เพราะร่างกายของเรามีน้ำเป็นส่วนประกอบมากกว่า 70%
นี่ยังไม่รวมถึงการใช้น้ำในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะชำระล้างสิ่งสกปรกทั้งร่างกายและสิ่งของ การนำมาประกอบอาหาร หรือแม้กระทั่งการเดินทาง ดังนั้น เมื่อน้ำที่เราใช้เป็นประจำในทุกๆ วันเกิดมลพิษ มนุษย์จึงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ประกอบกับความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ (climate change) สถานการณ์น้ำก็เลวร้ายหนักขึ้นไปอีก
มฤตยูใต้ปารีส (Under the Paris) หนังเรื่องใหม่ล่าสุดจาก Netflix สะท้อนให้เราเห็นถึงภัยโลกรวนผ่าน ‘ฉลามกลายพันธุ์’ ที่บุกเข้าสู่น้ำจืดอย่างแม่น้ำแซน สายน้ำสำคัญที่ได้ชื่อว่าก่อกำเนิด ‘ปารีส’ ขึ้นมา ทั้งนี้เครดิตท้ายหนังดังกล่าวยังอ้างถึงกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทยว่า อาจมีความเสี่ยงที่จะถูกฉลามกลายพันธุ์บุกเข้าเมืองผ่าน ‘แม่น้ำเจ้าพระยา’ จากปัญหาโลกรวนที่รุนแรงเช่นกัน
นั่นอาจเป็นเพราะวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปจากการพัฒนาเมืองทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแก๊สเรือนกระจก หรือของเสียในแม่น้ำ และไม่เพียงแต่เฉพาะ climate change เท่านั้น ปัญหาน้ำรอการระบาย น้ำเน่า กระทั่งน้ำเซาะตลิ่ง ก็ยังมีผลต่อวิถีชีวิตของชาวกรุงจนทำให้วิกฤตสิ่งแวดล้อมกลับมาส่งผลต่อมนุษย์และโลกในที่สุด
The MATTER จึงชวนทุกคนไปพูดคุยกับ ผศ. ดร. เทิดศักดิ์ เตชะกิจขจร จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการผู้ศึกษาเรื่องการตั้งถิ่นฐานในลุ่มแม่น้ำ โดยเฉพาะลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามาอย่างยาวนานถึงความสำคัญของ ‘น้ำ’ ต่อความเป็นเมือง และวิถีชีวิตของผู้คนที่ผันเปลี่ยนจากเรือกสวนผลไม้ จนถึงยุคเวนิสแห่งตะวันออก สู่ยุคแห่งพิษภัยโลกรวนของเมืองหลวงที่ชื่อว่า กรุงเทพมหานครฯ
น้ำกับการก่อกำเนิด ‘บางกอก’
อาจารย์เทิดศักดิ์เริ่มต้นจากการอธิบายลักษณะทางภูมิศาสตร์ของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแบ่งเป็น 2 ลักษณะอย่างชัดเจนคือ ที่ลุ่มเก่า (old delta) และพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำใหม่ (young delta) ซึ่งความแตกต่างทางภูมิศาสตร์คือ ที่ลุ่มเก่าจะได้รับอิทธิพลการไหลของแม่น้ำจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำเพียงอย่างเดียว ในขณะที่ที่ลุ่มใหม่อย่างบางกอกได้รับอิทธิพลจากน้ำจืดที่หลากลงมาตามแม่น้ำ และน้ำทะเลที่พร้อมจะหนุนสูงขึ้น
“การรับผลกระทบจากน้ำจืด น้ำเค็มที่มันดันขึ้น แล้วก็มีน้ำกร่อยอยู่ตรงกลาง ดังนั้น ด้วยภูมิสัณฐานที่พิสดารตรงนี้ กรุงเทพฯ ก็น่าจะมีความหนาแน่น ความโค้งของน้ำมากกว่าที่อื่นอยู่แล้ว แต่ก็จะมีการรับน้ำเค็ม น้ำกร่อย แล้วก็น้ำจืดตลอดเวลาจนเป็นคาแรกเตอร์พิเศษของบางกอก” อาจารย์เทิดศักดิ์กล่าว
จุดเด่นของเมืองบางกอกเช่นนี้ทำให้บางกอกมีลักษณะเอื้อต่อการทำสวนผลไม้มาอย่างยาวนานกว่า 600 ปี และก่อให้เกิดการตั้งถิ่นฐานขึ้น โดยอาจารย์เทิดศักดิ์ได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า การมีจำนวนประชากรหนาแน่นในบางกอก เกิดจากการต้องปรับหน้าดินเพื่อเตรียมพื้นที่ให้เป็นสวน เนื่องจากต้องใช้คนจำนวนมากในการต้องขุดคันดินขึ้นให้สามารถเพาะปลูกได้แม้จะอยู่ในฤดูน้ำหลาก นอกจากนี้การปรับหน้าดินเช่นนี้ยังส่งผลให้การถือครองที่ดินในพื้นที่สวน ถือครองได้เพียงพื้นที่เล็กๆ แตกต่างจากที่นาที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ ประชากรในบริเวณบางกอกจึงค่อนข้างหนาแน่นและกลายมาเป็นชุมชนเกษตรกรรมในที่สุด
เมืองและคลองที่เปลี่ยนไป
เวลาผ่านไปหลายศตวรรษ บทบาทของบางกอกได้เปลี่ยนไป จากพื้นที่เกษตร เป็นกรุงเทพฯ เมืองหลวงของกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการปกครองและเศรษฐกิจ ดังนั้น สิ่งที่ตามมาคือ ‘การค้า’ ที่ขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะกับชาวจีนและชาวตะวันตกที่เดินทางเข้ามาผ่านการสัญจรทางน้ำ ความชุกชุมของการค้านี้จึงทำให้การเดินทางในแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเดียวอาจไปไม่ทั่วถึงทุกพื้นที่ คลองจำนวนมากจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อชีวิตจนบางกอกได้ชื่อว่าเป็น ‘เวนิสแห่งตะวันออก’
การค้าขายไม่เพียงแต่จะนำพารายได้เข้ามาเพียงอย่างเดียว แต่ยังนำเทคโนโลยีและการล่าอาณานิคมเข้ามาด้วย ทำให้บางกอกจำเป็นต้องปรับโฉมหน้าตัวเองให้ทันสมัยผ่านการสร้างสาธารณูปโภคที่จะทำให้ภูมิทัศน์ของเมืองเปลี่ยนแปลงไป หนึ่งในนั้นคือการมีคลองสมัยใหม่ โดยใช้วิศวกรและเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งตรงนี้เองยังสอดคล้องกับบริบททางสังคมที่ผู้คนเกิดการอพยพย้ายถิ่นฐานด้วย
อาจารย์เทิดศักดิ์กล่าวต่อว่า ในสมัยโบราณ การขุดขยายคลองจะทำเมื่อถึงหน้าแล้ง โดยใช้ควายลงไปเดินเพื่อขยายคูคลองที่ต้องการ เมื่อเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 4 ต่อเนื่องจนถึงรัชกาลที่ 5 การขุดขยายคลองจึงเริ่มมีวิศวกรชาวต่างชาติเข้ามาคุมงาน พร้อมใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างแบบตะวันตกเพื่อทำให้ลำคลองตรงมากขึ้น พัฒนาการการขุดคลองเหล่านี้จึงก่อให้เกิดความคล่องตัวต่อการเดินทางขนส่งพืชเศรษฐกิจ อย่างข้าว อ้อย ผักและผลไม้ต่างๆ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยในยุคล่าอาณานิคม
การขุดขยายคลองต่างๆ ยังประจวบเหมาะกับการเลิกทาสในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งก่อให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นฐานของทาสเดิมเพื่อตั้งรกรากใหม่ และทำการเกษตรเลี้ยงชีพ ที่นำไปสู่การบุกเบิกที่ดินพร้อมๆ กับการออกโฉนดแสดงกรรมสิทธิ์ ซึ่งก่อให้เกิดการจัดการระบบชลประทานเพื่อรองรับการทำกินของประชากรที่เพิ่มมากขึ้น พื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจึงมีความหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ภารกิจการขุดขยายคลองก็ยังถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญในยุคนั้น เพราะเป็นเส้นทางที่สะดวกสบายต่อการเดินทางของผู้คนโดยทั่วไป แม้จะเริ่มมีการตัดถนนและทางเลือกอื่นๆ อย่าง ‘รถไฟ’ แล้วก็ตาม
เมืองสมัยใหม่กับบทบาทของคลองที่สูญหาย
แม้วิถีชีวิตของคนไทยกับสายน้ำจะยังคงใกล้ชิดและผูกพันกันมาตลอด ทว่าจุดเปลี่ยนที่ทำให้บทบาทของน้ำห่างออกไปจากผู้คนคือ ‘แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ’ ในรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่เน้นการสร้างสาธารณูปโภค ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งไฟฟ้า น้ำประปา หรือถนน เพื่อเชื่อมโยงกรุงเทพฯ กับส่วนภูมิภาคแล้ว มันยังทำให้พื้นที่เชิงกายภาพในกรุงเทพฯ เปลี่ยนไปด้วย
อาจารย์เทิดศักดิ์ให้ข้อมูลว่า นอกจากถนน สิ่งที่เกิดขึ้นมาในเวลาไล่เลี่ยกับสาธารณูปโภคดังกล่าว คือการจัดระเบียบผังเมืองที่ทำให้เกิดการวาง ‘ท่อระบายน้ำ’ โดยการถมดินปิดทับลำน้ำสายเล็กๆ เดิมลงไป ซึ่งมักเกิดขึ้นกับลำรางสาธารณะ หรือคลองสายเล็กๆ นอกจากนี้ รูปแบบผังเมืองบริเวณคลองที่เปลี่ยนไปเป็นแบบ ‘น้ำ ถนน ตึกแถว’ ที่ได้รับอิทธิพลจากการจัดการน้ำของประเทศเนเธอร์แลนด์ ยังส่งผลต่อการวางแผนสร้างบ้านเรือนที่มุ่งเน้นความสำคัญไปยังการถมดินให้เหมาะสมต่อการก่อสร้างเป็นหลัก
ความเปลี่ยนแปลงจากการวางผังเมืองนี้เอง ทำให้คุณภาพของน้ำในเมืองหลวงลดลง เนื่องจากคลองมีขนาดเล็กลง ตื้นขึ้น จนไม่สามารถรองรับน้ำได้เท่าที่เคย ความสำคัญของแม่น้ำลำคลองต่อประชากรกรุงเทพฯ ก็ลดน้อยลงตามไปด้วย และนั่นเองที่ส่งผลต่อการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ โดยในอดีต ภาครัฐมักจะมุ่งเน้นพัฒนาไปยังพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่ไม่ติดกับแม่น้ำ เช่น การพัฒนาถนนสุขุมวิท หรือการบุกเบิกพื้นที่ย่านลาดพร้าว ก่อนจะข้ามมายังฝั่งตะวันตก หรือ ‘ฝั่งธนบุรี’ ซึ่งก่อให้เกิดข้อน่ากังวล เพราะต้องเริ่มต้นจากการสร้างถนนเพื่อเชื่อมกัน
“สำหรับผม การเข้ามาพัฒนาในฝั่งธนบุรีเยอะๆ ทำให้บางกอกแบบเดิมที่เคยมีน้ำ มีสวนมันหายไปเร็วขึ้น เพราะมันถูกแปลงเป็นเนื้อเมือง”
อาจารย์เทิดศักดิ์ยกตัวอย่างการสร้าง ‘ไอคอนสยาม’ ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นมา ในฐานะศูนย์กลาง (core center) ของการพัฒนา ซึ่งสามารถมองได้ทั้งความเป็นตัวแทนความเจริญในฝั่งธนบุรี และเป็นการปรับเปลี่ยนพื้นที่ชุมชนริมน้ำ สู่การเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ไปด้วย
ด้วยเหตุผลเหล่านี้เอง ทำให้ผังเมืองของกรุงเทพฯ ซับซ้อนขึ้น และนำไปสู่มลพิษทางน้ำที่เกิดขึ้นอย่างเงียบๆ ท่ามกลางความเมินเฉยของผู้คน จนกระทั่งเริ่มเกิดความเปลี่ยนแปลงกับการบริหารจัดการน้ำขึ้นอีกครั้งในทศวรรษ 2010
แนวโน้มจากพิษภัย สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อมได้กลายมาเป็นปัญหาสำคัญนับแต่ทศวรรษ 2010 เป็นต้นมา หนึ่งในนั้นเป็นผลจากการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้ง และไม่คำนึงถึงความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม การรักษาทรัพยากรธรรมชาติจึงกลายมาเป็นวาระร่วมกันในระดับโลก
สำหรับกรุงเทพฯ เอง ก็ได้พยายามจัดการกับมลพิษทางน้ำผ่านการจัดการคลองด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การติดตั้งถังดักจับน้ำเสียตามคลองสายต่างๆ เช่น คลองบางลำพู ซึ่งรูปการณ์ต่างๆ ดูเหมือนจะเป็นไปด้วยดี ค่า BOD หรือความต้องการออกซิเจนทางชีวเคมีของแม่น้ำลำคลองก็เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อย แต่แล้ว climate change อีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญก็มาถึง
ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศทำให้เมืองต่างๆ ต้องมุ่งหาวิธีการป้องกันภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น ทั้งน้ำท่วมและพิษภัยจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนการกัดเซาะตลิ่งที่อาจรุนแรงมากขึ้น อาจารย์เทิดศักดิ์ระบุว่า การป้องกันภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆ อาจขัดกับการพัฒนาแหล่งน้ำอย่างยั่งยืนได้เช่นกัน
“ผมว่าช่วงทศวรรษ 2020-2030 นี้ เป็นช่วงที่เราต้องหาทางออก หาแนวทางประยุกต์ใช้บางอย่าง เพื่อที่จะให้ความยั่งยืนในสถานการณ์ climate change กลับไปดีขึ้น ไม่ใช่เหมือนช่วงก่อน 2010”
อาจารย์เทิดศักดิ์ยก ‘การจัดทำผังน้ำ’ ระดับประเทศขึ้นเป็นตัวอย่าง โครงการนี้เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2561 และยังคงดำเนินการในระดับประเทศอยู่จวบจนปัจจุบัน โดยเริ่มจากการตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ มาเป็นตัวกลางประสานหน่วยงานภาครัฐที่เป็นเจ้าภาพการจัดการน้ำด้านต่างๆ เพื่อสร้างสื่อกลางที่มีข้อมูลเกี่ยวกับน้ำในรูปแบบแผนผังที่ชัดเจน และครอบคลุมทุกลุ่มน้ำในประเทศ
เขามองว่า การมีข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ทำให้ไทยสามารถหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นว่าด้วย ‘น้ำกับเมือง’ ได้ดีขึ้น ทั้งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการจัดการน้ำภาพรวมอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งตั้งความหวังว่า หากสามารถจัดทำผังน้ำได้ละเอียดลงไปถึงจังหวัด และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้เข้ากับสภาพภูมิศาสตร์ในแต่ละพื้นที่ จะทำให้การจัดการน้ำในระดับท้องถิ่นยิ่งมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยให้เราสามารถหาทางออกในวิกฤตน้ำได้อย่างยั่งยืน ทั้งยังเป็นแนวทางเพื่อก้าวไปสู่การทำให้ผู้คนรู้สึกดีต่อการอยู่ร่วมกับน้ำด้วย
นอกจากการจัดการในระดับภาครัฐแล้ว อาจารย์เทิดศักดิ์ยังกล่าวว่า การส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับน้ำจะช่วยให้เราเล็งเห็นความสำคัญของน้ำกับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยโมเดลที่ชัดเจนที่สุดคือ ‘ชุมชนริมน้ำ’ ที่มีมายาวนานจนเป็นเสมือน ‘เอกลักษณ์’ ของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แม้ทิศทางการพัฒนาเมืองมักมุ่งความสำคัญไปที่การพัฒนาทางบกเป็นหลักก็ตาม
“แต่ในมุมกลับกัน ด้วยกระแสที่พูดถึงความยั่งยืนมันทำให้คนที่มีความรู้เริ่มกลับมาเห็นศักยภาพของคลองบางกอกใหญ่ คลองบางกอกน้อย คลองอ้อมนนท์ ที่ยังอยู่ใกล้ๆ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในอีกมิติหนึ่ง การพัฒนาในบางกอกไม่จำเป็นจะต้องเกิดในทางบกอย่างเดียว แต่การที่มันมีน้ำอยู่ก็มีทางที่จะพัฒนาต่อไปได้”
เขาอธิบายต่อว่า หากสังเกตช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา พื้นที่ริมคลองต่างๆ จะมีอุณหภูมิต่ำกว่าเขตเมืองที่มีปรากฏการณ์ ‘เกาะความร้อน’ (Urban Heat Island) ไปแล้ว เมื่อประกอบกับลักษณะการตั้งถิ่นฐานเดิมในชุมชนริมน้ำ ที่คนรุ่นใหม่เล็งเห็นถึงศักยภาพของพื้นที่ดังกล่าวผ่านการเปิดธุรกิจเล็กๆ เช่น โฮมสเตย์ ร้านกาแฟ หรือแม้กระทั่งการรวมกลุ่มของชุมชนเพื่อการพัฒนาเชิงอนุรักษ์ ซึ่งใช้พื้นที่โซเชียลมีเดียเชื่อมโยงกับผู้คน หากเราสามารถส่งเสริมสิ่งเหล่านี้ในฐานะแหล่งที่อยู่อาศัยที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ ก็อาจทำให้พื้นที่เหล่านี้โดดเด่นในระดับโลก และก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน โดยต้องอาศัยความสม่ำเสมอทั้งจากภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วย
“ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ข้อเสียหนึ่งของคนไทยคือมักจะวางแผนระยะยาวไม่ค่อยเก่ง เรามักจะวางแผนตามรอบของการปกครอง 4 ปี ควิกวิน จบ เปลี่ยนแผน แต่ในประเทศซีกโลกเหนือ ตะวันตก เขามักจะวางแผน 10 ปี 20 ปี ไม่ว่าจะเปลี่ยน (ผู้นำ) กี่คนก็ยังคงแผนเดิม แต่หากมีผังน้ำแล้ว ถ้าผลักดันไปในสเกล 10-20 ปี แทนที่จะยืมสเกลเล็กๆ มา ก็จะเห็นผลดี” อาจารย์เทิดศักดิ์ทิ้งท้าย
อ้างอิงจาก