เมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรง หรือวิกฤติการณ์ที่รุนแรง ที่เกิดทั้งการฆาตกรรม การโจมตี และการสูญเสียใหญ่ หลายครั้ง สิ่งที่ตามมากับข่าวเหตุการณ์เหล่านี้ คือเรื่องการปฏิบัติ การทำงาน และการรายงานข่าวของสื่อมวลชน
เช่นเดียวกับเหตุการณ์กราดยิงใน จ.นครราชสีมา ที่เกิดการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็นการไลฟ์สด การรายงานรายละเอียดของปฏิบัติการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกขั้นตอน ไปถึงการไปสัมภาษณ์ญาติ และครอบครัวของเหยื่อ จนถึงผู้ก่อเหตุเอง ที่ทำให้สังคมตั้งคำถามถึงกระบวนการทำงาน และจรรยาบรรณเหล่านี้
ข้อแนะนำการรายงานข่าวการกราดยิง
การกราดยิง ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยในประเทศไทย แตกต่างจากในสหรัฐฯ ที่เป็นประเทศที่ประสบปัญหานี้บ่อยครั้ง และมีเว็บไซต์ https://www.reportingonmassshootings.org/ ที่ทำข้อมูลเกี่ยวกับการรายงานข่าวเกี่ยวกับการกราดยิงโดยเฉพาะ ในเว็บไซต์นี้ได้มีคำแนะนำถึงการนำเสนอข่าว ว่าสิ่งใดควรนำเสนอ ไปถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการรายงานข่าวกราดยิงได้ด้วย
ข้อมูลจากเว็บไซต์นี้ ได้พูดถึง สิ่งที่สื่อควร และไม่ควรจะนำเสนอ โดยระบุว่า
- สื่อไม่ควรรายงานว่าอาการทางจิตประสาท ทำให้ก่อเหตุ แต่ควรย้ำว่าผู้ที่มีอาการป่วยทางจิตส่วนใหญ่ ไม่นิยมความรุนแรง
- ไม่ควรรายงานว่า เหตุเกิดเพราะเพียงปัญหาเดียว แต่ควรอธิบายว่า มีหลายปัจจัยที่นำมาสู่การก่อเหตุ และการก่อความรุนแรงมีความซับซ้อนและมักจะมาจากหลายปัจจัย
- ไม่ควรคาดเดา หรือให้แหล่งข่าวคาดเดา เกี่ยวกับสภาพทางจิตของผู้ก่อเหตุ รวมไปถึงคาดเดาแรงจูงใจ ต่อหน้าเจ้าหน้าที่ ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ทั้งไม่ควรเสนอชื่อผู้ก่อเหตุบ่อยครั้ง
- ควรนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้ก่อเหตุ และอธิบายว่าเป็นพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายและอันตราย
- ไม่ควรใส่ถ้อยคำผู้อยู่ในเหตุการณ์ที่เรียกผู้ก่อเหตุว่า ‘บ้า, ‘คลั่ง’ แต่ใส่ถ้อยคำของผู้อยู่ในเหตุการณ์ เล่าสิ่งที่ผู้ก่อเหตุกระทำหรือแสดงออก
- ต้องระมัดระวัง และละเอียดอ่อนในการเลือกภาพมานำเสนอ ไม่ควรจัดวางภาพให้ผู้ก่อเหตุเหมือนฮีโร่ โดดเด่น เป็นเหยื่อ หรือ ผู้ชอกช้ำ หรือใช้ภาพผู้ก่อเหตุ ขณะถืออาวุธ แต่งตัวคล้ายทหาร แต่หาดใช้ภาพอาจจะตัดเฉพาะใบหน้า ตัดภาพอาวุธ เครื่องแบบ และองค์ประกอบอื่น ๆ ที่อาจดลใจให้เกิดการเลียนแบบ
- ไม่ควรเสนอภาพสยดสยองจากการก่อเหตุด้วย
เว็บไซต์นี้ ยังชี้ให้เห็นว่า การรายงานข่าวกราดยิง นอกจากจะเป็นการชี้แจงข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนได้รู้สถานการณ์แล้ว ยังมีผลในด้านลบได้เช่นกัน โดยการรายงานจากสื่อที่เป็นอันตราย อาจสร้างผลเสียคือ กระตุ้นให้เกิดการเลียนแบบได้โดยผู้ที่มองผู้ก่อเหตุเป็นตัวอย่าง เป็นฮีโร่, เพิ่มความเจ็บปวดให้กับผู้รอดชีวิต ครอบครัว และชุมชน, ขยายอคติและการตีตราไปยังผู้ที่มีอาการทางจิต และยังอาจทำให้ผู้มีอาการทางจิต หลีกเลี่ยงไม่กล้าไปรับความช่วยเหลือได้เช่นกัน
ในขณะที่การรายงานข่าวอย่างมีความรับผิดชอบสามารถลดความเสี่ยงนี้ได้ที่จะเกิดความรุนแรงขึ้นในอนาคต และจะเป็นการสร้างการเรียนรู้ของสังคม ให้สามารถช่วยสังเกตและตอบสนองอย่างถูกทางต่อผู้ที่อาจก่อความรุนแรง ช่วยมองหาความเสี่ยงต่อพฤติกรรมรุนแรงในอนาคต และยังจะเป็นการปลอบประโลมจิตใจผู้รอดชีวิต ครอบครัว และสังคม รวมทั้งครอบครัวผู้ก่อเหตุด้วย
บทบาท และจรรยาบรรณของสื่อ
นอกจากความรุนแรงที่เกิดขึ้น บทบาท และจรรยาบรรณของสื่อก็ถูกนำมาถกเถียงในโซเชียลมีเดียอย่างมาก The MATTER ได้สัมภาษณ์ อ.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองอธิการบดี ฝ่ายกิจการนักศึกษา และคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้า ถึงหน้าที่ของสื่อและประชาชนเอง และสิ่งที่ต้องระมัดระวังต่อการรายงานเหตุการณ์นี้
อ.มานะ กล่าวว่า ในประเด็นและข่าวของการกราดยิงครั้งนี้ เราต้องแยกสื่อมืออาชีพ กับประชาชนทั่วไป
“ในฐานะของสื่อมวลชนมืออาชีพ โดยเฉพาะสื่อทีวี และออนไลน์ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ เรากำลังรายงานเหตุการณ์ที่มีการสูญเสียเกิดขึ้น และอยู่ในช่วงของการจับกุม วิสามัญ และอาจจะก่อให้เหตุการณ์สูญเสียต่างๆ จึงต้องระมัดระวังว่า สื่อมวลชนกำลังนำเสนอกระบวนการรายงานของการเข้าจับกุม ปราบปรามหรือไม่ ถ้าเกิดว่าเรารายงานสถานการณ์ หรือรายละเอียดเหล่านี้ ก็อาจจะทำให้มีผลกระทบต่อกระบวนการ และผลกระทบเรื่องความรู้สึกของเหยื่อ และผู้สูญเสียได้
เท่าที่สังเกตการรายงานข่าวครั้งนี้ มีทีวีหลายช่องที่ใช้การไลฟ์สด และในช่วงระยะเวลาที่ตาม สื่อมวลชน หรือนักข่าวเอง ก็อาจจะมีพื้นที่ที่จำกัด เวลาเห็นข่าวอะไร ได้ยินอะไร การเคลื่อนกำลังพลของตำรวจเป็นแบบไหน รถแบบไหนเข้าออก ก็จะรายงานออกไปหมด ซึ่งหลายๆ ครั้งก็กลายเป็นจุดที่สังคมตั้งคำถาม ว่ามันจำเป็นต้องละเอียดขนาดนั้นไหม โดยเฉพาะคนร้ายที่ยังอยู่ข้างในอาคาร ก็อาจจะรับรู้ข่าวสารนี้ได้ด้วย ไม่ว่าจะผ่านทางโซเชียลมีเดีย เพราะคนร้ายก็ใช้โซเชียล จึงทำให้หลายคนก็รู้สึกไม่สบายใจที่สื่อมวลชนรายงานละเอียดขนาดนั้น
ซึ่งสื่อมวลชนก็ทำเพื่อตอบสนองต่อความอยากรู้ของผู้ชม หรือผู้เสพสื่อ แต่ก็ต้องตั้งคำถามต่อว่า เราจำเป็นต้องตอบสนองทุกอย่างที่ผู้เสพสื่อต้องการไหม ช้าหน่อย หรือรายงานทีหลังได้ไหม
ซึ่งนี่เป็นคำถามนึงถึงที่สื่อมวลชน ในหลายๆ ครั้งซึ่งไม่ใช่กรณีแรก อย่างกรณีการยิงตัวตายของอาจารย์ เมื่อหลายปีก่อน ก็มีการไลฟ์สดตลอดเวลา จนเขายิงตัวตาย ก็มีการคุยประชุมกันของสื่อ คนที่ทำงานข่าววางมาตรการกันไว้ แต่แนวปฏิบัติที่วางไว้ได้เอามาใช้เคร่งครัดมากน้อยแค่ไหน อันนี้ก็เป็นคำถามนึงถึงสื่อมวลชนมืออาชีพ”
ไม่ใช่เพียงแต่สื่อมวลชนเองที่มีบทบาท ประชาชนส่วนใหญ่ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต และโลกโซเชียลมีเดียเองก็มีส่วนในการนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ทั้งภาพ หรือวิดีโอจากที่เกิดเหตุด้วย ซึ่งด้านเฟซบุ๊กเอง ก็ได้แจ้งว่า ทางทีม ได้ทำการลบเนื้อหาต่างๆ ของผู้ก่อเหตุ และเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์กราดยิงที่เกิดขึ้นในจังหวัดนครราชสีมาออกจากบริการต่างๆ ของเฟซบุ๊กแล้ว ทั้งทางเฟซบุ๊กเอง ยังจัดการให้มีคำเตือนบนเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่างๆ ที่อาจจะตามมาจากการเผยแพร่ของเนื้อหาเหล่านี้บนเฟซบุ๊กด้วย
นอกจากทางเฟซบุ๊กเองจะมีมาตรการจัดการกับเนื้อหาเหล่านี้แล้ว อ.มานะเอง ก็เสนอว่า ประชาชนผู้ใช้โซเชียลมีเดียเหล่านี้ ก็ต้องมีส่วนร่วมเช่นกัน
“ด้านประชาชนทั่วไป ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ที่ได้รับภาพ คลิป ที่ลงในรายละเอียด โดยเฉพาะภาพผู้เสียชีวิต ก็ไม่ควรที่จะเผยแพร่ต่อ และควรเตือนผู้ที่ส่งมาด้วยซ้ำว่าสิ่งที่เขาทำอยู่นั้น ไม่เหมาะสม และสร้างความรู้สึกไม่ดีแก่ญาติมิตรที่สูญเสีย รวมไปถึงอาจจะเป็นการซ้ำเติมด้วย”
จากความไม่พอใจต่อการเสนอข่าวของสื่อ สิ่งหนึ่งที่ถูกยกขึ้นมาพูดถึง คือเรื่องของ ‘จรรยาบรรณ’ ของสื่อด้วย ซึ่ง อ.มานะเองก็บอกว่า มันก็เป็นเรื่องที่ต้องพูดกันบ่อยๆ
“จรรยาบรรณเป็นเรื่องที่ต้องพูดกันบ่อยๆ เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่ถูกจำกัด หรือมีกฎหมาย บางทีมันอยู่ในบริบทที่แตกต่างกัน ในเชิงของกรณีที่เกิดขึ้น ก็ควรย้ำเตือนให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ได้ตระหนัก ได้คำนึงถึงว่า คุณต้องระมัดระวัง เพราะวินาทีที่ตัดสินใจว่า จะพูดเรื่องนี้ หรือเผยภาพนี้ไหม มันเป็นช่วงวินาทีเดียว ซึ่งช่วงวินาทีนั้น หากเรามีจรรยาบรรณของตัวเองอยู่ ก็จะเลือกที่จะไม่นำเสนอ ไม่รายงานเรื่องที่เกิดขึ้น
ซึ่งถ้าสื่อมวลชนตระหนักแล้ว ประชาชนก็ไม่จำเป็นที่จะต้องพูดถึงก็ได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในกรณีนี้ มันก็ยังต้องพูดถึงอยู่บ่อยๆ เพราะมันก็ยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา”
อ.มานะยังสรุปว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะเป็นบทเรียนให้กับทั้งสื่อ และประชาชนได้เรียนรู้ เพื่อที่จะไม่ให้เกิดซ้ำอีกในอนาคต
“เราเรียนรู้กันได้มากเลย ตัวสื่อเองก็ควรจะกลับมาถอดบทเรียน ทบทวนสิ่งที่ไมได้อยู่ในกระดาษ เพราะเรามีบทเรียนให้ปฏิบัติกันมามาก แต่เราก็ควรถอดบทเรียนจากการปฏิบัติงานของการปฏิบัติจริง ไม่ให้เหตุการณ์เกิดซ้ำอีก ในขณะเดียวกัน ประชาชนทั่วไปก็ควรตะหนักถึง และไม่เป็นส่วนนึงในการซ้ำเติมเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายด้วย”
อ้างอิงจาก