ก่อนจะเริ่มเข้าประเด็นสำคัญของบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนอยากจะเชิญชวนคุณผู้อ่าน ช่วยกันทบทวนความทรงจำในการดูภาพยนตร์ต่างประเทศที่บอกเล่าเรื่องราวของ ‘นักผจญเพลิง’ ไม่ว่าจะเป็นฮอลลีวู้ด เกาหลี จีน ญี่ปุ่น
เมื่อทบทวนแล้ว ขอให้ท่านผู้อ่านช่วยยกตัวอย่างมา 1 เรื่อง ที่ ‘นักผจญเพลิง’ มีสถานะเป็น ‘อาสาสมัคร’ ไม่ใช่อาชีพ ไม่มีค่าตอบแทนจากการทำงานนี้ ไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆ เลยจากภาครัฐ ..พอนึกออกหรือไม่?
แน่นอนว่า หลายคนคงจะนึกไม่ออก เพราะมันไม่มี
แต่ ‘อาสานักผจญเพลิง’ มีอยู่ในประเทศไทย และคนกลุ่มนี้ กลับกลายเป็นกลไกที่เข้มแข็งในงานบรรเทาสาธารณภัยด้วยซ้ำ
แสงเพลิงที่โหมไหม้อยู่รอบๆ ถังบรรจุสารเคมีขนาด 2 ล้านลิตร และเปลวควันสีดำที่พวยพุ่งไปในอากาศชนิดที่สามารถมองเห็นได้จากรัศมีนับสิบๆ กิโลเมตร พร้อมมลพิษจากการเผาไหม้สารเคมีอันตรายลำดับต้นๆ ‘สไตรีน โมโนเมอร์’ (Styrene monomer) สร้างความหวาดผวาให้กับผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ จนนายอำเภอต้องออกคำสั่งอพยพประชาชนในรัศมี 5 กิโลเมตร ตั้งแต่เวลาประมาณ 09.30 น. ของวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 หลังเพลิงลุกไหม้ไปแล้วกว่า 4 ชั่วโมง
สวนทางกับการอพยพของประชาชน ‘อาสา’ นักผจญเพลิงนับร้อยคนยังคงปักหลักต่อสู้กับเปลวเพลิงขนาดยักษ์ และกลุ่มควันพิษที่ในเวลานั้น ทั้งที่ในช่วงต้นพวกเขาเองก็อาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสารพิษที่สูดดมเข้าไป เป็นสารเคมีอะไร มีผลกระทบเพียงใดต่อร่างกาย และไม่รู้ด้วยว่า มีสารเคมีเหล่านี้อยู่อีกมากน้อยแค่ไหนในซากอาคารที่พวกเขากำลังพยายามดับไฟอยู่
อาสาส่วนใหญ่ มีเพียงชุดผจญเพลิง ซึ่งมีศักยภาพป้องกันความร้อน (ไม่ได้ป้องกันไฟ) มีผ้าปิดหน้าและใช้หน้ากากอนามัย เป็นเครื่องมือป้องกันอันตรายจากเปลวเพลิงยักษ์และสารพิษรุนแรงชนิดนี้
มาถึงเวลาประมาณ 12.00 น. เกิดระเบิดจากสารเคมีซ้ำในที่เกิดเหตุ เปลวไฟนรกลามอย่างรวดเร็วมาตามคราบสารเคมีที่เกาะอยู่บนผิวน้ำจากการดับเพลิง จนคร่าชีวิตอาสาสมัครดับเพลิงหนุ่มวัย 18 ปี ไปหนึ่งคน อีกหลายคนได้รับบาดเจ็บ เป็นภารกิจที่เกิดความสูญเสียขึ้นในที่สุด
คำถามมากมายเกิดขึ้นตามมา ‘นักผจญเพลิง’ ที่เข้าไปปฏิบัติงานในจุดที่มีความเสี่ยงสูงเช่นนั้น ได้รับข้อมูลมากน้อยแค่ไหน ตรงไหนเป็นที่เก็บถังสารเคมีที่มีความเสี่ยงระเบิดซ้ำ ตรงไหนมีสารที่มีเชื้อเพลิง โครงสร้างอาคารเป็นอย่างไร
คำถามหลังจากนั้นยิ่งหนักหน่วงขึ้น เพราะภาพจากสื่อต่างๆ ปรากฏชัดเจนว่า นักผจญเพลิงส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นอาสาสมัคร ไม่มีอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานในการป้องกันตัวเอง ทั้งชุด รองเท้า โดยเฉพาะ ‘หน้ากากกันแก๊สพิษ’ ไม่ต่างจากการออกไปรบในศึกสงครามครั้งใหญ่ แต่เหล่านักรบกลับไร้เสื้อเกราะ ทั้งที่ฝ่ายตรงข้ามเต็มไปด้วยอาวุธหนักที่พร้อมจะปลิดชีพพวกเขาได้ทุกเวลา
นี่จึงอาจเป็นช่วงจังหวะเวลาที่ดี ที่เราจะมาทำความเข้าใจกันว่า เหตุใดนักผจญเพลิงผู้กล้าหาญในประเทศไทยจำนวนมาก จึงตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ เหตุใด ‘รัฐ’ จึงไม่สนับสนุนอุปกรณ์ให้กับพวกเขา
“อาสาสมัครดับเพลิง เป็นกำลังหลักในภารกิจดับเพลิงในประเทศไทย ไปถึงที่เกิดเหตุเร็วกว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทำงานได้เข้มแข็ง แต่พวกเขาอาจไม่มีความพร้อมเรื่องอุปกรณ์ ส่วนบุคคลากร มีตั้งแต่ระดับปรมาจารย์ในวงการดับเพลิง แต่ก็แน่นอนว่า มีน้องๆ ที่ประสบการณ์ยังน้อยรวมอยู่ด้วย”
พรรัตน์ บริพันธ์ นักดับเพลิงที่น้องๆ รู้จักกันในชื่อ อาจารย์หมู ที่ปัจจุบันมีอาชีพเป็นครูฝึกและอบรมการดับเพลิงในสถานประกอบการต่างๆ ให้ข้อมูลไว้อย่างน่าสนใจ ว่าทำไมเราถึงเห็นกันจนเป็นภาพชินตาว่า เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ ‘อาสาสมัคร’ จะเป็นกำลังหลักที่เข้าไปปฏิบัติการในที่เกิดเหตุได้ก่อน จนกลายเป็นเป็นกลไกสำคัญที่ขาดไม่ได้ไปเสียแล้ว
ทั้งที่คนกลุ่มนี้เป็น ‘อาสา’ ซึ่งหมายถึง คนที่ไม่มีเงินเดือน ไม่มีรายได้จากการไปดับเพลิง และแน่นอนว่า ทั้งชุดและอุปกรณ์ต่างๆ ถ้าไม่ซื้อเอง ก็ต้องได้รับการอนุเคราะห์มาจาก ‘คนรวย’ ที่ออกเงินสนับสนุนให้ แต่ที่แน่ๆ คือ ไม่ได้มาจากงบประมาณของรัฐ
“เฉพาะชุดผจญเพลิง ถ้าเอาแบบที่ดีๆ หน่อย ป้องกันความร้อนได้มากหน่อย ก็มีราคาประมาณชุดละ 20,000-100,000 บาท ตามมาตรฐานของแต่ละแบรนด์ ราคานี้ยังไม่รวมหมวก รองเท้า ถุงมือ หน่วยอาสาดับเพลิงใน กทม.บางหน่วย ก็อาจจะมีผู้หวังดี เป็นนักการเมืองท้องถิ่นบ้าง คนรวยบ้าง ออกเงินให้ไปซื้อมาไว้ใช้ แต่ถ้าเป็นคนที่หาซื้อมาเอง ก็อาจจะไปหาของมือ 2 ราคา 7,000-8,000 บาทมาใช้ ซึ่งแน่นอนครับ คุณภาพก็เป็นไปตามราคาและอายุการใช้งาน แต่เท่าที่ผมมองดูนะ น้องๆ รุ่นใหม่ๆเข้มแข็งมาก ลุยมาก น่ายกย่อง แม้จะต้องทำงานภายใต้ความไม่พร้อมก็ตาม”
ย้อนกลับไปสู่คำถามในช่วงต้นบทความ ..ทำไมเราไม่เห็น ‘อาสาดับเพลิง’ ในหนังต่างประเทศ ?
“ถ้ากลไกของรัฐทำงานได้จริง อาสาก็คงไม่ต้องมีตั้งแต่แรก” นั่นคือคำตอบของอาจารย์หมู
“ผมอยากให้ไปดูหลายๆ พื้นที่นะ ในหน่วยงานของรัฐ ถ้าเราเข้าใจว่า นักดับเพลิงของรัฐทำงานอยู่ภายใต้กลไกการดูแลของท้องถิ่น เราจะเห็นว่า ตามเทศบาลหรือ อบต.ต่างๆ ก็ยังมีอุปกรณ์ไม่ครบเลย แม้แต่ชุดผจญเพลิงก็ยังมีไม่ครบ ยังไม่นับปัญหาจากปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้การทำงานไม่คล่องตัว ทำให้มีกลุ่มอาสาสมัคร ซึ่งบางคนก็เป็นอาสาจากมูลนิธิต่างๆ ออกเงินเอง ไปฝึก ไปเรียนมา บางคนก็เป็นเจ้าหน้าที่รัฐนั่นแหล่ะ พวกเขาก็มารวมตัวกัน แบ่งพื้นที่รับผิดชอบ กลายเป็นกลไกหลักในการออกทำงานอาสาช่วยดับเพลิง แต่คนกลุ่มนี้ไม่อยู่ในระบบที่รัฐ จะให้การสนับสนุนด้านงบประมาณได้ เพราะถือเป็น เอกชน”
อาจารย์หมู เห็นว่า อาจแบ่งกลุ่มคนที่ทำงานกับเพลิงในปัจจุบันออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
1. เจ้าหน้าที่ดับเพลิงของรัฐ ซึ่งแต่เดิมก็คือ ตำรวจดับเพลิง แต่โอนย้ายมาขึ้นตรงกับกระทรวงมหาดไทย และสังกัดอยู่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ในงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งก็มีทั้งหน่วยที่มีความพร้อมเต็มที่ และมีทั้งหน่วยที่ไม่มีความพร้อม
กลุ่มนี้หากอยู่ในท้องถิ่นที่มีงบประมาณมาก ก็จะผ่านการฝึกฝนตามหลักสูตรที่ต้องเรียน แต่บางท้องถิ่นก็ไม่ได้ส่งไปเรียน มีรายได้ตามอัตราการจ้างงานของรัฐ ซึ่งไม่สูงนัก
2. อาสาสมัครดับเพลิง มีข้อดีคือมีความคล่องตัว ออกปฏิบัติภารกิจได้รวดเร็วทันเวลา มีนักดับเพลิงฝีมือดีที่ประสบการณ์สูงจำนวนมากอยู่ในกลุ่มนี้ แต่ในขณะเดียวกันก็มีนักดับเพลิงหน้าใหม่ๆ ที่ประสบการณ์ยังน้อยรวมอยู่ด้วยเช่นกัน ความพร้อมของอุปกรณ์ทั้งของหน่วยและอุปกรณ์ป้องกันตัวส่วนบุคคล ขึ้นอยู่กับสปอนเซอร์และกำลังทรัพย์ของแต่ละคน
กลุ่มนี้จึงมีทั้งคนที่ผ่านการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี ใช้คนที่ผ่านประสบการณ์หน้างานมาอย่างโชกโชนเป็นผู้ควบคุมทีม แต่ก็แน่นอนว่า อาจมีคนที่ผ่านการฝึกมาน้อยเข้ามาร่วมอยู่ในทีมด้วย และไม่มีรายได้จากการออกทำงาน
3. เจ้าหน้าที่ดับเพลิงของสถานประกอบการเอกชนที่มีความเสี่ยง จะผ่านการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยเฉพาะการฝึกเพื่อระงับเหตุที่เป็นความเสี่ยงต่อสถานประกอบการที่พวกเขาสังกัด เช่น ถูกฝึกให้ปฏิบัติการในภารกิจด้านสารเคมีมาโดยเฉพาะ
กลุ่มนี้มีรายได้ประจำที่ค่อนข้างดี มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แต่จะปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่สถานประกอบการของตัวเองเท่านั้น
อาจารย์หมู ยกตัวอย่างว่า หากเกิดเหตุระเบิดหรือเกิดเพลิงไหม้ในโรงงานใหญ่ๆ ที่มีมาตรฐานสูง โรงงานจะอพยพคนงานออกทันที และปิดทางเข้าออกให้เจ้าหน้าที่ของเขาได้ทำงาน โดยไม่อนุญาตให้หน่วยดับเพลิงอื่นๆ เข้าไปร่วมปฏิบัติงาน เว้นแต่จะจำเป็นต้องร้องขอ เพราะเหตุที่เกิดมักจะต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ดังนั้นหากจำเป็นต้องขอกำลังเสริม ก็ยังจะเห็นได้ชัดเจนว่า ‘หัวหน้าทีม’ ของหน่วยดับเพลิงในโรงงาน จะยังคงเป็น ‘ผู้นำ’ ในการสั่งการ ซึ่งนั่นเป็นระบบที่ดี เพราะเขารู้ว่ากำลังต่อสู้อยู่กับอะไร รู้จักสถานที่ รู้ว่ามีอันตรายแค่ไหน นั่นทำให้ เขาสาสามารถประเมินความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ผมก็ตั้งคำถามนะ ว่ามีทีมแบบนี้ในโรงงานที่เกิดเหตุระเบิดที่ถนนกิ่งแก้วหรือเปล่า” อาจารย์หมูตั้งข้อสังเกต เพราะเห็นว่า โรงงานแห่งนี้เป็นสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงสูง ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายควบคุมความปลอดภัยของกระทรวงอุตสาหกรรม
“แต่ก็ไม่ใช่สถานประกอบการทุกแห่ง ที่จะมีทีมผจญเพลิงที่พร้อมเช่นนี้ ขึ้นอยู่กับว่า สถานประกอบการแต่ละแห่งให้ความสำคัญแค่ไหน ลงทุนกับความปลอดภัยมั้ย แล้แต่ในนิคมอุตสาหกรรมบางที่มีรถดับเพลิงจริง แต่พอคุยไปคุยมา มีเจ้าหน้าที่อยู่คนเดียว บางที่ก็มีทีมผจญเพลิงจริง เพื่อให้เป็นตามกฎหมาย แต่อุปกรณ์ไม่ครบ”
เมื่อจำแนก ‘นักผจญเพลิง’ ออกมาเป็น 3 กลุ่มเช่นนี้แล้ว ก็จะเห็นคำตอบของคำถามได้ชัดเจนขึ้นว่า ทำไมประเทศไทยถึงต้องให้นักผจญเพลิงที่เป็นอาสาสมัครเป็นตัวหลักในการทำงาน เพราะกลไกของงานดับเพลิงภาครัฐยังเทอะทะ ไม่มีประสิทธิภาพ แม้แต่อุปกรณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐก็ยังขึ้นอยู่กับว่า แต่ละท้องถิ่นจัดสรรงบประมาณโดยให้ความสำคัญกับงานด้านนี้มากแค่ไหน
และในเมื่อแม้แต่คนของรัฐก็ยังไม่มีอุปกรณ์ ก็ยิ่งไปตอบคำถามต่อมาได้ง่ายมาก คือ ‘อาสาสมัครดับเพลิง’ ไม่มีอุปกรณ์เพียงพอในการป้องกันตัวเองจากความเสี่ยงที่พวกเขาต้องเผชิญ
โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ในโรงงานที่จัดเก็บสารเคมีอันตรายไว้จำนวนมากเช่นนี้ ปัญหา ‘ความไม่พร้อมของอุปกรณ์ป้องกันตัว’ จึงปรากฎให้เห็นเด่นชัดขึ้น
มีอีกประเด็นที่สามารถหยิบยกมาเป็นคำถาม หากใครเคยได้ชมภาพยนตร์เรื่อง Only The Brave ซึ่งสร้างมาจากเหตุการณ์จริงของหน่วยดับไฟป่า ชื่อ ‘Granite Mountain Hotshot’ ซึ่งแม้ว่าในท้ายที่สุด ทีมดับไฟป่าทีมนี้จะเสียชีวิตไป 19 จาก 20 คน เมื่อปี ค.ศ.2013 จากเหตุไฟป่ายาเนลล์ ที่รัฐอริโซนา สหรัฐอเมริกา ก็ตาม
Hotshot ในทีนี้คือ สถานะของหน่วยดับไฟป่าที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านสูง เปรียบได้กับกับ ‘หน่วยรบพิเศษ’ ของทหาร
ทีมดับไฟป่าทีมนี้เป็นเพียงทีมเล็กๆ ในระดับเทศบาลเท่านั้น เริ่มจากการเป็นหน่วยสนับสนุน มีหน้าที่ทำแนวกันไฟอยู่วงนอกในระยะไกล แต่เมื่อพวกเขาต้องการยกระดับทีมของตัวเองขึ้นมา ต้องใช้เวลาฝึกฝนกันเองถึง 2 ปี จึงไปเข้ารับการทดสอบในสถานการณ์จริง โดยมีเจ้าหน้าที่มาประเมินผล เพื่อจะอนุญาตให้กลายเป็นหน่วย Hotshot ซึ่งถือเป็นหน่วยระดับสูงสุดได้ ทำให้พวกเขาสามารถเข้าไปรับภารกิจในพื้นที่เกิดไฟไหม้โดยตรงที่มีความเสี่ยงสูงได้ และเป็นทีมที่มีศักยภาพถูกเรียกไปทำงานข้ามเขตได้ในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ
แน่นอนว่า ทีมเซฟตี้ในโรงงานใหญ่ๆ เป็นทีมที่ถูกฝึกมาเฉพาะทางเช่นนี้อยู่แล้ว แต่กับหน่วยดับเพลิงที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรืออาสาสมัคร มีคำถามว่า ไทยสามารถจัดระดับความเชี่ยวชาญในการทำงานดับเพลิงได้แบบนี้หรือไม่
อาจารย์หมู เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ โดยยกตัวอย่างเหตุระเบิดโรงงานหมิงตี้ หากเราสามารถยกระดับการฝึกฝนและทดสอบมาตรฐานหน่วยดับเพลิงได้เช่นนั้น ก็อาจเห็นทีมที่มีความเชี่ยวชาญด้านการดับสารเคมีเป็นหน่วยหลักในการปฏิบัติภารกิจตรงที่เกิดเหตุซึ่งยังมีเพลิงไหม้อยู่ โดยเป็นทีมที่มีอุปกรณ์ครบ มีหน้ากากป้องกันแก๊ส มีชุดป้องกันสารเคมี ส่วนทีมอื่นๆ ที่ไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องการดับสารเคมี ก็สามารถทำหน้าที่อื่นเพื่อสนับสนุน เช่นเตรียมแหล่งน้ำมาเสริม เติมโฟม ฉีดทำม่านน้ำ หรือแม้แต่กระจายกำลังไปสนับสนุนภารกิจอพยพประชาชน
แต่ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ อาจารย์หมูย้ำว่า ต้องมี ระบบศูนย์สั่งการ (Incident Command System – ICS) ที่มีประสิทธิภาพเข้ามาสั่งการด้วย และผู้บัญชาการเหตุการณ์ในเหตุเพลิงไหม้ใหญ่แบบนี้ จะต้องเป็นคนที่มีความรู้เกี่ยวกับงานดับเพลิงด้วย
“จริงๆ แล้วหลักสูตรดับเพลิงในต่างประเทศเขาลงลึกไปในแต่ละด้านนะ หลักสูตรในไทยก็มีสอน แต่ต้องยอมรับว่า เราสอนกันกว้างๆ เรียนให้รู้รอบ แต่ไม่ได้เจาะลงลึก เหตุการณ์นี้ก็อาจเป็นโอกาสสำคัญที่เราจะได้มานั่งคุยกันว่าจะพัฒนาหลักสูตรการเรียนดับเพลิงไปอย่างไรได้บ้างนะครับ โดยเฉพาะเรื่องของการประเมินความเสี่ยงจากสถานการณ์ที่มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่เพลิงไหม้ ควรจะออกแบบแต่ละหลักสูตรให้ได้เผชิญสถานการณ์จำลองในหลายๆรูปแบบ เพื่อให้นักผจญเพลิงของเรา ได้ผ่านประสบการณ์จำลองไปก่อนที่จะไปเจอในเหตุการณ์จริง”
อาจารย์หมูกล่าวทิ้งท้ายโดยยอมรับว่า แม้ในขณะนี้ เราจะยังมองไม่เห็นช่องทางที่จะทำให้รัฐใช้งบประมาณมาสนับสนุนหน่วยดับเพลิงของกลุ่มอาสาให้มีอุปกรณ์ที่พร้อมออกไปปฏิบัติหน้าที่มากกว่านี้ เพราะอาจติดขัดเรื่องระเบียบการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ แต่ถ้ารัฐเห็นความสำคัญของหน่วยอาสาสมัครดับเพลิงที่เขาทำงานกันอย่างแข็งขัน เอาชีวิตตัวเองไปเสี่ยงทุกวัน ก็อาจช่วยได้ด้วยการสนับสนุนการจัดฝึกในหลักสูตรเชิงลึกรูปแบบต่างๆ เช่นเดียวกับที่หน่วยดับเพลิงในสถานประกอบการใหญ่ๆ ได้เรียน ก็จะช่วยพัฒนายกระดับความสามารถทั้งกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเองและกลุ่มอาสาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
หากทำเช่นนั้นได้ เหล่านักผจญเพลิง ก็จะเป็นกลุ่มคนที่ได้รับการยอมรับ มีผู้ให้การสนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆ เข้ามามากขึ้นได้
และเมื่อเกิดเหตุ ก็จะมีทั้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงของรัฐ และกลุ่มอาสาสมัครที่เชี่ยวชาญ ออกไปช่วยกันลดความเสียหายให้กับประชาชน เพราะเชื่อว่า ‘เหล่านักผจญเพลิง’ พร้อมที่จะยกระดับตัวเองอยู่แล้ว