ทำไมบอลไทยไม่ได้ไปบอลโลก? ทำไมฟุตบอลไทยยังไม่อาจเทียบญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้? ทำไมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดไม่เอาถ้วย The MATCH กลับโอลด์ แทรฟฟอร์ด? ทำไมคนในจังหวัดแทบไม่มีส่วนกำหนดทิศทางของสโมสร? ทำไม ทำไม ทำไม
หน้าที่หนึ่งของนักข่าวคือ ตั้งคำถามแทนใจของผู้อ่าน แต่จากกรณี The MATCH ที่ผ่านมา ซึ่ง เปี๊ยกบางใหญ่ นักข่าวกีฬาถูกต้นสังกัดพักงาน 10 วัน หลังตั้งคำถามว่าทำไมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดไม่เอาถ้วยกลับไปอังกฤษ และยังไม่นับประเด็นการขายและราคาตั๋ว หรือการเชิญศิลปินฮ่องกงอย่าง แจ็คสัน หวัง มาแสดงก่อนเริ่มงาน ทั้งที่กลุ่มที่มาดูงานแดงเดือดไม่น่าจะสนใจศิลปินคนนี้ ก็ชวนให้น่าสนใจว่านักข่าวกีฬาในไทยทำงานกันอย่างไร
อะไรคือปัญหาที่เกิดขึ้นในวงการสื่อกีฬาของไทย The MATTER โฟกัสที่กีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอย่างฟุตบอล และไปพูดคุยกับนักข่าวและอดีตบรรณาธิการบริหารสื่อกีฬา 2 คน ถึงวัฒนธรรมการทำงานของสื่อกีฬาไทย ปัญหาที่เกิดขึ้นในวงการ และอะไรที่ขวางทางน้ำอยู่ไม่ให้พวกเขาทำงานอย่างที่ควรจะทำ
วงการสื่อฟุตบอลไทยเป็นอย่างไร
ข่าวหนัก (hard news) และข่าวเบา (soft news) ต่างก็เป็นแขนงหนึ่งของวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งสองกลุ่มมีหน้าที่ผลิตเนื้อหาที่ดีเสิร์ฟแก่ผู้อ่าน ต้องรักษาความสัมพันธ์เพื่อให้ได้มาซึ่งข่าว ‘วงใน’ ที่รวดเร็วและน่าเชื่อถือที่สุด มีหน้าที่เป็นผู้เฝ้าประตู (gatekeeper) คอยคัดกรองความจริงก่อนถึงผู้อ่านเหมือนกัน อาจแตกต่างกันบ้างที่นักข่าวเบาไม่ได้รับผิดชอบต่อประโยชน์สาธารณะเท่าข่าวหนัก
นั่นคือคำอธิบายเชิงวิชาการแสนน่าเบื่อ แต่คุณว่าถ้าลึกลงไปแล้ว นักกีฬา สโมสรกีฬา สมาคมกีฬา และสื่อกีฬามีความสัมพันธ์กันอย่างไร?
“เหมือนเครือข่ายใยแมงมุมที่ทุกคนรู้จักกันหมด คุณเข้ามาในวงการกีฬาแปปเดียวคุณก็รู้จักคนหลากหลายมากแล้ว ทั้งเพื่อนนักข่าว, นักกีฬา หรือผู้มีอำนาจที่อยู่สูงขึ้นไป” เป็นคำอธิบายของ ตอง (นามสมมติ) นักข่าวกีฬาจากเพจออนไลน์แห่งหนึ่ง
ขณะที่ เก็ต (นามสมมติ) อดีตบรรณาธิการบริหาร (บก.บห.) ของสื่อฟุตบอลแห่งหนึ่ง นิยามความสัมพันธ์ในวงการว่าเป็นแบบ ‘น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า’ กล่าวคือ สำนักข่าวต้องพึ่ง ‘ตั๋ว’ จากแหล่งข่าวเพื่อเข้าชมเกมแข่งขัน ขณะที่แหล่งข่าวก็อยากให้ตั๋ว เพื่อให้สำนักข่าวมาทำ ‘ข่าว’ เช่นกัน
ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะแหล่งข่าวและนักข่าวต้องใกล้ชิดกันอยู่แล้ว เพื่อให้ฝ่ายหนึ่งนำเสนอตัวเองและอีกฝ่ายได้ประเด็นกลับมารายงาน
แต่สิ่งที่แปลกคือ ความสัมพันธ์ระหว่างแหล่งข่าวและนักข่าวในแวดวงกีฬา ไปไกลจนถึงไหน ยังคงเป็นน้ำมันที่แบ่งชั้นจากน้ำหรือกลายเป็นน้ำเนื้อเดียวกันที่คอยจุนเจือและเสริมประโยชน์กันและกัน
เนื้อเดียวกัน
“ความสนิทสนมทำให้เราไม่กล้าบ่นอะไร ทั้งที่ในใจรู้ว่ามันไม่ดี แต่เราก็พูดไม่ได้ เห้ย เราสนิทกับนักบอลคนนี้ว่ะ ไม่ต้องไปวิจารณ์มันเยอะหรอก เห้ย เรารู้จักกับคนทำงานในสโมสรนี้ว่ะ อย่าไปด่ามันเยอะเลย อะไรทำนองนี้” ตองพิมพ์ตอบคำถามเรา
ทางด้านเก็ตสะท้อนความสัมพันธ์กับแหล่งข่าวผ่านกรณี ‘The Match Bangkok’ ซึ่งเขามองว่ามีหลายประเด็นที่ผิดฝาผิดตัว แต่สื่อไม่ได้ทำ ตั้งแต่ราคาและวิธีการขายตั๋ว, ศิลปินที่มาเปิดงาน จนถึงกรณีที่ เปี๊ยกบางใหญ่ นักข่าวกีฬาถูกต้นสังกัดพักงาน 10 วัน หลังตั้งคำถามว่าทำไมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดไม่เอาถ้วยกลับไปอังกฤษ
ถ้าไม่อวยหรือพูดไม่ดี เขาจะให้โควตาตั๋ว, แฟนมีท หรืองานใกล้ชิดนักเตะไหมล่ะ มันเลยเป็นเรื่องจุกปาก กลายเป็นเรื่องกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของสื่อไทย
ทั้งคู่มองว่าวัฒนธรรมของสังคมไทยมีส่วนมากในปัญหานี้ ทั้งความเกรงใจ, สายสัมพันธ์ส่วนตัว, ผลประโยชน์ ตลอดจนพื้นฐานความเชื่อของนักข่าวและแหล่งข่าวเองต่อการวิจารณ์
สายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดไม่ได้ส่งผลต่อการวิจารณ์เท่านั้น บางครั้งมันเลยไกลไปถึงจุดที่แหล่งข่าวแทรกแซงเนื้อหาของกองบรรณาธิการได้
ตองเล่าว่า บางครั้งมีสายตรงจากสโมสรขอให้ ‘เขียนข่าวอวยนักเตะใหม่’ แลกกับการดูแลนักข่าวในระดับพิเศษ หรือการต่อรองกับกอง บก. ‘ให้เขียนอวยเจ้าของทีม’ เพื่อแลกกับการขอสัมภาษณ์แหล่งข่าว
ความเป็นเนื้อเดียวกันยังไปไกลถึงขั้นนักข่าวสามารถตอบคำถามแทนแหล่งข่าว (นักฟุตบอล) ชนิด ถามเอง-คิดเอง-ตอบเอง-เขียนเองได้ทั้งหมด โดยเก็ตให้เหตุผลว่าเพราะ ‘รู้จักกันและเชื่อใจกัน’ บวกกับคำตอบที่ได้รับจากนักกีฬาเองก็มักวนๆ อยู่คล้ายเดิม ดังนั้น ถ้าไม่มีวาระพิเศษ เช่น เปลี่ยนแทคติกหรือวันพิเศษของนักบอลจะไม่มีการสัมภาษณ์หลังเกมเกิดขึ้น
เราถามทั้งคู่ว่าคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ ซึ่งทั้งสองคนเห็นตรงกันว่า ‘ละเมิดจรรยาบรรณสื่อ’ แต่ทั้งคู่ก็เห็นคล้ายกันอีกว่า ‘ไม่เสียหายมาก’ เพราะสมประโยชน์ทั้งคู่ แหล่งข่าวเองก็ไม่อยากให้สัมภาษณ์ และสื่อเองก็ต้องมีงานลง
คำบอกเล่าของตองและเก็ตทำให้เราตกใจมาก เพราะในลีกระดับสูงอย่างพรีเมียร์ลีก การให้สัมภาษณ์ทั้งก่อนและหลังแข่งไม่ต่างจากสงครามระหว่างนักข่าวกับแหล่งข่าว ถึงแม้หลายครั้งมันสร้างแรงกดดันมหาศาลให้เพื่อนร่วมวงการ แต่การนำสิ่งที่คนอยากรู้มาถามต่อผู้มีอำนาจ มันคือหน้าที่ของนักข่าว ไม่ว่าแขนงไหน
ใครจะอยากทุบหม้อข้าวตัวเอง
นอกจากเรื่อง ‘ตั๋ว’ ที่แหล่งข่าวมอบให้แก่สำนักข่าวแล้ว ตองเล่าว่า
นักข่าวยังมีโอกาสได้รับประโยชน์อื่นจากแหล่งข่าว ตั้งแต่ ‘แจกเสื้อบอลฟรีก่อนเปิดฤดูกาล’ จนถึงรายได้เสริมอย่าง ‘โปรเจ็กต์จากสมาคมหรือสโมสรกีฬา’ นอกจากนี้ ถ้าทำงานเข้าตาอาจได้รับการทาบทามจากแหล่งข่าวให้มีส่วนร่วมกับสโมสร เช่น เป็นหนึ่งในทีมวิเคราะห์และได้รับเงินเพิ่มราว 15,000 บาท/ เดือน
ตองอธิบายว่าต้นตอของเรื่องนี้คือ ‘เงิน’ เพราะรายได้ของนักข่าวกีฬาไม่สูงมาก และโอกาสเติบโตในสายอาชีพก็ค่อนข้างน้อย ดังนั้น การรักษาความสัมพันธ์กับแหล่งข่าวและระมัดระวังฝีปากจึงเป็นเรื่องสำคัญของวงการกีฬาไทย
สมาคมฟุตบอลไทย
แล้วสำหรับสมาคมฟุตบอลล่ะ ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รายได้จาก กกท. และมีภาระผูกพันกับความคาดหวังของคนในชาติ นักข่าววิพากษ์วิจารณ์นโยบายหรือแผนงานได้ไหม? คำตอบนี้ทั้งคู่มีประสบการณ์ต่างกัน
เก็ตมองว่าสื่อกีฬาสามารถวิจารณ์สมาคมฟุตบอลได้ เพียงแต่ไม่ค่อยมีใครในวงการทำเท่านั้น
แต่สำหรับตอง ตัวเขาเคยพิมพ์สเตตัสวิจารณ์สมาคมฟุตบอลลงในเฟซบุ๊ก แล้วถูกคนในบริษัทขอให้ลบข้อความนั้นออก เพราะกลัวว่าจะทำให้ ‘คนในสมาคมไม่พอใจ’ เขาระบายเรื่องนี้ด้วยความอัดอั้นว่า
เป็นเรื่องที่รู้กันในวงการว่าห้ามวิจารณ์สมาคม (ฟุตบอลไทย)
แหล่งข่าวทั้งคู่ให้ข้อมูลตรงกันว่า ผู้มีอำนาจตัดสินใจบางคนมีพฤติกรรมจัดทริปพานักข่าวไปต่างประเทศ หรือจัดงานปีใหม่แจกซองให้ผู้ร่วมงานอย่างทั่วถึง
เก็ตยอมรับว่ากรณีแบบนี้ไม่ต่างจาก ‘การติดสินบนสื่อ’ แต่ก็ยอมรับอีกเช่นกันว่าถ้าจะต้องปฏิเสธงานเหล่านี้ ‘มันก็ไม่ได้’ เพราะมันสำคัญกับความใกล้ชิดแหล่งข่าว
สื่อมวลชนกับไทยไปบอลโลก
เราชวนทั้งคู่พูดคุยประเด็นสุดท้ายว่า ในฐานะหนึ่งในองค์ประกอบของวงการฟุตบอล มองว่าสื่อมีส่วนด้วยไหมที่ไทยไม่ได้ไปบอลโลกเสียที? ซึ่งทั้งคู่ตรงกันว่าไม่ใช่ความผิดโดยตรงของสื่อ
ทางด้านเก็ตมองว่าทั้งองคาพยพมันต้อง ‘เติบโตไปด้วยกัน’ แน่นอนว่าสื่อกีฬาก็ต้องพัฒนาคุณภาพตัวเอง นำเสนอคอนเทนต์ที่ดี เน้นการวิเคราะห์วิจารณ์ให้หนักขึ้น แต่หน้าที่หลักของเรื่องนี้ยังเป็นของสมาคมฟุตบอลมากกว่า
สำหรับตองยอมรับว่าหน้าที่หนึ่งของสื่อคือ ต้องใช้ปลายปากกาติเพื่อก่อ ผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในวงการกีฬา อย่างไรก็ตามในมุมของเขา สื่อกีฬาของไทยมี ‘พลังน้อยมาก’ อีกทั้งเสี่ยงถูกแรงกดดันจาก ‘คนด้านบน’ ให้ออกจากวงการได้
“ถ้าพนักงานออฟฟิศอายุ 30+ มองเห็นปัญหาการเมือง แต่ไม่เคยออกมาชุมนุมเลย จำเป็นต้องรับผิดชอบกับความนิ่งเฉย ผมคิดว่าสื่อกีฬาก็ต้องรับผิดชอบในมุมนี้” เขาเว้นบรรทัด
“แต่ถ้าคนไม่ออกมาชุมนุมเพราะเขามีชีวิตด้านอื่นที่สำคัญกว่า ผมก็คิดว่าสื่อกีฬาไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบอะไรในเรื่องนี้”
เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย อยู่ที่วงการและผู้ชมกีฬาให้คุณค่ากับสื่อมวลชนสายกีฬาอย่างไร