พอพูดถึงวิชาปรัชญา เรานึกถึงอะไรกันบ้าง? ภาพคนทำท่าครุ่นคิดแบบ ประติมากรรม Thinker ของ Auguste Rodin นึกถึงความซับซ้อน ยุ่งยาก นึกถึงชื่อนักปรัชญาและแนวคิดที่ยากต่อการทำความเข้าใจ หรือนึกถึงรากฐานของความรู้ ที่มาของความคิด ที่แฝงอยู่ในทุกสิ่งรอบตัวเรา ไม่ว่าจะรู้จักวิชาปรัชญามาแบบไหน แต่เชื่อว่าหลายคนคงได้คุ้นหูคุ้นตาคำว่า ‘ปรัชญา’ ในฐานะวิชาเรียนกันในช่วงมหาวิทยาลัย แต่ก่อนหน้านั้นกลับไม่เคยแม้แต่จะได้ยินมาก่อนเสียด้วยซ้ำ
นั่นหมายความว่า ‘วิชาปรัชญา’ อยู่ในระดับมหาวิทยาลัยมาโดยตลอด ทั้งที่เป็นวิชาที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ความคิด สิ่งพื้นฐานที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน เรากลับไม่ได้เรียนรู้วิชาที่ฝึกฝนความคิดนี้กันตั้งแต่ประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษา แม้แต่มหาวิทยาลัยเอง ก็มีการเรียนการสอนวิชาปรัชญาเพียงแค่บางคณะเท่านั้น วิชาแห่งการครุ่นคิดนี้ จึงเหมือนหลบอยู่ในซอกมุมใดมุมหนึ่งของหลักสูตรการศึกษา ไม่ได้พื้นที่หรือสปอตไลต์ส่องอย่างวิชาอื่นๆ สักเท่าไหร่นัก
ในเมื่อมันเป็นวิชาที่เน้นทักษะการคิด การตั้งคำถาม ต่อสิ่งรอบตัวแล้ว ทำไมกลับไม่มีวิชานี้ในโรงเรียนกันล่ะ? ทั้งที่เป็นช่วงวัยที่เหมาะต่อการพัฒนาและปูพื้นฐานด้านความคิด เราเลยอยากชวนทุกคนมาคุยเรื่องนี้ กับ ‘อาจารย์พิพัฒน์ สุยะ’ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ เอกปรัชญา มหาวิทยาลัยศิลปากร
ทำไมถึงควรเรียนปรัชญาตั้งแต่เด็ก?
ตัววิชาปรัชญา มีลักษณะเด่นตรงที่เป็นวิชาที่เกี่ยวกับการคิด ที่ครุ่นคิดเกี่ยวกับการคิด (thinking about thinking) อีกทีหนึ่ง เพราะฉะนั้นเนี่ย เราอาจจะเห็นว่าวิชาอื่นก็คิดด้วย แต่ไม่ค่อยมีวิชาที่มานั่งคิดเกี่ยวกับการคิดอย่างจริงจังเหมือนปรัชญา ดังนั้น เวลาเราพูดถึงตัววิชาปรัชญา ลักษณะสำคัญอันนี้แหละ ที่มันจะทำให้เราพัฒนาการคิด หรือแม้กระทั่งหันมามองความคิดอย่างรอบด้านได้ มันก็เป็นหน้าที่ของตัวปรัชญาเลย
เพราะเวลาเราคิดเกี่ยวกับการคิด สิ่งที่ได้ผลลัพธ์ออกมาก็คือตัวความคิด หรือในทางปรัชญาเรียกว่ามันผลิตซ้ำความคิดขึ้นมา หรือเรียกว่า Further Philosophy ดังนั้นแล้ว มันก็เลยเป็นเนื้อหาในส่วนความคิดของมนุษย์ เป็นการคิดเกี่ยวกับความคิดของมนุษย์
คราวนี้ถามว่าทำไมควรเรียนตั้งแต่เด็ก จริงๆ มันก็ยังมีข้อถกเถียงอยู่ ว่าจริงๆ แล้ว ควรเรียนปรัชญาตั้งแต่เด็กไหม? ตอนนี้ก็ยังไม่ได้เห็นพ้องต้องกันทั้งหมด เพราะบางพวกก็ยังเห็นว่า การพัฒนาทางด้านสติปัญญา การรู้คิด Cognitive Development มันยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ ยังไม่พร้อมจะเรียนปรัชญา ก็มี แต่อีกพวกหนึ่งก็บอกว่า ทำไมเราไม่เคยตั้งคำถามแบบนี้กับวิชาอื่นบ้าง ว่าวิชานี้ไม่ควรเรียนตั้งแต่เด็กหรือเปล่า ทั้งที่จริงแล้ว คนที่สนับสนุนว่าควรเรียนตั้งแต่เด็กเนี่ย เขาก็บอกว่า Cognitive Development มันก็ค่อยๆพัฒนา เรียนรู้กันได้
การบอกว่าเด็กยังไม่มีความพร้อมทางด้านสติปัญญา
จึงเป็นเพียงความเห็นของนักจิตวิทยาบางคนแค่นั้นเอง
อย่างเราไปดูเนื้อหาของฟิสิกส์ แน่นอนว่าเราไม่ได้ให้เด็กอนุบาลเรียน กลศาสตร์ควอนตัม (Quantum Mechanics) มันมีลำดับขั้นของมัน ดังนั้น ตัวของปรัชญาสำหรับเด็กหรือปรัชญาที่เราต้องการให้เด็กเรียนรู้ มันก็เป็นไปได้
ที่เรากำลังพูดอยู่นี้ มันก็เป็นความสนใจอย่างหนึ่งของปรัชญาในยุคหลังๆ มานี้ เรียกว่าเป็น Philosophy for Children ปรัชญาสำหรับเด็ก จุดเริ่มต้นที่ Matthew Lipman (แมทธิว ลิปแมน) ในยุคประมาณ ค.ศ. 1968 ในประเทศไทยก็มีกลุ่มที่สนใจและผลักดันเรื่องนี้จริงจัง ก็คือ Thai p4c โดยท่านอาจารย์สิริเพ็ญ พิริยจิตรกรกิจและคณะ กลับมาที่ลิปแมน เขาเห็นว่าในขณะที่มีข้อถกเถียงเรื่องสงครามเวียดนาม พบว่าคนที่มาถกเถียง ให้ความคิดเห็นแย่ๆ มันน่าประหลาดมากที่คนเหล่านี้ก็ได้รับการศึกษา ทั้งที่ในระดับมหาวิทยาลัย ก็มีการเรียนการใช้เหตุผล บวกกับการสอนมาหลายสิบปีของเขา พบว่า แม้จะมีวิชาเหล่านี้แต่นักศึกษาก็ยังใช้เหตุผลได้ไม่ค่อยดีนัก ถ้าอย่างนั้น อาจจะต้องเริ่มที่ระดับเด็กหรือเยาวชนเลยหรือเปล่า ถึงจะพัฒนาวิธีคิดทางปรัชญาได้ ก็คิดว่าประเด็นนี้น่าสนใจ เพราะปกติเรามักจะคิดว่า ปรัชญามันเป็นเรื่องยุ่งยาก ซับซ้อน เด็กอาจจะเรียนไม่ได้
อีกอย่างคือ เป็นความห่วงใยที่ไม่รู้เรียกหวังดีประสงค์ร้ายหรือเปล่า ที่กลัวว่าเรียนไปแล้วสังคมจะวุ่นวายหรือเปล่า เพราะพวกนี้จะกลายมาเป็น วิมตินิยม (Skepticism) หรือเปล่า มาตั้งคำถามหรือสงสัยไปทุกอย่าง อะไรพวกนี้
จริงๆ มันก็มีคำพูดหนึ่งของสปิโนซา (Baruch Spinoza)ที่สะท้อนเรื่องนี้ได้ดีว่า “ผมไม่รู้จะสอนปรัชญาอย่างไร โดยที่ไม่กลายเป็นพวกก่อกวนความสงบ” ปรัชญามันชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้อย่างอื่น เลยอาจจะต้องรบกวนมาตรฐาน คุณค่า อะไรบางอย่างของสังคม ปรัชญาก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นทั้งหมด ถึงเป็นมันก็ไม่ได้เสียหายหรือเปล่า
โดยสรุป ปรัชญามันเป็นวิชาที่พูดถึงความคิด เกี่ยวกับการคิด และมันจะกลายเป็นทักษะ มันจึงจำเป็นจะต้องทำบ่อยๆ ถึงจะติดตัวไป และพัฒนาการของเด็ก ก็สามารถสอดรับกับความคิดทางปรัชญาบางอย่างได้
หากเด็กได้เรียนปรัชญา จะช่วยพัฒนาทักษะด้านไหน?
ปรัชญาสำหรับเด็ก มีสิ่งหนึ่งที่เราได้ยินกันบ่อยๆ คือ Critical Thinking การคิดเชิงวิพากษ์ แต่พอแปลแล้วอาจจะชวนให้เข้าใจผิดว่ามันเหมือนเราจะไปจับผิด มันไม่เหมือนเราตรวจทานหนังสือหรือวิจารณ์หนัง อะไรพวกนี้ แต่วิพากษ์วิจารณ์ในที่นี้ มันสร้างความชัดเจนในการตัดสินความเชื่อ ความรู้ อะไรบางอย่าง โดยที่อาจจะมีกระบวนการใช้เหตุผล ตรรกวิทยา มาร่วมด้วย
อันที่สอง คือ Caring Thinking บางคนก็แปลว่า การคิดแบบอาทร การคิดแบบรู้สึกนึกคิดกับผู้อื่น ห่วงใยผู้อื่น เวลาเราเรียนรู้หรือทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นหรือความคิดอื่นๆ ตัวปรัชญาจะหาความชัดเจนให้กับประเด็นนั้น เกิดมุมมองในเรื่องนั้นให้ครอบคลุมที่สุด พอเราเรียนรู้แบบนั้น เราก็รับรู้ร่วมกัน ไม่ใช่แค่ความห่วงใย การเคารพ นับถือผู้อื่น (respect) มองผู้อื่นเท่ากันกับเรา ยอมรับความเห็นต่างหรือที่เราเรียกว่าขันติธรรม (tolerance) หลากหลายได้ ทั้งหมดทั้งมวลเป็น Caring Thinking หมดเลย เพราะเราพยายามคิดในฐานที่ เขาให้เหตุผล จากมุมมองของเขา มันเป็นอย่างไร
ถัดจากนั้น คือ Creative Thinking ความคิดสร้างสรรค์ ปกติเราจะคิดว่าความคิดสร้างสรรค์จะมาจากพวกงานศิลปะ แต่ปรัชญา เวลามันสร้างข้อถกเถียง มันพูดถึงความเป็นไปได้อื่นๆ แน่นอน ความหลากหลายย่อมตามมา มันไม่ได้จำกัดขอบเขตอยู่แค่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง อย่างเช่น ความดี ต้องดีตามหลักศาสนาเท่านั้นหรือเปล่า ซึ่งก็คงไม่ใช่ มันจึงเปิดโอกาสให้เราเห็นความหลากหลาย กลายเป็นสิ่งใหม่ได้ ความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้ มันก็จะเติบโตขึ้นมา พร้อมกับข้อถกเถียงต่างๆ ความหลากหลายต่างๆ
ถ้าเริ่มต้นให้เด็กๆ ได้เรียน วิชาไหนที่ไม่ยากเกินไปสำหรับเด็ก?
ในกลุ่มของ Philosophy for Children จริงๆ แล้วอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นวิชาใดวิชาหนึ่ง อย่างไม่จำเป็นต้องเป็นอภิปรัชญา ญาณวิทยา หรือจริยศาสตร์ แต่ว่าเป็นเนื้อหาที่สร้างขึ้นมาใหม่ เน้นไปที่กระบวนการสืบสอบทางปรัชญา (Philosophical Inquiry) อาจประกอบไปด้วย ตรรกวิทยา การใช้เหตุผล แต่ทีนี้ก็ยังมีข้อถกเถียงอยู่ว่า วิธีการกับเนื้อหาแยกกันได้ไหม? เพราะบางคนก็บอกว่า เรียนวิธีการนี้เลย เนื้อหาอย่างอื่นก็ไม่จำเป็นต้องมีวิชาปรัชญาโดยเฉพาะ แต่หลังๆ ก็มีคนเสนอว่า มันแยกวิธีการกับเนื้อหาออกจากกันไม่ได้ ถ้าเป็นวิธีการอย่างเดียวมันจะไม่ต่อยอดหรือนำไปสู่เนื้อหา ข้อถกเถียงอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์
ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ Philosophical Inquiry แต่เนื้อหาต้องเอื้อให้ใช้วิธีการนี้ด้วย ไม่ใช่ว่าเราใช้วิธีการนี้กับวิชาอื่นแล้วจบอยู่แค่นั้น เพราะ Philosophical Inquiry อาจสนใจเรื่องความกระจ่างชัด ความชัดเจน ความเป็นไปได้ หรือแม้กระทั่งการหาสมมติฐานที่อยู่เบื้องหลัง มันจะนำไปสู่เรื่องอื่นทางปรัชญาได้
ในระดับนี้ อาจจะยังไม่ต้องมีวิชาเฉพาะ อย่างอภิปรัชญา ญาณวิทยา หรือไม่จำเป็นต้องอ่านตัวบทหรือเนื้อหาทั้งหมดของนักปรัชญาคนใดคนหนึ่ง เราเรียนปรัชญาโดยที่ไม่ต้องพูดถึงชื่อนักปรัชญาเลยก็ได้ อาจเอาความคิดหรือวิธีการของเขามาทดลองใช้ ในชีวิตประจำวันหรือเรื่องตัวอย่างก็ได้
เรียนปรัชญาตอนมหาวิทยาลัย สายเกินไปหรือเปล่า?
ไม่รู้ว่าจะเรียกสายเกินไปได้หรือเปล่า แต่ลึกๆ ของคนที่พัฒนาปรัชญาสำหรับเด็กและเยาวชนมา เขาก็คงคิดว่าสายเกินไป เพราะขนาดเรียนในระดับมหาวิทยาลัย การใช้เหตุผลยังใช้ได้ไม่ดีเลย เลยพยายามเอาวิธีการ เนื้อหา มาปูพื้นฐานตั้งแต่เด็ก แต่ว่าสำหรับผม ผมคิดว่า สำหรับสังคมไทย ไม่รู้เรียกสายไม่สาย แต่มันมีโอกาสเรียนก็ดีมากแล้ว เราถูกกีดกันจากตัวหลักสูตร หน่วยงานราชการบางส่วน ที่มองไม่เห็นคุณค่าของตัวปรัชญา อย่างนิติศาสตร์บางแห่ง ระดับปริญญาตรี ไม่ได้เรียนตรรกวิทยา มันเป็นไปได้ไง ไปตัดสินคดีความ มันเลยไม่น่าแปลกใจที่เราก็ได้เห็นปัญหาอย่างที่สังคมไทยต้องเจออยู่ทุกวันนี้