โดยไม่ต้องให้ฝรั่งที่ไหนมาตั้งคำถาม หรือบอกกับพี่ไทยเราเลยว่า การศึกษาวิชาภาษาอังกฤษของประเทศเรานั้น ประสบความล้มเหลว (ภาษาสุภาพของอาการที่เรียกกันในภาษาปากว่า ห่วยแตก!) ขนาดไหน? ถ้าไม่คลั่งชาติกันมากเกินไป (และโดยไม่ต้องไปสนใจด้วยซ้ำนะครับว่า คลิปเจ้าปัญหา ที่คุณก็รู้ว่าผมหมายถึงคลิปไหนนั่นเป็นการจัดฉากหรือเปล่า?) ร้อยทั้งร้อยก็คงจะตอบไม่ต่างกันนักว่า
“มันโคตรจะห่วยแตก (เอ่อ ผมหมายถึง ประสบความล้มเหลว นั่นแหละ) เลยครับ/ค่ะ!”
ก็จะให้ชื่นชมได้ยังไงไหวล่ะครับ เด็กไทยทุกวันนี้ ส่วนใหญ่เรียนวิชาภาษาอังกฤษ ตั้งแต่ระดับเตรียมอนุบาล อนุบาล ประถมศึกษา ไปยันมัธยมศึกษา รวมเบ็ดเสร็จได้ 15 ปีถ้วน แถมแต่ละปี แต่ละเทอม ไม่ได้เรียนกันแค่วิชาเดียว แต่กลับใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้แบบเวรี่สเน็คๆ ฟิชๆ กันซะเป็นส่วนมาก
(อ่อ! นี่ผมยังไม่ได้นับ บรรดาลูกคุณหนูที่ลงเรียนเพิ่มในวิชาภาษาอังกฤษ ทั้งตามสถาบันกวดวิชาต่างๆ ราคาแพงระยับ และยังมีที่จ้างมาติวกันเป็นการส่วนตัว แถมด้วยบรรดานักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยที่สปีคอิงลิชได้ในระดับกระปิดกระปอย ทั้งที่มีภาษาอังกฤษเป็นวิชาบังคับก่อนจะรับปริญญาบัตรได้อีกนะครับ)
คำถามก็คือ ทำไมระบบการศึกษาของพี่ไทยเรา ถึงทำให้น้องๆ หนูๆ เยาวชนเอาดีไม่ค่อยจะได้ในการเรียนวิชาภาษาของชาวต่างประเทศ? (แน่นอนด้วยว่า ภาษาอังกฤษเป็นเพียงกรณีตัวอย่างของปัญหาเดียวกันกับการศึกษาอีกสารพัดภาษาของเด็กไทย)
หรือที่จริงแล้ว ที่มาของปัญหาจะซ่อนอยู่ตั้งแต่ในอะไรบางอย่าง ที่ซ่อนอยู่ในทัศนคติเกี่ยวกับ ‘การศึกษาเล่าเรียน’ ของไทยเราเองกันแน่?
คำว่า ‘ศึกษา’ เป็นคำที่ภาษาไทยอิมพอร์ตเอาเข้ามาจากภาษาสันสกฤต แล้วก็แปลเป็นภาษาพื้นเมืองแบบไทยๆ ว่า ‘เรียน’ โดยเนื้อแท้ของคำว่าศึกษา จึงไม่ได้สะท้อนทัศนคติเกี่ยวกับการเรียนรู้ของไทยมากนัก แต่คำว่า เรียน เองก็อาจจะยังไม่ใช่ภาษาไทยอยู่วันยังค่ำ
เพราะเอาเข้าจริงแล้วคำว่า ‘เรียน’ ก็น่าจะเป็นคำที่ไทยเรายืมมาจากภาษาเขมรอีกทอด ไม่ต่างไปจากที่เราไปอิมพอร์ตคำว่า ศึกษา จากภาษาสันสกฤตมาใช้อยู่ดี โดยคำว่า เรียน มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า ‘บงเรียญ’ (ออกเสียงว่า บองเรียน) หรือ ‘เปรียญ’ (คำเดียวกับที่เราใช้ว่าสอบเปรียญ หรือมหาเปรียญ) ในภาษาเขมร ที่มีความหมายตรงกับภาษาไทยในปัจจุบันว่า ‘ทำให้เรียน’
หรือถ้าจะพูดอย่างหยาบๆ ก็คือ ‘การสอน’ มากกว่าจะเป็น ‘การเรียน’ ในความหมายอย่างปัจจุบัน
คู่กันกับคำว่า ‘เรียน’ ยังมีคำว่า ‘เล่า’ แต่ว่าไอ้เจ้าคำว่า เล่า นี่มันจะมาเกี่ยวอะไรกับการเรียน กันที่ตรงไหนได้ยังไงล่ะ?
โดยปกติภาษาไทยมักจะใช้คำที่มีความหมายเหมือน หรือใกล้เคียงในสองภาษามาพูด/เขียนซ้ำกัน อย่างที่เรียกว่า ‘คำซ้อน’ เช่น คำว่า ฟ้อนรำ ที่ฟ้อนเป็นภาษาไทยลาว ส่วนรำยืมมาจากเขมร เป็นต้น การซ้อนคำเช่นนี้แม้คุณครูภาษาไทยมักจะอธิบายว่าเป็นไปเพื่อความงามของภาษา แต่นอกจากความงามในแบบที่คุณครูท่านเล็งเห็น คำซ้อนก็ยังเป็นการกำกับความหมายของคำ ในสังคมที่มีความหลากหลายของคนหลากกลุ่มหลายชาติพันธุ์มากๆ ว่า คำว่าฟ้อนของปากชาวลาว ก็ตรงกับคำว่ารำของชาวเขมรนั่นเอง
ซึ่งนั่นก็หมายความด้วยว่า ถ้าหาก ‘เล่าเรียน’ เป็นคำซ้อน คำว่าเล่า (ซึ่งเป็นคำในภาษาไทย-ลาว) ก็มีความหมายถึงการเรียนในภาษาเขมร หรือศึกษาในภาษาสันสกฤต คำว่า ‘เล่า’ เองก็มีความหมายอย่างที่เข้าใจกันในปัจจุบันว่า การบอกกล่าวเรื่องราวต่างๆ ที่ดูจะเกี่ยวกับการสอนมากกว่าการเรียน ไม่ต่างอะไรไปจากคำว่าบงเรียญ หรือเปรียญ ในภาษาเขมรเลยสักนิด
ขนบธรรมเนียมแต่ดั้งเดิมของพี่ไทยเราก็ถ่ายทอดเรื่องราวกันแบบปากต่อปาก (หรือที่เรียกกันอย่างชิคๆ เป็นทางการว่า มุขปาฐะ) มากกว่าที่จะจด จะจาร อะไรกันเป็นเรื่องราวด้วยตัวอักษร แถมยังให้ความสำคัญ (อำนาจ?) กับผู้สอนมากกว่าผู้เรียนอีกต่างหาก ดังนั้นถ้าหากการศึกษาเล่าเรียนของไทยเราจะเน้นหนักกับอำนาจของ ‘ผู้สอน’ มากกว่าการเรียนรู้ของ ‘ผู้เรียน’ ก็ไม่เห็นจะแปลกที่ตรงไหน?
ประเด็นที่สำคัญมากกว่าก็คือ ในวัฒนธรรมแบบมุขปาฐะอย่างนี้ ‘การท่องจำ’ เพื่อให้สารที่ถูกถ่ายทอดออกมาจากปากของผู้เล่า (ผู้สอน) ไม่ผิดเพี้ยนไปนี่แหละครับเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด การจดจำให้แม่นยำจึงเป็นสิ่งที่สมควรแก่การยกย่องมากยิ่งกว่าความเข้าใจในตัวของสารที่ถูกถ่ายทอดมาอย่างช่วยไม่ได้ เพราะถึงเข้าใจแต่จำได้ไม่ครบทุกเม็ดก็ถือว่า ‘ผิดครู’ ส่วนถ้าไม่เข้าใจ แต่จำได้ไม่มีเพี้ยน สักวันก็อาจจะเข้าใจได้เหมือนกันนะครับ อย่างน้อยที่สุดสารที่รับมาก็ไม่ได้เพี้ยนไปจากปากครูท่านเลยสักนิด
และก็จึงไม่แปลกอะไรอีกเช่นกันที่การศึกษาภาษาอังกฤษของไทย จะเน้นหนักที่ไวยกรณ์ และการท่องจำศัพท์ มากกว่าที่จะใช้สำหรับการสื่อสาร ในปฏิบัติงานจริง
ลักษณะอย่างนี้ต่างไปจากแนวคิดเรื่องการศึกษาของฝรั่งแบบแหงแซะ เพราะคำว่า ‘education’ มีรากมาจากคำว่า ‘educere’ ที่แปลว่า ‘นำออก’ (หมายถึงความงอกงาม) หรือ ‘educare’ ที่แปลว่า ‘การฝึกฝน’ ทั้งสองคำนี้ดูจะใส่ใจ และให้คุณค่ากับการเรียน มากยิ่งกว่าการสอน และตรงกันข้ามกับการเล่าเรียนในแบบไทยๆ อย่างกับอยู่คนละขั้วตรงกันข้าม
และก็เป็นเพราะอย่างนี้อีกเช่นกัน ที่ทำให้พี่ไทยเรามักจะแยก ‘ภาษา’ ออกจาก ‘วัฒนธรรม’ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งสองสิ่งนี้ไม่สามารถแยกจากกันได้เลย วิชาภาษาอังกฤษที่อยู่ในหลักสูตรการศึกษาไทยจึงเป็นภาษาอังกฤษแห้งๆ ไม่มีชีวิตชีวา และไม่ชวนให้รู้สึกสนุกเอาด้วยเลยสักนิด
ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือทำไมตาสีตาสา หรือกระทั่งมานะมานีที่ไหน ก็สามารถเลี้ยงลูกให้พูดภาษาไทยได้ ทั้งที่ไม่ได้รับปริญญาบัตรครุศาสตร์บัณฑิต?