ค่าแรงขั้นต่ำ ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่สะท้อนถึงสวัสดิการ และการพัฒนาของประเทศ ทั้งยังเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่จะดึงดูดแรงงานจากต่างชาติ และการลงทุนด้วย ซึ่งที่ผ่านมา ก็มีการพูดกันว่า ถ้าการเมืองดี ค่าแรงขั้นต่ำ และคุณภาพชีวิตของแรงงานก็จะมีการพัฒนา และดีขึ้นด้วย
The MATTER ชวนสำรวจค่าแรงขั้นต่ำใน 10 ประเทศทั่วโลก ทั้งประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ประเทศในเอเชีย ไปถึงประเทศที่พัฒนาแล้วกันว่า พวกเขามีอัตราค่าแรงขั้นต่ำกันเท่าไหร่ มีการปรับขั้นเท่าไหน และประเทศไทยอยู่จุดไหนด้วย
เวียดนาม – เฉลี่ย 1.6 แสนดองต่อวัน (220 บาทต่อวัน) = 27.5 บาท ต่อชั่วโมง
ค่าแรงขั้นต่ำของเวียดนามเพิ่งมีการปรับขึ้นถึง 5.7% เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยค่าแรงขั้นต่ำในเวียดนามมีเกณฑ์ที่แตกต่างกันใน 4 ภูมิภาค โดยในเมืองใหญ่อย่างโฮจิมินห์ซิตี้ และฮานอย มีค่าแรงขั้นต่ำสูงสุดอยู่ที่ 4.42 ล้านด่อง หรือประมาณ 5,700 บาท/เดือน และในภูมิภาคต่ำสุดจะอยู่ที่ 3.07 ล้านด่อง หรือประมาณ 4,000 บาท คิดเป็นค่าจ้างรายวันอยู่ที่ประมาณ 180-260 บาท หรือเฉลี่ยแล้ววันละ 220 บาท ซึ่งทำงานวันละ 8 ชั่วโมงเท่ากับ ค่าแรงชั่วโมงละ 27.5 บาท นั่นเอง
ไทย – เฉลี่ย 324.5 บาทต่อวัน = 40.5 บาทต่อชั่วโมง
ประเทศไทยมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเมื่อมกราคมเช่นกัน โดยแต่ละจังหวัดนั้น มีค่าแรงที่ไม่เท่ากัน โดยจังหวัดที่ค่าแรงสูงที่สุดคือ ชลบุรี และภูเก็ตที่ 336 บาท ขณะที่ 6 จังหวัดในกรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ที่ 331 บาท และอัตราที่ต่ำสุดคือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา นราธิวาส และปัตตานี ที่ 313 บาท โดยเฉลี่ยแล้ว ค่าแรงขั้นต่ำของไทยจึงอยู่ที่ 324.5 บาทต่อวัน หรือที่ 40.5 บาทต่อชั่วโมง
มาเลเซีย – 5.77 ริงกิตต่อชั่วโมงต่อชั่วโมง = 43.16 บาทต่อชั่วโมง
ประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างมาเลเซีย ก็เพิ่งมีการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำเช่นกัน ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยได้ปรับค่าแรงต่อเดือนขึ้นเป็น 1,200 ริงกิต (ประมาณ 8,925 บาท) ซึ่งอัตราที่แรงงานจะได้รับต่อชั่วโมงก็เพิ่มขึ้นมาเป็น 5.77 ริงกิต (ประมาณ 43.16 บาท) หรือเพิ่มขึ้นมาชั่วโมงละ 3.57 บาท
ไต้หวัน – 158 ดอลล่าร์ไต้หวันต่อชั่วโมง = 170.09 บาทต่อชั่วโมง
ประเด็นเรื่องระบบค่าจ้างขั้นพื้นฐานของไต้หวัน จะมีการหารือกันในทุกไตรมาสที่ 3 ของปี โดยคณะกรรมการค่าจ้างขั้นพื้นฐาน โดยไต้หวันได้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 23,800 ดอลล่าร์ไต้หวัน (ประมาณ 25,600 บาท) ต่อเดือน หรือเป็นชั่วโมงละ 158 ดอลล่าร์ไต้หวัน (ประมาณ 170.09 บาท)
เกาหลีใต้ – 8,590 วอนต่อชั่วโมง = 227 บาทต่อชั่วโมง
เงินเดือนขั้นต่ำของเกาหลีใต้ เพิ่งมีการปรับขึ้นในช่วงต้นปีเช่นกัน โดยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต่อชั่วโมง 2.9% เป็น 8,590 วอน (227 บาท) และ 1,795,310 วอนต่อเดือน (ประมาณ 47,424 บาท) การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของเกาหลีใต้ ถือเป็นหนึ่งในแคมเปญหาเสียงของ ปธน.มุน แจอิน ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเกาหลี
สหรัฐฯ – 7.25 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อชั่วโมง = 229.71 บาทต่อชั่วโมง
ค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลกลางในปี 2020 คือ 7.25 ดอลล่าร์ต่อชั่วโมง (ประมาณ 229.71 บาท) โดยจำนวนนี้ ไม่ได้เพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2009 แต่ถึงอย่างนั้น บางรัฐ และบางเมืองของสหรัฐฯ ก็มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่สูงกว่าของรัฐบาลกลาง ซึ่งวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นรัฐที่มีค่าแรงขั้นต่ำสูงที่สุดถึง 13.50 ดอลล่าร์สหรัฐฯ (ประมาณ 427.35 บาท)
แคนาดา – เฉลี่ย 13.16 ดอลลาร์แคนาดาต่อชั่วโมง = 309.34 บาท ต่อชั่วโมง
แคนาดา เป็นประเทศที่มีจำนวนค่าแรงขั้นต่ำแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ และดินแดน โดยอยู่ที่ 11.32 – 15 ดอลล่าร์แคนาดา ต่อชั่วโมง หรือเฉลี่ยที่ 13.16 ดอลลาร์แคนาดา (ประมาณ 309.34 บาท) ซึ่งแต่ละรัฐเอง ก็มีระยะเวลาการขึ้นค่าแรงที่แตกต่างกันไป
เยอรมนี – 9.35 ยูโรต่อชั่วโมง = 339.36 บาท ต่อชั่วโมง
ในปีนี้ เยอรมนีได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 9.35 ยูโร (ประมาณ 339.36 บาท) และยังมีข่าวว่า จะมีแพลนขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำเป็น 10.45 ยูโร (หรือประมาณ 381.02 บาท) ในอีก 2 ปีข้างหน้า หรือในกลางปี 2022 ด้วย
นิวซีแลนด์ – 18.90 ดอลล่าร์นิวซีแลนด์ต่อชั่วโมง = 397.38 บาท ต่อชั่วโมง
นิวซีแลนด์เพิ่งมีการปรับอัตราขั้นต่ำไปในเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยอัตราค่าแรงต่อชั่วโมงใหม่นี้ ได้เพิ่มขึ้น 1.20 ดอลล่าร์นิวซีแลนด์ (ประมาณ 25.23) หรือที่ 18.90 ดอลล่าร์นิวซีแลนด์ต่อชั่วโมง (397.38 บาท)
ออสเตรเลีย 19.84 ดอลล่าร์ออสเตรเลียต่อชั่วโมง = 445.17 บาท ต่อชั่วโมง
ออสเตรเลีย นอกจากจะเป็นประเทศที่มีค่าแรงสูงที่สุดใน 10 ประเทศที่เลือกมาแล้ว ยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีค่าแรงสูงที่สุดในโลกด้วย โดยล่าสุดออสเตรเลียได้มีการประกาศปรับค่าแรงขั้นต่ำในปี 2020-21 ที่จะเพิ่มขึ้น 1.75% เป็น 19.84 ดอลล่าร์ออสเตรเลียต่อชั่วโมง (ประมาณ 445.17 บาท) ซึ่งการปรับของประเทศนี้ จะทยอยปรับตามแต่ละกลุ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคมของปีนี้ ไปถึงต้นปีหน้า
อ้างอิงจาก