ความรักเป็นเรื่องสวยงาม แต่พอพูดเรื่องเงินมันเลยชักจะไม่ค่อยสวยและ
เวลาเราพูดเรื่องความรัก มักจะไปโยงกับแนวคิดสวยๆ ความรักไม่มีชนชั้น ความรักไม่มีพรมแดน ไม่มีเหตุผล มันคือปรากฏการณ์ล้ำลึกของมนุษย์ ของคนสองคน ที่จะเกิดขึ้นและจบลงในแบบที่ แล้วเขาทั้งสองก็ครองรักกันตราบกัลปาวสาน happily ever after
แต่ในโลกแห่งความจริง เรารู้กันดีว่า ‘การตกหลุมรัก’ กัน มันไม่ใช่แค่ตอนจบ แต่มันคือ ‘จุดเริ่มต้น’ ความยุ่งเหยิงของสรรพสิ่ง เมื่อเรารักและผูกสัมพันธ์กับใคร มันมีข้อกำหนดมากมายมากำหนดว่าความสัมพันธ์นั้นมันจะดำเนินไปได้ราบรื่นตลอดรอดฝั่งหรือไม่
โลกแห่งความจริงไม่สวยงามเสมอ เพราะ ‘เงิน’ หรือความมั่นคงทางเศรษฐกิจ แม้จะซื้อไม่ได้ทุกอย่าง แต่ก็นำมาซึ่งอำนาจ และสิ่งต่างๆ ได้ และดูเหมือนว่า ความรัก ความสัมพันธ์ ก็อยู่ในข่ายนั้นด้วย
แม้แต่ในวิกิพีเดีย ก็ยังมีผู้รู้ไประบุไว้เลยว่า ‘ในโลกแห่งความจริง การจะมีความรักก็ต้องมีเงิน ถ้าไม่มีเงินก็จะไม่มีความรักที่สวยงาม’ อื้อหือ บาดเลือดซิบๆ เพราะความจริงที่ไม่สวยงามอย่างฝัน
ลำดับชั้นของความต้องการ
กลับไปที่สังคมศาสตร์เบื้องต้น ความรักที่ใครๆ ก็ต้องพูดถึงคือตารางสามเหลี่ยมของ Maslow คอนเซ็ปต์ง่ายๆ ของมาสโลวคือ คนเรามีความต้องการเป็นลำดับขั้น เราต้องมีสิ่งที่เป็นฐานก่อนแล้วจึงสามารถค่อยๆ ไปแสวงหาความต้องการอื่นๆ ที่มันเป็นนามธรรมมากขึ้นไปได้
ถ้าไม่มีกิน จะเอาเวลาและหัวสมองที่ไหนไปแสวงหาเรื่องสูงส่ง ทำนองว่า แค่ข้าวยังไม่มีจะกิน บ้านยังไม่มีจะอยู่ จะอาจหาญไปไขว่คว้าหาความรัก ความสำเร็จ หรือความสวยงามอะไรก็เป็นไปไม่ได้น่ะสิ
ดังนั้น ถ้าพูดเรื่องความไม่เสมอภาค ดูเหมือนว่าชนชั้นและโอกาสทางสังคมจะเป็นตัวกำหนดชีวิตและความรู้สึกของเราอย่างหนักแน่น เราจะมีความรักหรือไม่มี มีความอ่อนไหวหรือไม่ เงื่อนไขในการดำรงชีวิตเช่น รายได้ ความปลอดภัย สวัสดิการ ล้วนเป็นสิ่งที่มีผลกับมิติที่เป็นส่วนตัวและดูเป็นอุดมคติทั้งนั้น
ปิแอร์ บูร์ดิเยอ กับมุมมองทางเศรษฐกิจของความรัก
แนวคิดเรื่อง ‘รสนิยม’ และ ‘ทุน’ ของบูร์ดิเยอ นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส เป็นแนวคิดที่มาเปิดโปงว่า เรื่องสวยๆ งามๆ ที่เราใช้นำทางชีวิตล้วนมี ‘แง่มุมที่ไม่ค่อยสวย’ เช่นเรื่องเงิน เรื่องผลประโยชน์ แอบแฝงอยู่ทั้งนั้น
บูร์ดิเยอบอกว่า ‘รสนิยม’ คือกระบวนการสำคัญที่สังคมใช้ในการดำรง ‘ชนชั้น’ และความไม่เสมอภาคเอาไว้ ไอ้คำว่ารสนิยมมันดูเป็นเรื่องส่วนตัวเนอะ แต่เอาเข้าจริงรสนิยมเป็นสิ่งที่ได้รับการตกทอดและหล่อหลอมขึ้นมาผ่านครอบครัว และในการหล่อหลอมนั้นมันก็มีเรื่อง ‘ทุน’ ต่างๆ ที่เราได้รับการหล่อหลอมขึ้นมาด้วย
สิ่งที่บูร์ดิเยออธิบายคือ การที่คนเราจะมีรสนิยมเหมือนกันได้ ภูมิหลังทางสังคมนั้นก็ค่อนข้างไม่ต่างกันมาก ร้านอาหาร ผับ สถานที่ท่องเที่ยว รวมไปถึงฟิตเนส อันเป็นพื้นที่ที่เราไป ‘ปฏิสังสรรค์’ กับคนอื่นจึงเป็นสิ่งที่มากำหนดว่าเราจะได้เจอกับใคร จะถูกใจใคร และมีแนวโน้วที่จะตกร่องปล่องชิ้นกับใคร แนวโน้มก็ไม่ค่อยแหวกแนวเนอะ คือสุดท้ายแล้วเราก็มีแนวโน้มที่จะไปได้ดีกับคนที่มีสถานะใกล้ๆ กับเรา มีระดับการศึกษา ลักษณะการทำงานในระดับที่ใกล้เคียงกันกับเรา
ถ้ามองในมุมมองแบบมาร์กซ์ เรื่องความรัก ความรู้สึก ก็คล้ายๆ ประเด็นเรื่องปรัชญาความคิดเหมือนกัน คือเรื่อง ‘พิเศษๆ ’พวกนี้เป็นส่วนหนึ่งของ ‘สิทธิพิเศษ (privilege)’ ปรัชญา ความรู้ ก็ดูจะเป็นเรื่องของคนที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจเท่านั้น ถ้าไม่รวยพอเราก็ไม่อาจเข้ารับการศึกษาในระดับสูงได้ แถมไม่มีเวลาว่างมานั่งคิดใคร่ครวญ มองเห็นมองหาเรื่องที่เป็นนามธรรม เรื่องหัวใจอะไรทั้งหลายแหล่ แค่ทำงานหาข้าวใส่ท้องไปวันๆ ก็หมดเวลา หมดสมอง หมดพลังงานแล้ว
ยิ่งถ้ามองทุกอย่างตามเนื้อผ้า ‘ความโรแมนติก’ มันก็มีราคาของมัน อย่างน้อยๆ คือราคาของ ‘เวลาว่าง’ การที่เราจะมีเวลาว่างได้นี่ต้องเป็นคนที่มีสถานะดี มีการงานและรายได้มั่นคงในระดับหนึ่งเลยนะ ถึงจะสามารถซื้อ ‘เวลาว่างได้’
ขนาดแค่ชนชั้นกลางอย่างเราๆ ถ้าไม่มีเงินหรือรายได้ที่แน่นอนมั่นคง การจะมีความรักได้นี่ดูเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้มากๆ เพราะในด้านหนึ่งความรักคือการรับผิดชอบใครอีกคนหนึ่ง ถ้าไม่มีเงินสนับสนุน มันก็ยากเนอะ อย่างน้อยๆ ดินเนอร์ใต้แสงเทียน มันก็ไม่ได้ได้มาฟรีๆ
แม้สถานะทางสังคมมีส่วนในการกำหนดความรู้สึกหรือความรักของเราก็จริง แต่สุดท้าย ความรักมันก็เป็นเรื่องของคนสองคน ซึ่งก็ใช่ว่ารักข้ามพรมแดน รักข้ามความแตกต่างจะเป็นไปไม่ได้ซะทีเดียว
ถ้าลอง work มัน on สุดท้าย มันพอก็ไปได้นะ