- ย้อนกลับไปเมื่อ 11 พ.ค. ที่ผ่านมา หมอปลา – จีรพันธ์ เพชรขาว ได้นำทีมสื่อมวลชนเข้าไปในสำนักสงฆ์ดงสว่างธรรม อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร โดยอ้างว่าได้รับรายงานว่า หญิงสาวรายหนึ่งถูกพระเกจิอาจารย์ดังเอามือลูบไล้ที่หน้าอกของเธอและแม่ และเมื่อเดินทางไปถึงก็พบ หลวงปู่แสง ญาณวโร เกจิอาจารย์วัย 99 ปี (ประเด็นจากข่าววันนั้นจะพูดถึงข้างล่าง)
- ในวันเดียวกับที่ หมอปลา บุกไปที่กุฏิของหลวงปู่แสง ได้มีชาวบ้านบางส่วนติดตามมาถึงสำนักสงฆ์ที่พักของหลวงปู่แสง เพื่อยืนยันถึงความเลื่อมใสในตัวหลวงปู่ พร้อมคาดเดาว่าพฤติกรรมดังกล่าวน่าจะเกิดจากโรคอัลไซเมอร์
- ต่อมาในวันที่ 12 พ.ค. ได้มีการเผยแพร่คลิปหนึ่งที่เป็นภาพภายในกุฏิของหลวงปู่แสง โดยในคลิปฉายภายของผู้หญิงรายหนึ่งที่ขึ้นไปนั่งใกล้ชิดกับหลวงปู่แสง ทำให้บางส่วนของสังคมตั้งคำถามถึงความเหมาะสม ซึ่งล้อเข้าไปกับกระแสข่าวที่พระหลายรูปมีการละเมิดธรรมวินัย อาทิ ข่าวพระสองรูปกระทำกิจกรรมทางเพศกันในห้องน้ำ หรือกรณีพระกาโตะ
- ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ไพรวัลย์ วรรณบุตร หรืออดีตพระมหาไพรวัลย์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กตั้งคำถามถึงคลิปดังกล่าวว่า ทั้งที่เป็นชาวพุทธ และควรรู้ว่าไม่เหมาะไม่ควร แต่เหตุใดผู้หญิงรายนั้นถึงขึ้นไปนั่งบนที่พระนั่ง รวมถึงทำไมลูกศิษย์ที่อยู่รายล้อมถึงไม่มีการห้าม
- ภายหลังคลิปดังกล่าวออกไป ลูกศิษย์ของหลวงปู่แสงจำนวนมากได้ออกมายืนยันอีกครั้งว่า หลวงปู่เป็นที่เลื่อมใสของชาวบ้าน และไม่เคยประพฤติละเมิดธรรมวินัย ที่สำคัญมีการยืนยันว่าหลวงปู่มีอาการของโรคอัลไซเมอร์ ก่อนที่ต่อมา ไพรวัลย์ จะไลฟ์เรียกร้องให้มีแพทย์ลงไปตรวจสอบว่าหลวงปู่แสงมีอาการของโรคอัลไซเมอร์จริงหรือไม่
- นักข่าวได้โทรศัพท์สอบถาม นพ.ทรงพล ยืนสุข แพทย์ประจำโรงพยาบาลยโสธร และเจ้าของเฟซบุ๊กชื่อ Jean Songpon Yuensuk โดยเขาระบุว่า ตนเป็นแพทย์ที่ไปตรวจหลวงปู่แสงอยู่เป็นประจำ และหลวงปู่มักแสดงอาการของโรคอัลไซเมอร์ เช่น บอกว่ายังไม่ได้ฉีดยา ทั้งที่แพทย์เพิ่งฉีดไป หรือให้เหรียญมงคลแก่ทีมแพทย์ซ้ำๆ จนทีมแพทย์ต้องบอกว่าพอแล้ว
ต่อมา ทักษิณา ดีหอม หลานของหลวงปู่แสงได้แสดงหลักฐานการเข้ารับการรักษาตัวด้วยโรคอัมพาธของหลวงปู่แสง พร้อมหลักฐานยืนยันว่าหลวงปู่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์จริง
- วันที่ 13 พ.ค. ที่ผ่านมา หมอปลาได้ไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กยอมรับว่า ได้มีการส่งทีมเข้าไปในกุฏิของหลวงปู่แสงจริง โดยระบุว่าตนได้รับร้องเรียนพฤติกรรมไม่เหมาะสมของหลวงปู่แสงจากชาวบ้านมาแล้ว 2 กรณี แต่ไม่มีหลักฐาน ก่อนหน้านี้จึงส่งทีมทนายผู้หญิงเข้าไป 2 คน และพบพฤติกรรมตามที่ร้องเรียน แต่ตอนนั้นยังไม่ได้หลักฐาน จึงส่งทีมเข้าไปอีกครั้ง แต่ครานี้มีนักข่าวผู้หญิงตามไปด้วยอีก 1 คน และเมื่อถึงหน้ากุฏิ ก็มีการเรียกนักข่าวคนดังกล่าวเข้าไป ก่อนเกิดเป็นคลิปที่มีการเผยแพร่กัน
ทั้งนี้ ในเวลาต่อมานักข่าวสาวได้ออกมายอมรับว่าตนเป็นคนในคลิปจริง
- ในเวลาต่อมาได้มีการพูดถึงคลิปที่นักข่าวลงไปทำข่าวหลวงปู่แสงเมื่อวันที่ 11 พ.ค. อีกครั้ง โดยภายในคลิปดังกล่าว นักข่าวและหมอปลาได้ถามคำถามหลวงปู่แสงหลายคำถาม อาทิ หลวงปู่จ๋า หลวงปู่เคยจับนมผู้หญิงไหมครับ, เคยคิดไหมว่าหญิงสาววัย 15 ปี อาจกลายเป็นตราบาปทั้งชีวิตที่เจอเหตุการณ์แบบนี้ (จับหน้าอก) รวมถึงมีการแซวตลอดช่วงของการสัมภาษณ์ ซึ่งทางด้านหลวงปู่แสงเพียงทำไม้ทำมือ เมื่อได้ยินข้อความไม่ถูกใจเท่านั้น ส่วนคนที่ตอบคำถามคือพระที่อยู่ข้างๆ
- โซเชียล มีเดียได้วิจารณ์การกระทำของสื่อมวลชนในข่าวดังกล่าวอย่างมาก ว่าเป็นการตั้งคำถามแหล่งข่าวอย่างไม่สุภาพและไม่ให้เกียรติ ซึ่งในวันที่ 12 พ.ค. ทางกองบรรณาธิการข่าวเวิร์คพอยท์ได้แถลงขอโทษถึงพฤติกรรมดังกล่าว โดยระบุว่า “ทางกองบรรณาธิการข่าวเวิร์คพอยท์ ได้ตระหนักถึงข้อผิดพลาดดังกล่าว และต้องขออภัยเป็นอย่างสูงต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ทุกท่าน รวมถึงผู้ที่ได้ติดตามข่าว มา ณ ที่นี้” รวมถึงยืนยันจะตักเตือนนักข่าว ตั้งคณะกรรมการสอบจริยธรรม และพักงานผู้สื่อข่าวคนดังกล่าวเป็นเวลา 7 วันในทันที
- ก่อนที่ในเวลาต่อมา ทางเวิร์คพอยท์จะลงโทษให้ผู้สื่อข่าวหญิงพ้นสภาพนักข่าว ของเวิร์คพอยท์ โดยระบุความผิดว่า มีกิริยาไม่เหมาะสมต่อแหล่งข่าว, แสดงความไม่เป็นกลาง และตัดสินใจร่วมกับสื่อสำนักอื่นและแหล่งข่าวในการสร้างหลักฐาน โดยไม่ขออนุญาตผู้บังคับบัญชาหรือรายงานต้นสังกัด
- ทางช่องอื่นๆ ก็มีการออกแถลงการณ์เช่นกัน โดยในวันที่ 13 พ.ค. ทางช่อง 8 ได้ออกแถลงการณ์ขอโทษจากกรณีทำข่าวครั้งดังกล่าวเช่นกัน และในวันที่ 14 พ.ค. ทางช่อง 3 ก็ได้แถลงการณ์ขอโทษเช่นกัน โดยระบุว่าจากการถามนักข่าวที่ลงไปทำข่าวดังกล่าว นักข่าวชี้แจงว่าตนรับรู้ว่ามีการถ่ายคลิปภาพผู้สื่อข่าวหญิงจริง แต่ไม่มีการแจ้งไปยังกองบรรณาธิการ ทำให้เกิดความล่อแหลมต่อจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อมวลชน และอาจนำไปสู่การเสนอข่าวที่ไม่ถูกต้อง
- ทางด้านสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันถึงกรณีดังกล่าวว่า หลังจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าสื่อมวลชนที่ร่วมทำข่าวมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และล่อแหลมต่อการละเมิดจรรยาบรรณสื่อ
แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า ขอให้นักข่าวและสถานีต้นสังกัด ใช้ความระมัดระวังในการนำเสนอข่าวที่อาจเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และใช้ความเข้มงวดในการตรวจสอบข้อมูลอย่างสมดุล รอบด้าน เพื่อให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ พ.ศ.2553 พร้อมเรียกร้องให้นักช่าวและกองบรรณาธิการให้ความสำคัญกับการตรวจสอบเนื้อหา และแนวทางการปฏิบัติของนักข่าว ไม่ส่งเสริมให้ละเมิดกฎหมายและจริยธรรมวิชาชีพ เพื่อผลประโยชน์และความนิยมจากการนำเสนอข่าวสาร
- ประเด็นการควบคุมทำงานสื่อยังถูกถกเถียงอย่างต่อเนื่องในวงการสื่อมวลชนไทย โดย พรรษาศิริ กุหลาบ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนไว้ในบทความ ‘(สิทธิเสรีภาพของ) ประชาชนอยู่ตรงไหนในการกำกับดูแลสื่อ’ ระบุว่า ในปัจจุบันรัฐบาลมีความพยายามผลักดัน ร่าง พรบ. ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. … แต่ด้วยความแยกไม่ขาดระหว่างการทำงานของสื่อมวลชนกับระบบการเมืองในประเทศนั้นๆ หากกฎหมาข้อนี้ผ่านข้อความที่ระบุไว้ในร่างกฎหมาย อาทิ ความมั่นคง, ศีลธรรมอันดี หรือความสงบเรียบร้อย อาจถูกนำมาใช้ปิดปากสื่อมวลชนเสียเอง
เธอระบุว่า โดยปกติสื่อมวลชนถูกควบคุมด้วย 3 แนวทางคือ ผ่านการใช้นโยบายและกฎหมาย, ผ่านกลไกตลาดผ่านอุปสงค์และอุปทาน และผ่านองค์กรวิชาชีพผ่านแนวปฏิบัติและจริยธรรมวิชาชีพ ซึ่งแต่ละแบบก็มีข้อเด่น-ด้อยแตกต่างกันไป เธอจึงเสนอว่าควรมีการกำกับดูแลโดยสาธารณะหรือภาคประชาชนควบคู่ไปด้วย ซึ่งแนวทางนี้สอดคล้องกับระบบนิเวศของสื่อปัจจุบันที่ทุกคนสามารถรายงานข่าวได้
เธอกล่าวในบทความว่า “ประชาชนตระหนักว่าสื่อมวลชนทำหน้าที่แทนพวกเขาอย่างไร ขณะที่สื่อมวลชนต้องคำนึงถึงความชอบธรรมในการดำรงอยู่คือ การเป็นปากเป็นเสียงและสะท้อนเรื่องราวของประชาชนทุกกลุ่ม และตรวจสอบผู้มีอำนาจ ดังนั้น จึงไม่สามารถผลักไสประชาชนออกไปจากกระบวนการกำกับดูแลสื่อได้”
อ้างอิง:
https://www.pptvhd36.com/news/อาชญากรรม/172048
https://www.facebook.com/photo/?fbid=577279430425667&set=a.328293581990921
https://www.amarintv.com/news/detail/133838
https://www.facebook.com/photo/?fbid=578166993670244&set=a.328293581990921
https://www.facebook.com/photo/?fbid=10160387650222848&set=a.10150432734742848
https://www.pptvhd36.com/news/สังคม/172077
101world – (สิทธิเสรีภาพของ) ประชาชนอยู่ตรงไหนในการกำกับดูแลสื่อ