เพราะทุกที่คือเวที และใครๆ ก็เป็นทั้งผู้กำกับและนักแสดงได้ หลังจากที่แอพพลิเคชั่น Vine ล่มสลายไป ทุกวันนี้วัยรุ่นไทยกำลังฮิตสร้างวิดีโอบนแอพฯ Tik Tok แอพพลิเคชั่นถ่ายวิดิโอที่เป็นโซเชียลเน็ตเวิร์กไปในตัว ตัวแอพพลิเคชั่นเองเน้นโปรโมทด้วยคนดังเซเลป แต่ดูเหมือนว่าผู้ใช้จะมีการบรอดแคสตัวตนในลักษณะที่…เฉพาะตัว เรามีคลิปเด็กหญิงฉายอารมณ์ความโศกเศร้าจากการสูญเสียพ่อ มีเด็กน้อยที่ทำการแสดงวิญญาณออกจากร่างประกอบเพลง ‘วิญญาณ’ ของแสตมป์
มองเผินๆ เราก็อาจจะรู้สึกว่าแปลกๆ นิดหน่อย แต่ในมิติทางวัฒนธรรมมีนักวิชาการเรียกยุคสมัยของเราว่าเป็นวัฒนธรรมแห่งการมองเห็น (visual culture) เราอยู่ในโลกแห่งมหรสพ (spectacle) เหล่าวัยรุ่นในวันนี้ก็ดูจะเติบโตขึ้นโดยมีมหรสพ รายรอบด้วยภาพ (image) – หนัง ละคร มิวสิควิดีโอ ยิ่งเราอยู่ในยุคดิจิทัล แอพแบบ Tik Tok จึงเป็นทั้งเครื่องมือให้เราใช้สร้างงาน ในขณะเดียวกันตัวมันเองก็เป็นแรงผลักดันให้เรา ‘ฉาย’ (broadcast) ตัวตนของเรา
การกลับมาของวิดีโอโซเชียล
ก่อนหน้านี้เรามี Vine แอพพลิเคชั่นที่เป็นทั้งแอพถ่ายวิดีโอและแพล็ตฟอร์มโซเชียล คือให้เราฉายวิดีโอสั้นๆ ของตัวเอง มีกิมมิกตกแต่งภาพและมีระบบการฟอลโล ตัว Vine เองมีชีวิตอยู่ได้ไม่นานก็ล้มหายตายไป ล่าสุดเรามีแอพฯ Tik Tok ที่กำลังเป็นที่นิยมในวงวัยรุ่นทั้งแถบเอเชีย ขึ้นเป็นหนึ่งในแอพฯ ที่มียอดดาวน์โหลดสูงสุด ทางแอพพลิเคชั่นเองก็มีเป้าหมายเป็นกลุ่มวัยรุ่นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และใช้เหล่าดาราเซเลป เช่นดาราวัยรุ่นไทยไปจนถึงดาราเกาหลีมาช่วยสร้างความนิยม
จากรายงานในประเทศจีนช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2018 มียอดการดาวน์โหลดสูง 62 ล้านครั้ง โดยนอกประเทศจีน แอพฯ Tik Tok เองก็กำลังมาแรงทั้งในประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง และในประเทศไทยด้วย ซึ่งบ้านเราเองก็เริ่มมีคลิปจาก Tik Tok มาให้เห็นกันอยู่เรื่อยๆ
ไม่ว่าอะไรก็ตามเมื่อมีคนใช้งานเยอะๆ ก็มักมีดราม่าตามมา ในฮ่องกงก็เกิดกระแสสังคมว่า วัยรุ่นมีความต้องการไลก์มากขนาดเอาชีวิตตัวเองไปเสี่ยงในการถ่ายคลิปลง Tik Tok สำนักข่าว South China Morning Post ถึงรายงานพฤติกรรมที่เอาตัวเองไปเสี่ยง เช่น ไปยืนหน้ารถเมล์ ไปนั่งบนสะพาน แล้วเขียนข้อความทำนองว่า เนี่ย เราเอาชีวิตมาเสี่ยงแล้วนะ ช่วยกดไลก์ให้หน่อย ในบ้านเราเองก็มีกรณีเจ้าหน้าที่เล่นแอพฯ Tik Tok กับผู้สูงอายุในสถานดูแลที่ตัวเองทำงานอยู่ จนกระทั่งมีการไล่ออกกันเกิดขึ้น
Tik Tok กับปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมวิชวลของวัยรุ่น
เราต่างต้องการที่จะมีตัวตน ต้องการที่จะถูกมองเห็น ถ้าไม่นับเรื่องการเอาชีวิตไปเสี่ยง ปรากฏการณ์ Tik Tok ในวัยรุ่นไทยก็น่าจะนับเป็นผลกระทบหนึ่งของโลกสมัยใหม่ จากการอยู่ในสังคมแห่งมหรสพ (The Society of the Spectacle) จากการถูกรายล้อมด้วยภาพจากสื่อต่างๆ ในโลกสมัยใหม่
หลักๆ แล้ว The Society of the Spectacle เป็นข้อวิพากษ์โลกสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการมองเห็นและสิ่งที่มองเห็นได้ ในขณะเดียวกันเราก็ถูกรายล้อมไปด้วยภาพต่างๆ จำนวนมหาศาล ข้อคิดนี้ก็คล้ายๆ กับความคิดของแนวคิดหลังสมัยใหม่ที่มองว่าในที่สุดแล้วเราใช้ชีวิตอยู่กับภาพ-ภาพแทน เราอาจจะเข้าถึงความจริง (reality) ไม่ได้อีกต่อไป
ถ้าเรามองไปรอบๆ ความคิดและจินตนาการต่างๆ ทั้งหลายที่เรานึกคิด จริงๆ แล้วอาจจะเกิดจากสื่อ หรือภาพต่างๆ ที่สื่อเสนอ เช่น เราคิดถึงอาชีพบางอาชีพ เหตุการณ์บางอย่าง หลายครั้งเราก็อ้างอิงจากสิ่งที่สื่อนำเสนอมา ไม่ว่าจะจากหนัง ภาพข่าว สารคดี (ซึ่งแน่ล่ะว่าทั้งหมดนั้นเป็นเพียงแค่ image หรือภาพแทนของสิ่งนั้นๆ เท่านั้น ไม่ใช่ของจริง) เราต่างกำลังถูกรายล้อมด้วยภาพจำนวนมหาศาล
ในแง่ของวัยรุ่นทุกวันนี้ ก็เป็นวัยที่เติบโตขึ้นท่ามกลางภาพจำนวนมหาศาล ‘สุนทรียภาพ’ (visual aesthetic) จึงเป็นภาษาหนึ่งที่วัยรุ่นเหล่านี้ดูจะสามารถรับรู้และนำมาสร้างเป็นงานของตัวเองได้ โอเค ถ้าเราตัดประเด็นเรื่องความงามความเหมาะสมออกไป วัยรุ่นในคลิป Tik Tok ที่ย่อมต้องเคยชินกับ mv กับละคร น้องๆ ก็ดูจะมีการใช้เทคนิคทางภาพ – ใช้ cinematography – คือสามารถเล่าเรื่องด้วยเทคนิคทางภาพ จัดโครงสร้างการเล่าเรื่องด้วยภาพ เป็นวัยรุ่นยุคที่รับรู้และใช้ ‘ภาษาภาพ’ ได้
ในคลิปเช่นน้องที่เพิ่งเสียพ่อไป น้องเองก็มีวิธีการเล่าเรื่องที่ spectacle และ cinematic มาก เหมือนน้องกำลังนำเสนอภาพชีวิตและความรู้สึกสูญเสียจริงๆ ของตัวเองเข้าไปด้วยวิธีของภาพยนตร์ เป็นเหมือนฉากหนึ่งในหนัง ในมิวสิควิดิโอ มีการชี้ไปที่รูปภาพ ถ่ายไปที่ข้าวของ แล้วถ่ายกลับมาที่ใบหน้าที่กำลังร้องไห้ของตัวเอง ด้วยฟังก์ชั่นของ Tik Tok ที่ให้ใส่เพลงประกอบการตัดต่อ ใส่เทคนิกต่างๆ ลงไปในคลิป เหล่าวัยรุ่นก็ใช้ฟังก์ชั่นในการสร้างผลงาน รับบทเป็นทั้งผู้กำกับและนักแสดงกันอย่างสนุกสนาน
ในโลกโซเชียลที่ผลักดันให้เราแสดงตัวตนและต้องการการยอมรับ ต้องการไลก์ ดูเหมือนว่าเราจะถูกกระตุ้นให้ ‘โพสต์’ แทบทุกอย่างที่เกี่ยวกับตัวเรา ในจุดนี้เองที่เราอาจรู้สึกว่า การโพสต์เรื่องเกี่ยวกับตัวเองของเด็กๆ อย่างในแอพฯ Tik Tok เริ่มกระเถิบเข้าไปสู่พื้นที่ที่เป็น ‘พื้นที่ส่วนตัว’ มากๆ เช่น ในพื้นที่ของการสูญเสีย ไปจนถึงการแสดงฉากว่าตัวเองตาย (เพื่อแสดงประกอบเนื้อหาของเพลง) ซึ่งก็เป็นปรากฏการณ์ที่น่าทำความเข้าใจว่า อะไรที่ทำให้เราเลือกที่จะเผยพื้นที่เฉพาะของเราออกสู่สาธารณชนมากขึ้นเรื่อยๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก