วันนี้วันอะไรแล้วนะ? พุธหรือเปล่า? เสาร์ใช่มั้ย? แล้วนี่กี่โมงกี่ยาม? อ้าว เผลอๆ 5 โมงเย็นซะงั้น เหมือนการกักตัวจากโรคระบาดจะทำให้เราลืมวันลืมคืนไปแล้ว
จู่ๆ เราก็รู้สึกราวกับว่านาฬิกาและปฏิทินไม่มีอยู่จริง อาจจะด้วยข่าวร้าย บวกกับความเครียด ความวิตกกังวล สภาพแวดล้อม และกิจกรรมในแต่ละวันที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงความไม่แน่นอนของอนาคตที่เราไม่รู้ว่าเหตุการณ์นี้จะจบลงเมื่อไหร่ เมื่อการแยกออกจากสังคมอย่างโดดเดี่ยวที่ดำเนินไปเรื่อยๆ เราจึงถูกติดอยู่กับปัจจุบันที่ไม่มีวันจบสิ้น รู้สึกว่าแต่ละวันยาวนานกว่าปกติ แล้วสรุปวันนี้มันวันอะไรนะ?
การกักตัวนานๆ ทำให้เราลืมวันเวลาได้ เรื่องนี้ถูกพิสูจน์ในปี ค.ศ.1962 เมื่อนักธรณีวิทยาชาวฝรั่งเศส มิเชล ซิฟฟร์ (Michel Siffre) เข้าไปสำรวจถ้ำที่ลึกลงไป 400 ฟุตจากพื้นดิน และใช้เวลาอยู่ในนั้นราว 2 เดือน โดยที่เขาไม่ได้พกนาฬิกาหรือเครื่องบอกเวลาใดๆ ติดตัวไปด้วย เพื่อที่จะได้สัมผัสกับชีวิตที่เรียกได้ว่า ‘เหนือกาลเวลา’
เดิมทีมิเชลวางแผนไว้ว่าจะเข้าไปในถ้ำวันที่ 16 กรกฏาคม และออกมาในวันที่ 14 กันยายน แต่ระหว่างนั้นเขาค้นพบว่า เมื่อปราศจากตัวบ่งชี้เวลา เขาเริ่มไม่รับรู้ถึงนาที ชั่วโมง หรือแม้กระทั่งวัน เพราะเมื่อทีมของเขาเตือนให้ออกมาจากถ้ำในวันที่กำหนด เขากลับคาดการณ์ไว้ว่านั่นคือวันที่ 20 สิงหาคม โดยเขาได้กล่าวในบทสัมภาษณ์ว่า เขาคิดว่าตัวเองยังเหลือเวลาอีกหนึ่งเดือน เพราะเวลาของเขาถูกกดไว้โดยปัจจัยทางจิตวิทยา โดยสมองของเขาไม่รับรู้ถึงวันเวลา เพราะมันไม่มีวันเวลานั่นเอง
แม้สถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญกันตอนนี้ จะไม่ใช่การเข้าไปในถ้ำมืดๆ ที่ปราศจากแสงธรรมชาติ แถมยังมีมือถือหรือนาฬิกาอยู่ใกล้ตัว แต่การเว้นระยะห่างทางสังคม หรือการอยู่ในบ้านเพียงลำพัง ก็ทำให้รู้สึกว่าโลกหยุดชะงักไม่ต่างกัน วันเวลาค่อยๆ ไร้ความหมายขึ้นเรื่อยๆ หรือคำว่า ‘ไม่มีเวลา’ ของมิเชลจะหมายถึงไม่มีเวลาที่คอยกำหนดเหมือนเมื่อก่อน เช่น ตอนนี้เราจะรู้ว่าวันจันทร์ดูไม่ต่างไปจากวันเสาร์อาทิตย์สักเท่าไหร่ เพราะไม่ต้องตื่นขับรถไปทำงานแต่เช้าอีกแล้ว
อาการหลงๆ ลืมๆ นี้ส่งผลต่อชีวิตประจำวันเรายังไงบ้าง? ลองจินตนาการถึงตารางชีวิตเมื่อก่อน เราอาจจะตื่นนอน 7 โมงเช้า กินข้าวเช้า 8 โมงครึ่ง เข้างานตอน 9 โมง แล้วพักเที่ยงเพื่อกินข้าวอีกมื้อ ที่เรียกว่า ‘การใช้ชีวิตโดยอิงจากเวลา’ (clock time) แต่ตอนนี้เราตื่นนอนโดยธรรมชาติ ไร้ซึ่งเสียงของนาฬิกาปลุก กินเมื่อหิว เริ่มทำงานเมื่ออิ่ม และง่วงเมื่อไหร่ก็นอน ที่เรียกว่า ‘การใช้ชีวิตโดยอิงจากกิจกรรม’ (event time)
แอนน์ ลอร์ เซลเลีย (Anne-Laure Sellier) ศาสตราจารย์ด้านการตลาดได้ทำการวิจัยเรื่องการใช้ชีวิตทั้งสองแบบ และพบว่า ผู้คนที่ใช้ชีวิตโดยอิงจากกิจกรรม จะรู้สึกควบคุมการใช้ชีวิตของตัวเองได้มากกว่า ในขณะที่ผู้คนที่ใช้ชีวิตโดยขึ้นอยู่กับเวลา จะรู้สึกว่าอยู่ในโลกที่วุ่นวาย นั่นก็เพราะการใช้ชีวิตแบบแรกไม่ได้ขึ้นอยู่กับการควบคุมของใครนอกจากตัวเราเอง และสามารถสลับสับเปลี่ยนหรือโยกย้ายตารางชีวิตโดยไม่ต้องคำนึงถึงคนอื่นได้
หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องผิดปกติ แต่สำหรับบางคนการสูญเสียการรับรู้วันเวลาถือเป็นสิทธิพิเศษอย่างหนึ่งที่จะได้รู้สึกแบบนี้ เพราะยังมีผู้คนจำนานมากที่ยังต้องทำงานหรือใช้ชีวิตที่ขึ้นอยู่กับนาฬิกาและความเร่งรีบ ฉะนั้น การสูญเสียต่อมการรับรู้วันเวลาจึงอาจช่วยให้ตารางชีวิตของเรายืดหยุ่นมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม นั่นก็เท่ากับว่าเราได้สูญเสียองค์ประกอบเล็กๆ น้อยๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพจิต เช่น การตั้งหน้าตั้งตาคอยวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือความรู้สึกเซ็งๆ กับการมาของเช้าวันจันทร์
อ้างอิงข้อมูลจาก