาด ฉันอายุเยอะกว่า ฉันรู้ ทำตามฉัน
คือควรจะปล่อยให้เขาลองผิดลองถูกบ้าง ให้เขาใช้ความคิดของเขา สิ่งๆ นี้มันทำให้คนเราพัฒนา และมีทัศนคติที่กว้างขึ้น คนที่เป็นผู้ใหญ่อาจจะช่วยให้คำแนะนำได้ ผู้ใหญ่สามารถบอกเด็กๆ ได้ว่าเดินทางนี้มันดี ฉันเคยเดินมา หมาไม่กัด แต่ไม่ควรตัดสินว่าทางอื่นไม่ควรเดิน ควรลองให้เด็กๆ ลองเลือกทางเดินเอง ใครจะไปรู้ว่าเด็กอาจจะเดินทางอื่นที่สะดวกกว่า ใกล้กว่า แถมหมาไม่กัดด้วย”
ธารารัตน์ ปัญญา
นักศึกษาปี 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี
“รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี เป็นสำนวนที่เอื้อให้เกิดวัฒนธรรมการใช้ความรุนแรงในสังคมไทยมากๆ นอกจากจะตั้งมาแล้วว่า มีคนหนึ่งรู้ดีว่าอะไรถึงจะเหมาะ คนกลุ่มนั้นมันยังมีอำนาจทำอะไรบางอย่างให้เป็นไปตามนั้นด้วย ถ้ามองให้สเกลใหญ่กว่าครอบครัว คือรัฐสามารถใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนได้ เราเน้นที่ว่า ความคิดแบบนี้อนุญาตให้ใช้ความรุนแรง ซึ่งมันมีผลให้สังคมไทยยอมรับการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าระดับเล็กหรือใหญ่ เพราะก็เหมือนการตีลูกสั่งสอน
ถ้าไปดูการถกเถียงในโลกออนไลน์ มันมีแนวคิดนี้จริงๆ คือมันถูกใช้ในการอ้างว่า รัฐเหมือนพ่อ ประชาชนเหมือนลูก ตีนิดตีหน่อย ตายนิดตายหน่อย ไม่เป็นไร ละถ้าคุณยังยอมรับความรุนแรงในระดับย่อยมันจะทำให้เกิดความชาชิน และสุดท้ายคนก็ชาชินเมื่อเกิดความรุนแรงใหญ่ขึ้น”
พริษฐ์ ชิวารักษ์
นักศึกษาปี 1 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Illustration by Waragorn Keeranan