“ด้วยการส่งกองกำลังจำนวนหนึ่งในฐานะสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพ เราจะได้หลายสิ่งอย่างเป็นการตอบแทน” (“By sending just a small number of troops as a token of our friendship, we will get various things in return.”)
จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น กล่าวประโยคดังกล่าวกับรัฐสภาไทย เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 1950
นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของบทบาทกองทัพไทยในสงครามเกาหลี สงครามที่รวมระยะเวลาสู้รบราว 3 ปี ในช่วงปี 1950-1953 ระหว่างเกาหลีใต้ ที่ได้รับการสนับสนุนโดยสหรัฐฯ และกองกำลังของสหประชาชาติ (UN) และเกาหลีเหนือ ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยสหภาพโซเวียตและจีน
เช่นเดียวกับในสหรัฐฯ ที่สงครามเกาหลีถูกขนานนามว่าเป็น ‘สงครามที่ถูกลืม’ หรือ ‘Forgotten War’ สุรชาติ บำรุงสุข ก็คิดเห็นว่า ความทรงจำเกี่ยวกับบทบาทของไทยในสงครามดังกล่าว – รวมถึงเรื่องราวของกรมผสมที่ 21 ที่ร่วมสู้รบที่เนินพอร์กช็อป (Pork Chop Hill) จนได้รับฉายาว่า ‘พยัคฆ์น้อย’ (Little Tigers) – ก็ “ดูจะห่างหายไปจากสังคมไทยนานแล้ว”
ในวาระที่ไทย-เกาหลีใต้กลับมาพบกันอีกครั้ง ในรูปแบบของการแข่งขันฟุตบอลโลก 2026 รอบคัดเลือก The MATTER ชวนย้อนดูบทบาทของประเทศไทยในสงครามเกาหลีอีกครั้ง
‘พยัคฆ์น้อย’ ที่ ‘เนินพอร์กช็อป’
ข้อมูลจากกองบัญชาการกองกำลังสหประชาชาติ (United Nations Command) ระบุว่า ไทยส่งบุคลากรไปร่วมรบที่เกาหลีทั้งหมดถึง 11,786 คน ในจำนวนนี้ มีผู้เสียชีวิต 1,273 คน มี 129 คนที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ มีผู้บาดเจ็บ 1,139 คน และสูญหาย 5 คน
ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกๆ ที่หันมาให้ความช่วยเหลือเกาหลีใต้ในการสู้รบ เดิมที ไทยเริ่มจากการส่งข้าวจำนวน 4 ตัน ตามมติของ UN เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 1950 หรือ 5 วันหลังจากสงครามเกาหลีปะทุขึ้น จากนั้นก็ตามมาด้วยการส่งกองกำลังทั้งทางบก น้ำ อากาศ เข้าช่วยเหลือ ซึ่งทหารราบของไทยก็ประจำในเกาหลียาวจนถึงเดือนมิถุนายน ปี 1972
ทหารไทยเข้าร่วมรบในสมรภูมิจำนวนหนึ่ง ร่วมกับกองกำลังจากประเทศอื่นๆ (หลักๆ คือสหรัฐฯ) แต่การสู้รบที่ไทยได้รับการยกย่องและเป็นที่จดจำในห้วงสงครามเกาหลี คือ การสู้รบในพื้นที่ที่มีชื่อว่า ‘เนินพอร์กช็อป’ (Pork Chop Hill)
เนินพอร์กช็อป (ว่ากันว่าที่มีชื่อเรียกเช่นนี้ ก็เป็นเพราะรูปร่างของมันที่คล้ายพอร์กช็อป) หรือ ‘ฮิลล์ 255’ (Hill 255) คือจุดยุทธศาสตร์ใกล้กับเส้นขนานที่ 38 เหนือ (38th parallel north) เส้นแบ่งที่สหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตใช้แบ่งเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ในขณะนั้น
ผ่านการสู้รบมาหลายระลอก ทหารไทยเองก็เป็นหนึ่งในนั้น – นั่นคือ กรมผสมที่ 21 ที่สร้างวีรกรรมจนได้รับฉายาจากผู้บังคับบัญชากองทัพสหรัฐฯ ในสงครามเกาหลีว่า ‘พยัคฆ์น้อย’ หรือ ‘Little Tigers’
“ตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 11 พฤศจิกายน 1952 กองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 21 ของไทย ซึ่งขึ้นกับกองทัพสหรัฐฯ ได้ต้านทานการโจมตีจากศัตรูหลายระลอก ท่ามกลางอุณหภูมิติดลบในเทือกเขาใกล้ชอวอน (Cheorwon) เหนือเส้นขนานที่ 38” รมณี คณานุรักษ์ อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล กล่าวกับสำนักข่าวเกาหลีใต้ Korea JoongAng Daily
“กองกำลังของไทยต่อสู้กับการโจมตีของศัตรู 3 ระลอก แม้อีกฝ่ายจะมีจำนวนมากกว่าในอัตรา 7 ต่อ 1” รมณี ซึ่งปัจจุบันเป็นเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโรม เล่า “แม้กองกำลังของไทยจะได้รับการสนับสนุนจากกองกำลังปืนใหญ่และทหารราบยานเกราะของ UN แต่การต่อสู้ก็รุนแรงมากจนทำให้กองกำลังของไทยต้องต่อสู้ระยะประชิด”
สุดท้ายฝ่ายไทยได้รับชัยชนะในครั้งนั้น
กรมผสมที่ 21 ต่อมาจะกลายมาเป็นต้นกำเนิดของกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ที่มีที่ตั้งอยู่ในค่ายนวมินทราชินี จ.ชลบุรี ซึ่งมีนายทหารที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารในการเมืองไทยหลายครั้ง และมีชื่อเรียกว่า ‘บูรพาพยัคฆ์’ ที่คาดว่าก็มีความเกี่ยวข้องกับฉายา ‘พยัคฆ์น้อย’ ในสงครามเกาหลีด้วยเช่นกัน
สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคง ศาสตราจารย์กิตติคุณจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถกเถียงในบทความที่เผยแพร่ผ่าน THE STANDARD ว่า กองพัน ‘พยัคฆ์น้อย’ คือ “ตัวแทนความกล้าหาญของทหารไทย ที่ได้แสดงให้เห็นในเวทีสงครามระหว่างประเทศ” หากแต่บูรพาพยัคฆ์ในปัจจุบัน มิใช่เช่นนั้น แต่กลับแสดงบทบาท ‘ทหารการเมือง’ ดังที่ได้เห็นในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา
สงครามไม่เคยจบ
อันที่จริง สงครามเกาหลีไม่เคยสิ้นสุด
การสู้รบเริ่มต้นขึ้นเมื่อกองทัพเกาหลีเหนือเคลื่อนกำลังบุกเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 1950 และจบลงด้วยการลงนามความตกลงการสงบศึกเกาหลี (Korean Armistice Agreement) เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 1953
ตลอด 3 ปีของการสู้รบ คาบสมุทรเกาหลีต้องเผชิญกับความเสียมหาศาล หนังสือพิมพ์ The New York Times อ้างข้อมูลจากนักประวัติศาสตร์ ชี้ว่า ผู้เสียชีวิตคร่าวๆ มีอยู่ราว 3-4 ล้านคน และ 70% ที่เสียชีวิต อาจจะเป็นพลเรือน ที่เสียหายอย่างหนักคือฝั่งของเกาหลีเหนือ ที่ต้องเผชิญกับการทิ้งระเบิดของสหรัฐฯ
แต่ในทางเทคนิคแล้ว สงครามเกาหลีก็ยังไม่เคยยุติ เพราะมีเพียงการลงนามความตกลงการสงบศึกเท่านั้น หากแต่ไม่มีสนธิสัญญาสันติภาพอย่างเป็นทางการ
เราจึงยังคงได้เห็นความตึงเครียดทางทหารระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ ที่ยังดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้
“คงจะดีถ้าได้เห็นการรวมชาติของเกาหลี พวกเขาจะทรงอิทธิพลมากในฐานะหนึ่งประเทศ ด้วยทรัพยากรที่พวกเขามี” พล.ท.เฉลิมชัย หิรัญอาจ ทหารผ่านศึกสงครามเกาหลี เคยกล่าวกับ Bangkok Post
ภายหลังจากสงครามเกาหลี คาบสมุทรเกาหลีไม่เคยรวมเป็นหนึ่งได้อีกเลย และถูกแบ่งเหนือ-ใต้โดยเส้นแบ่งเขตทหาร (Military Demarcation Line) ตามความตกลงการหยุดยิง
ข้อมูลที่น่าสนใจคือ ช่วงหลังจากนั้น ในทศวรรษ 1960 ประชาชนชาวเกาหลีเหนือมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเกาหลีใต้ GDP ต่อหัวในเกาหลีเหนือสูงกว่าเกาหลีใต้ถึง 30-50% แต่หลังจากนั้นมาก็กลับตาลปัตร เกาหลีใต้พัฒนาอย่างฉุดไม่อยู่ จนกลายมาเป็น 1 ใน 4 เสือแห่งเอเชีย เฉกเช่นในปัจจุบัน
อ้างอิงจาก