บนโลกที่เต็มไปด้วยสิ่งที่พร้อมจะแผ่พลังงานลบให้เราตลอดเวลา ความคิดและการมองโลกในแง่บวกเท่านั้นที่ดูเหมือนจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด
“Stay positive and be happy.”
พวกเราทราบกันดีว่า ‘การมองโลกในแง่ดี’ หรือ ‘การคิดบวก’ ช่วยลดระดับความเครียด ทำให้สุขภาพร่างกายและจิตใจดีขึ้น จึงเป็นเหตุให้วัฒนธรรมการคิดบวก แนวคิด just be positive, good vibes only หรือ stay positive เข้ามามีส่วนในการขับเคลื่อนชีวิตประจำวันให้ราบรื่นมากยิ่งขึ้น
และเส้นทางสู่ความสุขแบบรวบรัดที่ถูกสร้างขึ้นจากใครบางคนดูจะเป็นสิ่งที่คนในสังคมสมัยนี้โหยหา โดยเห็นได้จากหนังสือสร้างแรงบันดาลใจบนชั้นแนะนำ ข้อความ วิดีโอ พอดแคสต์ โควตที่มักจะเห็นคนแชร์กันบ่อยๆ หรือแม้กระทั่งตัวบุคคลมากมายที่เรารู้จักกันดี เกิดเป็นปรากฏการณ์ไลฟ์โค้ชที่มักจะคอยถ่ายทอดข้อความเชิงสร้างแรงบันดาลใจ ความสุข และความหวังให้กับคนอื่นๆ อยู่เสมอ
เนื่องด้วยชีวิตที่วุ่นวายและไม่มีเวลา ความสุขสำเร็จจึงกลายเป็นสิ่งที่ช่วยให้หลายคนค้นพบทางออกของความทุกข์ แค่คิดบวก มองในด้านดี หรือยิ้มเข้าไว้ เป็นฮาวทูแบบ 1 2 3 ที่คิดค้นมาเรียบร้อยแล้ว ที่เหลือก็เพียงแค่รอให้คนที่กำลังทุกข์ใจหรือประสบปัญหาชีวิตหยิบนำไปใช้ต่อ
แต่การโฟกัสเพียงแค่อารมณ์เชิงบวกตลอดเวลาไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม และปฏิเสธที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกลบๆ หรือเรียกง่ายๆ ว่า ‘ซ่อน’ อารมณ์โศกเศร้า เสียใจ โกรธ หรือผิดหวัง อาจกลายเป็นยาพิษที่กัดกินจิตใจเราโดยไม่รู้ตัว ‘toxic positivity’ หรือ ‘toxic optimism’ สองคำนี้จึงเกิดขึ้นตามมา เพื่อให้เรารู้ว่า เรากำลัง ‘เสพติด’ ความสุขที่ไม่ได้มาจากความรู้สึกจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมันเป็นความสุขที่สร้างโดยคำพูดของคนอื่น ซึ่งมีเงื่อนไขการใช้ชีวิตที่แตกต่างไปจากเรา
เมื่อบวกมากไป อาจกลายเป็นติดลบ
ดูเป็นเรื่องน่าประหลาดดีที่มีชุดความคิด toxic positivity ออกมา ทำไมการคิดบวกถึงเป็นพิษต่อสุขภาพจิตเราได้ ทั้งๆ ที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องดีซะด้วยซ้ำ
การเดินไปมาและทำราวกับว่าทุกอย่างปกติดี
ทำให้เกิดปัญหาด้านจิตใจและร่างกาย
เพราะการระงับอารมณ์ในด้านลบ อาจนำไปสู่ความเจ็บป่วย
และไม่ได้ช่วยหรือเกี่ยวข้องอะไรกับต้นเหตุของการเกิดความเศร้าเลย
คำตอบก็คือวัฒนธรรมการคิดบวกนี้ทำให้เราแบกความรับผิดชอบไว้บนบ่ามากเกินไป หากการที่เราคิดบวกแล้วทำให้สุขภาพดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น ในทางกลับกันมันก็มีผลกระทบอีกแบบ บางคนแม้จะคิดบวกแล้วแต่ก็ยังรู้สึกไม่ดีขึ้น นั่นก็เป็นเพราะพวกเขายังคิดบวกไม่มากพอ? และเมื่อทำไม่ได้ ก็เกิดการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ทำไมเราไม่สามารถคิดบวกได้ล่ะ? ทำไมเราถึงมีความสุขแบบคนอื่นไม่ได้? นั่นกลายเป็นประโยคที่เราเฝ้าถามตัวเองอยู่เรื่อยๆ
การถูกบังคับให้คิดบวกจึงทำให้คนเราเจ็บปวดได้มากกว่าเดิม เพราะพวกเขาจะถูกผลักให้ออกห่างจากความรู้สึกที่ควรจะได้รับ และทิ้งให้จะติดอยู่กับ ‘ความรู้สึกผิด’ ที่ไม่แข็งแรงมากพอที่จะมีความสุขหรือมองโลกในแง่บวกได้ด้วยตัวเอง มัวเสียเวลาไปกับเรื่องน่าเสียใจ จนไม่สามารถพูดคุยกับคนอื่นได้ เพราะรู้สึกว่าตัวเองผิดปกติ และกลัวจะทำให้บรรยากาศทุกอย่างดูแย่ไปมากกว่าเดิม
แต่ความรู้สึกเจ็บปวดนั้นคือ ‘ความจริง’ ที่เลี่ยงไม่ได้ และเราจำเป็นจะต้องรู้สึกและระบายมันออกมาเพื่อให้สุขภาพชีวิตดียิ่งขึ้น
ผู้ให้คำปรึกษาและการซัพพอร์ตที่เป็นพิษ
ครั้งหนึ่งในชีวิตเราคงจะได้เจอสถานการณ์ที่ต้องรับบทเป็น ‘ผู้ให้คำปรึกษา’ และคนที่เข้ามาขอความช่วยเหลือก็เป็นได้ทั้งเพื่อน แฟน ครอบครัว หรือแม้กระทั่งคนไม่รู้จัก ซึ่งทุกครั้งที่เราพยายามจะช่วยเหลือคนเหล่านั้น สิ่งที่เรานึกออกเป็นอันดับแรกคือการบอกให้เขาใจเย็นๆ ลองมองไปยังสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้น พยายามคิดบวกเข้าไว้ หรือมันจะผ่านไปในที่สุด (แม้จะไม่รู้ว่าเมื่อไหร่)
ซึ่งก็ไม่มีปัญหาอะไรกับการที่เราจะพยายามแนะนำสิ่งดีๆ ให้กับคนอื่นหรอก เพราะทันทีที่มีคนเข้ามาพร้อมกับปัญหาหรือความทุกข์ใจ เรามักจะเผลอคิดว่าเราเองก็มีส่วนรับผิดชอบความรู้สึกของคนๆ นั้นเช่นกัน เราจึงคิดหาวิธีที่จะช่วยเหลือเขามากที่สุด โดยการให้เขาเบี่ยงเบนความสนใจจากความเศร้าไปที่ความสุข
แต่ความจริงที่เรามักจะไม่รู้ก็คือ เราเองอาจจะเป็นส่วนหนึ่งในการหยิบยื่นความคิดแบบ toxic positivity นั้นให้เขาเช่นกัน
ในความเป็นจริงเราไม่สามารถทำให้ใครมองโลกในแง่บวกมากขึ้น ยิ่งในช่วงที่เขาจมดิ่งอยู่กับความทุกข์ทรมานเป็นเวลานาน การที่จู่ๆ เราเดินเข้าบอกว่า “มองในแง่ดีสิ อย่างน้อย…” คงไม่ได้ช่วยให้ปัญหาของเขาหายไปชั่วพริบตา แถมยังให้พวกเขาต้องใช้พลังและแรงใจอย่างมากในการปรับโฟกัสไปที่เรื่องดีๆ หรือที่เรียกกันว่า ‘ฝืน’ นั่นเอง
แล้วสิ่งที่พวกเขาต้องการจริงๆ คืออะไรถ้าไม่ใช่ความคิดเชิงบวก? ความช่วยเหลือหรือการสนุบสนันที่พวกเขากำลังมองหาในขณะนั้น อาจไม่ใช่คำพูดสร้างแรงบันดาลใจหรือความคิดเชิงบวกอะไรมากมายหรอก พวกเขาเพียงแค่อยากให้ใครสักคนมาช่วยยืนยันว่า ความคิดหรือความรู้สึกลบๆ ของพวกเขาในขณะนั้นเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่ความผิดหรือเป็นสิ่งที่ร้ายแรงอะไร เพราะหากเราพยายามหยิบยื่นหรือออกคำสั่งให้พยายามมองโลกในแง่บวก มันอาจส่งผลให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะเผยความรู้สึกเชิงลบที่มีอยู่ ซ้ำยังทำให้พวกเขารู้สึกโดดเดี่ยวเพราะคิดว่าตัวเองผิดปกติ เพราะตัวพวกเขาเอง ‘ไม่ได้เลือก’ ที่จะมีความสุขเหมือนคนอื่นๆ
ดาเรีย คัสส์ (Daria Kuss) รองศาสตราจารย์ภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยนอตทิงแฮมเทรนต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตและอารมณ์ เคยพูดคุยเกี่ยวกับแนวคิดที่เรียกว่า ‘resonance limblic’ หรือความสามารถในการสะท้อนความรู้สึกของผู้อื่น เพื่อให้เรากับเขาสามารถเชื่อมต่อกันได้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น โดยแนวคิดนี้ได้พูดถึงการทำหน้าที่คล้ายกับกระจก ที่ช่วยสะท้อนความเศร้าของผู้อื่นด้วยประสบการณ์ความทุกข์ของตัวเราเอง เพื่อให้คนเหล่านั้นรู้สึกว่าตัวเองกำลังได้รับเข้าใจและถูกสนับสนุนอยู่
“พวกเขาไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่า ‘ผู้ฟังที่ดี’ ที่รับฟังอย่างตั้งใจและไม่ตัดสิน เพราะการรับฟังช่วยทำให้ปัญหาของพวกเขารู้สึกเหมือนเป็นเรื่องปกติในสังคมที่ใครๆ ก็เป็นกัน และไม่ทำให้พวกเขารู้สึกแปลกแยกที่ตัวเองกำลังเศร้า”
หลายคนคงสับสน ถ้าสุดท้ายแล้วการพยายามให้คนอื่นมองโลกในแง่ดีนั้นเป็นวิธีที่ไม่ได้ผล เราสามารถพูดอะไรได้บ้างในฐานะที่เป็นผู้ให้คำปรึกษา ยกตัวอย่างบางประโยคที่เห็นบ่อยๆ อย่าง “หยุดคิดในแง่ลบได้แล้ว มีความสุขเข้าไว้สิ” “ลองมองเรื่องดีๆ ในสิ่งที่เกิดขึ้นดูสิ” “อย่ายอมแพ้” หรือ “เดี๋ยวมันก็ผ่านไป” ลองนึกว่าในขณะนั้นเรากำลังมืดแปดด้านเพราะปัญหาที่รุมเร้าเข้ามาในชีวิต ลำพังแค่ต้องต่อสู้กับเรื่องวุ่นๆ นั้นก็หมดแรงไปแล้วครึ่งหลอด ถ้าจะต้องให้แรงอีกครึ่งหลอดที่เหลือพูดถึงแต่เรื่องดีๆ ขึ้นมาทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่ามีจริงหรือไม่ ตัดภาพมาอีกทีเราคงเหนื่อยจนไม่เหลือแรงไว้ต่อสู้กับเรื่องแย่ๆ ตอนต้นแน่ๆ
งั้นมาลองให้กำลังใจด้วยประโยคที่สื่อความหมายเดิม แต่เป็นคำที่ไม่กดดันพวกเขามากเกินไปอย่าง “ไม่เป็นไรนะ มันเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะคิดลบในสถานการณ์แบบนี้” “ฉันรู้ว่ามันมีอะไรหลายๆ อย่างที่ผิดปกติเกิดขึ้น และมันยากที่มองเห็นเรื่องดีๆ เดี๋ยวเราค่อยไปทำความเข้าใจกับมันทีหลังก็ได้” หรือ “ผ่านไปไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ฉันรู้ว่ามันยาก แต่คุณเคยผ่านเรื่องยากๆ แบบนี้มาแล้วเช่นกัน เพราะฉะนั้น ฉันจะเชื่อในตัวคุณ” หลังจากเปรียบเทียบดูแล้วคงจะเห็นว่าประโยคแบบไหนที่เป็นการปลุกกำลังใจที่ฟังดูผ่อนคลายมากกว่ากัน
การซัพพอร์ตคนคนหนึ่งเหมือนกับการปลูกต้นไม้
เราไม่สามารถทำให้พวกเขาเติบโตได้ด้วยการตะโกนใส่ว่า “โตสิ!”
แต่เราสามารถทำได้ด้วยการค่อยๆ รดน้ำทุกๆ วัน
คนทุกคนมีการเดินทางของตัวเอง เราไม่สามารถข้ามผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายอย่างรวดเร็วโดยไม่ผ่านกระบวนการที่ท่วมท้นไปด้วยความรู้สึก การเรียนรู้ที่จะระบายมันออกมา และการจัดระบบความคิดใหม่เพื่อหาวิธีการรับมือกับปัญหาที่แตกต่างกันออกไป
ด้วยเหตุนี้ เวลาที่เราพยายามช่วยให้ใครคนหนึ่งหลุดพ้นจากความทุกข์ การช่วยหาทางออกอาจไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด แต่เป็นการรับฟังและเปิดโอกาสให้คนคนนั้นได้สะท้อนความคิดและความรู้สึกออกมาเพื่อให้พวกเขาทบทวนตัวเอง ลอว์รา ลี ทาวน์เซนด์ (Laura Lee Townsend) นักบำบัดที่แคลิฟอร์เนีย อธิบายเพิ่มเติมว่า การรับรู้และการคอยสังเกตอารมณ์เชิงลบของตัวเอง จะช่วยให้เราก้าวผ่านปัญหาไปได้ง่ายยิ่งขึ้น และในขณะที่เราได้แบ่งปันความเศร้า ความกลัว และความผิดหวังให้กับคนที่เราเชื่อใจนั้น การเชื่อมโยงความรู้สึกจะค่อยๆ เกิดขึ้น ซึ่งความเชื่อมโยงในที่นี่ก็คือการถูกรับฟังและถูกเข้าอกเข้าใจ ที่จะช่วยลดความรู้สึกลบๆ ที่เราพยายามหลีกเลี่ยงในตอนแรกได้
เมื่อคิดบวกไม่ไหว ลองให้ ‘ความเศร้า’ เข้ามาช่วยเหลือ
เราพยายามที่จะมีความสุขมากเกินไปหรือเปล่า? โดยเฉพาะความสุขที่เราไม่ได้รู้สึกแบบนั้นจริงๆ การที่เรามุ่งหน้าโฟกัสไปที่ bright side ของเรื่องราวต่างๆ จะช่วยให้สามารถลืมเหตุการณ์ความเศร้าได้ราวกับว่าไม่เคยเกิดขึ้นได้จริงๆ หรอ?
toxic positivity ทำให้ความรู้สึกเชิงลบกลายเป็นตัวร้ายของเรื่อง ไม่ว่าจะเศร้า เสียใจ โกรธ หงุดหงิด ผิดหวัง หรือเสียดาย แต่ถ้าหากใครเคยดูภาพยนตร์เรื่อง ‘Inside Out’ ก็คงจะเข้าใจกันดีว่าการมีอยู่ของความเศร้าหรือ bad vibes นั้นไม่ได้เลวร้ายกับชีวิตเสมอไป
จากการปรากฏตัวของ ‘เศร้าซึม’ (Sadness) ตัวละครที่ส่งผลให้เกิด ‘อารมณ์เศร้า’ ผ่านสมองของ ‘ไรลีย์’ (เด็กสาววัย 11 ที่กำลังเติบโตท่ามกลางช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิต) ซึ่งมักจะถูก ‘ลั้ลลา’ (Joy) ตัวแทนความสุขคอยนำไปซ่อนหรือเก็บไว้ให้ห่างจากเครื่องควบคุมความรู้สึก เนื่องจากไม่อยากให้ไรลีย์ที่พวกเขาคอยควบคุมอารมณ์อยู่นั้นเกิดความรู้สึกเชิงลบ โดยลั้ลลาจะคอยพูดอยู่เสมอว่า “คิดถึงแต่สิ่งดีๆ สิ” “เรื่องร้ายจะกลายเป็นดี” และ “ไรลีย์จะต้องมีความสุข”
ซึ่งท้ายที่สุดของเรื่อง ตัวละครลั้ลลาและเศร้าซึมในเรื่อง Inside Out ก็ได้สอนให้เรารู้ว่า การพยายามมีความสุขอาจไม่ใช่ทางออกของปัญหาเสมอไป เพราะในท้ายที่สุดแล้วเราไม่สามารถเลือกได้ว่าเราอยากจะมีความรู้สึกหรืออารมณ์ไหน ถ้าเราพยายามที่จะกำจัดชุดความรู้สึกชุดหนึ่งออกไป แน่นอนว่ามันสามารถทำลายโลกข้างในจิตใจของเราทั้งหมดได้ และนอกจากนี้ การโฟกัสแต่ความสุข จนไม่ได้แสดงความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา ก็อาจจะทำให้เราพลาดโอกาสที่จะสร้างประสบการณ์อื่นๆ ที่ยืดหยุ่นให้กับชีวิตอีกด้วย
“การร้องไห้ช่วยให้ฉันเย็นลง และก้าวข้ามปัญหาชีวิตได้”
– Sadness จากภาพยนตร์เรื่อง Inside Out
การแบ่งปันความเศร้า ยังเป็นพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพของมนุษย์ ซึ่งการ ‘ร้องไห้’ นั้นก็เป็นหนึ่งในวิธีการแบ่งปันดังกล่าว เนื่องจากการร้องไห้มีส่วนช่วยในการเยียวยาสภาพจิตใจ โดยโปรตีนที่ช่วยยับยั้งและทำลายแบคทีเรียที่อันตรายต่อระบบภูมิคุ้มกันของเรา ดังนั้น การที่เราไม่ร้องไห้เลย จึงมีส่วนทำให้เราสามารถเจ็บป่วยได้
ไม่เพียงแต่จะช่วยในเรื่องของสุขภาพ แต่การร้องไห้ยังถือเป็นพฤติกรรมทางสังคมของมนุษย์ ที่จะช่วยสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างตัวบุคคลได้ หลายๆ ครั้งที่เราไม่สามารถที่จะ ‘เอาชนะ’ ช่วงเวลาที่ยากลำบากได้โดยปราศจากความช่วยเหลือหรือการแชร์กับคนอื่น เหมือนอย่างตอนที่ตัวละครลั้ลลาพบว่า การที่ไรลี่ย์มีช่วงเวลาดีๆ เกิดขึ้นในชีวิต เป็นเพราะเธอได้พบกับความเศร้าและแชร์มันออกมากับพ่อแม่ของเธอก่อนหน้านั้นต่างหาก
“เราจะไม่รู้สึกว่าเราสนิทกับใคร ถ้าหากเราไม่สามารถแบ่งปันความรู้สึกเชิงลบกับเขาได้” ไอมี่ ดารามัส นักจิตวิทยาที่ชิคาโกกล่าว เธอยังเสริมอีกว่า “ความรู้สึกถูกรักโดยใครสักคนจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าเราไม่สามารถรู้สึกเศร้า กลัว หรือโกรธเมื่ออยู่ข้างๆ พวกเขา เพราะนั่นคือสิ่งที่เรียกว่าสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์”
โนเอล แม็กเดอร์มอตต์ (Noel McDermott) นักจิตบำบัดคลินิกผู้มีประสบการณ์มากว่า 20 ปี กล่าวว่า มนุษย์เรามักจะออกแบบความรู้สึกของตัวเอง ด้วยการกำหนดว่าควรจะ ‘มี’ หรือ ‘ไม่มี’ ความรู้สึกแบบไหนบ้าง แต่หลายคนมักจะลงเอยด้วยการเสพติดความสุขแบบผิดวิธี ซึ่งพวกเขาไม่รู้ตัวว่ามันก็เป็นแค่การแก้ไขปัญหาใน ‘ระยะสั้น’ เท่านั้น เพราะหลังจากนี้ ความรู้สึกที่แย่มากๆ อาจจะเข้ามาจู่โจมแบบรวดเร็วจนเราไม่ทันได้ตั้งตัว
ไม่ว่าอารมณ์หรือความรู้สึกนั้นจะทำให้เราพอใจหรือไม่พอใจก็ตาม แต่มันก็ทำให้เรารู้ตัวเสมอว่าเรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ปลอดภัยหรืออันตราย เพื่อที่เราจะได้เรียนรู้ว่า เราควรวิ่งเข้าหาหรือถอยหนีกับสิ่งไหนบ้าง เพราะฉะนั้น แทนที่จะมองข้ามอารมณ์หรือความรู้สึกเชิงลบไป เราควรใช้ประสบการณ์ตรงนั้นสร้างความยืดหยุ่นให้กับชีวิตแทน แล้วในท้ายที่สุด เราจะสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคล้ายๆ กันในอนาคตได้ดีกว่าเดิม
ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง การยอมรับและปล่อยให้ตัวเองได้โศกเศร้า เสียใจ โกรธ กลัว หรือผิดหวังบ้าง ก็อาจจะช่วยให้เราได้เติบโตและจริงใจกับตัวเองมากขึ้น และดีไม่ดี การมีอยู่ของ bad vibes เหล่านั้น ก็อาจจะทำให้ good vibes ที่เราได้พบเจอโดยบังเอิญนั้น กลายเป็น good vibes ที่ดียิ่งขึ้นไปอีกด้วยก็ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก