เหตุด่วน-เหตุร้าย เป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่ามันจะเกิดเมื่อไร และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว เราก็ย่อมต้องการความช่วยเหลือที่รวดเร็ว ทันต่อเวลาแต่ปัญหาในหลายๆ ครั้งคือ กลับนึกไม่ออกว่าต้องโทรศัพท์ไปขอความช่วยเหลือที่หมายเลขใด เพราะหมายเลขโทรศัพท์ในกรณีฉุกเฉิน หรือ ‘เบอร์ฉุกเฉิน’ ของไทย มีเยอะแยะเต็มไปหมด
เมื่อไม่นานมานี้ เคยเกิดเหตุรถยนต์ประสบอุบัติเหตุบนทางด่วนโทลล์เวย์ รอยต่อของ กทม.-ปทุมธานี แล้วพลเมืองดีพยายามโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่กลับถูกโยนต่อไปเป็นทอดๆ ถึง 4 ครั้ง จากเบอร์ 1669 ศูนย์นเรนทร ต่อไปเป็นเบอร์ 1646 ศูนย์เอราวัณ ต่อไปอีก คือเบอร์ 1543 การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และสุดท้าย เบอร์ 1233 บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด
โดยผู้เกี่ยวข้องชี้แจงว่าเกิดจาก “ความเข้าใจผิด” ในการประสานงาน
โชคดีที่เหตุร้ายครั้งนั้นไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ชวนให้เกิดคำถามตามมาว่า จะดีกว่าไหม หากมีหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินที่จำง่าย มีน้อยเบอร์ หรือยุบเหลือเบอร์เดียวไปเลยยิ่งดี!
โมเดล ‘รวมเบอร์ฉุกเฉิน’ ในต่างประเทศ
เมื่อพูดถึงเบอร์ฉุกเฉินเอนกประสงค์ที่จำแล้วสามารถโทรแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายได้สารพัด คนส่วนใหญ่น่าจะนึกถึงเบอร์ 911 ของสหรัฐอเมริกา ที่เห็นกันได้บ่อยๆ จากภาพยนตร์ฮอลลีวูด ซึ่งในหลายๆ ประเทศมีการทำเบอร์ฉุกเฉินกลางไว้ เพื่อให้ประชาชนโทรแจ้งขอความช่วยเหลือได้สารพัด และไม่จำเป็นต้องมีเบอร์มากมายจนจำไม่หวาดไม่ไหว
– สหรัฐฯ และแคนาดา (เบอร์ 911)
ใช้แจ้งเหตุฉุกเฉินได้สารพัด โดยเจ้าหน้าที่สามารถรู้ที่อยู่ของผู้แจ้งผ่านหมายเลขโทรศัพท์ที่โทรเข้ามา เมื่อโทรเข้าไปผู้รับสายจะสอบถามว่าเกิดเหตุอะไรขึ้น ก่อนจะส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว หรือกระทั่งวางสายก่อนคุยจบ ก็จะมีการส่งคนมาดูเช่นกัน ทั้งนี้ จะมีการบันทึกเสียงไว้ระหว่างพูดคุย
– สหภาพยุโรป (เบอร์ 112)
หลายชาติในยุโรปจะใช้ 112 เป็นเบอร์สำหรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน ทั้งตำรวจ ไฟไหม้ และรถพยาบาล ควบคู่ไปกับเบอร์ฉุกเฉินท้องถิ่นสำหรับบางประเทศ โดย 112 ถูกแนะนำให้เป็นเบอร์ฉุกเฉินในระดับนานาชาติครั้งแรก เมื่อปี 1972 และสหภาพยุโรปก็มีมติรับเบอร์นี้มาใช้เมื่อปี 1991
– ออสเตรเลีย (เบอร์ 000)
เมื่อกดเบอร์ 000 เข้าไป จะมีเจ้าหน้าที่รับสายและถามว่าต้องการแจ้งเหตุฉุกเฉินใด ระหว่างตำรวจ ไฟไหม้ หรือรถพยาบาล เมื่อเราแจ้งความจำนงก็จะมีการโอนสายไปยังบริการฉุกเฉินที่เราต้องการ ทั้งนี้ หากเราอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถโต้ตอบได้ แล้วเรากดเลข 5 ซ้ำกันสองครั้ง จะมีตำรวจเดินทางมาตรวจสอบว่าเกิดเหตุอะไรขึ้น
– ญี่ปุ่น (เบอร์ 110, 119)
เบอร์ฉุกเฉินหลักๆ ในญี่ปุ่น จะแยกเป็น 2 เบอร์ คือ 110 สำหรับตำรวจ และ 119 สำหรับไฟไหม้และรถพยาบาล โดยเมื่อโทรเข้าไปจะมีการบันทึกที่อยู่ของผู้โทร พร้อมกับมีเจ้าหน้าที่ซึ่งผู้ภาษาอังกฤษได้ให้บริการในบางพื้นที่
– อินเดีย (เบอร์ 112)
ก่อนหน้านี้ อินเดียจะมีเบอร์ฉุกเฉินอยู่ถึง 4 เบอร์ คือเบอร์ 100 สำหรับตำรวจ เบอร์ 101 สำหรับไฟไหม้ เบอร์ 102 สำหรับรถพยาบาล และเบอร์ 108 สำหรับภัยพิบัติ แต่เบอร์เหล่านั้น ก็ค่อยๆ ถูกยกเลิกแล้วหันมาใช้เบอร์ 112 เป็นเบอร์ฉุกเฉินเดียว
– เวียดนาม (กำลังรวมให้เหลือเพียงเบอร์ 112)
ก่อนหน้านี้เวียดนามก็คล้ายๆ ไทย คือมีเบอร์ฉุกเฉินค่อนข้างเยอะ เฉพาะบริการหลักๆ เช่น ตำรวจ ไฟไหม้ และรถพยาบาล ก็แยกกันเป็น 3 เบอร์แล้ว คือ เบอร์ 113 เบอร์ 114 และเบอร์ 115 ตามลำดับ ทำให้รัฐบาลตัดสินใจยุบรวมให้เหลือเพียงเบอร์เดียว คือเบอร์ 112 โดยจะใช้เวลาดำเนินการห้าปี
กด 191 เดี๋ยวความช่วยเหลือก็มา
The MATTER ลองรวบรวมเบอร์ฉุกเฉินของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ของไทย เฉพาะส่วนกลาง (ไม่รวมของเอกชน) พบว่ามีรวมกันหลายสิบหมายเลข นี่ขนาดยังไม่รวมเบอร์ฉุกเฉินในท้องถิ่นที่มีความแตกต่าง และกระจัดกระจายกันออกไป 77 จังหวัด
กล่าวโดยสรุป เบอร์ฉุกเฉินของภาครัฐไทยน่าจะมีเป็นหลักร้อย ซึ่งส่วนใหญ่จะทำงานแยกกันตามภาระหน้าที่หรือท้องที่ของตัวเอง ถึงจะมีบางหมายเลขที่ช่วยประสานกับหน่วยงานอื่นให้บ้าง เช่น 191 ของตำรวจ แต่ก็ถือว่ายังเป็นส่วนน้อยอยู่
ความจริงแล้วภาครัฐเองก็เห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงพยายามที่จะรวมเบอร์ฉุกเฉินให้อยูในหมายเลขโทรศัพท์เดียว – คือเบอร์ 191 ให้เป็น ‘เบอร์ฉุกเฉินแห่งชาติ’ ขึ้น ตั้งแต่ปี 2558 ถึงขั้นเสนอเป็นร่างกฎหมาย แต่ด้วยความไม่พร้อมหลายๆ อย่าง ทำให้ต้องชะลอการผลักดันกฎหมายดังกล่าวออกไปก่อน
ก่อนจะนำโครงการนี้มาเสนอใหม่ โดยใช้วิธีปรับปรุงเบอร์ฉุกเฉินที่มีอยู่ – คือเบอร์ 191 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ดียิ่งขึ้น ภายใต้งบ 4,232 ล้านบาท ที่บางส่วนจะมาจากกองทุนของ กสทช. ซึ่งที่ประชุม ครม.ก็อนุมัติ ทั้งนี้ ตามเอกสารโครงการนี้จะแล้วเสร็จในปี 2567
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงษา กรรมการ กสทช. กล่าวว่า การรวมเบอร์ฉุกเฉินจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชมากขึ้น โดยเฉพาะใน 3 บริการหลัก คือ ตำรวจ ไฟไหม้ และรถพยาบาล
ท้ายที่สุดแล้วต้องจับตากันดูว่า เบอร์ 191 จะกลายเป็น ‘เบอร์ฉุกเฉินแห่งชาติ’ ได้จริงหรือไม่ หรือจะต้องเผชิญอุปสรรคอะไรอีก เพราะเหตุฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุ แน่นอนว่าไม่มีใครอยากให้เกิด แต่เมื่อเกิดแล้วอย่างน้อยๆ ถ้าได้รู้ว่าโทรไปเบอร์ไหนแล้วความช่วยเหลือจะมาถึง ก็อาจจะช่วยบรรเทาเหตุร้ายดังกล่าวไปได้บ้าง