โอ๊ยๆๆ อยากไปเที่ยวบ้างโว้ย!
ในวันฟ้าครึ้มที่ต้องนั่งทำงานงกๆ จู่ๆ ความเหนื่อยล้าก็สะกิดเรา แล้วบอกว่า “วันนี้ขยันเกินไปแล้ว พักสักแป๊บ ไถโทรศัพท์แก้เครียดเถอะ” แต่เพียงไม่กี่วินาทีที่สตอรี่ของเพื่อนเด้งขึ้นมา ความอิจฉาริษยาก็ปะทุประหนึ่งภูเขาไฟใต้ทะเลระเบิด จากที่อ่อนเพลียอยู่แล้วก็หมดแรงลงไปอีก เมื่อเพื่อนทุกคนที่เราเห็นในโทรศัพท์ดันไปเที่ยวกันหมด แถมยังอวดรูปภาพและวิดีโอแบบไม่รู้จักเกรงอกเกรงใจ โถ่เว้ย! แล้วทำไมตัวเราถึงยังอยู่หน้าคอม แถมต้องทำงานๆๆ ทั้งวันแบบนี้ด้วยวะเนี่ย!
“ไม่เอาๆๆ อย่าเพิ่งเซ็ง มันก็ยังมีคนที่ไปเที่ยวไม่ได้แบบเราแหละ” เราปลอบใจตัวเอง ก่อนหางตาจะเหลือบไปเห็นรูปเพื่อนอีกคนที่กำลังแชะภาพกับภูเขาไฟฟูจิ
“ก็ถูกแล้วนี่นา ทุกคนก็ต้องไปพักไปเที่ยวกันบ้าง นี่ไง อีก 2 เดือนเราก็ได้ไปแล้ว” เราพยายามตั้งสติอีกรอบ แต่สมองเจ้ากรรมก็ดันนึกถึงวิดีโอที่เพื่อนถ่ายหมูทงคัตสึในร้านอาหารที่โตเกียว…
เฮ้อ…ทำไงดี อิจฉาคนอื่นจัง เราเองก็อยากเที่ยวบ้างเหมือนกันนะ
รู้จัก Travel Envy
ก่อนจะไปว่ากันถึงสาเหตุและแนวทางการรับมือ เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า Travel Envy หรือความรู้สึกอิจฉาเวลาต้องเห็นผู้อื่นไปเที่ยวคืออะไร ต้องบอกว่าสภาวะนี้ อันที่จริงก็ไม่ใช่ความรู้สึกซึ่งแปลกใหม่ หรือคาดเดาไม่ได้ เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีแนวโน้มจะรู้สึกไม่พอใจเวลาเห็นคนอื่นได้ในสิ่งที่ดีกว่า หลายครั้ง ขณะที่เรารู้สึกยินดีกับความสำเร็จของเพื่อน ที่ว่างเล็กๆ ในใจก็อดอิจฉาตาร้อนไม่ได้ที่เราทำไม่ได้อย่างคนอื่นเขา ซึ่งในสถานการณ์นี้คือการที่คนรอบข้างเอาตัวเองไปท่องเที่ยว ผ่อนคลาย ขณะที่เราทำได้เพียงแอบส่องจ้องมองจากห้องนอนหรือที่ทำงาน
ในยุคปัจจุบัน เชื่อกันว่าปัจจัยหลักที่เอื้อให้เกิด Travel Envy มี 3 ข้อ ได้แก่
- เราไม่ได้เที่ยว
สิ่งนี้เป็นต้นตอหลักของความน้อยเนื้อต่ำใจที่เกิดขึ้น เพราะหากเราคือคนที่กำลังเดินทางอยู่ เราก็คงไม่รู้สึกอิจฉาผู้ที่กำลังท่องเที่ยว แต่เพราะวันนี้ เราดันต้องนั่งอยู่ที่นี่ ในออฟฟิศสี่เหลี่ยมที่มีเสียงแป้นพิมพ์เปิดคลออย่างไม่มีทางเลือก ขณะที่อีกหลายคนกำลังใช้ชีวิตอยู่ในโลกกว้าง ไม่ต้องประชุม ไม่ต้องปั่นงาน ไม่ต้องฟังเจ้านายบ่น เขาหรือเธออาจจะกำลังนั่งอยู่ในคาเฟ่เก๋ๆ อ่านหนังสือเล่มถนัดมือ โดยมีดนตรีสไตล์ยุโรปบรรเลง…เฮ้อ แค่คิดก็อิจฉาไม่ไหวละ
- โซเชียลมีเดีย
ตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดการเปรียบเทียบระหว่างตัวเรากับผู้อื่น เพราะว่ากันง่ายๆ หากเราไม่รู้ว่าเพื่อนไปเที่ยว ความอิจฉาก็จะไม่ปรากฏตั้งแต่ต้น ยิ่งไปกว่านั้น นี่ยังเป็นยุคสมัยที่ผู้คนให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ของตนเองบนแพลตฟอร์มต่างๆ ส่งผลให้ทุกคนพยายามสร้างเนื้อหาที่น่าชม ทุกอย่างต้องดูดี ชีวิตเต็มไปด้วยเรื่องแฮปปี้ที่น่าอิจฉา เหล่านี้ยิ่งตอกย้ำให้คนนอกที่ทำได้แค่ดูรู้สึกว่าชีวิตของเขาหรือเธอที่กำลังท่องเที่ยวในอีกซีกโลกช่างน่าริษยาเสียจริง
- โควิด-19
หลายคนไม่เคยรู้สึกอัดอั้นที่ไม่ได้ไปเที่ยวมากเท่านี้มาก่อน ทำให้เมื่อมาตรการล็อกดาวน์จากสถานการณ์โรคระบาดยุติลง แรงปรารถนาที่อยากออกไปท่องโลกกว้าง อยากก้าวไปข้างนอกประเทศก็พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ สถิติจากสำนักข่าว AP News ชี้ว่า ไตรมาสแรกของปี 2022 จำนวนการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าหากเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2021 และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในปีต่อๆ ไป จึงไม่แปลกหากเราจะรู้สึกอิจฉาเป็นพิเศษเมื่อเห็นใครไปเที่ยวในที่ที่ใจเราเองก็นึกอยากไม่ต่างกัน
รับมือกับความอิจฉา
บางคนบอกว่ารู้สาเหตุไปก็ไร้ประโยชน์หากยังไม่สามารถจัดการความรู้สึกซึ่งรบกวนจิตใจนี้ได้ และนี่คือ 6 วิธีที่น่าจะช่วยให้ทุกคนถูกความอิจฉากวนใจน้อยลง
1) คิดให้ดีว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ – การที่ไม่สามารถไปเที่ยวได้ในวันนี้อาจเป็นเพราะเรามีภารกิจจำเป็น เช่น เราอาจกำลังเก็บหอมรอมริบ ออมเงินสำหรับการไปเที่ยวในที่ที่ไกลกว่าเพื่อนในเฟซบุ๊ก หรือถ้ามองกันจริงๆ ต่อให้ไปได้ ช่วงนี้ร่างกายของเราก็อาจเหนื่อยเกินกว่าจะไป การขบคิดถึงเป้าหมายหรือสิ่งที่เรากำลังทำคงช่วยบรรเทาความรู้สึกอิจฉาริษยาได้ไม่มากก็น้อย เพราะดีไม่ดี สิ่งที่เราทำอยู่อาจจะยิ่งใหญ่และน่าดูไม่แพ้การไปเที่ยวยุโรปด้วยซ้ำไป
2) วางแผนไปเที่ยวตามสถานที่ในรูป – ก็ถ้าเห็นวิดีโอของเพื่อนแล้วอยากไปตามมากๆ งั้นก็วางแผนเที่ยวซะเลยสิ แน่นอนว่าเราคงไปวันนี้พรุ่งนี้ไม่ได้ แต่วางแผนไว้ก็คงไม่เสียหายอะไร ทริปหน้าเจอแน่ จะแชะภาพถ่ายคลิปให้หนำใจเลย คอยดูสิ!
3) หาแรงบันดาลใจแทนที่จะจมอยู่กับความทุกข์ – ความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจคงเป็นสิ่งที่ห้ามกันยาก แต่สิ่งที่เราพอจะทำได้คือลองหาแรงบันดาลใจจากภาพเคลื่อนไหวซึ่งปรากฏอยู่ในหน้าจอโทรศัพท์ มีตั้งกี่ที่ มีตั้งกี่ร้านที่เราไปก็เพราะเพื่อนแนะนำ หรือไปตามเพราะเห็นเพื่อนเช็คอินเมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งก็คงดีไม่น้อยหากอย่างน้อยเราสามารถเปลี่ยนพลังความทุกข์ให้กลายเป็นผลลัพธ์บางอย่าง แม้จะยังรู้สึกเศร้าอยู่บ้างก็ตาม
4) โซเชียลดีท็อกซ์ – ‘ไม่ไหวแล้วนะ งั้นไม่ดูไปเลยแล้วกัน’ จริงๆ แล้วการเลิกเล่นโซเชียลมีเดียสักระยะก็อาจเป็นหนึ่งในวิธีแก้ปัญหาที่ถูกจุด แน่นอนว่าวิธีการนี้อาจดูสุดโต่งและปฏิบัติจริงได้ยากไปสักหน่อย แต่ถ้าทำได้ล่ะก็ เราจะไม่ต้องทนเห็นภาพบาดตาบาดใจของใครสักคนที่กำลังเดินอยู่บนหอไอเฟลหรือก้าวผ่านดอกซากุระบานที่โอซาก้า
5) รูปเก่าๆ ช่วยได้ – วิธีนี้เป็นแนวหวนระลึกถึงอดีต จริงอยู่ที่ตัวเราอาจต้องอยู่ที่นี่ แต่ใจเราสามารถเดินทางไปไกลแค่ไหนก็ได้ตามชอบ ขอเพียงเราเคยผ่านไปในความทรงจำ อดเที่ยวเหรอ ไม่เป็นไร ขอแค่นำภาพในวันวานขึ้นมาดู เปิดชมให้เหมือนได้ไปซ้ำอีกรอบ แม้จะดูเป็นการปลอบใจมากกว่าแก้ไขปัญหา แต่ใครจะรู้ การนึกถึงทริปเก่าๆ อาจช่วยให้เรามีความสุขขึ้นมาก็ได้
6) หาความสุขอื่นๆ – เที่ยวไม่ได้ จะให้เลิกเล่นโซเชียลก็ยากเกิน ดูรูปเก่าๆ ก็ไม่เห็นช่วยอะไร โอเค วิธีสุดท้ายคือการมองหาความสุขอื่นๆ ในชีวิต คงไม่ได้มีแค่การเที่ยวที่ช่วยให้ใจเราเป็นสุข การได้รับประทานอาหารจานโปรด ดูหนังสักเรื่องที่ถูกใจ ไปคอนเสิร์ตของวงดนตรีที่ชอบ ฯลฯ ก็คงปลอบประโลมจิตใจให้เราได้ไม่น้อย อย่าจมอยู่กับเรื่องเที่ยวเพียงเพราะเพื่อนหลายคนกำลังเที่ยวจนหลงลืมความสุขอีกมากมายที่ทำให้เรายิ้มได้ไม่ต่างกัน
แล้วถ้าเป็นเราที่กำลังเที่ยวอยู่ล่ะ
ต้องยอมรับว่าอีกกลุ่มคนที่อาจจะเริ่มกังวลว้าวุ่นไม่แพ้กันคือกลุ่มนักท่องเที่ยวผู้กำลังดื่มด่ำความสุขกันที่ต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ
“เอาแล้ว การโพสต์รูปลงคลิปของเรากำลังทำให้เพื่อนไม่สบายใจรึเปล่า”
“นี่เขาจะมองว่าเราอวดปะเนี่ย”
“เอ นี่ฉันลงรูปเยอะไปมั้ยนะ เครียดจัง”
ต้องบอกว่า สุดท้ายมันคือสิทธิโดยชอบธรรมของเราที่จะลงอะไรก็ได้ตามใจ หากสิ่งที่ลงไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน อันที่จริง เราเองก็อาจเป็นหนึ่งคนที่เฝ้ารอมานานมากๆ กว่าจะได้เที่ยว อิจฉาคนอื่นมาแล้วเป็นสิบๆ ครั้งกว่าจะได้มาญี่ปุ่นด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก ทริปนี้คือรางวัลแห่งความอดทนที่เราสมควรได้รับมัน เราสามารถโพสต์สิ่งต่างๆ ได้ตามต้องการ ขอแค่ไม่ถึงขนาดไปพูดซ้ำเติมคนที่ต้องอยู่บ้านว่า “สมน้ำหน้าไอพวกไม่ได้เที่ยว” เพราะถ้าใครทำแบบนั้นก็อาจจะเสี่ยงเสียเพื่อนได้ง่ายๆ
หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ทุกคนเผชิญหน้ากับ Travel Envy ได้ดีและสบายใจมากขึ้น อดทนไว้นะ อีกไม่นานก็ถึงคราวที่เราจะได้ไปโลดแล่นในต่างแดนบ้าง ระหว่างนี้ก็ทำงาน เก็บเงิน วางแผนหาดูว่าทริปหน้าเราจะไปกันที่ไหน ไม่ต้องห่วง เดี๋ยวความรู้สึกเศร้าที่คั่งค้างในใจก็สงบ ความอิจฉาจะไม่อยู่กับเราไปตลอด
เพราะอีกแค่อึดใจ เพื่อนที่กำลังท่องเที่ยวอย่างอารมณ์ดีก็จะต้องกลับมาทำงานเหมือนกับเราอยู่ดี
อ้างอิงจาก