“บางครั้ง ในงานสอนพิเศษจะมีเขียนระบุไว้ว่า ต้องการคนจบวิศวฯ แต่เป็นงานสอนวิชาฟิสิกส์ธรรมดา ที่แบบ เฮ้ย เราก็สอนได้ ใช่ไหม แต่เราเคยรับงานแล้วโดนถามว่า คุณจบคณะวิทย์ฯ นะ คุณสอนไหวเหรอ ตอนนั้นเราก็ฉุนมากว่า อะไรวะ ก็เลยตอบกลับไปว่า โอ๊ย ผมผ่านโอลิมปิกมาแล้ว ก็เลยได้งานมา”
เรื่องเล่าข้างต้นของ วรินท์ แพททริค แม็คเบลน จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาคลาสสิกในวงการการศึกษาวิทยาศาสตร์ไทย เมื่อคนในสังคม โดยเฉพาะผู้ปกครองของนักเรียนที่กำลังผลัดใบเข้าสู่วัยเรียนมหาวิทยาลัย มีทัศนคติที่อาจถกเถียงได้ว่า ไม่เอื้อต่อการเรียนและทำงานในเส้นทางสายวิทยาศาสตร์มากนัก แต่กลับให้ความสำคัญกับการเรียนในสายวิชาชีพ เช่น แพทยศาสตร์ หรือวิศวกรรมศาสตร์ มากกว่า
ปัญหาดังกล่าวยิ่งได้รับการตอกย้ำ และกลายเป็นที่พูดถึงในสังคมอีกครั้ง หลังจากที่ อ.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองอธิการบดี ฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ออกมาเล่าถึงบรรยากาศการประชุมผู้ปกครองของโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) โรงเรียนมัธยมปลายที่มุ่งเน้นวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ใน จ.ระยอง ที่ปรากฏว่า ครูถึงกับต้องหลั่งน้ำตา เพื่อขอร้องให้ผู้ปกครองสนับสนุนความฝันของลูกๆ ที่อาจไม่ได้อยากเป็นหมอ
“ครูพูดวิงวอนด้วยน้ำตา ขอให้ผู้ปกครองเปิดใจรับฟังความฝันของลูกหลาน แล้วสนับสนุนให้พวกเขาไปถึงฝั่งฝันนั้น” และ “แม้ฝันของเด็กจะไม่ตรงกับความต้องการของพ่อแม่ หรือครอบครัวก็ตาม” อ.มานะ เขียนบนเฟซบุ๊ก
แต่แท้จริงแล้ว ทัศนคติที่อาจนำมาสู่ปัญหาเช่นนั้น ยังมีอยู่ในสังคมไทยมากน้อยแค่ไหน? เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาวงการวิทยาศาสตร์ไทยขนาดไหน? และถ้าพูดถึงสายอาชีพวิทยาศาสตร์ ปัญหาต่างๆ ยังคงมีอยู่แค่ไหน? และวิทยาศาสตร์ไทยต้องเดินหน้าอย่างไรต่อไปได้บ้าง?
The MATTER พูดคุยกับนักศึกษาระดับปริญญาเอก สายวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ 3 คน เพื่อเจาะลึกถึงปัญหาดังกล่าว ได้แก่
- วรินท์ แพททริค แม็คเบลน นักศึกษา ป.เอก วิชาฟิสิกส์ จากสถาบัน Scuola Internazionale Superiore di Studi Avanzati (SISSA) ประเทศอิตาลี
- อัณณ์—อดิศร พนาสวัสดิ์วงศ์ นักศึกษา ป.เอก วิชาฟิสิกส์ จากสถาบัน Max Planck Institute for Physics of Complex Systems ประเทศเยอรมนี
- และ บูม—จิรทีปต์ ปรัชญาธรรมกร นักศึกษา ป.เอก วิชาเคมี จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge) สหราชอาณาจักร
ระบบการศึกษาไทยเป็นอุปสรรคต่อพัฒนาวงการวิทย์หรือไม่?
แพททริคเล่าว่า เขาเริ่มสนใจวิชาฟิสิกส์ตั้งแต่ช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ทำให้เขาต้องย้ายไปอยู่ภาคเหนือชั่วคราว และเป็นช่วงเดียวกับที่เขาได้เรียนพิเศษกับครูท่านหนึ่ง ที่เขาบอกว่า สอนดีจนทำให้เห็นหลักของฟิสิกส์ได้จริงๆ
“แสดงว่า จุดที่ทำให้อยากเรียนจริงๆ ไม่ใช่ระบบการศึกษา?” เราถาม
“ไม่ใช่ตัวระบบในห้องเรียน เป็นจากข้างนอก เป็นจากอาจารย์คนนี้ และพวกสารคดีมากกว่า” เขาตอบ
เมื่อถามถึงระบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในไทย ทั้ง 3 คน – แพททริค อัณณ์ และบูม – ต่างตอบเหมือนกันว่า มีปัญหา และเมื่อสืบสาวดูแล้ว นี่อาจเป็นรากฐานส่วนหนึ่งของอุปสรรค ที่ทำให้วงการวิทยาศาสตร์ไม่พัฒนาเท่าที่ควร หรือนำมาสู่ทัศนคติของผู้ปกครองหรือคนทั่วไป ที่อาจไม่เอื้อต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ไทย
“คุณภาพการเรียนวิทย์ที่ไทยคือ อยากร้องไห้ เอาง่ายๆ นะ มัธยมท็อปๆ ที่ไทย ก็ยังเป็นเด็กส่วนน้อยจริงๆ ที่จะเรียนวิทยาศาสตร์ในเชิงของความเข้าใจ คือต่อให้จบมาจากมัธยมท็อปๆ ของไทย รอดมาได้เพราะจำ จำว่าเห็นสมการนี้ต้องทำอะไร เห็นสมการนี้ต้องทำยังไง แต่ไม่เคยคิดว่า เห็นสมการนี้แล้วคิดว่ามันเกิดอะไรขึ้น” อัณณ์เล่าติดตลก
เช่นเดียวกัน แพททริคเล่าถึงสภาพการเรียนวิชาฟิสิกส์ในไทยว่า “เราแนะนำตัวว่าเราเรียนฟิสิกส์ แล้วทุกคน 90-95% ก็จะต้องตอบทันทีเลย เหมือนเป็นระบบออโต้ว่า โอ้ ฟิสิกส์เนี่ย ผมเรียนในโรงเรียนไม่รู้เรื่องเลย อย่างนี้ 95% แสดงว่ามันมีปัญหาแล้วนะ มันมีปัญหาจริงๆ
“สำหรับเด็ก ฟิสิกส์มันคือวิชาที่ เราต้องอัดๆๆ สูตร ต้องรู้สูตร ทำโจทย์ อย่าเรียกว่าทำโจทย์เลย บางทีจำโจทย์ก็มี เพื่อไปตอบๆๆ ในข้อสอบ แล้วโรงเรียนก็สอนในลักษณะแบบนี้มาโดยตลอด พอมันไม่มีความเชื่อมโยงตรงนี้ เด็กก็มองไม่เห็นภาพ”
ขณะเดียวกัน เพื่อให้เห็นภาพ บูมเปรียบเทียบการเรียนสอน จากประสบการณ์การเรียนที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) ระดับ ป.ตรี และ ป.โท ว่า “คิดว่า ข้อแตกต่างก็คือเรื่องวิธีการคิด การที่เรามาเรียนที่นี่ เราไม่ได้เรียนเพื่อมาเอาความรู้ (knowledge) แต่เรามาเรียนว่าจะหาความรู้ยังไง ให้เรารู้ เข้าใจจริงๆ เพราะอันนั้นจะเป็นสิ่งที่ติดตัวเราไป
“มายด์เซ็ตของการสร้างคนให้รู้จักการทำอะไรด้วยตัวเอง ทำนวัตกรรม (innovation) มีความคิดสร้างสรรค์ (creative mind) กล้าถามคำถาม อันนี้คือสิ่งที่เขาอยากจะปลูกฝังในระบบการศึกษาของเขา” บูมอธิบาย
และนอกจากการเรียนการสอนแบบท่องจำ อัณณ์ชี้ว่า สิ่งที่ยังขาดหายไปในระบบการศึกษาไทยคือ การแนะแนวอาชีพทางด้านวิทยาศาสตร์ ที่อาจทำให้นักเรียนสนใจเรียนกันมากขึ้น
“สุดท้ายแล้วเราเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อหางาน ถ้าเกิดเราเรียนไปแล้วมองไม่เห็นว่าอนาคตมีงานอะไรบ้าง ก็ไม่มีประโยชน์ นั่นคือปัญหาของการเรียนมหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้น สิ่งแรกที่ควรทำ ถ้าเราอยากสนับสนุนการเรียน คือเราต้องสนับสนุนให้เห็นว่า อนาคตมีอะไรบ้าง ถ้าเราไม่สามารถเห็นอนาคตได้ มันก็ไม่รู้จะทำไปทำไม
“อันนี้ก็ต้องโทษระบบที่ไทยด้วย ที่มันไม่ทำให้มองเห็นว่าการเรียนวิทยาศาสตร์มันไปทำอะไรได้ในอนาคต เพราะอย่างตอนอยู่ ม.ปลาย คือบอกว่าจะไปเรียนฟิสิกส์ ทำงานเป็นอะไรเหรอ ในหัวก็คือ นักฟิสิกส์ ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น” เขาว่า
งบน้อย ขาดการสนับสนุน แถมต้องทำงานเอกสาร และอีกสารพัดปัญหา: ข้อจำกัดของการทำงานวิทยาศาสตร์ในไทย
เมื่อขยับจากระบบการศึกษา มาสู่การทำงานในสายวิทยาศาสตร์ในไทย ก็น่าจะถกเถียงได้ว่า ยังมีปัญหาและข้อจำกัดอยู่มาก บูมอภิปรายถึงข้อจำกัดของการทำงาน ที่มีอยู่อย่างน้อย 5 ประการ
- โอกาสในอาชีพที่จำกัด “เราไม่ค่อยมีโอกาสในเรื่องของงานเท่าไหร่ มันค่อนข้างจำกัด ว่ากลับมาทำอะไรได้ โอเค เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นนักวิจัย หรือถ้าไม่อย่างนั้นก็ต้องเป็นเจ้าหน้าที่เทคนิค คนดูแล็บ ไปเป็นอาจารย์สอนโรงเรียนมัธยม ไปทำนโยบาย หรือทำนโยบายด้านนวัตกรรม ฟังๆ ดูแล้ว มันก็ค่อนข้างจำกัด ในมุมมองของคนที่อยู่ที่ไทย หรือคนที่เป็นผู้ปกครอง ซึ่งมันก็มีเรื่องของความจำกัดนี้จริงๆ” เขากล่าว
- งบประมาณและการสนับสนุนที่จำกัด “ทำให้ การของบวิจัยครั้งหนึ่งก็อาจจะไม่ได้ง่ายขนาดนั้น คือที่ไทยหลายคนก็อาจจะบอกว่าง่ายแล้วนะ ถ้าเกิดเทียบกับสายวิชานี้กับวิชาอื่นที่ไทย แต่สมมติถ้าเทียบไทยกับต่างประเทศ เงินทำงานวิจัยก็ต่างกันมาก”
- อคติด้านวัฒนธรรม (cultural bias) ซึ่งก็เป็นเรื่องเดียวกับประเด็นที่ว่า ผู้ปกครองอยากให้ลูกๆ เรียนสายวิชาชีพอื่นมากกว่าวิทยาศาสตร์ ที่ถกเถียงได้ว่า “ความรู้สึกภูมิใจในหน้าที่ในอาชีพตัวเองของคนที่ทำงานด้านนี้”
- ระดับของการตีพิมพ์ (publication) และการเป็นที่ยอมรับ (recognition) ของประเทศไทย ที่อาจไม่เท่ากับประเทศอื่นๆ ซึ่งก็สืบเนื่องมาจากงบประมาณที่จำกัดด้วยเช่นกัน “สมมติห้องแล็บฯ ถ้าเป็นด้านเคมี ก็ห้องไม้ ม้านั่งเก่าๆ ต่างชาติ มาปุ๊บ แล้วเกิดเขาเป็นคนอนุมัติว่าจะให้งานวิจัยเราตีพิมพ์วารสารต่างประเทศไหม มันก็ทำให้มันมีอคติตรงนี้ด้วย”
- และ เงินเดือน และความคาดหวังในหน้าที่การงาน ที่อาจไม่สมดุลกัน
“เรื่องเงินเดือน น่าจะต้องดอกจันตัวใหญ่ๆ เลยว่า ในไทยเป็นปัญหามาก เหมือนระบบเงินเดือนเขายังติดอยู่กับ 10-20 ปีที่แล้ว ไม่เพิ่มตามอัตราเงินเฟ้อเลย” แพททริคเสริม
เขาเล่าสอดคล้องกับบูมว่า “เราเห็นว่า อาจารย์หลายๆ ท่าน ต้องรับมือกับระบบต่างๆ ของไทย ที่มันอาจจะไม่ได้เอื้อต่อการทำงานของเขาขนาดนั้น เรามีอาจารย์ที่รู้จัก ที่กลับไทยมาแล้ว เบิร์นเอาต์ไปพอสมควร จนกว่าจะขุดตัวเองขึ้นมา”
ขณะที่อัณณ์เล่าว่า “ที่แย่กว่านั้นคือ เป็นนักวิจัยที่ไทยคุณต้องทำงานเอกสารด้วย โอ้ ก็อด เพื่อนบ่นมากว่า เวลาส่วนหนึ่งในการทำงาน ก็คือนั่งทำเอกสาร ซึ่งไม่สมเหตุสมผลสักเท่าไหร่ นึกภาพว่าทำงาน 9 โมงถึง 5 โมงเย็น ใช้เวลาสัก 3 ชั่วโมงต่อวันในการทำเอกสาร ก็ดูไม่ใช่เรื่องที่ต้องทำหรือเปล่า”
ด้วยข้อจำกัดเหล่านี้ ก็อาจเป็นเหตุผลให้คนที่มีโอกาสได้ไปเรียนในต่างประเทศส่วนหนึ่งเลือกที่จะไม่กลับมาทำงานที่ไทย รวมถึงนักเรียนที่ผ่านการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการด้วย
แพททริคเล่าว่า “หลายๆ ครั้ง คุณส่งเด็กไปเรียนเมืองนอก แต่กลับมา คุณไม่เตรียม facility ให้เขา คุณไม่เตรียมงบให้เขา มีเรื่องสยองขวัญ (horror story) ของเด็กทุนที่กลับมา แล้วก็มีปัญหาเยอะมาก บางครั้งคุณส่งเด็ก คุณให้ทุนเด็กไปเรียน แล้วกลับมาคุณไม่เตรียมที่ทางให้เขา คุณไม่เตรียมตำแหน่งให้เขา แล้วสุดท้ายเขาไปทำอะไรไม่รู้
“เราก็มาตั้งคำถามกันทุกปีว่า เด็กโอลิมปิกหายไปไหน ก็คุณส่งเขาไปเรียนแล้วคุณไม่เตรียมที่ทางให้เขา คุณไม่ให้เขาได้ฉายแสง ได้ใช้ทักษะตัวเองอย่างเต็มที่ ใครเขาจะอยากกลับมา
“เหมือนคุณเอาคนไปเกณฑ์ทหาร ฝึกนู่นนี่นั่น แล้วสุดท้ายไปตัดหญ้า มันก็ไม่มีใครอยากไปทำ” เขาเปรียบเปรย
หรือแม้กระทั่งตัวของแพททริคเอง ที่เปิดเผยว่า ยังไม่มีแผนจะกลับมาทำงานที่ไทย “หลายๆ ครั้ง เรารู้สึกว่าอยากกลับไทย เพราะเรารู้สึกว่าตัวเองโชคดี และเรามีโอกาสที่ดีหลายๆ อย่างในการที่ออกมาต่างประเทศ มาเปิดหูเปิดตา ได้เรียนกับมหาวิทยาลัย กับบุคลากรที่ก็เป็นคนชั้นน้ำ เราอยากที่จะแบ่งปันสิ่งเหล่านี้ให้กับเด็กในประเทศ เพราะรู้สึกว่า จริงๆ เด็กที่สนใจฟิสิกส์ในประเทศมีเยอะกว่าที่เราคิด
“แต่ทุกครั้งเวลาเรายกประเด็นนี้ขึ้นมา เราก็จะเหมือนโดนปรามขำๆ จากอาจารย์ที่หลายๆ คนว่า จะกลับมาทำไม ก็ไปให้สุดนั่นแหละ ก็เลยเป็นลักษณะแบบนั้น”
เรียนสายวิทย์ก็ต้องเรียนหมอ? ทัศนคติที่ยังฝังรากลึกในสังคมไทย
บูม ซึ่งเรียนจบชั้น ม.ปลาย จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ (MWIT) เล่าว่า เพื่อนๆ ที่ผ่านการเข้าค่ายโอลิมปิกวิชาการมาด้วยกัน ส่วนใหญ่ก็ไปเรียนต่อด้านแพทยศาสตร์ “หมอเยอะครับ หมอเยอะ ก็ไม่ปฏิเสธ
“ถ้าพูดตามตรงเลยก็คือ ตอนนั้นก็จบ MWIT ใช่ไหม ก็ไม่ได้หลากหลายเท่าไหร่ เพื่อนๆ ก็เป็นหมอกันประมาณ 70-80% วิศวฯ อีกที่เหลือ แล้วก็สัก 10-20 คนต่อรุ่นก็ไปเรียนต่อต่างประเทศ ก็จะไปเรียนสายเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ 2-3 ปีจะมีสักคนไปเรียนเศรษฐศาสตร์ ไปเรียนไฟแนนซ์ บัญชีที่แตกต่างออกไปจากสายวิทย์เยอะๆ”
เราจึงชวนอภิปรายต่อว่าเพราะสาเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
“ทำไมคนถึงมีอคติ มองว่า เป็นเพราะการรับรู้ทางวัฒนธรรม (cultural perception) ตั้งแต่เด็ก มันเป็นอะไรที่เห็นภาพง่าย คุณหมอรักษาคนไข้หาย นักวิทยาศาสตร์ทำงานวิจัยออกมา ได้อะไร คนเราชอบอะไรที่เห็นง่าย ดังนั้น ผมคิดว่า อันนี้ก็ทำให้เกิดความลำเอียงในใจได้” บูมให้ความเห็น
ไม่ต่างกัน แพททริคมองว่า “ในหลายๆ ครั้ง คนก็จะมองเห็นภาพหมอ ภาพวิศวฯ ส่วนหนึ่งก็คงเพราะค่านิยมเก่าๆ ด้วยว่า รุ่นเก่าๆ เคยเห็นว่า หมอล็อกอาชีพ หมอเป็น อาชีพที่มีเกียรติ หรือเป็นวิศวฯ เขามองในแง่ที่ว่า เรียนแล้วมีอาชีพมารองรับ แต่พอเป็นคณะวิทย์ฯ เขามองไม่ออกว่า จบไปจะทำอะไร เพราะว่า คณะวิทย์ฯ ไม่ได้เรียนเป็นวิชาชีพ มันเรียนกว้างมาก มันเรียนเพื่อเอาชุดทักษะบางอย่าง”
แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็ชวนคุยว่า ในโลกปัจจุบัน การ ‘ล็อกวิชาชีพ’ ก็อาจไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว “ตอนนี้เรามีอาชีพใหม่ๆ บางอย่างก็กลับมาเป็นกระแสในโลกปัจจุบัน
“เรารู้สึกว่าสุดท้ายแล้วเราไม่สามารถทำนายกระแสของโลกได้ แต่ถ้าเรายืนหยัดที่จะทำในสิ่งที่เราชอบ ทำในสิ่งที่เราถนัด บางทีเราทำมันแล้วเรามีความสุขกว่า แล้วสุดท้ายกระแสโลกจะเหวี่ยงอะไรมา มันก็เป็นเรื่องของดวง อย่างในชีวะฯ คนที่ทำวิจัยเรื่อง mRNA เขาก็ไม่ได้คาดคิดว่า วันหนึ่งเขาจะต้องได้ใช้มันในการทำวัคซีนใช่ไหม” แพททริค เสริม
ส่วนบูมก็มองในเรื่องนี้ว่า “ในสังคมสมัยใหม่ มันเปลี่ยนจากสังคมยุคอุตสาหกรรม กลายเป็นสังคมอีกแบบหนึ่ง ซึ่งตรงนี้ มันยากที่แต่ละรุ่นจะเข้าใจกันและกัน คือเราอาจจะไม่ได้เข้าใจเขา เขาก็อาจจะไม่ได้เข้าใจเรา แต่ถ้าไม่เข้าใจ ก็อยากให้อย่างน้อยมองว่า ถ้าเรารักลูก เราอยากให้ลูกมีความสุข
“ก็คืออยากจะบอกว่า ให้เป็นห่วงลูกนั่นแหละ ก็รู้ว่าเป็นห่วงลูก แต่ก็อยากให้เป็นห่วงลูกอย่างเข้าใจ
“แล้วก็คิดว่า ถ้าอยากให้ลูกโตไปแล้วมีความมั่นคงของตัวเอง ตอนแรกต้องทำให้ลูกมีความมั่นคงในความคิดตัวเองก่อน ก่อนที่จะมั่นคงในการงาน ถ้าเกิดว่าลูกขาดความมั่นใจในการทำหลายๆ อย่าง มันก็อาจจะทำให้ลูกขาดความเป็นตัวเองไป”
หนทางสู่วันข้างหน้า ของวงการวิทยาศาสตร์
“จริงๆ นักวิทย์ฯ บุคลากรของเรา มีความสามารถเยอะนะครับ แต่เราแค่ยังไม่ได้ใช้ศักยภาพนั้นได้ดีมากพอ ที่ผ่านมา เหมือนเราเป็นศตวรรษที่สูญหาย (lost decade) อุตสาหกรรมอะไรก็ไม่ไป พอมันไม่ไปปุ๊บ มันก็ไม่รู้จะต้องทำอะไร งานวิจัย ก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไรต่อ ซึ่งอันนี้ทำให้เราช้ากว่าเขา แต่ไม่ได้แปลว่าเราไม่มีศักยภาพ ตัวบุคลากรเรามีศักยภาพ แต่เราควรจะใช้งาน เราควรจะมีการสนับสนุนที่ดีกว่านี้” บูมระบุ
แล้วควรทำอย่างไรต่อ? เราถาม
สำหรับบูม ข้อหนึ่งที่เขาเสนอคือ ความร่วมมือ (collaboration) และการบูรณาการ (integration) ระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องมีมากขึ้น
“รัฐบาลไทยควรทำงานร่วมกันในทุกๆ กระทรวง ไม่ใช่กระทรวงนี้ก็มีนโยบายฝั่งนี้ กระทรวงนี้ก็มีนโยบายฝั่งนี้ แต่ว่าไม่บูรณาการกัน จริงๆ แล้ว สาธารณสุขก็ทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ได้ อุดมศึกษาได้ ทำงานให้มันมีงานวิจัย มีทิศทาง (direction) ชัดเจน และคนต้องคุยกัน”
อีกประการหนึ่ง ซึ่งทั้ง 3 คนเห็นตรงกัน คือการอบรมเพิ่มความรู้ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ของประชากร รวมถึงทัศนคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์มากขึ้น ซึ่งในเรื่องนี้ แพททริคมองว่า จะทำให้ประเทศไทยมี ‘scientific literacy’ หรือการรู้วิทยาศาสตร์ ที่มากขึ้น
“มันจะเพิ่ม scientific literacy ของคน ให้คนเห็นค่าของวิทยาศาสตร์มากขึ้น แล้วพอคนเห็นค่าของมันมากขึ้น ถึงจุดหนึ่ง คนก็จะเริ่มเห็นค่าของอาชีพนี้มากขึ้น ซึ่งอันนี้มันต้องทำในทุกระดับจริงๆ ก็คือ รัฐต้องให้ความสนใจและให้การสนับสนุนวิทยาศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรม องค์กรต่างๆ ก็ควรจะต้องมีไปในทิศทางเดียวกัน ควรมีการให้งบ และในระดับโรงเรียนก็ควรมีการพัฒนาบุคลากรครู เพื่อที่จะสามารถถ่ายทอดวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ให้กับเด็กได้”แพททริคอธิบาย
ถัดมา ส่วนหนึ่งที่จะนำไปสู่จุดนั้นได้ อัณณ์นำเสนอไอเดียว่า หน่วยงานทางวิทยาศาสตร์ควรจะมี ‘การขาย’ หรือ ‘มาร์เก็ตติ้ง’ ให้มากกว่าเดิมด้วย
“มาร์เก็ตติ้งของวิทยาศาสตร์ที่ไทย ไม่มี ไม่มีการขายเกิดขึ้น เราจะเห็นว่า วิทยาศาสตร์ที่มันดังในเมืองนอก มันมาจากชื่อส่วนใหญ่ด้วย การวิจัยในอังกฤษชื่อก็เด้งขึ้นมาเลย อ็อกซ์ฟอร์ด เคมบริดจ์ หรืออิมพีเรียล (Imperial College London) พอคุณพูดถึงการวิจัยปุ๊บ มันมีชื่อที่มันดัง มันป็อปๆ ขึ้นมา
“แต่พอพูดถึงการวิจัยที่ไทย มันไม่มีอะไรป็อปขึ้นมาในหัว มันไม่มีการขาย ในขณะที่จริงๆ ศูนย์วิจัยที่ไทยดีๆ มีเยอะมากเลยนะ พอมันไม่มีการขายเกิดขึ้น ก็ส่งผลว่า มันไม่เห็นว่ามีวิชานี้อยู่ ก็กลับไปที่จุดเริ่มต้นที่ว่า มันไม่มีความรู้ว่ามีวิชา มีอาชีพอะไรแบบนี้อยู่” อัณณ์เล่า
นักเรียนวิทยาศาสตร์ยังไม่สิ้นหวัง เพราะโอกาสจะเข้ามาหาคนที่มีทักษะ
อย่างไรก็ดี ทั้ง 3 คนเห็นตรงกันว่า ด้วยลักษณะของความเป็นวิชาวิทยาศาสตร์ สิ่งที่การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์จะให้ได้จริงๆ ก็คือการสร้างชุดทักษะ และวิธีการหาความรู้ ที่ไม่ได้เป็นชุดความรู้ที่ตายตัว และดังนั้นแล้ว โอกาสจึงยังเปิดกว้างเสมอสำหรับนักเรียนวิทยาศาสตร์อยู่
“สิ่งที่เราได้ คือเรามีชุดทักษะ (skill set) บางอย่าง มีทักษะการแก้ปัญหา มีทักษะการศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง อย่างน้อยถ้าเราจะหาอะไร เรารู้ว่าจะต้องหาตรงไหน เราไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องนั้นก็ได้ แต่ถ้าสมมติต้องการจะรู้เรื่องนี้ เราสามารถหาจากหนังสือเล่มนี้ หรือหาจากแหล่งอื่นได้
“ซึ่งถ้ามองในมุมนี้ มันสามารถไปทำงานอื่นๆ ได้เยอะมาก และถ้ามองในมุมของโลก คนที่จบวิทยาศาสตร์เป็นที่ต้องการของตลาด โอเค วงวิชาการมันก็มีปัญหาของมัน แต่ในตลาดที่เป็นสายเทคโนโลยี ตลาดสายอุตสาหกรรม คนที่จบพวกนี้จะเป็นที่ต้องการของตลาด เพราะว่าเขามีชุดทักษะตรงนี้
“ฉะนั้น คนจบฟิสิกส์ไปทำสตาร์ตอัป ไปทำเทคโนโลยี ก็มีเยอะแยะ คนไปทำงานสายอื่น ไปทำไฟแนนซ์ มีเยอะ ถ้าในไทย มันไม่ได้แค่ล็อกว่าต้องเป็นวิชาการ” แพททริคอธิบาย
ท้ายที่สุด ทั้ง 3 คนยังเห็นตรงกันว่า ทุกอาชีพควรได้รับการมองเห็นว่ามีคุณค่าเท่ากัน ดังนั้น สิ่งที่ต้องตามมา คือนักเรียนนักศึกษาทุกคนควรมีสิทธิได้เลือกเล่าเรียนและทำงานตามสิ่งที่ตนเองสนใจจริงๆ
“เพราะว่าการทำงานมันเป็นเวลา 30-40 ปีของชีวิตที่เหลือเลยนะ ให้ 30-40 ปี ทำอะไรกับสิ่งที่ตัวเองไม่อยากทำ ก็ไม่โอเคเหมือนกันหรือเปล่า คือต่อให้มันมีเงินก็จริง แต่ไม่มีชีวิตเลยมันก็ไม่โอเคอยู่ดี สุดท้ายก็ลงเอยกับการเรียนที่ทำให้ไม่ได้ใช้ชีวิตกับสิ่งที่ตัวเองต้องการจะทำ” อัณณ์กล่าว
ขณะที่บูมบอกว่า “ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม ทำอะไรที่เรารักและมีความสุข มันสำคัญกว่าการมีเงินเยอะ สำคัญกว่าอะไรหลายๆ อย่าง สมมติว่าเราทำอะไรที่เราไม่ได้ชอบ แต่ว่าได้เงินเยอะ บางที อย่างผมทำอะไรบางอย่าง เราก็จะรู้สึกว่าเราทำไปทำไม ความหมายของชีวิตเราคืออะไร
“เดี๋ยวเรื่องเงินจะตามมาเอง ถ้าเกิดเราทำอะไรที่เรามีความสุข และเราทำตรงนั้น ด้วยการนำทักษะของเราไปใส่ตรงนั้นด้วย ก็คิดว่าสิ่งเหล่านี้จะตามมา” บูมทิ้งท้าย