เชื่อว่าฤดูยื่นภาษีที่เพิ่งผ่านพ้นไป และจะกลับมาใหม่เรื่อยๆ ทุกๆ ปี ทำให้มนุษย์วัยทำงานหลายคนถึงกับงงเป็นไก่ตาแตก โดยเฉพาะ first jobber ที่เพิ่งเรียนจบมาหมาดๆ ยังไม่ทันได้ปาดเหงื่อ ก็ต้องมาปาดน้ำตากับประสบการณ์ยื่นภาษีที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อนในชีวิต
“ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญขนาดนี้ แต่ทำไมที่โรงเรียนไม่เคยสอนเลยนะ?”
ถ้าไม่ได้เรียนจบจากสายบัญชีโดยตรง ก็คงมีความคิดแบบนี้กันบ้างล่ะ เพราะการเงินเป็นเรื่องใกล้ตัวและอยู่ในชีวิตประจำวันแทบจะทุกกิจกรรม แต่หลายคนกลับไม่เคยรู้วิธีจัดการกับมันมาก่อน หรือแม้แต่ในวิชาหน้าที่พลเมืองสมัยประถมศึกษา ก็จะบอกว่าพลเมืองที่ดีย่อมมีหน้าที่ต้องยื่นภาษี เมื่อถึงจุดหนึ่งที่มีอาชีพ มีรายได้ถึงเกณฑ์ แต่ไม่ยักจะเห็นวิชาไหนที่สอนว่าภาษีต้องยื่นยังไง คำนวณแบบไหน ลดหย่อนได้มั้ย อะไรคือลำดับขั้น สอนก็เพียงแค่ผิวเผินเท่านั้น หรือในมหาวิทยาลัยช่วงที่ใกล้จะเรียนจบ ซึ่งต้องออกไปทำงานหาเงินด้วยตัวเอง ก็ยังไม่มีการสอนเรื่องนี้อย่างจริงจัง
รวมถึงสังคมส่วนใหญ่อาจจะมองว่า การเงินยังเป็นเรื่องที่ไกลตัวเด็ก เพราะพวกเขายังไม่มีรายรับเท่าไหร่ (แม้ว่าค่าขนมก็คือหนึ่งในรายรับที่ควรจัดสรรด้วยตัวเองก็ตาม) รู้ไปตอนนี้ก็ยังไม่ได้เอาไปใช้อะไร แถมไม่ออกข้อสอบอีก ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การเงินสำคัญอย่างมากในโลกของการใช้ชีวิตจริง อาจจะสำคัญยิ่งกว่ารำกระบี่กระบองหรือท่องกฎลูกเสือที่ผู้ใหญ่เข้มงวดกันนักหนาเสียอีก เพราะการเงินส่งผลต่อความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่เราจะได้รับ หากเรามีจัดสรรและวางแผนการที่ดีตั้งแต่เนิ่นๆ แต่ตัดภาพมาที่ทุกวันนี้ บางคนทำงานมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว แต่ก็ยังคำนวณภาษีเองไม่เป็น รวมถึงไม่สามารถบริหารรายรับและรายจ่ายของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย
จริงๆ แล้ว หลักสูตรการเงินในโรงเรียนสำคัญแค่ไหน มีวิชาอะไรบ้างที่ใกล้เคียงพอจะให้เราได้คุ้นเคยกับการเงินบ้าง และเราควรเรียนแบบลงลึกตั้งแต่ยังเด็กๆ เลยมั้ย? The MATTER ได้ทักไปสัมภาษณ์ ศุภฤกษ์ ปิติธรรมภรณ์ หรือ แบงค์ Co-founder ของโรงเรียนสอนการเงินสำหรับเด็ก W Academy ในฐานะที่เขาเป็นผู้ดูแลหลักสูตรเรื่องการเงินให้กับเด็กๆ ตั้งแต่วัย 7-18 ปี
จริงมั้ยที่โรงเรียนไม่ค่อยสอนเรื่องการเงินเลย?
จริงๆ ปัจจุบันเรื่องการเงินสอดแทรกอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนอยู่บ้าง เช่น วิชาคณิตศาสตร์ในระดับชั้นประถมศึกษา ก็จะมีการสอนจดบันทึกรายรับรายจ่าย หรือในระดับชั้นมัธยมศึกษา ก็จะมีเรื่องเศรษฐศาสตร์ในวิชาสังคม ซึ่งการเงินก็คือการนำเศรษฐศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการจัดการ เพราะเศรษฐศาสตร์ก็เป็นเรื่องของการจัดสรรทรัพยากรหรือในที่นี้ก็คือเงิน เพียงแต่ยังไม่มีวิชาที่เป็นการเงินแยกออกมาเดี่ยวๆ เท่านั้นเอง
มนุษย์วัยทำงานหลายคนงงกับการยื่นภาษี แล้วสงสัยว่าทำไมโรงเรียนไม่สอนเรื่องนี้ ส่วนตัวมองว่าการเรียนเรื่องภาษีควรเริ่มที่วัยไหน?
ถ้าเป็นเรื่องหัวข้อภาษีเลย อาจจะเป็นช่วงปี 3-4 ในมหาวิทยาลัยก็ยังทัน แต่ถ้าเป็นเรื่องบริหารจัดการเงินทั่วไป การบริหารรายรับรายจ่าย การวางแผนการออม หรือการวางแผนจัดการเงินหลังเกษียณ ผมว่าควรจะเริ่มตั้งแต่วัยเล็กๆ ที่ได้รับค่าขนมได้เลย หรือก่อนหน้านั้นก็เริ่มสอนได้แล้ว เพราะการเงินเป็นเรื่องที่ ‘รู้’ ก็อีกเรื่องหนึ่ง ‘ปฏิบัติ’ ก็อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งต้องอาศัยการมีวินัยหรือการบ่มเพาะที่ใช้เวลาพอสมควร
“การเงินเป็นเรื่องที่ ‘รู้’ ก็อีกเรื่องหนึ่ง
‘ปฏิบัติ’ ก็อีกเรื่องหนึ่ง
ซึ่งต้องอาศัยการมีวินัยหรือการบ่มเพาะ
ที่ใช้เวลาพอสมควร”
แปลว่าการเรียนเรื่องภาษีตอนประถม-มัธยมศึกษา ก็คงจะดูเร็วและยากเกินไป?
ใช่ครับ ยากมาก ก็จะดูไกลตัวเกินไป แล้วเด็กๆ ก็จะไม่สนใจ เพราะเรียนไปก็ยังไม่ได้ใช้ ควรจะเริ่มในช่วงมหาวิทยาลัย ก่อนที่จะมีรายได้ก็ควรจะรู้เรื่องนี้ได้แล้ว
ถ้าอย่างนั้นในช่วงประถม-มัธยมศึกษาควรเรียนหลักสูตรอะไรบ้าง ถึงจะเหมาะสมกับช่วงวัย?
ถ้าเริ่มตั้งแต่เด็กเล็กๆ เลย ก็จะสอนให้เขาคุ้นเคยกับเงินในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเหรียญ ธนบัตร หรือดิจิทัล เพื่อเป็นเบสิกให้เขาชินกับการใช้จ่ายในหลายๆ วิธี แต่ยังไม่ต้องบริหารว่าจะใช้มากน้อยแค่ไหน แค่ให้รู้วิธีของการใช้เงินก็พอ
พอเริ่มโตขึ้นมาหน่อย ก็จะเป็นการวางแผนระยะยาวมากขึ้น ต้องรู้ว่ารายรับของตัวเองมีช่องทางไหนบ้าง ได้มาจำนวนเท่าไหร่ การวางแผนจัดสรรงบประมาณการใช้จ่ายก็จะเป็นระยะยาวมากขึ้น อย่างชั้นประถมศึกษาก็จะเป็นหลักสัปดาห์หรือหลักเดือน พอเขาเริ่มโตขึ้นมาเรื่อยๆ ก็จะเป็นหลักปี
ถ้าเป็นชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ก็ควรรู้เรื่องการลงทุนประเภทต่างๆ แล้ว การรู้เรื่องการลงทุนสามารถเริ่มได้ตั้งแต่ 15-18 หรือ 20 ปี ก็จะตรงกับตอนเข้ามหาวิทยาลัยพอดี
ก่อนหน้านี้ที่บอกว่ามีหลักสูตรการวางแผนจัดการเงินหลังเกษียณ เด็กๆ ก็เรียนตั้งแต่เนิ่นๆ ได้เลยหรอ?
ได้ครับ ให้รู้คอนเซปต์ไว้ก่อนว่าการเกษียณคืออะไร แล้วทำไมถึงต้องเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะหลังจากเกษียณไปเราก็จะไม่มีรายได้แล้ว เราจะหาเงินจากไหนมาครอบคลุมรายจ่ายที่จะคงคุณภาพชีวิตของเราไว้ได้
หลักสูตรเรื่องการลงทุนที่สอนในเด็กมัธยมศึกษาตอนปลาย เจาะลึกลงไปมากแค่ไหน?
ถ้าเป็นในวัยมัธยมศึกษาตอนต้น ผมจะสอนว่าแค่ความหมายของการลงทุนคืออะไร รูปแบบของผลตอบแทนเป็นแบบไหน หรือความเสี่ยงมีอะไรบ้าง แต่พอเป็นมัธยมศึกษาตอนปลายก็จะมีการวิเคราะห์มากขึ้น เช่น ปัจจัยอะไรที่ส่งผลต่อการลงทุนแต่ละประเภทบ้าง อะไรที่จะส่งผลให้หุ้นขึ้นหรือหุ้นตก ก็จะลึกขึ้น พอเป็นมหาวิทยาลัยก็จะเป็นการลงทุนแบบลงลึกรายตัว เช่น อะไรควรลงทุน อะไรไม่ควรลงทุน เพราะอะไรบ้าง
“เหมือนเป็นการจุดประกายให้พวกเขา
ได้เริ่มฝึกวินัยทางการเงินของตัวเองเร็วกว่าคนอื่น”
ถ้าเรารู้เรื่องการเงินตั้งแต่ยังเด็กๆ หรือโรงเรียนมีหลักสูตรการเงินนำไปใช้ได้จริง ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดๆ เลยคืออะไรบ้าง?
ที่แปลกใจคือตอนแรกเราคิดว่าการเงินจะเป็นหัวข้อที่เด็กๆ เบื่อกัน สมมติถ้าเดินอยู่ข้างนอกแล้วถามว่า สนใจมาเรียนการเงินมั้ย? เด็กๆ ก็คงตอบว่า ไม่หรอก แต่พอหลังจากที่เด็กๆ ได้มาเรียนแล้ว ได้เห็นว่าเป็นวิชาที่เอาไปประยุกต์ใช้กับชีวิตได้จริง แบบเรียนวันนี้ พรุ่งนี้ก็ลองใช้ได้เลย เขาก็ดูมีส่วนร่วมมากขึ้น และมีความสุขที่จะได้เรียน เหมือนเป็นการจุดประกายให้พวกเขาได้เริ่มฝึกวินัยทางการเงินของตัวเองเร็วกว่าคนอื่น เพราะในเรื่องของการเงินเราจะพูดตลอดเลยว่า “รู้อะไรไม่เท่ารู้งี้”
หลายคนก็คงเป็นเหมือนกันใช่มั้ย “ถ้าเรารู้จักใช้เงินเป็นตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว ชีวิตเราคงจะดีกว่านี้” (หัวเราะ) ถ้าเด็กๆ ได้เริ่มก่อน ก็เหมือนเขาได้นำเราไปก้าวหนึ่งแล้ว บางคนจบมาหลายปียังไม่ได้ยื่นภาษีเลย ผมก็ตกใจเหมือนกัน
จริงๆ วิชาพวกนี้ถ้าเรียนสายการเงินหรือสายบัญชีจะรู้กัน แต่ถ้าสายอื่นก็จะไม่รู้เลย ผมว่าการเงินควรจะเป็นวิชาเบสิกในมหาวิทยาลัยเลยนะ
พอเข้าสู่วัยทำงานที่มีรายได้ ก็ทำให้รู้ว่ายังมีอีกมากมายที่เราต้องศึกษาเกี่ยวกับการเงิน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อผลประโยชน์ของตัวเราเอง ยิ่งมีความรู้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งจัดการและวางแผนได้ดีเท่านั้น เผลอๆ ช่วยลดค่าใช้จ่ายของเราไปได้เยอะ และทำให้มีเงินเก็บเพิ่มขึ้นอีกมากมาย การเงินและการลงทุนจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวเด็กเลย เพียงแต่ผู้ใหญ่อาจจะต้องสร้างช่องทางให้พวกเขาได้ทำความเข้าใจและคุ้นเคยกับมันมากขึ้นเท่านั้นเอง