ถ้าพูดถึงไต้หวัน คุณคิดถึงอะไรกันบ้างครับ?
คำตอบสำหรับหลายคนอาจจะเป็นชานม สตรีทฟู้ด ตลาดอาหารยามค่ำคืน แต่สิ่งที่เป็นเหมือนกับวัฒนธรรมที่เข้มแข็งมากๆ สำหรับไต้หวันด้วยก็คือ ‘หนังสือ’ และ ‘วัฒนธรรมการอ่าน’
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญจาก Taipei Book Fair Foundation ให้เดินทางไปเข้าร่วมงานหนังสือนานาชาติไทเป (Teipei International Book Exhibition – TIBE2025) ความรู้สึกในวันแรกที่ก้าวเท้าเข้าไปนั้น สัมผัสได้ว่า ไม่เพียงแค่การจัดขายหนังสือที่น่าสนใจมากมายแล้ว หากแต่บรรยากาศยังเต็มไปด้วยความคึกคัก ทั้งจากชาวไต้หวันที่ตั้งใจเดินทางมาร่วมงานกันตลอดทั้งวัน รวมถึงผู้จัดนิทรรศการต่างๆ จากหลายหลายชาติ ที่ได้เข้ามาร่วมงานครั้งนี้ด้วย—ไทยเองก็เป็นหนึ่งในนั้น ที่มาพร้อมกับ Pavillion ในธีม Mythical Thailand
สำหรับผมแล้ว สิ่งหนึ่งที่ทำให้งานหนังสือครั้งนี้น่าตื่นตาตื่นใจ คือบรรยากาศภายในงานที่แทบทุกหัวมุม (หรือเรียกได้ว่า แทบจะทุกๆ 3 นาทีของการเดินภายในงาน) ผมจะพบเจอกับเวทีการเสวนาพูดคุยระหว่างนักเขียนและนักอ่านเกี่ยวกับหนังสืออยู่เสมอแม้จะมีข้อจำกัดเรื่องภาษาแต่ผมก็สัมผัสได้ว่ามันเป็นบรรยากาศการแลกเปลี่ยนมุมมองเรื่องหนังสือที่เข้มข้นและจริงจังกันเอามากๆ
ผู้เข้าร่วมงานหลายคนไม่เคอะเขินกับการยกมือถามนักเขียนนักเขียนบนเวทีก็ตั้งใจฟังและตอบคำถามด้วยท่าทีที่จริงใจทุกคนดูมีความสุขกับการได้สร้างบทสนทนาเกี่ยวกับหนังสือที่พวกเขาชื่นชอบ
สิ่งนี้ดูเหมือนว่าจะตรงกับเป้าหมายที่งานหนังสือครั้งนี้อยากเห็น
Isabella Wu ประธานของ Taipei Book Fair Foundation เล่าให้ผมฟังว่า ถ้าย้อนกลับไปเมื่อสี่ห้าปีที่แล้ว งานหนังสือนี้จะมีภาพลักษณ์ที่เน้นเพียงแค่การขายหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่ในช่วงหลังมานี้ งานได้เปลี่ยนรูปแบบออกไปพอสมควร โดยเฉพาะบรรยากาศภายในงานที่แต่ละบูธจะมีพื้นที่ให้ผู้อ่านและผู้เขียนหนังสือ ได้มาแลกเปลี่ยนมุมมองซึ่งกันและกัน
“ในอดีต งานหนังสือนี้เป็นเพียงแค่สถานที่สำหรับขายหนังสือ แต่ปัจจุบันมันเปลี่ยนไปแล้ว เกือบแทบทุกบูธจะมีโซนเสวนาเป็นของตัวเอง บูธต่างๆ ได้เชิญนักเขียนมาพูดคุยกับนักอ่าน ตอนนี้เราสามารถซื้อหนังสือออนไลน์ได้ตลอดเวลา การขายหนังสือในวันนี้ จึงไม่ใช่จุดสำคัญเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งสำคัญคือการกระตุ้นให้ผู้อ่านสนใจหนังสือมากขึ้น” คือคำอธิบายจาก Isabella Wu
เธอบอกด้วยว่า ภายในงานปีนี้มีกิจกรรมรวมๆ แล้วกว่า 1,000 กิจกรรมตลอดในระยะเวลาหกวัน ถ้าหากคนๆ หนึ่งเดินทางมา ก็น่าจะได้มีโอกาสเข้าร่วม 10 กิจกรรม และพบนักเขียนได้อย่างน้อย 10 คนต่อวัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือความสำคัญของการจัดพื้นที่ให้นักเขียนและนักอ่านได้พบปะกัน
บทสนทนาของหนังสือยังเกิดขึ้นในหมู่เด็กๆ และวัยรุ่นที่เข้าร่วมงาน เพราะงานครั้งนี้ยังมีการใช้ Culture Coins ที่เป็นเหมือนกับคะแนนให้เยาวชน สามารถเอาแต้มที่พวกเขามีอยู่มาแลกเป็นหนังสือได้ฟรี ความน่ารักที่เกิดขึ้นภายในงานก็คือ เด็กๆ จะหยิบเอาหนังสือที่พวกเขาใช้ Culture Coins เหล่านั้นมาพูดคุยกัน
เธออ่านอะไร? ฉันอ่านอะไร? เราแลกหนังสือกันอ่านไหม? คือบทสนทนาที่เกิดขึ้นภายในงาน
“การได้คะแนนมาซื้อหนังสือเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนคือ รัฐบาลได้สนับสนุนให้เยาวชนในพื้นที่ห่างไกลจากเมืองได้เดินทางมายังงานหนังสือด้วย โดยรัฐเป็นผู้สนับสนุนค่าเดินทาง ทำให้พวกเขาจะได้พูดคุยกันเกี่ยวกับหนังสือที่วพกเขาชอบ และส่งผลให้หนังสือกลายเป็นส่วนหนึ่งของบทสนทนาในหมู่เยาวชน” Wu ระบุ
ผมพูดถึงเรื่องการสร้างบทสนทนาอยู่หลายครั้งในบทความชิ้นนี้ คำถามต่อมาคือ แล้วบทสทนาที่ว่ามานั้น มันสำคัญอย่างไรบ้าง มันจะนำพาผู้อ่านไปสู่สิ่งใด ด้วยความสงสัยนี้ ผมจึงชวนคุณ Wu คุยต่อว่า แล้วการอ่านหนังสือในทุกวันนี้ มันทวีความสำคัญมากขึ้นไหม ยิ่งในช่วงเวลาที่โลกของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ความหุนหันพลันแล่นในโซเชียลมีเดีย หรือถ้ามองในบริบทของไต้หวันเองที่มีความท้าทายทั้งด้านสังคมและการเมืองระหว่างประเทศ
“หนังสือเป็นสื่อที่พิเศษมาก เพราะเราสามารถนำเสนอเนื้อหาได้อย่างละเอียด และมีโครงสร้างที่ชัดเจน ซึ่งแตกต่างจากเรื่องราวออนไลน์ที่มักเป็นเพียงส่วนเดียวและผ่านไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น หากคุณต้องการเรียนรู้บางสิ่งอย่างลึกซึ้ง หรือศึกษารายละเอียดของเรื่องราว หนังสือจะเป็นสื่อที่ดีที่สุด” เธอ กล่าว
ในมุมของเธอแล้ว การอ่านยิ่งทวีความสำคัญเป็นอย่างมากในโลกที่สิ่งต่างๆ ดูเหมือนจะซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
“การอ่านเป็นสิ่งที่คุณสามารถทำได้ทุกเวลา และสามารถดำเนินไปตามจังหวะของตัวเอง ฉันคิดว่านั่นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากเราอ่านเพียงแค่เนื้อหาออนไลน์ หรืออ่านจากโซเชียลมีเดีย เราจะได้รับเพียงความคิดเห็นของผู้อื่น มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสร้างมุมมองหรือความคิดเห็นของตัวเอง แต่การอ่านช่วยให้คุณได้เผชิญหน้ากับเนื้อหาโดยตรง ทำให้คุณสามารถคิดและวิเคราะห์ด้วยตัวเอง
“หากเราหมกมุ่นกับโลกออนไลน์ตลอดเวลา เห็นแต่ยอดไลก์หรือความคิดเห็นต่าง ๆ อาจทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกกังวลและวิตกกังวลมากขึ้น แต่การอ่านสามารถช่วยให้เราสงบจิตใจลง ทำให้เราสามารถคิดได้ด้วยตัวเอง
“ฉันคิดว่านี่เป็นนิสัยที่สำคัญมากในยุคปัจจุบัน” เธอทิ้งท้ายกับเราไว้เช่นนั้น
ตลอดทั้งหกวันของ Teipei International Book Exhibition 2025 มีผู้เข้าร่วมงานมากถึง 570,000 คน มีการอีเว้นต์ภายในงาน 1,126 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมงานจากต่างประเทศ 896 คน รวมถึงการจัดพื้นที่พูดคุยเรื่องการซื้อลิขสิทธิ์หนังสือในหลากหลายโอกาสภายในงาน
สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเหมือนภาพสะท้อนว่า งานหนังสือครั้งนี้ ไม่เพียงแค่สร้างบทสนทนาเกี่ยวกับความชอบในหนังสือ แต่มันยังนำพาไปสู่การเจรจาทางธุรกิจ โอกาสใหม่ๆ ของสำนักพิมพ์ที่ได้มาเจอผู้ที่สนใจอยากแปลหนังสือ อยากตีพิมพ์หนังสือใหม่ๆ ซึ่งช่วยทำให้หนังสือของสำนักพิมพ์ต่างๆ จากประเทศหนึ่งได้ออกพบเจอผู้อ่านในกลุ่มที่หลากหลายมากขึ้น
เช่นเดียวกับจินตนาการของผู้อ่านที่เดินข้ามพรมแดน พร้อมกับมีเครื่องมือใหม่ๆ เพื่อรับมือกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว