เรียนออนไลน์เป็นยังไงบ้าง? .. คำถามที่ได้ยินกันมานับตั้งแต่ที่ COVID-19 ระบาดในปีก่อน แต่พอเปิดปีใหม่มาก็มีคำสั่งให้ปิดโรงเรียนไปถึงสิ้นเดือน แล้วให้นักเรียนย้ายไปเรียนกันผ่านช่องทางออนไลน์กันแทน (อีกแล้ว)
พอต้องเรียนออนไลน์ ปัญหาเดิมๆ ก็วนเวียนกลับมาหาหลายคน ทั้งเรื่องไม่มีสมาธิในการเรียน ฟังครูสอนไม่ทัน ไม่ได้เรียนภาคปฏิบัติ ไปจนถึงปัญหาการเข้าถึงอุปกรณ์การเรียน ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต
The MATTER ขอพาทุกคนมาดูปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และวนกลับมาอีกครั้ง หลังต้องย้ายห้องเรียนไปอยู่บนโลกออนไลน์กัน รวมถึงขอชวนทุกคนมาร่วมกันแชร์ประสบการณ์การเรียนออนไลน์ที่พบเจอกัน
1. ไม่มีสมาธิในการเรียน ปัญหาคลาสสิกของการเรียนที่ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับผู้สอน และอยู่ในบรรยากาศที่ผู้เรียนต้องขุดความกระตือรือร้นมาใช้สูง ทำให้หลายคนไม่มีสมาธิในการเรียน ยิ่งในกลุ่มเด็กเล็ก การจดจ่ออยู่กับหน้าจอยิ่งเป็นเรื่องที่ยากเข้าไปใหญ่
2. เรียนตามไม่ทัน พอต้องเพ่งสมาธิไปที่หน้าจอนานๆ ก็ยากที่จะจดจ่อได้ตลอดทั้งชั่วโมงเรียน แล้วพอหลุดไปบ้าง ก็กลายเป็นว่า ฟังไม่ทันซะแล้ว จุดนี้เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่นักเรียนหลายคนบ่นถึง เพราะบางที บรรยากาศการสอนออนไลน์ก็ไม่เอื้อให้สอบถามข้อสงสัยระหว่างเรียนจากคุณครู หรือเพื่อนที่นั่งอยู่ข้างๆ ได้แบบที่เรียนในห้องเรียน หลายคนจึงตามสิ่งที่ครูสอนทางออนไลน์ไม่ทัน และต้องมาตามสรุปข้อมูลเองทีหลัง
3. ไม่มีอุปกรณ์ในการเรียน หรืออุปกรณ์ไม่เพียงพอ แน่นอนว่า ไม่ใช่ทุกบ้านที่จะมีอุปกรณ์พร้อมสำหรับการเรียนออนไลน์ หรือบางบ้านมีเด็กที่ต้องเข้าเรียนออนไลน์มากกว่า 1 คน ก็ต้องอาศัยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากกว่า 1 เครื่อง นี่เป็นปัญหาใหญ่ที่หลายคนต้องเผชิญ และยังไม่มีการแก้ไขนับตั้งแต่ที่เผชิญปัญหากันไปในการเรียนออนไลน์ครั้งก่อน
4. สัญญาณอินเตอร์เน็ตไม่ดี ขึ้นชื่อว่าเรียนออนไลน์ สัญญาณอินเตอร์เน็ตก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยหลายห้องเรียนจะโปรแกรมสำหรับการประชุมเพื่อการเรียนการสอน แต่ปัญหาก็คือ โปรแกรมเหล่านี้ต้องใช้อินเตอร์เน็ตค่อนข้างเยอะ หลายคนจึงต้องใช้โปรอินเตอร์เน็ตที่มีราคาสูงตามมา แต่ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ก็ใช่ว่าทุกบ้านจะรับไหว ทำให้มีเด็กๆ อีกหลายคนต้องประสบปัญหากับการไม่มีอินเตอร์เน็ตใช้สำหรับเรียนออนไลน์
สำหรับประเด็นในข้อ 3 และ 4 นี้ อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกล่าวว่า กำลังประชุมเพื่อหาแนวนโยบายร่วมกับผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ โดยจะมีการสอนเสริมให้นักเรียนกลุ่มที่ไม่มีความพร้อมในด้านอุปกรณ์เพิ่มเติม แต่ก็ต้องรอฟังผลการประชุมเพื่อความชัดเจนอีกที
5. เจอปัญหาทางเทคนิคกับระบบหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียน แม้ว่าบางคนจะมีอุปกรณ์ครบครันสำหรับการเรียนการสอนทางออนไลน์ แต่ก็ยังอาจพบเจอปัญหาทางเทคนิคกับระบบหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียน เช่น ใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์นานเกินไป จนเครื่องกระตุก ค้าง หรือบางทีก็เจอปัญหากับโปรแกรมที่ใช้จนขาดความต่อเนื่องในการเรียน และทำให้ประสิทธิภาพในการเรียนลดลงไปด้วย
6. ครูแจกจ่ายงานให้เยอะกว่าปกติ เมื่อต้องสอนกันทางไกล คุณครูก็พยายามแจกจ่ายงานเพื่อให้เด็กๆ ได้รับความรู้ให้มากที่สุด แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ เหล่านักเรียนต้องรับภาระงานจากหลากหลายวิชาจนกลายเป็นว่า งานล้มมือ และเหนื่อยกว่าเดิม ซึ่งจุดนี้ก็มีครูอีกหลายคนที่เข้าใจ และพยายามหาทางแก้ไขกันอยู่
7. เรียนวิชาที่ต้องฝึกปฏิบัติไม่ได้เต็มที่ ปกติแล้วเราไม่ได้เรียนกันแต่วิชาภาคทฤษฎีเท่านั้น แต่วิชาภาคปฏิบัติต่างๆ ตั้งแต่พลศึกษา การเกษตร ไปจนถึงการทดลองทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ ก็ต้องกลายเป็นเรื่องที่ยากขึ้นสำหรับการเรียนออนไลน์ เพราะเราคงไม่ได้มีถ้วยบีกเกอร์สำหรับกรองสารติดบ้านเอาไว้ หรือหลายคนก็ไม่ได้มีสระว่ายน้ำส่วนตัวในบ้าน กลายเป็นว่า ครูต้องทำการแสดงสมมติเอาเองว่ากำลังว่ายน้ำอยู่ ดังนั้น การเรียนวิชาที่ต้องฝึกในห้องเรียนออนไลน์นั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
8. เด็กเล็กไม่มีคนดูแล อีกหนึ่งปัญหา (เดิม) ที่หลายคนเคยพูดถึงกันไปแล้ว ตั้งแต่การเรียนออนไลน์ครั้งก่อน เพราะการต้องใช้สมาธิผ่านหน้าจอนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ สำหรับเด็กเล็กเลย ยิ่งกว่านั้น เด็กในวัยนี้ยังต้องการคนดูแลเป็นพิเศษ แต่ผู้ปกครองหลายคนก็ไม่สะดวกที่จะต้องดูแลเด็กๆ แบบ 24 ชั่วโมง ดังนั้น ปัญหาเรื่องเด็กเล็กไม่มีคนดูแลเมื่อต้องเรียนออนไลน์ จึงวนเวียนกลับมาอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี โรงเรียนในหลายประเทศก็ต้องปิดลงเพื่อป้องกันการระบาดเช่นกัน อย่างตอนนี้ สหราชอาณาจักรเองก็ต้องเพิ่งประกาศปิดโรงเรียนไป หลังการแพร่ระบาดยังคงพุ่งสูงขึ้น ซึ่งก็ทำให้เกิดข้อถกเถียงว่า ควรปิดโรงเรียนจริงหรือ? เพราะการปิดเรียนส่งผลกระทบหลายอย่างกับเด็กๆ เป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายที่ยังมองว่า โรงเรียนไม่ใช่จุดที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดขนาดหนักได้ เพราะเด็กที่อายุต่ำกว่า 12-14 ปี ติดเชื้อได้ยากกว่าผู้ใหญ่ และหากติดเชื้อก็เป็นกลุ่มที่แพร่เชื้อได้ยากกว่าผู้ใหญ่ แต่ก็มีอีกหลายคนที่มองว่า ควรปิดโรงเรียนและหาทางปรับให้การเรียนการสอนออนไลน์ทำได้จริงมากกว่า
ขณะที่ ในระดับอุดมศึกษาก็มีปัญหาเรื่องการคืนค่าเทอม หรือการช่วยเหลือนักศึกษาที่หลายคนมองว่า มหาวิทยาลัยจำนวนมากในไทยยังไม่สามารถช่วยเหลือหรือหาแนวทางแก้ปัญหาที่ดีให้กับพวกเขาได้เสียที
อ้างอิงเพิ่มเติมจาก