อาจฟังดูเหมือนเป็นการด่วนตัดสิน แต่ทันทีที่เห็น วรรณกรรมดำดิ่ง หนังสือรวมบทวิจารณ์คัดสรรวางอยู่บนชั้นหนังสือออกใหม่ ผมก็ตั้งคำถามขึ้นภายในว่า ยังมีพื้นที่ให้กับการวิจารณ์อีกหรือ
เปล่า ผมไม่ได้หมายความว่างานวิจารณ์ตายแล้ว งานวิจารณ์ยังมีอยู่ และยังมีในปริมาณพอสมควร การเกิดใหม่ของเพจเฟซบุ๊ก หรือการพูดถึงภาพยนตร์ หนังสือ ดนตรี ฯลฯ ตามโซเชียลมีเดียต่างๆ ทำให้ผมคิดเช่นนั้น
สิ่งที่ผมสงสัยคือพื้นที่ของการวิจารณ์แบบ ‘ดำดิ่ง’ มากกว่า
จิรัฏฐ์ เฉลิมแสนยากร ผู้เขียนหนังสือเล่มดังกล่าวที่ควบบทบาทเป็นทั้งบรรณาธิการ นักเขียนวรรณกรรม (ภายใต้นามปากกา สมุด ทีทรรศน์) กรรมการสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ รวมถึงเจ้าของรางวัลบทวิจารณ์วรรณกรรมของกองทุนหม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ พ.ศ.2552 พ.ศ.2556 และ พ.ศ.2560 อธิบายความหมายของการดำดิ่งไว้ว่า
“การอ่านที่ชวนให้เครียดหนักและจริงจังเกินไปต่อการอ่าน ดูห่างเหินจากจุดหมายของวรรณกรรมที่มีพื้นฐานคือการให้ความบันเทิง อาจเรียกได้ว่าการอ่านลักษณะนี้คือการเข้าไปวิเคราะห์ตัวบทวรรณกรรมเพื่อเจาะสำรวจตัวบทในเชิงลึกซึ่งทับถมความหมายและนัยอยู่หลายชั้น…”
ฟังดูจริงจังใช่มั้ยครับ ยังไม่พอ จิรัฏฐ์เขียนบทวิจารณ์จากงานวรรณกรรมที่ตัวเขาบอกว่าเป็น ‘รูปแบบเดิม’ คือมีตัวอักษรเต็มหน้ากระดาษ ใช้ภาษาไม่ประนีประนอมกับยุคสมัย โดยเรื่องที่คัดสรรมานั้น มีตั้งแต่ทศวรรษ 2480 จนถึงปัจจุบัน
คงเพราะเหตุนี้ เมื่อเห็นงานเขียนซึ่งคล้ายว่าจะหาอ่านได้แต่ตามวารสารวิชาการ ไม่มีการให้คะแนนแบบ 10 เต็ม 10 เช่นการรีวิวสมัยนี้นิยมทำกัน ผมจึงแปลกใจ…
แปลกใจที่ยังมีการตีพิมพ์งานวิจารณ์อย่างจริงจัง และแปลกใจที่เป็นการวิจารณ์เฉพาะวรรณกรรมไทย เพราะทั้งงานวิจารณ์และวรรณกรรมไทยเป็นสองสิ่งที่คล้ายว่าจะหากลุ่มคนอ่านได้ยากเหลือเกินในทุกวันนี้
การปรากฏตัวของ วรรณกรรมดำดิ่ง จึงทำให้เกิดคำถามถึงพื้นที่ของการวิจารณ์อันเข้มข้น
ไม่ใช่แค่เรื่องว่ายังมีที่ยืนให้กับงานประเภทนี้เพียงอย่างเดียว หากยังรวมถึงความสงสัยที่ว่า การวิจารณ์สำคัญอย่างไร ทำไมเราต้องอ่านงานวิจารณ์
และทำไมต้องเขียนงานวิจารณ์แบบดำดิ่งด้วย
คุณเริ่มต้นการวิจารณ์ได้อย่างไร
เราไม่เคยคิดว่าจะมาเป็นนักวิจารณ์ เพียงแต่หลังเรียนจบปริญญาตรี เรารวมกลุ่มกับเพื่อนเขียนเรื่องสั้นให้กันอ่าน แล้วหนึ่งในนั้นบอกว่าลองเขียนบทวิจารณ์ดูบ้างไหม วิจารณ์เรื่องสั้นที่เขียนกันเองนี่แหละ หรือจะวิจารณ์หนังสือเล่มอื่นก็ได้ เราก็สนใจ เพราะเคยอ่านงานวิจารณ์วรรณกรรมของอาจารย์นพพร ประชากุล กับอาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ มาก่อน เพียงแต่ก่อนหน้านั้น เราอ่านเพราะจะเอาเทคนิคมาใช้กับการเขียน ไม่ได้คิดว่าอ่านเพื่อจะเอามาเป็นนักวิจารณ์
ผลงานวิจารณ์ชิ้นแรกของเราคือการวิจารณ์เรื่อง ที่อื่น (รวมเรื่องสั้นของ กิตติพล สรัคคานนท์) เขียนไปเล่นๆ ประมาณ 6–7 หน้า A4 ไม่มีทฤษฎีอะไรเลย สักพักน้องในกลุ่มก็บอกว่ากองทุนหม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ กำลังจัดประกวดบทวิจารณ์วรรณกรรม น่าจะลองส่งไปดู เราส่งไปแบบไม่ได้คิดอะไร ปรากฏว่าได้รางวัลชนะเลิศ
การได้รางวัลทำให้เราคิดว่าสามารถขยับขยายวิธีการเขียนของตัวเองต่อไปได้ ก็เริ่มไปสนใจหนังสือวิชาการ หนังสือวรรณกรรมวิจารณ์ยิ่งกว่าเดิม แต่วิธีการเขียนในช่วงนั้นของเราก็มาจากการครูพักลักจำ คืออ่านของคนอื่นมา โดยเฉพาะอาจารย์นพพรที่จะมีทฤษฎีเยอะแยะมากมายให้เราตื่นตาตื่นใจ ซึ่งพอศึกษาหรือค้นหาไปถึงจุดหนึ่งก็พบว่าไม่สามารถหาอ่านงานเขียนที่มีทฤษฎีอะไรแบบนี้ได้อีกแล้ว เลยคิดว่าต้องไปเรียน
เราเลือกเรียนปริญญาโทด้านวรรณคดีเปรียบเทียบ เป็นการเรียนที่ทำให้ได้รู้จักทฤษฎีมากมาย เพราะเรียนกันหนึ่งปีเต็มๆ ไล่ไปตั้งแต่ยุคกรีก จิตวิเคราะห์ของซิกมุนด์ ฟรอยด์ โพสต์โคโลเนียล โพสต์โมเดิร์น
ทำไมคุณถึงเจาะจงวิจารณ์วรรณกรรมไทย
เป็นความสนใจของเราเอง เพราะเอาเข้าจริง การเรียนวรรณคดีเปรียบเทียบทำให้เห็นว่า วิธีการอ่านวรรณกรรมสามารถเอาไปอ่านอย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์หรือเพลงได้ด้วย บังเอิญว่าเราอินกับวรรณกรรมไทย เรารู้สึกว่าอยู่กับมันได้ คิดวิเคราะห์กับมันได้ เราเข้าใจโครงสร้าง เข้าใจภาษา หรือวิธีคิดของนักเขียนประมาณหนึ่ง
คุณสนใจวรรณกรรมไทยตั้งแต่ตอนไหน
ม.ปลาย แต่ก่อนหน้านั้นเราก็เหมือนเด็กทั่วไปที่อ่านวรรณกรรมแฟนตาซี แค่วันหนึ่งเราไม่สนุกกับวรรณกรรมพวกนั้นแล้ว ไปร้านหนังสือแล้วเจอ นครไม่เป็นไร ของ ชาติ กอบจิตติ ซึ่งไม่รู้เลยว่าเขาคือใคร เห็นว่าเล่มบางๆ เลยซื้อมาอ่าน ปรากฏว่าเรื่องเล่าของน้าชาติทำให้เราหลุดไปอีกโลกหนึ่งเหมือนกัน เป็นโลกคนละแบบกับแฟนตาซี เป็นโลกที่ค่อนข้างสมจริงแล้วก็เห็นภาพ
จากนั้นเราก็ไปหางานของน้าชาติมาอ่านต่อ เขาพูดถึงใคร เราก็ไปอ่านตาม สักพักหนึ่งก็ไปเจอชั้นหนังสือของอาที่อ่านหนังสือแนวๆ นี้เหมือนกัน เราหยิบหนังสือเล่มหนึ่งของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ มาอ่าน แล้วก็แบบอะไรวะเนี่ย (หัวเราะ) คือภาษาของอาว์รงค์จะมีการใช้คำที่คนละเรื่องกับน้าชาติ เราก็เลยไม่อ่านต่อ แต่หลังจากนั้นก็เหมือนติดค้างในใจ คิดว่าต้องต่อสู้กับพื้นที่ใหม่ๆ ก็กลับไปอ่านงานของอาว์รงค์อีกครั้ง ทีนี้ติดเลย อ่านจนรู้ทาง รู้วิธีการคิด รู้ภาษาที่เขาใช้ กลายเป็นคล้ายๆ แฟนคลับ เขียนจดหมายไปหา ผ่านไปหลายปีเหมือนกัน แกก็โทรมาว่าได้รับจดหมายแล้ว หลังจากนั้นเรามีโอกาสได้ขึ้นไปพบอาว์รงค์ที่สวนทูนอิน (จังหวัดเชียงใหม่) เลยยิ่งอินไปกว่าเดิม หลงอยู่ในโลกของวรรณกรรมไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
เมื่อไหร่ที่คุณเริ่มเขียนวิจารณ์แบบดำดิ่ง
ตอนแรกเราอ่านและเขียนแบบไม่มีทิศทางอะไร ส่วนใหญ่จะเป็นไปในเชิงคิดยังไง รู้สึกยังไง ดูโครงเรื่อง ดูแก่นเรื่อง ดูประเด็นที่เขานำเสนอ แล้วก็ดูตัวละคร แต่พอเริ่มเรียนปริญญาโทด้านวรรณคดีเปรียบเทียบ ก็จะเห็นว่าการอ่านและการเขียนงานวิจารณ์มีอะไรมากกว่านั้น
แต่ก่อนการวิจารณ์จะตั้งคำถามเรื่องคุณค่าของหนังสือว่าเล่มนี้มีคุณค่าอะไร หรือจะมีการตัดสินเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่พอเราศึกษาในเชิงวรรณคดีเปรียบเทียบ การตั้งคำถามจะเป็นไปในทำนองว่าทำไมหนังสือเล่มนี้ถึงเกิดขึ้นมา มันเกิดขึ้นมาในยุคไหน ช่วงเวลาไหน
การตั้งคำถามเช่นนี้ทำให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรมน้ำเน่าหรือวรรณกรรมสร้างสรรค์ ทุกอย่างมีเงื่อนไขในการเกิดขึ้น ก็เลยนำไปสู่การคิดและเขียนแบบดำดิ่งที่ยิ่งลึกเท่าไหร่ งานวิจารณ์ใน วรรณกรรมดำดิ่ง ก็จะยิ่งมีความแตกต่างจากงานวิจารณ์ที่ผู้คนเห็นในปัจจุบันเท่านั้น
เวลาจะเขียนวิจารณ์หนังสือเล่มหนึ่งเราเลยต้องตั้งคำถามว่าทำไมมันถึงเกิดขึ้น ทำไมมันถึงดัง ทำไมมันถึงไม่ดัง ทำไมมันพูดถึงการเมือง ทำไมมันไม่พูดถึงการเมือง แถมยังต้องย้อนไปดูบริบทช่วงที่มันเกิดขึ้นด้วย
ทำไมคุณถึงเลือกเขียนวิจารณ์ในรูปแบบนี้ เป็นเรื่องที่สนุกหรือมีความสำคัญอย่างไร
สำหรับเราเป็นเรื่องสนุก ความสนุกอยู่ตรงที่ได้ขบคิด ตามหาความหมายบางอย่าง หรือการพยายามถอดรหัสของวรรณกรรม คล้ายกับการสืบหาร่องรอยที่คนเขียนทิ้งไว้ แล้วก็พยายามหาเหตุผล หาหลักฐานเพื่ออธิบายให้คนอื่นๆ เข้าใจตามเราไปด้วย มันเป็นความสนุกอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นความสนุกที่นอกเหนือจากอ่านวรรณกรรมแล้วหัวเราะหรือร้องไห้ ซึ่งเราก็เป็น เราชอบอ่านนวนิยายที่ทำให้เรารู้สึกก่อนเป็นอันดับแรก ส่วนการวิจารณ์เป็นอีกหนึ่งความสนุกที่ต่างออกไป
เราว่าการวิจารณ์แบบนี้ก็น่าจะสำคัญ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของคนที่ชอบอ่านวรรณกรรม เขาอาจจะอยากหา บทวิจารณ์ที่ลึกขึ้นเพื่อเติมเต็มความหมายอะไรบางอย่างหลังอ่านวรรณกรรมเรื่องหนึ่งจบลงก็ได้ ถือว่าเป็นอีกรสชาติหนึ่งของการอ่าน
ทำไมเราถึงควรอ่านงานที่เครียดหนักและจริงจังอย่างการวิจารณ์แบบดำดิ่ง
เป็นธรรมดาที่อารมณ์ความสุข ความสนุกสนาน จะเข้าถึงได้ง่ายและเป็นมิตรกว่า เราเองก็ชอบอะไรที่ทำให้มีความสุข ความสบาย อ่านง่ายๆ เพราะชีวิตเราก็เครียดและทุกข์กันมาพอแล้ว แต่ในบางเวลา และในฐานะที่เราสวมบทบาทนักวิจารณ์ ลึกๆ แล้วเราต้องนำเสนอแง่มุมที่ต่างออกไปจากชีวิตที่เราคุ้นเคยบ้าง เราควรจะชี้ให้เห็นหรือตั้งคำถามกับบางสิ่งบางอย่างในวรรณกรรมบ้าง บางทีความสุขหรือความสนุกก็ถูกตั้งคำถามบ้างได้มั้ย นี่คงทำให้วงแตกและหมดสนุกไปได้ จากที่วิ่งอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์อาจเป็นแค่มายาภาพ
เราว่าบทวิจารณ์ที่เข้มข้นจริงจัง ถ้าอ่านดีๆ มันคือการบอกถึงวิธีการคิดหรือวิธีการอ่านด้วย ซึ่งวิธีการคิดหรือวิธีการอ่านนี่เอง ที่จะนำไปใช้ในการอ่านอะไรได้อีกมากมาย ไม่จำกัดเฉพาะวรรณกรรม
เราอาจจะบอกไม่ได้ว่า ควรหรือไม่ควรที่จะเครียดหรือจริงจังกับการอ่าน บางคนอ่านวรรณกรรมสักเรื่องหนึ่งแบบไม่ต้องคิดอะไรเลยก็ได้ แต่ทำให้ชีวิตเขาดำเนินต่อไปได้ หรือได้มุมมองใหม่ สายตาใหม่จากวรรณกรรมเล่มนั้นไปแล้ว บทวิจารณ์เครียดๆ หนักๆ อย่างการอ่านแบบดำดิ่ง ก็ไม่จำเป็นสำหรับเขา
เคยวิจารณ์แล้วถูกมองว่าอ่านผิดหรืออ่านถูกบ้างมั้ย
การอ่านผิดหรืออ่านถูกนี่แหละที่เป็นปัญหาของการวิจารณ์ เพราะยังมีนักวิจารณ์หลายคนที่มองว่าการอ่านแบบใช้ทฤษฎีหรือการอ่านแบบใช้วรรณคดีเปรียบเทียบทำให้ผู้วิจารณ์อ่านผิด ซึ่งการที่ใครสักคนบอกว่านักวิจารณ์คนนี้อ่านผิดหรืออ่านถูก แปลว่าเขามีสมมติฐานอยู่ในใจว่าวรรณกรรมเรื่องนั้นมีแก่นอะไรบางอย่างที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอ และนักวิจารณ์ต้องไปให้ถึงจุดนั้น แต่คำถามคือ แล้วนักวิจารณ์จะไปเล่าซ้ำกับนักเขียนทำไม
เราคิดว่าการวิจารณ์ที่นำไปสู่แก่นเรื่องหรือประเด็นเหล่านั้นมันคือการวิเคราะห์ เราเลยเขียนวิจารณ์ด้วยการตั้งคำถามว่าทำไมนักเขียนถึงนำเสนอสารนั้นขึ้นมา แล้วสารนั้นมีประเด็นทางการเมืองหรือสังคม เราสนใจสิ่งเหล่านี้มากกว่าการอ่านผิดหรืออ่านถูก เพราะการวิเคราะห์รูปแบบนี้ของนักวิจารณ์จะน่าเชื่อถือหรือหนักแน่นแค่ไหน ก็อยู่ที่ว่านักวิจารณ์คนนั้นใช้เหตุผลมาสนับสนุนมากน้อยเพียงใด หรือถ้าเขาใช้สักทฤษฎีหนึ่งในการวิจารณ์ เขาใช้ทฤษฎีนั้นถูกต้องหรือเปล่า
ในมุมของคนอ่าน จะรู้ได้อย่างไรว่าใช้ทฤษฎีได้ถูกต้อง
อยู่ที่ความสมเหตุสมผลในการใช้ หรือผู้เขียนบทวิจารณ์สามารถอธิบายได้มั้ยว่า ทฤษฎีที่นำมาใช้คืออะไร มีความหมายอย่างไร ทำไมจะต้องนำมาใช้ นำมาใช้แล้วทำให้คนอ่านเห็นอะไรใหม่ๆ หรือแตกต่างมากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ ถ้าผู้วิจารณ์อธิบายจุดนี้ให้เข้าใจชัดเจนแล้ว ต่อไปก็จะต้องดูว่าผู้วิจารณ์นำไปใช้แล้วเข้ากันได้มั้ยกับตัวบท โดยดูการยกตัวอย่างจากตัวบทมาอธิบายประกอบแล้วสมเหตุสมผลมั้ย
คนอ่านต้องลองคิดตามว่า หากเราอ่านบทวิจารณ์จบแล้ว เรารู้สึกว่าความหมายของตัวบทที่ผู้วิจารณ์ชี้ให้เราเห็นนั้น เรารู้หรือเข้าใจความหมายนั้นได้โดยไม่จำเป็นต้องอ้างทฤษฎีหรือเปล่า ถ้าใช่ แสดงว่าเป็นการนำมาใช้เกินความจำเป็น
แล้วในมุมของคนเขียน จะรู้ได้อย่างไรว่าควรใช้ทฤษฎีไหน
อาจต้องเริ่มจากการอ่านทฤษฎี โดยที่ยังไม่ต้องคิดหรอกว่าจะเอาไปใช้ตอนไหน เพราะส่วนใหญ่ถ้ารู้ทฤษฎีแล้ว พอไปอ่านวรรณกรรมก็จะเกิดการเชื่อมโยงขึ้นมาเอง ความยากอยู่ที่ว่าเราจะประยุกต์ใช้ทฤษฎีนั้นยังไงมากกว่า
แบบนี้แปลว่าการวิจารณ์ที่จริงจังควรมีทฤษฎีด้วย?
ไม่จำเป็นหรอก เพียงแต่ทฤษฎีจะเป็นตัวช่วย เป็นเหมือนเครื่องมือที่ช่วยให้เราอ่าน ดู หรือฟังสิ่งนั้นได้สนุกขึ้น เพราะสิ่งสำคัญจริงๆ ก็คือตัวบทอย่างพวกหนังสือ ภาพยนตร์ หรือเพลงต่างๆ
หลักๆ แล้วเราจะให้ความสำคัญกับตัวบทก่อน เพราะเป็นเหมือนขุมทรัพย์ เหมือนแหล่งข้อมูลที่เราจะเข้าไปหา เข้าไปค้น เข้าไปวิเคราะห์ ถ้าเราอ่านหรือมองให้ดีๆ มันก็อาจจะเป็นตัวช่วยให้การใช้ทฤษฎีของเราหนักแน่นขึ้น
ส่วนทฤษฎีจะมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนก็อยู่ที่ว่าเราบอกได้มั้ยว่าทำไมต้องใช้ทฤษฎีนั้น เราต้องตอบคำถามนี้ให้ได้ก่อน คือถ้าบางทีเราอ่านเห็นถึงประเด็นต่างๆ ไม่จำเป็นต้องใช้ทฤษฎีก็ได้
คุณรู้สึกยังไงกับคำพูดที่ว่า นักวิจารณ์ชอบคิดไปเอง
เราคิดว่านั่นคือหน้าที่ของนักวิจารณ์ เพราะบางทีตัวนักเขียนเขาไม่รู้หรอกว่าลึกๆ แล้วตัวเองคิดอะไร หรือได้รับอิทธิพลมาจากเรื่องไหน หน้าที่ของนักวิจารณ์ก็คือไปดูความหมายที่ซ่อนเร้นอยู่ ซึ่งบางครั้งนักเขียนก็อาจได้ประโยชน์จากงานวิจารณ์เหมือนกัน นักเขียนอาจหยิบเอาพวกทฤษฎีหรือแนวคิดที่นักวิจารณ์พูดถึงงานของตัวเองไปใช้พัฒนางานต่อได้
แต่เอาเข้าจริง จะมองว่านักวิจารณ์คิดไปเองก็ได้เหมือนกัน แค่เป็นการคิดไปเองที่มีเหตุมีผล มีอะไรมารองรับ และการคิดไปเองนั้นก็อาจกลายเป็นข้อดีที่ว่า เราสามารถสร้างความหมายใหม่ๆ ให้กับตัวบทนั้นได้ ทำให้ผลงานชิ้นนั้นลุ่มลึก หรือร่ำรวยความหมายมากขึ้นได้
นอกจากเขียนวิจารณ์ คุณก็เขียนเรื่องสั้นไปด้วย อย่างนี้บทบาทของคุณถือว่ากระทบกันเองหรือเปล่า
เราพยายามแยกบทบาท เพราะถ้าเริ่มเขียนเรื่องสั้น วิธีคิดจะต่างไปจากตอนเขียนวิจารณ์เลย
เวลาเขียนเรื่องสั้น เราจะไม่ได้คิดประเด็นให้ชัดเจนมากนัก ไม่ได้คิดว่าทำไมต้องให้ตัวละครนี้ออกมาเยอะๆ เพราะสำหรับเรา เรื่องสั้นหรือวรรณกรรมเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอารมณ์ ความรู้สึก เราไม่ได้คิดถึงเรื่องเหตุผลเท่าไร เราเขียนเพราะมันมีสิ่งมากระทบอารมณ์ของเรา เหมือนเวลาคนเห็นแสงเงาแล้วถ่ายรูปเก็บไว้แหละ เราก็ทำแบบนั้น แค่สิ่งที่เราถ่ายมันออกมาเป็นตัวอักษร เสร็จแล้วก็เก็บไว้โดยไม่รู้หรอกว่าจะเอาฉากนั้นมาใช้เมื่อไร
อย่างตอนเขียนเรื่อง ‘ครอบครัวของมายา’ (หนึ่งในเรื่องสั้นที่อยู่ใน สถานการณ์ยังเป็นปกติ รวมเรื่องสั้นเล่มล่าสุดของเขา) เกิดจากการฟังเรื่องเล่าของเพื่อนที่คนงานหนีออกจากบ้านโดยไม่ได้ทิ้งกุญแจไว้ให้ พอเพื่อนเรางัดประตูเข้าไปก็เห็นว่าในห้องที่รกและเหม็นนั้น มีรูปถ่ายครอบครัวเพื่อนเราติดไว้อยู่ เราฟังแล้วก็คิดว่าเขาคงอยากมีครอบครัว หรือเขาคงอยากเชื่อมโยงอะไรสักอย่างกับครอบครัวของเพื่อนเรา เลยเอาเรื่องนั้นมาคิดต่อ แต่งเรื่องเก็บไว้โดยไม่ได้คิดถึงประเด็นชาติพันธุ์ การอพยพ หรือการเดินทางใดๆ สิ่งเหล่านี้มันมาทีหลัง เพราะเราก็เขียนโดยตั้งใจให้มันมีผลกระทบความรู้สึกก่อน พอกลับมาอ่านอีกครั้งนั่นแหละถึงจะเริ่มมีความสับสวิตช์ไปเป็นนักวิจารณ์ เริ่มคิดว่าจะตบแต่งมันยังไงดี
งานเขียนของคุณโดนวิจารณ์ว่ายังไงบ้าง
มีคนอ่านรวมเรื่องสั้นเล่ม ก่อนความหมายจะหายลับ แล้วบอกว่าเขียนอะไรไม่รู้เรื่อง ไล่ให้ไปส่ง ช่อการะเกด (นิตยสารวรรณกรรมที่รับพิจารณาต้นฉบับ โดยเรื่องไหนได้รับการคัดสรรให้ผ่านการตีพิมพ์ จะถือว่าเป็นเรื่องสั้นที่คนในแวดวงวรรณกรรมให้การยอมรับ) เล่ม สถานการณ์ยังเป็นปกติ ก็มีคนวิจารณ์ว่าอ่านไม่รู้เรื่อง แต่เขาลงท้ายว่าอินมาก ซึ่งถ้ามองในทางทฤษฎี แปลว่ารวมเรื่องสั้นเล่มนี้มันเข้าไปกระทบความรู้สึกของคนได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านเหตุผล (หัวเราะ)
เวลาเขียนงานวิจารณ์ คุณเคยเจอกรณีดราม่าจากนักเขียนเล่มที่คุณเขียนถึงบ้างมั้ย
ด้วยความที่งานวิจารณ์ของเราเป็นงานอีกแบบหนึ่ง ไม่ได้วิจารณ์ตัดสินในเชิงดีหรือไม่ดี เราเข้าไปดูความหมายของเรื่องแล้วก็ตั้งคำถามว่าเรื่องนั้นมีประเด็นอะไรที่ควรมาคิดใคร่ครวญ เราเลยไม่ได้ไปปะทะกับนักเขียนหรือนักวิจารณ์คนอื่น และตอนเริ่มเขียนบทวิจารณ์ก็ไม่ได้คิดถึงผลกระทบที่นักเขียนคนนั้นจะโต้กลับด้วย
ทำไมคุณถึงไม่วิจารณ์เชิงตัดสิน
วรรณกรรมแต่ละเล่มหรือตัวบทอื่นๆ ก็มีเงื่อนไขในการเกิดของมัน ก่อนที่เราจะไปบอกว่างานชิ้นไหนดีหรือไม่ดี มันมีเบื้องหลังอยู่ในนั้นมากมาย
เราคิดว่าการตัดสินว่าดีหรือไม่ดีไม่นำไปสู่อะไรด้วย การตัดสินมันอยู่ที่ผู้อ่าน นักวิจารณ์น่าจะแค่บอกวิธีคิด หรือบอกว่าเห็นประเด็นอะไรในเรื่องนั้น เรื่องจะดีหรือไม่ดีอย่างไรเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล
ถ้าอย่างนั้นนักวิจารณ์จำเป็นด้วยหรือ
จำเป็นเหมือนกัน เพราะนักวิจารณ์ก็มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้คนอ่านกับคนเขียนเชื่อมโยงกันได้
งานเขียนบางเรื่องอาจจะมีประเด็นอะไรที่นักอ่านยังไม่เข้าใจ ยังไม่เป็นที่รู้จัก หรือยังไม่ได้รับการอ่านอย่างเต็มที่ นักวิจารณ์ก็จะเข้ามาช่วยในเรื่องนี้ ช่วยให้คนอ่านได้รู้จักชิ้นงาน หรือช่วยให้คนอ่านเห็นมากกว่าสิ่งที่เขารู้สึก เพราะนักเขียนบางคนอาจซ่อนบางอย่างไว้ลึกเกินไป นักวิจารณ์ก็จะเข้ามาช่วยให้ผู้อ่านเห็นความหมายมากขึ้น ซึ่งก็อาจจะทำให้การเสพผลงานเหล่านั้นสนุกกว่าเดิม
แต่การวิจารณ์ในปัจจุบันก็มักจะเป็นไปในเชิงตัดสินหรือการรีวิว
จริงๆ รีวิวก็คือระดับหนึ่งของงานวิจารณ์ เป็นระดับที่เจือจางลงมา บอกแค่ว่าเรื่องเกี่ยวกับอะไร ผู้เขียนต้องการนำเสนออะไร แต่ถ้างานวิจารณ์จริงจังก็จะเข้มข้นขึ้น มีการตั้งคำถามว่าทำไมต้องเขียนแบบนี้ ทำไมต้องมีตัวละครตัวนี้ ทำไมต้องเป็นประเด็นนี้
รีวิวก็มีข้อดีตรงที่เป็นจุดเริ่มต้นให้คนเริ่มอ่านหรือเขียน พอนานไปเขาก็อาจเข้าใจได้เองว่ามันต้องมีอะไรที่ลึกขึ้น หรือมีเหตุมีผลมากขึ้น
แล้วเวลาต้องตัดสินรางวัลทางวรรณกรรม คุณใช้เกณฑ์อะไรในการตัดสินใจ มันคือการวัดว่าเรื่องไหนดี-ไม่ดีหรือเปล่า
การตัดสินรางวัลจะมีมาตรฐานอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเอาเข้าจริงกรรมการแต่ละคนก็คงไม่เหมือนกัน อย่างของเราจะมองจากตัวเรื่องเป็นสำคัญ เพราะถ้าเราอ่านหนังสือสองเล่มที่เขาเขียนต่างกันคนละขั้ว จะให้วัดสองเรื่องนี้จากมาตรฐานเดียวกันก็คงแปลกๆ
ลึกๆ แล้ว เวลาอ่านเพื่อตัดสิน เราเลยดูว่าเป้าหมายของแต่ละเรื่องคืออะไร เขาไปถึงเป้าหมายนั้นหรือเปล่า ถ้าเขาไปถึงแล้วมันได้ผลมั้ย และมันทำให้เกิดผลอะไรบ้าง
แต่สุดท้ายแล้วก็จะเกิดการเปรียบเทียบกับหนังสือเล่มอื่นอยู่ดีมั้ยครับ
เป็นการอ่านแบบเปรียบเทียบกับตัวบทในแนวเรื่องเดียวกัน สมมติเราจะตัดสินงานเขียนกลุ่มหนึ่งที่ส่งเข้ามาประกวด โดยมีทั้งงานแนวแฟนตาซี แนวเพื่อชีวิตจริงจัง แนวรักโศกดราม่า เราจะไม่เอาทั้งสามแนวนี้มาวางบนมาตรฐานเดียวกัน ว่าแนวไหนดีกว่ากัน แต่เราจะดูในแต่ละแนวของเล่มนั้นๆ เช่น ถ้าแนวแฟนตาซี เราจะตั้งคำถามก่อนว่าทำไมเขาต้องใช้แนวแฟนตาซีในการนำเสนอ มีเหตุผลอะไรนอกจากความสนุกหรือเปล่า หรือนำเสนอแล้วก่อให้เกิดผลอย่างไร ดูทั้งองค์ประกอบของรูปแบบและเนื้อหา วิเคราะห์เสร็จแล้ว ถ้าจะเกิดการเปรียบเทียบก็จะเป็นการเปรียบเทียบกับเรื่องที่มีแนวเรื่องแฟนตาซีอื่นๆ ที่เคยมีมา มากกว่าเปรียบเทียบกับเล่มอื่นที่มีแนวเรื่องแตกต่างออกไป
ทุกวันนี้บทวิจารณ์วรรณกรรมถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม จะกลายเป็นว่าคนที่ไม่สนใจวรรณกรรมก็ไม่อาจอ่านได้เลยหรือเปล่า
เราว่าแนวโน้มการสนใจอะไรเฉพาะกลุ่ม สนใจสิ่งที่ย่อยลงไป เกิดในทุกๆ วงการเหมือนกัน ไม่เฉพาะวงการวิจารณ์วรรณกรรม แต่ลึกๆ เราเชื่อว่าคนน่าจะยังสนใจอ่านบทวิจารณ์อยู่ หรืออยากอ่านมากขึ้น เพียงแต่ว่าเขาอาจไม่รู้ว่าจะหาอ่านได้ที่ไหนบ้าง โดยเฉพาะบทวิจารณ์ที่ลงลึกจริงจังอาจจะเป็นพื้นที่ที่ต้องการต่อไปในอนาคตก็ได้
ตอนนี้สื่อใหม่ๆ กำลังเฟื่องฟู ทุกคนสนใจอะไรที่เร็ว สั้น ง่ายไม่เครียดกันมากนัก แต่ต่อไปมันจะเฟ้อมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วสักวันมันจะเกิดกระแสเหวี่ยงกลับไปหาอะไรที่ลึกขึ้น มันเป็นมาแบบนี้ตลอดเวลาในประวัติศาสตร์
นี่คงเป็นเหตุผลที่เราวางจุดยืนในเล่ม วรรณกรรมดำดิ่ง ไว้ตรงนี้ ว่าจะนำเสนอวรรณกรรมอย่างจริงจัง ลงลึก และเข้มข้น จะวิจารณ์วรรณกรรมรูปแบบเดิมนี่แหละ นี่คงเป็นการแสดงตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองชัดเจน ซึ่งสวนทาง สวนกระแส แต่มันโดดเด่น ซึ่งนี่อาจเป็นวิธีการที่ไม่ค่อยฉลาดก็ได้ เพราะอาจจะไม่มีคนอ่าน (หัวเราะ)
ซึ่งบทวิจารณ์วรรณกรรมก็ไม่ค่อยมีพื้นที่ให้เผยแพร่จริงๆ
ใช่ ส่วนใหญ่ตอนนี้จะไปอยู่ในวารสารวิชาการแล้วก็ไม่ค่อยมีคนอ่าน
แล้วนักวิจารณ์อยู่กันได้หรือ
ไม่ได้เลย เพราะว่าพอพื้นที่ที่ให้เขาผลิตผลงานน้อยลง ก็ส่งผลถึงรายได้ที่น้อยลง นักวิจารณ์ในไทยส่วนใหญ่เลยต้องเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยหรือไม่ก็ต้องมีอาชีพอื่นทำอยู่แล้ว
ที่จริงสถานะของนักวิจารณ์ในไทยน่าจะด้อยไปกว่านักเขียนด้วยซ้ำ อย่างน้อยนักเขียนก็ยังถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่สร้างสรรค์ผลงาน ให้ความบันเทิง ส่วนนักวิจารณ์เป็นเหมือนตัวแทรก มีสถานะรองลงมา
แต่ด้วยความที่แนวโน้มทางสังคมวัฒนธรรมเริ่มซับซ้อน เริ่มมีประเด็นปัญหาใหม่ๆ แล้วไม่ได้ถูกแก้ไข ไม่มีการให้คำตอบกับสังคมมากขึ้น ก็อาจมีความเป็นไปได้ที่นักวิจารณ์จะเข้ามาอ่านปรากฏการณ์ทางสังคมพวกนี้ และอธิบายให้เห็นปัญหาในสังคมด้วยมุมมอง ทฤษฎี หรือโยงโลกทุกวันนี้เข้าหาวรรณกรรม
คุณคิดว่าสังคมไทยเอื้อให้เกิดการวิจารณ์ได้?
สังคมไทยมีข้อจำกัด มีเพดานในการวิจารณ์เยอะมาก ไม่ใช่แค่ในเรื่องของกฎหมายหรือสภาพสังคมอย่างเดียว เป็นเรื่องของวัฒนธรรมด้วย
ด้วยความที่วัฒนธรรมไทยเป็นการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การเคารพผู้ใหญ่ ซึ่งเราคิดว่ามันทำให้เพดานการวิจารณ์ในสังคมไทยถูกกดต่ำลงไป มันไปแตะบางอย่างไม่ได้ มันไปพูดถึงบางเรื่องไม่ได้ ก็เลยทำให้การเติบโตหรือความลึกซึ้งของการวิจารณ์ค่อยๆ ก้าวไปอย่างช้าๆ ยิ่งในสภาพแบบนี้ ในข้อจำกัดของสังคมไทยแบบนี้ การจะพูดถึงประเด็นใดประเด็นหนึ่งที่มันมีความสุ่มเสี่ยง หรือว่าจะไปแตะเพดานนั้น ยิ่งทำให้นักวิจารณ์ต้องทำงานหนัก นักวิจารณ์ต้องคิดวิธีการนำเสนอ หรือวิธีการเล่าเรื่องที่จะทำให้ข้อความนั้นไปถึงคนโดยไม่เกิดการปะทะ ซึ่งนักวิจารณ์หรือนักเขียนที่มีจุดยืน เขาก็จะคิดว่ามันควรต้องไปแตะ คิดว่าควรต้องเข้าไปทำลายเส้นนั้นๆ แบบชัดๆ ก็แล้วแต่นักวิจารณ์คนนั้นว่าเขามีจุดยืนยังไง มีวิธีการยังไง
เพราะสุดท้ายแล้ว การวิจารณ์ก็คือการเข้าไปแตะเส้นบางอย่างที่สังคมวางไว้นั่นแหละ