‘เสือ’ กลายเป็นความคึกโครมที่ไม่ว่าอยู่มุมไหนของประเทศก็ไม่อาจหลบพ้นในช่วง 2-3 วันนี้ จากกรณีพบซากลูกเสือกว่า 40 ซาก และสารพัดชิ้นส่วนของเสือที่วัดป่าหลวงตามหาบัว จังหวัดกาญจนบุรี
การลักลอบครอบครองซากสัตว์ป่าครั้งนี้กลายเป็นประเด็นร้อนที่กำลังถูกขุดคุ้ยเปิดเปลือยออกมาทีละชั้นอย่างช้าๆ และเพื่อความครบถ้วนรอบด้าน The MATTER จะยืนหยัดนำเสนอการเปิดเผยด้านที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน ด้วยการชวนผู้อำนวยการ’สถาบันนิติไสยศาสตร์’ เจ้าของเฟซบุ๊กแฟนเพจสถาบันนิติไสยศาสตร์ที่นำเสนอเรื่องราวแบบไสยๆ เชิงจิกกัด แถมสอดแทรกความรู้เชิงวัฒนธรรมและมนุษยวิทยาให้คนอ่านไปแบบแนบเนียน
ก่อนจะไปสู่ด้านไสยๆ ทำไมคนถึงใจร้ายกับเสือได้
เบื้องหลังซากเสือจำนวนมากย่อมมีแรงกระตุ้น The MATTER จะพาไปพบกับการตีค่าชีวิตเสือ 1 ตัวให้กลายเป็นสินค้ามีราคา (ข้อมูลจากข่าวศุลกากรและกระดานพูดคุยเรื่องเครื่องรางของขลัง) มาดูกันเถอะว่าชิ้นส่วนต่างๆ ของเสือจะมีราคาเท่าไหร่กันบ้าง
- ลูกเสืออายุ 1 – 2 ปี = 1 – 2 ล้านบาท/ตัว
- เสือขาว = 10 – 15 ล้านบาท/ตัว
- หนังเสือฟอก = 5 แสน – 1 ล้านบาท/แผ่น
- กระดูกเสือ = 5 หมื่นบาท/กิโลกรัม
- เขี้ยวเสือ = 3 หมื่น – 5 หมื่น บาท/เขี้ยว
- ตะกรุดหนังเสือ = 5 ร้อย – 1 พันบาท/อัน
ยังไม่จบเพียงเท่านั้น จากข้อมูลขององค์กรไม่แสวงหากำไรจากออสเตรเลียอย่างองค์กร Cee4life ได้ออกมาแสดงหลักฐานจากสัตวแพทย์ท่านหนึ่งแบบจะๆ ว่ามีการลักลอบเคลื่อนย้ายเสือเข้าและออกวัดอย่างผิดกฎหมายมาโดยตลอด โดยเฉพาะเสือ 4 ตัวแรกที่วัดใช้เป็นจุดขายโดยอ้างว่ามีชาวบ้านนำมามอบให้ แต่จริงๆ แล้ววัดจับเสือ 4 ตัวนี้มาจากป่า
ไม่ใช่แค่เสือ 4 ตัวเท่านั้น เพราะนับตั้งแต่ปี 2547 ก็มีหลักฐานว่าวัดลักลอบเคลื่อนย้ายเสืออย่างผิดกฎหมายเรื่อยมา ซึ่งหลักฐานพวกนี้ก็ใช่ว่าเขาจะเอามาแสดงเฉยๆ แต่เอาหลักฐานมอบให้รัฐบาลไทยไปตั้งแต่ปี 2558 แต่ทุกครั้งที่มีการเข้าตรวจค้นก็จะมีพระและชาวบ้านมาคอยยืนขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกครั้งไป
ดำดิ่งสู่ด้านไสยๆ ทำไม้ทำไมต้องทำกับเสือแบบนี้?
The MATTER : ความเชื่อทางไสยศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเสือเป็นอย่างไร เอาเสือมาเป็นเครื่องรางของขลังให้ผลอย่างไรบ้าง?
ผอ.สถาบันนิติไสยศาสตร์ : เสือเนี่ยมันเป็นเจ้าป่า รวมถึงเป็นสัญลักษณ์ของพลัง อำนาจ และบารมี คนเลยมีความเชื่อว่าใครที่มีพลังของเสือไว้ครอบครองจะมี อำนาจ บารมี และพลังเหมือนที่เสือมี
The MATTER : ทำไมเสือจึงถูกเลือกใช้มาเป็นเครื่องรางของขลัง สัตว์อื่นๆ อย่างแมว อย่างกระต่ายทำไมไม่ถูกเอามาใช้บ้าง?
ผอ.สถาบันนิติไสยศาสตร์ : ที่เลือกเสือก็เพราะอย่างที่บอกว่ามันมีพลัง จริงๆ ของขลังอย่างแมวก็มี กระต่ายก็มีเหมือนกัน
The MATTER : โอ้โห นี่ความรู้ใหม่มาก ไม่รู้เลยว่าแมว กระต่ายก็ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องรางของมนุษย์ได้หมด แล้วอย่างแมวกับกระต่ายนี่มันมีความหมายอย่างไรบ้าง?
ผอ.สถาบันนิติไสยศาสตร์ : แมวนี่จะเปนเรื่องแคล้วคลาด ความรวดเร็ว ส่วนกระต่ายเอามาเพียงรูปลักษณ์ เพราะเป็นสัญลักษณ์แทนพระจันทร์ จะใช้คู่กับนกยูงที่เป็นสัญลักษณ์แทนพระอาทิตย์
The MATTER : วกกลับมาที่เรื่องเสือกันต่อ เสือทุกตัวสามารถใช้ในทางไสยศาสตร์ได้ทั้งหมดเลยมั้ย? หรือจริงๆ แล้วมีเงื่อนไขบางอย่าง?
ผอ.สถาบันนิติไสยศาสตร์ : เสือทุกตัวนำมาทำได้ โดยเฉพาะส่วนเขี้ยวกับหนัง
The MATTER : มิน่า ทั้งเขี้ยวเสือ หนังเสือถึงได้แพงระยับเลยทีเดียว แล้วเสือทุกตัวจะมีอิทธิฤทธิ์เท่ากันหมดหรือเปล่า?
ผอ.สถาบันนิติไสยศาสตร์ : ถ้าเป็นเสือป่าตามธรรมชาติหรือเสือกินคน เชื่อกันว่าจะมีพลังมากกว่า เพราะเสือกินคนเชื่อกันว่าจะมีวิญญาณของคนที่โดนกินตามสถิตด้วย
The MATTER : แสดงว่าราคาของเสือที่เชื่อว่ากินคนก็จะยิ่งแพงกว่าเสือธรรมดาๆ ขึ้นไปอีก?
ผอ.สถาบันนิติไสยศาสตร์ : ราคาจะแล้วแต่ความหายากกับคนทำ แต่ตอนนี้คนจีนนิยมพวกเครื่องรางมาก เลยมีตลาดในจีนรออยู่ นอกจากในไทย
The MATTER : อื้อหือ มีตลาดจากจีนที่คอยรองรับอยู่ด้วยนี่เอง ถึงได้ยิ่งทำกันเป็นอุตสาหกรรมได้ขนาดนี้ วันนี้เราลึกลับกันแบบสั้นๆ กระชับ ได้ใจความพอให้ได้รู้เค้าลางว่าอะไรคือแรงผลักดันเบื้องหลังการนำเสือมาทำเป็นเครื่องรางซึ่งเป็นมูลค่าทาางการตลาดที่สูงจนคาดไม่ถึง
แต่ The MATTER จะไม่ปล่อยให้อารมณ์ค้างเติ่งแต่อย่างใด เพราะเราจะพาไปตะลุยเรื่อง ‘เสือ = ของขลัง’ ในมิติทางวัฒนธรรมซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อแบบไสยๆ อย่างไม่น่าเชื่อ
‘เสือ’ในมิติวัฒนธรรม ทำไมถึงทำกับฉันได้?
ความเชื่อไสยศาสตร์จากมุมมองปัจจุบัน มักถูกเบือนหน้าหนี หรือส่ายหัวใส่ว่าเป็นเรื่องงมงายบ้าง เป็นเรื่องตรงข้ามกับศาสนาพุทธบ้าง แต่หากมองผ่านมิติวัฒนธรรมทุกความเชื่อย่อมมีที่มา และ ‘เสือ’ ก็เช่นกัน ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ เสือจะกลายเป็นเครื่องรางของขลังได้ใน 1 นาที
นับตั้งแต่อารยธรรมโบราณเสือไม่เคยใช้เป็นสัตว์เลี้ยงสำหรับคนทั่วไป (ก็แน่ล่ะ ใครจะเอาเสือมาเลี้ยงกัน) เสือจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ มีอำนาจมาโดยตลอด อย่างในวัฒนธรรมอารยธรรมใหญ่ๆ สมัยโบราณ เช่น อียิปต์ เมโสโปรเตเมีย และอินเดีย เสือจะมีฐานะไม่ต่างไปจากเจ้าป่าอย่างสิงโตนัก รวมถึงเป็นสัญลักษณ์เพื่อประดับยศของกษัตริย์หรือเทพ ยิ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ที่จะครอบครองเสือหรือชิ้นส่วนของเสือได้ต้องเป็นผู้มีบารมี มีอำนาจ
ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากเสือเป็นสัตว์ที่กินคนได้ ย้อนกลับไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยโบราณ มีความเชื่อเรื่องเสือสมิง อ้อ ความเชื่อเรื่องเสือสมิงไม่ได้เป็นเฉพาะในไทยเท่านั้น แต่มาเลเซียก็มีกับเขาด้วย แล้วก็ไม่ใช่ว่าจะเพิ่งมี แต่มีมาตั้งแต่สมัยต้นอยุธยา เสือจึงถูกเชื่อว่ามีพลังอำนาจ เป็นความลึกลับ ที่สามารถเอาชีวิตมนุษย์ธรรมดาๆ อย่างเราๆ ได้ หรือแม้แต่ศาลเจ้าพ่อเสือที่เราพากันไปบนนู่นนี่ก็เกิดจากความเชื่อที่ว่าเสือมีความยิ่งใหญ่เหมือนกัน
หรือเพราะฉันยิ่งใหญ่ ฉันจึงโดนทำร้าย?
ย้อนกลับไปที่คำของผู้อำนวยการของสถาบันนิติไสยศาสตร์ ถ้าเสือมีความหมายถึง พลัง อำนาจ บารมี ถ้าแมวหมายถึงความคล่องแคล่วปราดเปรียว ถ้ากระต่ายคือความอ่อนโยนอย่างดวงจันทร์ และนกยูงไม่ต่างจากดวงตะวัน
น่าสนใจไม่น้อยว่าสัตว์ในมิติวัฒนธรรมและภาพในหัวของมนุษย์ย่อมแสดงถึงอะไรบางอย่าง โอเค ถ้าไม่เชื่อ ลองหลับตานึกถึงนก นกในจินตนาการของมนุษย์คือความอิสระ เสรี ในขณะที่หมาคือความซื่อสัตว์ เต่าคืออายุที่ยืนยาว
เราพยายามใช้สิ่งเหล่านี้สวมทับเข้ากับความเป็นมนุษย์เพื่อบอกว่าเราเป็นอะไร จนบางขณะทำให้เราหลงคิดว่าเราครอบครองพลังพวกนี้ได้ เราจึงคิดว่าเรายิ่งใหญ่เหมือนสิงโต เราขี้อ้อนเหมือนแมว เราอิสระเสรีเหมือนนก และซากเสือกว่า 40 ตัว รวมถึงอีกสารพัดชิ้นส่วนของเสือคราวนี้จึงไม่ต่างอะไรกับการเชื่อว่าเรากำลังยิ่งใหญ่เหนือพลังของเสือ
ภายใต้ความแข็งแกร่งที่เราใช้ทำร้ายทำลายสัตว์หลายๆ ประเภท จึงเป็นการกลบซ่อนความอ่อนแอบางอย่างในความเป็นมนุษย์ หรือแท้จริงแล้วเรากลัวอยู่ลึกๆ ว่าอำนาจของเราไม่อาจเทียบเทียมกับความยิ่งใหญ่ของสัตว์หลายๆ ชนิดได้เลย